เงินๆงานๆ-อาชีพ » สัญญากู้ยืมเงิน..ทำอย่างไรให้ไม่มีปัญหาภายหลัง

สัญญากู้ยืมเงิน..ทำอย่างไรให้ไม่มีปัญหาภายหลัง

21 เมษายน 2017
3181   0

 

สำหรับเรื่องเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน ต้องเขียนสัญญาอย่างไร ต้องมีพยานในการกู้ยืมเงินหรือไม่ และดอกเบี้ยนั้นสามารถเรียกกันได้แค่ไหน คำถามเหล่านี้มักเกิดขึ้นเสมอสำหรับคนที่ไม่ทราบและจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องการกู้ยืมเงิน ไม่ว่าจะเป็นคนกู้เองหรือว่าเป็นคนให้กู้ ต้องทำอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีปัญหากัน

ถ้าเกิดภายหลังมีการเบี้ยวกันหรือไม่ชำระหนี้กัน ทางออกคือการฟ้องคดีต่อศาลซึ่งการที่จะสามารถให้ศาลตัดสินให้ผู้กู้ชำระเงินให้กับผู้ให้กู้ได้ การกู้เงินก็ต้องทำถูกต้องตามกฎหมายด้วย ซึ่งหลักฐานการกู้ยืมเงินนั้นกฎหมายได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 บัญญัติว่า “การกู้ยืมเงิน กว่า สองพันบาท ขึ้นไป นั้น ถ้า มิได้มี หลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อ ผู้ยืม เป็นสำคัญ จะฟ้องร้อง ให้บังคับคดี หาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงิน มีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่า จะนำสืบการใช้เงิน ได้ต่อเมื่อ มีหลักฐานเป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อ ผู้ให้ยืม มาแสดง หรือ เอกสาร อันเป็น หลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้น ได้เวนคืนแล้ว หรือ ได้แทงเพิกถอน ลงใน เอกสาร นั้นแล้ว”

คำถามที่พบได้บ่อย

– ต้องมีหลักฐานเป็นสัญญาหรือไม่
กฎหมายกำหนดให้การกู้ยืมเงินกันตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไปต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้ยืม มิเช่นนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้ การที่กฎหมายกำหนดให้มีหลักฐานเป็นหนังสือนั้นคือ กฎหมายกำหนดให้เวลาทำการกู้ยืมเงินตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไป ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือสัญญา ผู้กู้และผู้ให้กู้สามารถเขียนกันได้เองเป็นสัญญาและที่สำคัญต้องมีการลงลายมือชื่อผู้กู้ในสัญญา กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ลงชื่อผู้ให้กู้ ดังนั้นจะลงหรือไม่ลงชื่อผู้ให้กู้ก็ได้

– ลักษณะสำคัญของใจความในสัญญากู้ยืม
ต้องมีสาระสำคัญว่า ได้กู้ยืมเงินกันจริงและได้รับเงินไปแล้วตามสัญญา จำนวนเท่าไหร่ ในสัญญาไม่ต้องเจาะจงว่าต้องใช้คำว่า “กู้ยืม” รวมถึงการทำสัญญานั้นจะทำหลายๆฉบับ แล้วเมื่อนำมาแปลความได้ความอย่างที่กล่าวมา คือมีการกู้ยืมเงินกันจริงและมีการลงชื่อผู้กู้ไว้เช่นนี้ก็ใช้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินได้

– พยานในสัญญากู้เงินต้องมีหรือไม่
พยานในสัญญากู้เงินนั้นไม่จำเป็นต้องมีเพราะว่ากฎหมายไม่ได้กำหนดว่าเวลากู้เงินกันต้องมีพยานรับรอง แต่หากว่าผู้กู้หรือผู้ให้กู้ทำสัญญากันและได้มีการลงชื่อเป็นพยานไว้ด้วยก็ไม่ทำให้สัญญากู้ยืมเงินนั้นเสียไปแต่อย่างใด
แต่กรณีถ้าผู้กู้พิมพ์ลายนิ้วมือในสัญญากู้ยืมเงินนั้นต้องมีพยานรับรองลายมือชื่อของผู้กู้ 2 คน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๙ (มาตรา ๙ ” เมื่อ มีกิจการอันใด ซึ่ง กฎหมายบังคับ ให้ทำเป็นหนังสือ บุคคล ผู้จะต้อง ทำหนังสือ ไม่จำเป็นต้องเขียนเอง แต่ หนังสือ นั้น ต้องลง ลายมือชื่อ ของ บุคคลนั้น
ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือ เครื่องหมายอื่น ทำนองเช่นว่านั้น ที่ทำลงใน เอกสาร แทนการลง ลายมือชื่อ หากมีพยาน ลง ลายมือชื่อ รับรองไว้ด้วย สองคน แล้ว ให้ถือเสมอกับ ลงลายมือชื่อ
ความใน วรรคสอง ไม่ให้ใช้บังคับแก่ การลง ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือ เครื่องหมายอื่น ทำนองเช่นว่านั้น ซึ่ง ทำลงใน เอกสาร ที่ทำต่อหน้า พนักงานเจ้าหน้าที่ “) จึงจะสมบูรณ์เป็นการลงลายมือชื่อของผู้กู้ โดยพยานที่รับรองนั้นอาจจะไม่ต้องรู้เห็นการพิมพ์ลายนิ้วมือแต่ลงชื่อขณะที่เจ้าของลายนิ้วมือยินยอมด้วยก็ถือว่าสมบูรณ์แล้ว แต่พยานไม่สามารถลงลายชื่อไว้ก่อนที่เจ้าของลายพิมพ์นิ้วมือจะพิมพ์นิ้วมือได้ โดยเจ้าของลายมือไม่รู้เห้นด้วยอันนี้ไม่ได้
สำหรับตัวอย่างของสัญญากู้ยืมเงิน มีดังนี้นะครับ
1.ทำที่ไหน ระบุสถานที่ทำสัญญา
2.วันเวลาที่ทำสัญญา
3.รายละเอียดของผู้กู้และผู้ให้กู้ เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ให้ชัดเจน
4.ใจความในสัญญาต้องมีการพูดถึงการกู้ยืมเงินกันจำนวนเท่าไหร่และได้รับมอบเงินไปแล้ว และตกลงจะใช้คืนอย่างไร ระยะเวลาในการใช้คืน อย่างที่กล่าวมา ไม่ต้องมีคำว่า “กู้ยืม” ก็ได้
5.ดอกเบี้ยนั้นจะกำหนดหรือไม่ก็ได้ หากจะกำหนดดอกเบี้ยกฎหมายกำหนดไว้ไม่ให้เกินร้อยละ 15 ต่อปีถ้าไม่ได้กำหนดไว้กฎหมายจะให้ร้อยละ 7.5 ต่อปี (ถ้าเรียกเกินมีความผิดอาจติดคุกได้นะครับ เดี๋ยวว่างๆจะอธิบายอีกทีนึง)
6. ลายมือชื่อผู้กู้ ไม่ต้องลงลายมือชื่อผู้ให้กู้ก็ได้ ถ้าผู้กู้พิมพ์ลายนิ้วมือต้องมีพยานรับรองลายมือชื่อ 2 คนถึงจะเป็นการพิมพ์ลายนิ้วมือที่ถูกต้องใช้บังคับได้
7.ควรทำสัญญาเงินกู้สองฉบับ(ย้ำนะครับ 2 ฉบับ)ที่เหมือนกันเก็บไว้คนละฉบับเพื่อเป็นหลักฐาน
เพื่อลดความเสียงของการไม่ชำระหนี้ผู้ให้กู้ควรหาหลักประกันดังนี้ (อันนี้สำคัญมากนะครับ)
ประกันด้วยตัวบุคคล คือ มีผู้ค้ำประกัน การค้ำประกันคือการที่คนอื่นที่ไม่ใช่ผู้กู้ยอมเอาตนเข้าประกันหนี้เงินกู้ หากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ผู้ค้ำประกันจะยอมชำระหนี้แทน ผู้ให้กู้ก็สามารถเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ การทำสัญญาค้ำประกันนั้นก็ง่ายๆ แค่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันไว้ก็เพียงพอ
ประกันด้วยทรัพย์ คือ จำนอง คือการประกันด้วยทรัพย์สินไม่ว่าทรัพย์สินของผู้จำนองหรือทรัพย์สินของผู้อื่น หากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ก็สามารถนำทรัพย์จำนองนั้นไปขายทอดตลาดเพื่อบังคับจำนองเอาเงินมาชำระหนี้กู้ยืมเงินได้ สำหรับสัญญาจำนองนั้นต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
เมื่อครบกำหนดคืนเงินแล้วผู้กู้ไม่ยอมคืนเงินจะทำอย่างไร
เมื่อผู้กู้ไม่ยอมคืนเงินตามที่กำหนดไว้ผู้ให้กู้สามารถทวงถามได้โดยการบอกกล่าวทวงถาม (โดยทำเป็นหนังสือบอกกล่าวทวงถาม หรือตามภาษาที่ทนายเรียกกันติดปากว่า โนติส (Notice)) ให้ผู้กู้คืนเงินโดยการทำหนังสือบอกกล่าวทวงถามกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้ผู้กู้คืนเงิน เช่น ระยะเวลา 15วัน , 30 วัน หรือ 1 เดือน หากผู้กู้ไม่ยอมคืนย่อมถือว่าผิดนัดสามารถฟ้องคดีต่อเพื่อให้ศาลบังคับตามสัญญาต่อไป

ขอบคุณบทความจาก ทนายเศรษฐสิทธิ์ หอมจันทร์
https://web.facebook.com/permalink.php?id=1444868182401855&story_fbid=1445093425712664&_rdc=1&_rdr
https://suthjapanish.files.wordpress.com/2015/10/b1_1?w=521&h=347