เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิสามารถระบุผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้จริงหรือ???
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การใช้เครื่องวัดไข้แบบยิงที่หน้าผากอาจเชื่อถือไม่ได้ เพราะอุปกรณ์ด้อยประสิทธิภาพหรือการวัดไม่ถูกวิธี เสี่ยงทำให้ผู้ป่วยที่ติดไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หลุดรอดการตรวจได้
ดร.เจมส์ ลอว์เลอร์ มหาวิทยาลัยเนแบรสกาของสหรัฐ เผยกับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ว่า.. เครื่องวัดไข้แบบยิงที่หน้าผาก ขึ้นชื่อเรื่องความ “ไม่แม่นยำ” และ “เชื่อถือไม่ได้” บางเครื่องเอาใช้โชว์เท่านั้น
ดร.ลอวเลอร์ เล่าว่า เขาเองเคยถูกตรวจขณะเดินทางไปแอฟริกาตะวันตกช่วงเชื้อไวรัสอีโบลาระบาดระหว่างปี 2557-2559 เครื่องวัดบ่งบอกว่า เขากำลังจะตายเพราะภาวะตัวเย็นผิดปกติเนื่องจากวัดอุณหภูมิได้ 35 ซึ่งเป็นอุณหภูมิปกติของเขาอยู่แล้ว ทำให้หลังจากนั้น เขาไม่เชื่อถือเครื่องแบบนี้อีก
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า สนามบิน หน่วยงานรัฐ และเอกชนในประเทศต่าง ๆ พึ่งพาเครื่องวัดไข้แบบยิงที่หน้าผากคัดกรองผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพราะเป็นการใช้เซ็นเซอร์อินฟราเรดวัดไข้ภายนอกโดยไม่ต้องสัมผัสตัวบุคคล
อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญหลายคนเผยกับนิวยอร์กไทมส์ว่า หลายคนถือเครื่องวัดแบบยิงใกล้หรือไกลหน้าผากคนถูกวัดมากเกินไป ทำให้ได้อุณหภูมิร่างกายที่ไม่แม่นยำ
นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมก็มีผลต่อการวัด เช่น วัดบนถนนที่มีฝุ่นหนา หรือวัดในรถที่ร้อนอบอ้าว และต่อให้ใช้อย่างถูกต้องเครื่องก็ไม่สามารถคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ได้ทุกคน เพราะผู้ติดเชื้อหลายคนไม่แสดงอาการได้นานสูงสุดถึง 14 วัน ยังไม่มีข้อมูลว่าผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการจะสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้หรือไม่ อีกยังมีผู้ป่วยบางคนที่รับประทานยาลดไข้ ทำให้อุณหภูมิปกติด้วย.