ชี้อาการคงค้างเพียบ แม้รักษาโควิด19 หาย กินเวลานาน โรคนี้ไม่กระจอก !
หมอธีระ วรธนารัตน์ เผยไม่เป็นจะดีที่สุด ชี้โรคโควิด 19 ไม่กระจอก แม้ผู้ป่วยจะรักษาหายแล้ว แต่ยังคงมีอาการคงค้างมากมาย ตั้งแต่ไอ อ่อนล้า หายใจลำบาก ไปถึงขั้นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ..
สำหรับรายละเอียด มีดังนี้…
“โควิดเรื้อรัง” …เรื่องที่รู้แล้วจะไม่อยากติดเชื้อ…
เช้านี้มีน้องผู้ชายคนหนึ่งถามในกลุ่มท่องเที่ยวยุโรป ว่ามีใครมีอาการแบบเขาบ้างไหม หลังจากเขาติดเชื้อมา พอหายป่วยแล้วกลับยังมีอาการเจ็บหน้าอกอยู่ตลอด
มีคนมาตอบหลายต่อหลายคน โดยจำนวนไม่น้อยก็แจ้งว่ามีอาการคงค้างอยู่เช่นกัน
ผมตอบน้องเขาไปว่า ผู้ติดเชื้อโควิดนั้นแม้รักษาหายแล้วก็จะยังมีอาการคงค้างอยู่ได้ เช่น อ่อนเพลีย ปวดข้อ หายใจลำบาก ฯลฯ โดยทางการแพทย์เราเรียกภาวะนี้ว่า “Chronic COVID” หรือ “Long COVID” หรือ “COVID Long Hauler” ..
หากไปดูในฐานข้อมูลวิชาการแพทย์ PubMed จะพบว่ารายงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังมีจำนวนน้อยมาก อ่านดูเนื้อหาแล้วต่ำกว่าสิบเรื่อง
คำถามที่ 1 : ภาวะ Chronic COVID/Long COVID/COVID Long Hauler นี้พบบ่อยมากน้อยเพียงใด ?
คำตอบ : ขณะนี้เชื่อว่า ราว 30-40 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยโควิดที่แม้จะได้รับการดูแลรักษาจนหายแล้ว จะมีอาการคงค้าง เป็นภาวะนี้ได้ ตั้งแต่หลายสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน และยังไม่รู้ว่าจะยาวนานไปเพียงใด เนื่องจากโรคโควิดนี้เป็นโรคใหม่ไม่ถึงปี ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะนานเป็นปี ๆ หรือนานกว่านั้นได้
คำถามที่ 2 : มีงานวิจัยที่ทำการประเมินโอกาสเป็นภาวะนี้มากน้อยเพียงใด ?
คำตอบ : แรกเริ่มเดิมที ทีมแพทย์จากอิตาลีได้รายงานไว้ว่า มีผู้ป่วยโควิดที่ออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว มีอาการคงค้างอยู่ถึง 87 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นอ่อนล้า หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก ปวดข้อ ฯลฯ ต่อมา มีทีมจากสหราชอาณาจักร ที่ทำการสำรวจผ่านแอปพลิเคชันในมือถือ รายงานว่ามีผู้ป่วยโควิดที่มีอาการคงค้างต่าง ๆ อยู่ราว 10 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เชื่อว่าการที่สำรวจพบน้อยกว่ารายงานก่อนหน้านี้ เนื่องจากเป็นการสำรวจในประชากรทั่วไป ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อแต่ไม่ได้มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
มีอีกหลายรายงานที่พบว่าโอกาสเกิดอาการคงค้างแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น อเมริกา ได้รายงานว่ามีเพียง 65 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยโควิดที่รักษาแล้วประเมินว่าฟื้นคืนไปสู่สภาวะปกติก่อนป่วยได้
ล่าสุดทีมวิจัยจากเดนมาร์กและหมู่เกาะแฟโร ได้ทำการสำรวจในผู้ป่วยโควิดที่ไม่ได้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวน 180 คน พบว่ามีถึง 53.1 เปอร์เซ็นต์ ที่มีอาการคงค้างหลังจากเริ่มมีอาการตอนแรกเกิน 4 เดือน โดยอาการคงค้างแตกต่างกันไป ตั้งแต่อ่อนล้า ปวดข้อ ดมไม่ได้กลิ่น ลิ้นรับรสไม่ได้
แม้ยังไม่สามารถทำการวิเคราะห์อภิมานเพื่อรวมผลการประเมินโอกาสการเกิดอาการคงค้างได้ แต่เชื่อว่ามีผู้ป่วยราว 30-40 เปอร์เซ็นต์ ที่จะประสบปัญหาอาการคงค้าง
คำถามที่ 3 : อาการคงค้างมีอะไรบ้าง ?
คำตอบ : ไอ, หายใจลำบาก, อ่อนล้า, เจ็บหน้าอก, อาการผิดปกติจากระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ลิ่มเลือดอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, อาการผิดปกติจากระบบประสาท เช่น ปวดหัว จำอะไรไม่ค่อยได้ ชัก ซึมเศร้า เป็นต้น
คำถามที่ 4 : หากเป็นแล้วต้องทำอย่างไร ?
คำตอบ : เนื่องจากโรคโควิดนี้เป็นโรคใหม่ และภาวะอาการคงค้างเหล่านี้ก็เป็นสิ่งใหม่ที่การแพทย์ทั่วโลกเพิ่งได้เจอ จึงยังมีความรู้ที่จำกัดมาก ส่วนใหญ่อาการคงค้างที่เกิดขึ้นก็จะได้รับการดูแลรักษาตามลักษณะของแต่ละอาการไป
ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกก็เริ่มมีแนวคิดที่จะจัดตั้งคลินิกหรือแผนกที่ดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการคงค้างหลังจากติดเชื้อโควิด เนื่องจากมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ คาดว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบในปัจจุบันน่าจะมีมากมายหลายล้านคน
ดังนั้น การไม่ติดเชื้อโควิดย่อมจะดีที่สุด หากผมเป็นกระทรวงสาธารณสุข ผมคงจะให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องนี้ เพื่อที่จะป้องกันตัวอย่างเต็มที่ไม่ให้ติดเชื้อ
นอกจากนี้ผมคงจะย้ำเตือนเสมอว่า #โควิดไม่ใช่โรคประจำถิ่น #การติดเชื้อไม่ใช่เรื่องปกติ #ยึดติด0ไม่ได้แต่เลี่ยงการนำความเสี่ยงสู่ประเทศได้ #ไม่ใช่เน้นโกยเงินแลกเชื้อ #โรคนี้ไม่กระจอก”.