หมอจริงๆชำแหละวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า – ซิโนแวค จริงเท็จยังไง+คำแนะนำ..
8 พฤษภาคม 2564 นายเพทย์ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มีการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Suppachok NeungPeu Kirdlarp ให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 ที่กำลังเป็นประเด็นคาใจของคนไทยในขณะนี้ ในเรื่องของปัญหาว่าฉีดแล้วจะมีผลข้างเคียงอย่างไร? วัคซีนแต่ละตัวปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน? ก่อนทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตาม คนไทยทุกคนก็ต้องฉีด เพื่อกันตาย หรือกันอาการรุนแรง นั่นเอง
คุณหมอศุภโชค ระบุว่า สนับสนุนให้ทุกคนเข้าถึงและรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ทุก ๆ คน ถ้าไม่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีนของแต่ละบุคคล แต่จะใช้ชนิดใดหรือยี่ห้อไหนก็ตาม ก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้ตั้งต้นว่าทุกคนควรจะฉีดถ้าทำได้ เพราะความเป็นจริงของวัคซีนโควิดที่ทุกคนต้องรู้คือ วัคซีนมีผล 3 อย่าง นั่นคือ กันตาย หรือกันหนัก, กันติด และกันหมู่ (ภูมิต้านทานหมู่)
ข้อมูลวัคซีนแต่ละชนิด…
●Pfizer เท่าที่มีข้อมูล real world setting จริง ๆ จะเป็น mRNA based vaccine ที่ลงในวารสารการแพทย์ต่าง ๆ (NEJM, lancet) ว่าลดการเกิดผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้จริง และเป็นการแสดงถึงการสร้างภูมิต้านทานหมู่ได้จริง (Moderna เป็น mRNA เช่นกัน คาดว่าน่าจะมีผลลัพธ์ไปในทางเดียวกัน)
●AstraZeneca/Oxford ไม่ได้เป็นวัคซีนที่แย่หรือไม่ดีอย่างที่ถูกสื่อนำไปผูกกับปมการเมืองบางอย่างขนาดนั้น (แต่มันก็อาจจะไม่ใช่วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่มันมีประสิทธิภาพที่ดีพอที่สามารถกันตาย และพอกันติดได้จริง ตามหลักฐานทางวิชาการตามวารสารการแพทย์)
●SinoVac ซึ่งเป็น old-primitive platform คือ ใช้วัคซีนเชื้อตาย (inactivated vaccine) ทำแบบเดียวกับที่ใช้ทำวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า อันนี้เราทราบดีว่าภูมิต้านทานจะสร้างได้สูงระดับหนึ่ง คือไม่ได้สูงมากแบบหรูหราหมาเห่า แต่สร้างได้ประมาณหนึ่งที่เพียงพอสำหรับ กันตาย-กันหนัก ได้ แต่เรื่อง กันติด อาจจะพอทำได้ระดับหนึ่งเท่านั้น
ทั้งนี้ ต้องยอมรับความจริงว่าข้อมูลงานวิจัยเช่น phase 3 มีน้อยสุด เพราะยังไม่เคยเห็น official press ใน วารสารการแพทย์ (มีแต่ preprint ที่อ้างว่ามีบางท่านได้อ่าน) และยังไม่มีข้อมูล phase 4 แต่พออนุมานข้อมูล real world setting ได้จากการดูยอดผู้ป่วยใหม่รายวัน กับผู้เสียชีวิตในประเทศชิลี หรือตุรกี เราต้องยอมรับว่ายังไม่เห็นภาวะภูมิต้านทานหมู่จากการฉีดวัคซีนในประเทศเหล่านี้ในขณะนี้ (ยังต้องติดตามต่อไปในอีกระยะยาวว่าท้ายที่สุดแล้วจะเกิดหรือไม่) แต่ที่เห็นชัดเจนคือ ยอดผู้เสียชีวิตมีจำนวนคงที่ทั้ง ๆ ที่มียอดผู้ติดเชื้อหมู่รายวันสูงขึ้นเรื่อย ๆ (เป็นการบอกว่ามีผล กันตาย จริง)
ผลข้างเคียงเท่าที่มีรายงานตอนนี้…
●Moderna/Pfizer แพ้แบบรุนแรง (anaphylaxis) เดิมพบประมาณ 11 ในล้านคน ตอนนี้น่าจะอยู่แค่ 4-5 ในล้านคน
●AstraZeneca/Oxford : VIPIT: Vaccine-Induced Prothrombotic Immune Thrombocytopenia (เกล็ดเลือดต่ำ), vaccine associated VTE ซึ่งทั้ง 2 อันพบได้น้อยมาก rare ประมาณ 1 ใน 125000 ถึง 1 ในล้านคน โอกาสพบในคนอายุน้อยมากกว่าในคนสูงอายุ
●SinoVac ถ้าเอาตาม WHO จริง ๆ ถือว่าผลข้างเคียงน้อยมาก ไม่มีแพ้รุนแรงหรืออาการทางระบบประสาทแบบที่มี report ในประเทศไทย ซึ่งผลข้างเคียงของ SinoVac ที่พบในประเทศไทย ที่เกี่ยวกับอาการชา แขนขาอ่อนแรงคล้ายอาการกลุ่มอัมพฤกษ์ (stroke-like) ต้องยอมรับว่ายังสรุปไม่ได้ชัดเจนในตอนนี้ มีหลายทฤษฎีที่เป็นไปได้ ตั้งแต่หลอดเลือดหดเกร็ง (vasospasm) หรือเป็น vaccine ที่ไปกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรน ที่ทำให้ชาครึ่งตัว เป็นต้น(ขอออกตัวว่าไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องประสาทวิทยา ถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติมสามารถแลกเปลี่ยนได้ครับ)
และยังไม่ปรากฏว่าวัคซีน SinoVac ทำให้เป็นอัมพาตถาวร ซึ่งเรื่องที่ฉีด SinoVac แล้วตายเอาจริง ๆ ยังสรุปไม่ได้ว่าเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวจากวัคซีน (ควรต้องทำการชันสูตรอย่างละเอียดต่อไป).
สรุป…
– วัคซีนมีประโยชน์ชัดเจน ไม่ว่ายังไงก็แนะนำให้ฉีดแน่นอน
– ถ้าเราทำได้ เราควรใช้วัคซีนที่ดี ซึ่งคือ วัคซีนที่มีความปลอดภัยมากพอ มีประสิทธิภาพสูงพอ และสามารถกระจายการฉีดได้ในประชากรมากพอ เพื่อสร้างภูมิต้านทานหมู่
– กรณีที่เรามีแค่ตัวเลือกจำกัด ให้พิจารณาฉีดตัวใดก็ได้ที่เราโอเค เพื่ออย่างน้อยก็หวังผลเพื่อ กันตาย หรือ กันหนัก ไว้ก่อน