อ่านฉบับ PC ได้ที่: www.ubmthai.com
รายงานข่าวแจ้งว่า “สุรินทร์ พิศสุวรรณ” อดีต รมว.ต่างประเทศ และอดีตเลขาธิการอาเซียน
ได้ถึงแก่กรรมแล้วด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน
เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น.วันนี้ (30 พ.ย.)
ขณะนี้ศพอยู่ที่โรงพยาบาลรามคำแหง
สำหรับประวัติ
นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เกิดวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ที่ จ.นครศรีธรรมราช
มีบิดาเป็นครูสอนศาสนาอิสลาม ศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดบ้านตาล
ศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช และโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2515
(ก่อนหน้านี้เคยศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 ปี)
ปริญญาโทสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (พ.ศ. 2517)
และปริญญาเอกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (พ.ศ. 2522)
เริ่มอาชีพนักวิชาการในตำแหน่งอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2518-2529
ด้านการเมือง นายสุรินทร์เข้าสู่แวดวงการเมืองในปี พ.ศ. 2529
โดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.นครศรีธรรมราช สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
และได้รับเลือกตั้งเข้ามาในสภาผู้แทนราษฎรติดต่อกัน 7 สมัย
เคยเป็นเลขานุการของนายชวน หลีกภัย
ขณะที่นายชวนดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร (พ.ศ. 2529-2531)
ต่อมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2535-2538
และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2540-2544
ต่อมานายสุรินทร์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน
ระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 – 1 มกราคม พ.ศ. 2556
“สุรินทร์ พิศสุวรรณ” สมัยเด็กน้อยไม่ได้ชื่อเด็กชายสุรินทร์แต่มีชื่อทางอิสลาม มาเย็นวันหนึ่งคุณยายได้ไปตลาดนัดบ้านตาล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีฯ เพื่อฟังปราศรัยของนักการเมืองใหญ่ในดวงใจท่านหนึ่งคือท่านสส.สุรินทร์ มาศดิตถ์ คุณพ่อของ สส.สุพัตรา มาศดิตถ์ สส.จังหวัดนครศรีฯ ได้ปราศรัยบนหลังคารถสองแถว มาสด้า เป็นที่ชอบอกชอบใจของคุณยายเด็กชายสุรินทร์ ครั้นกลับมาถึงบ้านวันรุ่งขึ้นคุณยายก็ได้ไปอำเภอเปลี่ยนชื่อหลานชายสุดที่รักจากชื่ออิสลามเป็นเด็กชายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ทันที หวังว่าเติบใหญ่หลานรักจะได้เป็นนักการเมืองสมปรารถนาตามความฝันของยาย เส้นทางเหมือนได้ขีดเขียน เด็กชายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ได้เป็น สส. เป็นนักการเมือง เป็นรัฐมนตรี ที่มีชื่อเสียงตามความฝันของคุณยายทุกประการ ชีวิตช่างลิขิตแต่เส้นปลายทางถูกวางไว้แค่นี้ ขอจงสู่สุขคติ.