เลี้ยงสัตว์ » การทำกระถินหมักแบบต่างๆและผลการวิเคราะห์ +1

การทำกระถินหมักแบบต่างๆและผลการวิเคราะห์ +1

25 พฤศจิกายน 2017
3639   0

https://goo.gl/yDjFBn

อ่านเพิ่มเติมได้ที่: www.ubmthai.com

www.108kaset.com

สำราญ วิจิตรพันธ์ วิทยา สุมามาลย์ อุดม ชัยนนท์

บทนำ
การใช้ใบกระถินเลี้ยงสัตว์นิยมทำในรูปใบสดและตากแห้ง โดยใช้ใบกระถินเป็นแหล่งของวัตถุดิบ โปรตีน และวิตามิน โดยเฉพาะวิตามิน A และ E นอกจากนี้ใบกระถินยังเป็นแหล่งของแคลเซี่ยมและแร่ธาตุหลายชนิด..

กระถินในประเทศไทยที่พบโดยทั่วไป คือ กระถินพื้นเมือง ซึ่งมีลำต้นและทรงพุ่มเล็ก และกระถินยักษ์เป็นไม้ยืนต้นที่แพร่ขยายพันธุ์ได้ง่าย เติบโตเร็วกว่ากระถินพื้นเมือง

กรมป่าไม้ได้ใช้กระถินยักษ์เป็นพืชหลักในการปลูกในหลายท้องที่ เพราะเป็นไม้โตเร็ว สามารถขึ้นได้บนดินที่มีคุณภาพต่ำ ปัจจุบันกระถินยักษ์ได้แพร่ขยายไปทั่วทุกท้องที่ เพราะเจริญเติบโตง่ายและทนทานต่อเพลี้ยไก่ฟ้าซึ่งเป็นศัตรูสำคัญ และเป็นไม้เอนกประสงค์เพราะมีลำต้นใหญ่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นได้ การใช้ใบกระถินเลี้ยงโค – กระบือ สามารถปล่อยโค-กระบือเข้าแทะเล็ม หรือให้กินเป็นอาหารเสริมในคอก ซึ่งรูปแบบการใช้ที่ปฏิบัติกันมากในประเทศไทย คือ ตัดกิ่งและใบมาตากแห้ง บดให้ละเอียดเพื่อผสมอาหารข้น และมักใช้ทั้งกิ่ง ก้าน และใบบดรวมกัน ทำให้มีคุณค่าทางอาหารต่ำ ดังนั้นจึงควรหาแนวทางการนำกระถินเฉพาะส่วนใบที่มีคุณภาพสูงมาใช้เลี้ยงสัตว์ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น

กระถินยักษ์เจริญเติบโตได้ดีในฤดูฝน และมีปริมาณมากพอที่จะนำมาถนอมเอาไว้ในฤดูที่ขาดแคลน แต่การถนอมในรูปตากแห้งในช่วงฤดูฝนทำได้ไม่สะดวก เพราะจะเสียและขึ้นราได้ง่าย จึงควรใช้วิธีการหมักเพื่อเป็นการเก็บสำรองเสบียงสัตว์ในรูปที่ใกล้เคียงกับสดได้เป็นเวลานาน

กระถินเป็นพืชตระกูลถั่ว มีโปรตีนประมาณ 17.4% ซึ่งสูงกว่าหญ้า มีความชื้นประมาณ 63% .. แม้ไม่มีปัญหาเรื่องความชื้น แต่จัดเป็นพืชที่หมักยาก เพราะมีค่า Buffering capacity สูง อย่างไรก็ตามการเติมสารช่วยหมักที่เป็นแหล่งของแป้ง เช่น รำละเอียด มันสำปะหลัง หรือแหล่งของน้ำตาล เช่น กากน้ำตาล พร้อมทั้งดูดอากาศออกให้มากที่สุด ใช้ได้ดีกับการหมักพืชอาหารสัตว์หลายชนิด จึงน่าจะนำใบกระถินมาทำการหมักร่วมกับรำละเอียด ซึ่งมีแป้งและโปรตีนในระดับที่พอเหมาะ .. หรือผสมกับกากน้ำตาลที่เป็นแหล่งของน้ำตาลจะทำให้ได้อาหารหยาบคุณภาพดีและมีคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกับอาหารข้น ซึ่งอาจจะใช้ทดแทนหรือลดอาหารบางส่วนได้ และยังสามารถเก็บไว้ใช้ฤดูแล้งซึ่งเป็นช่วงที่ขาดแคลนอาหารหยาบคุณภาพดีเป็นอย่างมากโดยเฉพาะผู้เลี้ยงแพะ หรือโคนม ดังนั้น เพื่อศึกษาและสาธิตการทำกระถินหมักแบบต่าง ๆ จึงเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปเผยแพร่และแนะนำแก่เกษตรผู้เลี้ยงแพะ-โค – กระบือต่อไป

กระถินสด

– อาหารสุกร ใช้กระถินไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์

– อาหารสัตว์ปีก ใช้กระถินไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์

– อาหารโค-กระบือ ใช้กระถินไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์

(เอกสารคำแนะนำเรื่อง สารพิษในพืชอาหารสัตว์ กลุ่มงานวิเคราะห์อาหารสัตว์ กองอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ ปี พ.ศ. 2538)

 

 สารพิษที่พบในกระถินทุกพันธุ์ โดยพบสารพิษมิโมซีนเป็นปริมาณมากในใบอ่อน และเมล็ดกระถิน นอกจากนั้น ยังพบสารพิษมิโมซีนในพืชตระกูลใกล้เคียงกับกระถิน เช่น ไมยราบพื้นเมือง เป็นต้น

มิโมซีน เป็นพิษต่อสัตว์กระเพาะเดี่ยว เช่น ไก ่เป็ด ห่าน สุกร ม้า กระต่าย และเป็นพิษต่อสัตว์เคี้ยวเอื้องทุกชนิด เช่นโค กระบือ แพะ แกะ อย่างไรก็ตามสัตว์เคี้ยวเอื้องและสัตว์ที่มีขนาดตัวโตจะแสดงอาการแพ้สารพิษน้อยกว่าสัตว์ขนาดเล็ก เมื่อสัตว์กินพืชอาหารสัตว์ที่มีมิโมซีนปริมาณมาก สารมิโมซีนจะทำให้การย่อยอาหารของสัตว์ผิดปกติ สัตว์มักจะมีต่อมไทรอยด์โต เป็นคอหอยพอกและอาจจะตายได้ สัตว์ที่โตแล้วหากงดอาหารที่มีสารมิโมซีน สัตว์จะค่อย ๆ หายเป็นปกติ

กระถินแต่ละพันธุ์มีปริมาณสารมิโมซีนไม่เท่ากัน บางชนิดใช้เลี้ยงสัตว์ได้โดยไม่เป็นอันตราย ข้อสำคัญคือต้องจำกัดปริมาณ โดยไม่ให้สัตว์ได้รับสารพิษปริมาณมาก ๆ ติดต่อกัน

การลดปริมาณสารพิษมิโมซีนก่อนนำมาเลี้ยงสัตว์ ทำได้หลายวิธีคือ

1. ตากใบกระถินเป็นเวลา 1 – 3 วัน ลดปริมาณสารมิโมซีนได้ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์

2. นำใบกระถินไปนึ่ง 1 – 3 ชั่วโมง ลดปริมาณสารมิโมซีนได้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์

3. นำใบกระถินไปแช่น้ำ 24 ชั่วโมง ลดปริมาณสารมิโมซีนได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์

4. เพิ่มฟอสเฟตในสูตรอาหารสัตว์ ทำให้พิษของมิโมซีนลดลง

5.การหมัก

อุปกรณ์และวิธีการ
ดำเนินการสาธิตที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ขอนแก่น ระหว่างกันยายน 2546 – มีนาคม 2546 โดยการตัดต้นกระถินตามริมถนนมิตรภาพระหว่าง ต.ท่าพระ และตัวเมืองขอนแก่น แล้วริดกิ่งที่มีใบให้เหลือกิ่งที่มีขนาดไม่เกินแท่งดินสอดำ นำมาแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งแยกเอาเฉพาะก้านใบและยอดกระถิน อีกส่วนหนึ่งนำกิ่งขนาดเล็กที่มีใบและยอดกระถินมาสับด้วยเครื่องสับให้มีขนาด 3-5 เซนติเมตร จากนั้นจึงนำกระถินที่ได้มาแบ่งออกเป็น 6 กองๆ ละ 150 กิโลกรัม เพื่อทำกระถินหมักแบบต่างๆ ดังนี้
T 1 คือ ก้านใบและยอดกระถินไม่สับ หมักอย่างเดียว
T 2 คือ กิ่ง, ก้านใบและยอดกระถินสับ หมักอย่างเดียว
T 3 คือ กิ่ง, ก้านใบและยอดกระถินสับ หมักร่วมกับกากน้ำตาล 1% (w/w)
T 4 คือ กิ่ง, ก้านใบและยอดกระถินสับ หมักร่วมกับกากน้ำตาล 3% (w/w)
T 5 คือ กิ่ง, ก้านใบและยอดกระถินสับ หมักร่วมกับรำละเอียด 10% (w/w)
T 6 คือ กิ่ง, ก้านใบและยอดกระถินสับ หมักร่วมกับรำละเอียด 20% (w/w)

นำวัตถุที่ใช้ทำกระถินของแต่ละกอง ผสมคลุกเคล้ากันให้ทั่ว สุ่มตัวอย่างประมาณ 500 กรัม ส่งวิเคราะห์หาน้ำหนักแห้งและส่วนประกอบเคมี ส่วนที่ทำการบรรจุในถุงพลาสติกดำขนาด 35 x 50 นิ้ว ซ้อน 2 ชั้น อัดให้แน่น ดูดอากาศออก แล้วมัดปากถุงให้แน่น เพื่อไม่ให้อากาศเข้าได้อีก ตรวจดูสภาพภายนอกถุงไม่ให้มีรูรั่ว หลังจากนั้นเก็บเป็นเวลา 1 เดือน

 

ทำการเปิดถุงหมักแบบละ 2 ถุง เพื่อตรวจสอบลักษณะทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมีของกระถินหมักแต่ละแบบ โดยชั่งน้ำหนักสูญเสียตรวจสอบ สี กลิ่น รส ของพืชหมัก และสุ่มตัวอย่างพืชหมักเพื่อหาน้ำหนักแห้ง โปรตีนหยาบ ประเมินค่า VBN วัด pH ของพืชหมัก และทดสอบความชอบกินของโคที่มีต่อกระถินหมักรูปแบบต่างๆ และตรวจสอบคุณภาพของกระถินหมักซ้ำอีกครั้งเมื่อหมักได้นานประมาณ 3 เดือน ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูแล้ง

ผลการทดสอบ
ลักษณะทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมีของกระถินก่อนหมัก
จากการสังเกตกิ่ง ก้านและใบกระถินก่อนหมักมีลักษณะค่อนข้างแห้ง ส่วนพวกที่สับจะมีสีคล้ำค่อนข้างดำเล็กน้อย เมื่อเติมสารช่วยหมักลงไปไม่ได้ทำให้ลักษณะของกระถินก่อนหมักเปลี่ยนไปมากนักส่วนสมบัติทางเคมีของกระถินก่อนหมักแสดงไว้ในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 คุณสมบัติทางเคมีของกระถินรูปแบบต่างๆ ก่อนหมัก
ทรีตเมนต์ รูปแบบของกระถินก่อนหมัก DM(%) CP (%) % Ash
T1 ก้านใบและยอดกระถินไม่สับ 32.39 22.54 8.24
T2 กิ่ง,ก้านใบและยอดกระถินสับ 31.15 21.94 7.89
T3 กิ่ง, ก้านใบและยอดกระถินสับ + กากน้ำตาล 1% 32.40 21.32 7.69
T4 กิ่ง,ก้านใบและยอดกระถินสับ + กากน้ำตาล 3% 31.05 21.25 7.28
T5 กิ่ง, ก้านใบและยอดกระถินสับ + รำละเอียด 10% 36.41 19.93 8.34
T6 กิ่ง, ก้านใบและยอดกระถินสับ + รำละเอียด 20% 41.44 19.64 8.37

จากตารางที่ 1 พบว่าน้ำหนักแห้งของกระถินรูปแบบต่าง ๆ ก่อนหมัก มีค่าอยู่ระหว่าง 31.05 – 41.44% แสดงว่ามีลักษณะที่ค่อนข้างเหมาะสมในการที่จะทำพืชหมัก (25 – 35% DM) ส่วนโปรตีนมีค่าอยู่ระหว่าง 19.64 – 22.54% ซึ่งค่อนข้างสูง แม้ว่าจะมีการเติมสารช่วยหมักไปแล้วก็ตาม

ลักษณะทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมีกระถินหมักหลังจากหมักนาน 30 วัน
จากการทดสอบทำกระถินหมักทั้ง 6 แบบ โดยหมักนาน 30 วัน จึงได้ทำการเปิดถุงหมักเพื่อตรวจสอบลักษณะทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมีของกระถินหมักรูปแบบต่างๆ ซึ่งพบว่า..

กระถินหมักรูปแบบที่ 1 ที่นำก้านใบและยอดกระถินมาหมัก เมื่อเปิดพบว่าลักษณะพืชหมักไม่ค่อยแน่น ถุงมีรอยรั่วทำให้เกิดเชื้อราสูญเสียประมาณ 6% สีของพืชหมักเป็นสีเขียวอมน้ำตาล มีกลิ่นเปรี้ยวปานกลาง พืชหมักมีน้ำหนักวัตถุแห้ง 28.16% โปรตีน 19.77% ค่า VBN 7.63% (NH3 /total N.) pH 5.53

รูปแบบที่ 3 เป็นกิ่งกระถินขนาดเล็กสับผสมกากน้ำตาล 1% (โดยน้ำหนัก) พบว่าพืชหมักมีลักษณะแน่นดี มีสีเขียวขี้ม้ามีกลิ่นเปรี้ยวฉุน มีน้ำหนักวัตถุแห้ง 29.80% โปรตีน 21.34% ค่า VBN 4.36 (NH3 /total N.) pH 4.66

รูปแบบที่ 4 ที่ใช้กระถินร่วมกับกากน้ำตาล 3% พืชหมักมีลักษณะเป็นเมือกลื่นเนื่องจากมีรูรั่ว มีสีเขียวขี้ม้า มีกลิ่นเหม็นฉุน มีน้ำหนักวัตถุแห้ง 29.69% โปรตีน 20.04 % ค่า VBN 8.81% (NH3 /total N.) pH 4.51

รูปแบบที่ 5 ใช้กระถินสับร่วมกับรำละเอียด 10% พืชลักษณะแน่นดี มีสีเขียว กลิ่นเปรี้ยวผสมกลิ่นรำ มีน้ำหนักวัตถุแห้ง 35.67% โปรตีน 20.40% ค่า VBN 16.49% (NH3 /total N.) pH 4.53

รูปแบบที่ 6 ใช้กระถินสับร่วมกับรำละเอียด 20% พืชหมักมีลักษณะแน่นดี กลิ่นเปรี้ยวมาก มีน้ำหนักวัตถุแห้ง 40.21 โปรตีน 18.92% ค่า VBN 16.80% ( NH3 /total N.) pH 4.35

จากการทดสอบจะเห็นได้ว่า การที่ไม่สับกระถินให้มีชิ้นขนาดเล็ก จะมีปัญหาเรื่องอัดให้แน่นได้ยากกว่าและอาจแทงถุงรั่วได้ คุณภาพพืชหมักจึงไม่ค่อยดี ส่วนกระถินที่สับก่อนหมัก จะทำให้อัดได้แน่นดีกว่า แต่ถ้ามีการเสริมกากน้ำตาลในระดับ 1 – 3% จะทำให้ได้กระถินหมักที่มีคุณภาพดี ส่วนการเสริม รำละเอียดในระดับ 10 และ 20% ก็สามารถช่วยในการทำกระถินหมักได้ แต่เนื่องจากมีค่าน้ำหนักวัตถุแห้งสูงและค่า VBN ค่อนข้างสูงจึงจัดเป็นพืชหมักที่คุณภาพไม่ค่อยดีนัก (สูงกว่า 10%)

ลักษณะทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมีกระถินหมักหลังจากหมักนาน 105 วัน

ทำการเปิดถุงกระถินหมักซึ่งหมักนาน 105 วัน ทั้ง 6 รูปแบบ พบว่า กระถินหมักทุกรูปแบบมีลักษณะของพืชหมักเป็นเช่นเดียวกันกับกระถินหมักรูปแบบเดียวกันที่อายุการหมัก 30 วัน ส่วนคุณสมบัติทางเคมีมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้คือ..

รูปแบบที่ 1 พืชหมักมีน้ำหนักวัตถุแห้ง 28.21% โปรตีน 23.41 % ค่า VBN 4.35 (NH3 /total N.) pH 5.53

รูปแบบที่ 2 มีน้ำหนักวัตถุแห้ง 28.16% โปรตีนหยาบ 19.77% ค่า VBN 7.63% (NH3 /total N.) pH 5.36

รูปแบบที่ 3 มีน้ำหนักวัตถุแห้ง 29.80% โปรตีน 21.34% ค่า VBN 4.36% (NH3 /total N.) pH 4.66

รูปแบบที่ 4 มีน้ำหนักวัตถุแห้ง 29.69% โปรตีน 20.04% ค่า VBN 8.81% (NH3 /total N.) pH 4.51

รูปแบบที่ 5 มีน้ำหนักวัตถุแห้ง 35.67% โปรตีนหยาบ 20.40% ค่า VBN 16.49% (NH3 /total N.) pH 4.53

รูปแบบที่ 6 มีน้ำหนักวัตถุแห้ง 40.21 โปรตีน 18.92% ค่า VBN 16.80% (NH3 /total N.) pH 4.35

ซึ่งลักษณะทางกายภาพ และลักษณะทางกายภาพทางเคมีดังกล่าวพบในกระถินหมักทั้ง 6 รูปแบบ จะเห็นว่าเมื่อเก็บกระถินหมักให้นานขึ้นจาก 30 วัน เป็น 105 วันกระถินหมักจะแสดงคุณสมบัติของพืชหมักได้ดีขึ้น โดยเฉพาะการเติมสารเสริมจะทำให้กระถินหมักมีคุณภาพดีกว่าไม่เติม โดยดูจากค่า VBN และค่า pH ของรูปแบบที่เติมสารเสริมอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก

 

ความชอบกินของแพะ-โค
จากการทดสอบความชอบกินแพะ-โค โดยวิธีการแบบ Cafeteria feeding โดยเปรียบเทียบความชอบกินของโคทีละคู่ โดยใช้โคบราห์มันเพศเมีย จำนวน 3 ตัว พบว่าแพะ-โคชอบกินกระถินหมักที่เติมสารเสริมทั้งกากน้ำตาลที่ระดับ 1 และ 3% และรำละเอียดที่ระดับ 10 และ 20% มากกว่ากระถินหมักที่ไม่เติมสารเสริม โดยแพะ-โคชอบกินกระถินหมักที่ผสมรำ 10% มากที่สุด

จากการทดสอบความชอบกินโค โดยวิธีการแบบ Cafeteria feeding โดยเปรียบเทียบความชอบกินของโคทีละคู่ โดยใช้โคบราห์มันเพศเมีย จำนวน 3 ตัว พบว่าโคชอบกินกระถินหมักที่เติมสารเสริมทั้งกากน้ำตาลที่ระดับ 1 และ 3% และรำละเอียดที่ระดับ 10 และ 20% มากกว่ากระถินหมักที่ไม่เติมสารเสริม โดยโคชอบกินกระถินหมักที่ผสมรำ 10% มากที่สุด

 

สรุปผลการทดลอง
เทคโนโลยีที่ได้จากการทดสอบการทำกระถินหมัก 6 รูปแบบ พบว่าการสับกระถินขนาดเล็กเหมาะสมกว่าการริดเฉพาะส่วนใบและยอดกระถินมาหมัก เพราะจะทำให้อัดได้แน่นกว่าและได้กระถินหมักที่คุณภาพดีกว่า ส่วนการผสมกากน้ำตาลในระดับ 1 และ 3% โดยน้ำหนักช่วยทำให้ได้กระถินหมักที่มีคุณภาพดี แพะ-โคชอบกิน สำหรับการผสมรำละเอียดในระดับ 10 และ 20% โดยน้ำหนักก็ช่วยทำให้ได้กระถินหมักที่มีคุณภาพค่อนข้างดี แพะ-โคชอบกินมากกว่า

นอกจากนั้น สามารถผสมเกลือเม็ด เพื่อป้องกันเชื้อรา และเป็นการเสริมธาตุเกลือแร่ในอาหารหมักได้อีกทางหนึ่ง

 

เอกสารอ้างอิง
เรณู เทพประการ. 2542. การศึกษาการประเมินราคาใบกระถินยักษ์สด. เชียงใหม่ : สถาบันราชภัฏเชียงใหม่

เรณู เทพประการ, สมคิด พรหมมา และ กัลยา ธรรมพงษา. 2545. การพัฒนาอาหารข้นพื้นบ้านโดยนำใบกระถินยักษ์มาหมักเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์โคนมของเกษตรกร. สัตวบาล. 12 : 58 (มกราคม – มีนาคม