ข่าวเด่น » ค่าครองชีพจะสูงขึ้นอีกครั้ง รัฐเตรียมขึ้น VAT อีก 1 % จ่อชง ครม. ไฟเขียว

ค่าครองชีพจะสูงขึ้นอีกครั้ง รัฐเตรียมขึ้น VAT อีก 1 % จ่อชง ครม. ไฟเขียว

19 พฤษภาคม 2017
1713   0

สนช. เห็นชอบ ขึ้น VAT อีก 1 % จ่อชง ครม. ไฟเขียว หวังได้ 7 หมื่นล้าน

สนช. เห็นชอบ ขึ้น VAT อีก 1% จ่อเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณา หวังเงิน 6-7 หมื่นล้านเข้ารัฐ นำไปพัฒนาการศึกษา-สาธารณสุข

วันที่ 18 พฤษภาคม 2560 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธาน พิจารณารายงานเรื่องแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและระบบบริหารจัดเก็บเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สนช. เป็นผู้เสนอ โดยที่ประชุม สนช. ได้เห็นชอบในรายงานดังกล่าว ก่อนจะส่งให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไปโดยนายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ รายงานสาระสำคัญของรายงาน โดยหลายข้อที่นำเสนอ ส่วนประเด็นที่น่าสนใจมีดังนี้

1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรมสรรพากรควรพิจารณาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลรายเดียวกันที่ประกอบธุรกิจในสาขาต่าง ๆ หลายแห่ง จะต้องทำการแยกบัญชีรายได้และรายจ่ายของสาขาแต่ละแห่งแยกออกจากกัน เพื่อเสียภาษีในเขตพื้นที่ที่สาขานั้น ๆ ตั้งอยู่โดยตรง โดยไม่ให้มีการรวมบัญชีเดียวกันเพื่อเสียภาษีอีกต่อไป
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันได้มีข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับ การลดอัตราภาษีศุลกากรลงเป็นจำนวนมาก ทำให้ประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถจัดเก็บภาษีศุลกากร ส่วนกรณีของประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษี VAT ในรูปแบบอัตราเดียว ย่อมอาจจะไม่เป็นการส่งเสริมสนับสนุนการค้าการลงทุน ของผู้ประกอบการภายในประเทศ จากกรณีดังกล่าว จึงเห็นว่า ควรมีการจัดเก็บในรูปแบบที่มีหลายอัตรา โดยพิจารณากำหนดจัดเก็บภาษีในอัตราที่แตกต่างกันในแต่ละประเภทสินค้า กล่าวคือ พิจารณาว่าสินค้าประเภทใดมีความจำเป็นในการนำเข้า ส่งออกและบริโภคภายในประเทศ นอกจากนี้ ควรมีการปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากเดิมอีกร้อยละ 1 โดยกำหนดให้นำรายได้จากการจัดเก็บภาษีในส่วนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวไปใช้เฉพาะในด้านการศึกษาและการสาธารณสุขเท่านั้น คาดว่าจะทำให้สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นจำนวนประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาท

3. ภาษีลาภลอย ปัจจุบันรัฐบาลมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มสูงขึ้นหรือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่ทำให้ที่ดินมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น แต่รัฐบาลยังไม่สามารถจัดเก็บรายได้ดังกล่าวได้ ดังนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลังควรมีการพิจารณาศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีกรณีดังกล่าวโดยเปรียบเทียบกับการจัดเก็บภาษีในต่างประเทศและควรเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก