ย้อนอดีต » ย้อนอดีต > บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ (12-15 ส.ค. 48)

ย้อนอดีต > บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ (12-15 ส.ค. 48)

3 ตุลาคม 2022
629   0

ย้อนอดีต > บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ (12-15 ส.ค. 48)

ภาพถ่ายจากดาวเทียม GOES-9 เพื่อติดตามสภาพอากาศ พบว่าตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2548 จนถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2548 มีกลุ่มเมฆปกคลุมประเทศไทย และเกิดพายุดีเปรสชั่นบริเวณภาคเหนือ ทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน และลำปาง..

ในวันที่ 13 สิงหาคม 2548 รายงาน ณ เวลา 7.00 น. มีฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือ โดยวัดปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุดที่แม่โจ้ 87 มม. รองลองมาคือ แม่ฮ่องสอน 74.2 มม. ..

ภาพเรดาร์จากระบบเครือข่ายของศูนย์ฝนหลวง พื้นที่สีเขียวและสีส้มหมายถึงบริเวณที่มีฝนตก ซึ่งพบว่าช่วงวันที่ 12-13 สิงหาคม 2548 มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย

ภายหลังฝนถล่มหนักในภาคเหนือ ตอนบนทำให้หลายจังหวัด ถูกน้ำป่าทะลักท่วม จมบาดาลโดยเฉพาะที่ อ.ปางมะผ้า อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน และอำเภอรอบนอกในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย น่านและลำปางนั้น ล่าสุด กระแสน้ำเหนือ ได้ไหลลงแม่น้ำปิงทะลักท่วม ตัวเมืองเชียงใหม่อย่างรวดเร็ว แถมมีระดับสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 50 ปี โดยผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 14 ส.ค. ตั้งแต่เวลา 03.00 น. ระดับน้ำในแม่น้ำปิง ที่ไหลผ่านเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้ทะลักท่วมหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ และในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ทำให้บ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วมร่วม 1,000 หลัง..

ภายหลังระดับน้ำได้ไหลบ่าเข้าท่วมย่านการค้าใหญ่ที่สุดในตัวเมืองเชียงใหม่ อาทิ ตลาดวโรรส ตลาดลำไย ตลาดไนท์บาซาร์ระดับน้ำสูงร่วม 70 ซม. พ่อค้าแม่ค้าต้องรีบระดมขนย้ายข้าวของหนีกันอุตลุด ค่ายกาวิละกลายเป็นเมืองบาดาลยังไม่เคยเป็นมาก่อน บางแห่งระดับน้ำสูงร่วม 2 เมตร

ถนนบางสายที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำมีชาวบ้านนำรถไปจอดหนีน้ำไว้เป็นแนวยาว แต่ระดับน้ำยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากฝนได้ตกลงมาในช่วงบ่าย ระดับน้ำในแม่น้ำปิงวัดที่เชิงสะพานนวรัฐ เมื่อเวลา 15.00 น. วันเดียวกันสูง 4.85 เมตร ถือว่าสูงสุดกว่าทุกปี

เหนือ’ช้ำน้ำทะลักท่วมเมือง [เดลินิวส์ 15 ส.ค. 48]

หลังจากเกิดพายุดีเปรสชันถล่มหนักในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้เกิดฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรโดยในจังหวัดเชียงใหม่มี อ.เชียงดาว, แม่แตง, พร้าว และ อ.เมือง เบื้องต้นพื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 15,000 ไร่ บ้านเรือนราษฎรเสียหายกว่า 1,000 ครัวเรือน สะพาน และอ่างเก็บน้ำเสียหายกว่า 10 แห่ง..

นอกจากนั้นกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากยังพัดเอาวัวควายสัตว์เลี้ยงชาวบ้านสูญหายไปหลายสิบตัว ส่วนที่ อ.เมืองเชียงใหม่ นั้นเนื่องจากระดับน้ำจากพื้นที่ อ.เชียงดาว อ.พร้าว อ.แม่แตง ไหลลงสู่แม่น้ำปิง ทำให้ระดับน้ำแม่ปิงสูงกว่า 4.85 เมตร และจะยังคงสูงขึ้นอีก ทำให้น้ำปิงเอ่อล้นออกมาทำให้พื้นที่ในเมืองเชียงใหม่ที่ติดริมน้ำปิง อย่างเช่นถนนศรีปิงเมือง ถนนเจริญเมือง ถนนช้างคลาน ตลาดวโรรส ถนนวิชยนนท์ เรื่อยไปจนเกือบถึง อ.สารภี น้ำได้เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ถนนในตัวเมืองไม่สามารถเดินรถได้ ซึ่งคาดว่าหากฝนวันนี้ไม่ตกลงมาระดับน้ำก็จะเอ่อล้นในตัวเมืองเชียงใหม่ และคาดว่าก่อนรุ่งเช้าพรุ่งนี้ระดับน้ำจะลดลงและกลับคืนสู่ปกติ

..ที่ จ.เชียงราย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำจากแม่น้ำลาว เอ่อล้นฝั่งไหลเข้าท่วมเขตเทศบาล ต.แม่สรวย อ.แม่สรวย และรอบ ๆ บริเวณหน้า ที่ว่าการอำเภอแม่สรวย และ สภ.อ.แม่สรวย มีน้ำท่วมขัง รวมไปถึงรีสอร์ตหลายแห่งที่อยู่ติด แม่น้ำต่างจมอยู่ใต้น้ำไปตาม ๆ กัน

จ.แม่ฮ่องสอน หลังจากเกิดเหตุน้ำท่วมและดินถล่มในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน มีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในหลายพื้นที่ และถนนหลายสายถูกตัดขาด

สำหรับทางหลวงสายแม่ฮ่องสอน-ปาย ถูกน้ำกัดเซาะขาดถึง 4 แห่ง รถเล็กไม่สามารถสัญจรได้ นอกจากนี้สะพานเชื่อมหมู่บ้านอีก 4 แห่ง ได้รับความเสียหาย ส่วน อ.ปางมะผ้า นอกจากนี้ถนนสายเลี่ยงเมือง 108 บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำปาย มีท่อนซุงขนาดใหญ่ลอยขึ้นมาติดอยู่กลางถนนจำนวนมาก ทำให้ถนนใช้การไม่ได้

มาที่ จ.ลำปาง ภายหลังเกิดฝนตกติดต่อกันหลายวัน ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในเขต อ.วังเหนือ จ.ลำปางรวมทั้งหมด 4 ตำบลได้แก่ ตำบลวังทอง ตำบลวังซ้าย ตำบลวังเหนือ และตำบลวังแก้ว คอสะพานข้ามห้วยแม่สุก บนถนนหลวงหมายเลข 120 สายอำเภอวังเหนือ-พะเยา ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 33-34 ได้รับความเสียหาย รถยนต์ทุกชนิดไม่สามารถข้ามผ่านไปได้ โดยต้องใช้เส้นทางเบี่ยงในหมู่บ้านแทน ซึ่งจากน้ำท่วมครั้งนี้ยังทำให้บ้านเรือนของราษฎรในเขต 4 ตำบล ได้รับความเสียหายรวม 619 หลังคาเรือน โดยได้อพยพกันไปอาศัยอยู่ในวัดและพื้นที่ที่ปลอดภัยแล้ว นอกจากนี้พื้นที่การเกษตรยังได้รับความเสียหายรวม 1,718 ไร่ แบ่งเป็นไร่นา 1,308 ไร่ และไร่ข้าวโพด 570 ไร่

สถานการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่ 25ก.ย.67น้ำปิงวัดได้ 4.45 เมตร ระยะวิกฤตสีแดง

จ.น่าน ปริมาณน้ำในแม่น้ำน่านอยู่ที่ระดับ 7.20 เมตร น้ำล้นฝั่งท่วมบ้านเรือนราษฎรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่บ้านพวงพยอม และบ้านท่าลี่ ต.ในเวียง ระดับน้ำสูงถึง 70 ซม. บ้านดอนมูลพัฒนา ต.คู่ใต้ อ.เมือง บ้านเรือนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ถูกน้ำท่วมจนมิดหลังคา ถนนเขตเทศบาลเมืองน่าน อาทิ ถนนอนันตวรฤทธิเดช ถูกน้ำท่วมจนเจ้าหน้าที่ต้องปิดการจราจรชั่วคราว และที่โรงเรียนดอนศรีเสริมกสิกร น้ำทะลักเข้าท่วมโรงเรียนสูงประมาณ 30 ซม.

ข้อมูลอ้างอิง
ไทยรัฐ (15 ส.ค. 48) : https://www.thairath.co.th
เดลินิวส์ (15 ส.ค. 48) : https://www.dailynews.co.th
https://tiwrm.hii.or.th/current/floodNorth_Aug05

เกณฑ์ปริมาณฝนตก มีกี่ระดับ? มีวิธีวัดอย่างไร?