สุขภาพ-ชีวิต » การออกกำลังกายในผู้ป่วยหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวกดทับเส้นประสาท/ร.พ.บางปะกอก

การออกกำลังกายในผู้ป่วยหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวกดทับเส้นประสาท/ร.พ.บางปะกอก

6 ตุลาคม 2024
213   0

การออกกำลังกายในผู้ป่วยหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อนกดทับเส้นประสาท (Herniated Nucleus Pulposus)

   โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน  เป็นโรคที่เกิดจากการฉีกขาดของหมอนรองกระดูกสันหลัง โดยมีส่วนไส้ของหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนถอยหลังออกมากดทับเส้นประสาทไขสันหลัง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด ชา หรืออ่อนแรงจากการทำงานที่ผิดปกติของเส้นประสาทที่โดนกดนั้น
   สาเหตุของหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อน มักเกิดจากการได้รับแรงกระทำสั่งสมเป็นเวลานาน เช่น การนอน การนั่งในท่าที่ไม่ถูกต้อง งานที่ก้มๆ เงยๆ การยกของหนัก การยกในท่าที่ไม่ถูกต้อง การบิดหลังบ่อยๆ และสามารถเกิดได้ฉับพลัน เมื่อมีแรงกระทำที่มากพอ เช่น การกระโดด ตกจากที่สูง การถูกกระชากหรือเอี้ยวตัวแรงๆ การไอหรือจามแรงๆ ในขณะก้มตัว หรือนั่งยองๆ ก็ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนตัวได้เช่นกัน
   ถ้าหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อนทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเส้นประสาทจากบริเวณสะโพก ก้นกบ ลงมาต้นขา มักจะปวดเลยเข่าลงไปจนถึงข้อเท้าหรือนิ้วเท้า อาการปวดจะเป็นมากเวลานั่งนาน การไอ จาม เบ่ง มักจะปวดมากขึ้น นอกจากนี้อาจมีอาการชาหรือความรู้สึกลดลง ถ้าเป็นมากจนมีอาการอ่อนแรงของขาร่วมด้วย อาจทำให้มีอาการขาอ่อน เดินกะเผลก หรือเดินไม่ได้ตามปกติ


แนวทางการรักษา

  1. หลีกเลี่ยงแรงกดบนหมอนรองกระดูกสันหลัง คือ การนอนพักใน 2-3 วันแรก เพราะในท่านอนเป็นท่าที่มีแรงกดบนหมอนรองกระดูกสันหลังที่น้อยที่สุด
  2. รับประทานยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยาแก้ปวดลดอาการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ ไม่ควรซื้อยากินเองเพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อนต่อกระเพาะอาหารและต่อระบบอื่นๆ ได้ง่าย การทายาบริเวณที่ปวดหรือยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อช่วยลดอาการให้น้อยลงได้
  3. ทำกายภาพบำบัด ได้แก่
3.1 การใช้ความเย็นประคบ เพื่อรักษาอาการปวดเฉียบพลัน
3.2 การใช้ความร้อนประคบ เช่น แผ่นประคบร้อน กระเป๋าน้ำร้อน หรือผ้าชุบน้ำอุ่นประคบ สามารถลดอาการปวด ลดอาการตึงของกล้ามเนื้อและข้อต่อ คลายกล้ามเนื้อ
3.3 การใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดในการลดปวด ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวและลดการอักเสบ หรือการดึงหลังด้วยเครื่องดึงหลัง เพื่อช่วยให้เส้นประสาทถูกกดทับน้อยลง
3.4 การใส่อุปกรณ์พยุงหลัง ควรใช้เมื่อจำเป็น หรือตามแพทย์สั่ง เนื่องจากการใส่เป็นเวลานานจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหลังและหน้าท้องอ่อนแรงได้
3.5 การออกกำลังกายกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรง
3.6 การปรับท่าทางในการทำงานและทำกิจวัตรประจำวันให้ถูกต้องเหมาะสม
  1. การผ่าตัดรักษา การผ่าตัดถือว่าเป็นวิธีรักษาวิธีสุดท้าย ซึ่งจะผ่าตัดเมื่อมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน เช่น ปวดมากและรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดแล้วอาการไม่ดีขึ้น มีอาการปวดมากจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ แขนขาอ่อนแรงมาก หรือกลั้นอุจจาระกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ก็มีความจำเป็นต้องผ่าตัดทันทีโดยไม่ต้องผ่านการรักษาดังกล่าวได้

ความเสี่ยงและผลข้างเคียงของการตรวจรักษา
ข้อควรระวังขณะออกกำลังกาย

  1. เมื่อออกกำลังกายเพื่อลดปวด ควรเคลื่อนไหวหลังไปจนถึงองศาที่ร่างกายเริ่มรู้สึกปวดเท่านั้น แล้วกลับสู่ท่าตั้งต้นทันที
  2. หลังการออกกำลังกายทุกครั้ง จะต้องควบคุมให้หลังอยู่ในท่าทางที่ถูกต้องต่อไป
  3. ขณะออกกำลังกายจะต้องสังเกตว่าอาการปวดร้าวที่แต่เดิมตั้งต้นมาจากกระดูกสันหลังและแผ่ลงมาตามรยางค์ของร่างกายเคลื่อนย้อนกลับเข้าสู่แนวกลางของกระดูกสันหลังหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่าท่าออกกำลังกายที่ใช้ถูกต้องแล้ว ในท่าตรงกันข้าม หากมีอาการปวดร้าวตามรยางค์ของร่างกายมากขึ้นแสดงว่าใช้ท่าออกกำลังกายที่ผิด
  4. ในการออกกำลังกายวันแรกๆ อาจมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้นได้ ให้พยายามออกกำลังกายต่อไป อาการปวดมักจะดีขึ้นภายใน 3-4 วัน
  5. ควรหยุดออกกำลังกาย ถ้ามีอาการปวดแย่ลงทันทีหลังการออกกำลังกายและยังคงแย่ลงในวันถัดไป หรือถ้าในขณะออกกำลังกาย อาการปวดร้าวไปที่ขาใต้ต้อข่อเข่าเพิ่มมากขึ้น
  6. หากผู้ป่วยมีอาการปวดหลังมานานแล้ว มักจะไม่เห็นผลของการออกกำลังกายภายในช่วงแรกๆ อย่างไรก็ตาม หากยังคงพยายามออกกำลังกายแบบนี้ต่อไปอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสองอาทิตย์ อาการปวดมักจะดีขึ้น
การออกกำลังกายสำหรับอาการปวดหลัง ในผู้ป่วยหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อนกดทับเส้นประสาท
   ผู้ป่วยปวดหลังมักมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องลดลง อีกทั้งมีความตึงตัวของกล้ามเนื้อหลัง สะโพก ต้นขาด้านหลังเพิ่มขึ้น ดังนั้นการออกกำลังกายดังต่อไปนี้ จึงมีส่วนช่วยในการลดอาการปวดหลัง และป้องกันการกลับเป็นซ้ำของอาการปวดหลังได้
  1. ท่าออกกำลังกายเพื่อลดอาการปวดหลัง การออกกำลังกายแบบ McKenzie exercise จะช่วยลดอาการปวดหลัง จัดกระดูกสันหลัง ดันหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นออกมาให้กลับเข้าที่ และช่วยลดแรงดันที่กดลงรากประสาทได้
1.1 ท่านอนคว่ำ (นอนคว่ำธรรมดา) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังมาก และพึ่งเป็นใหม่ๆ จะทำให้ผู้ป่วยขยับร่างกายได้ยากลำบาก การนอนหงายจะไปกระตุ้นอาการปวดให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงใช้วิธีนอนคว่ำเพื่อลดการกดทับของหมอนรองกระดูกสันหลังต่อเส้นประสาทไขสันหลัง นอนคว่ำอย่างน้อยวันละ 15 นาที จนไม่มีอาการปวดจึงเริ่มทำท่าต่อไป

1.2 ท่านอนคว่ำ ชันศอก-เหยียดแขนสุด ท่านี้จะเป็นการเพิ่มแรงดัน ให้กับหมอนรองกระดูกสันหลังที่ปลิ้นออกมา โดยใช้แรงดันจากการแอ่นหลังทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังที่กดทับเส้นประสาทกลับเข้าที่ ลดการกดทับ และลดอาการปวดหลัง ท่านี้ให้เริ่มทำจากการตั้งศอกขึ้นมาก่อน ให้อยู่ในท่านี้ครั้งละ 1 – 5 นาที หรือสุดทน จึงลงไปพักในท่านอนคว่ำและทำซ้ำ 5 – 10 รอบ เมื่อทำท่านี้จนไม่มีความรู้สึกปวดแล้วจึงพัฒนาเพิ่มแรงดันโดยการเหยียดแขนสุด และทำเหมือนกัน โดยครั้งนี้จะพักในท่าที่รองลงมา           

1.3 ยืนแอ่นหลัง เป็นท่าที่ทำให้เกิดแรงดันต่อหมอนรองกระดูกสันหลังมากที่สุด แนะนำให้ลองทำเมื่อไม่มีอาการปวดหรือหายดีแล้ว เพื่อจัดกระดูกสันหลัง

  1. ท่าออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความมั่นคงให้แก่ข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว

เป็นการออกกำลังกายที่มุ่งเน้นให้กระดูกสันหลังมีความมั่นคง ไม่เกิดการบาดเจ็บในขณะมีการเคลื่อนไหวหลังได้โดยง่าย โดยการฝึกหดกล้ามเนื้อหน้าท้องชั้นลึก โดยให้ผู้ป่วยหายใจเข้าออกสม่ำเสมอ 2 – 3 ครั้ง แล้วหายใจเข้าออกลึกๆ โดยขณะที่หายใจเข้ากล้ามเนื้อหน้าท้องจะป่อง และหายใจออกกล้ามเนื้อหน้าท้องจะยุบ ในขณะที่หายใจออกเต็มที่ให้เกร็งแขม่วหน้าท้องค้างไว้ 1 – 10 วินาที โดยที่ผู้ป่วยจะต้องไม่กลั้นหายใจ สามารถพูดคุยได้ พอครบค่อยๆ คลายกล้ามเนื้อหน้าท้องที่เกร็งแขม่วไว้ออก สามารถทำได้บ่อยๆ

รู้จักกับหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคยอดฮิตวัยสูงอายุ /ค่าผ่าตัดแสนหก

ข้อแนะนำในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการปวดหลัง

การนอน   ท่านอน ควรนอนหงายแล้วใช้หมอนเล็กๆ หนุนใต้เข่า เพื่อให้สะโพกงอเล็กน้อย หรือนอนตะแคงกอดหมอนข้าง โดยขาที่วางบนหมอนข้างให้งอสะโพกและเข่าเล็กน้อย ไม่ควรนอนคว่ำ
 การลุกจากที่นอน ให้เลื่อนตัวมาใกล้ขอบเตียงนอน ตะแคงตัว งอเข่าและสะโพก ห้อยขาลงข้างเตียงพร้อมกับใช้มือยันตัวลุกขึ้นนั่งแล้วจึงค่อยลุกยืน ไม่ควรลุกขึ้นนั่งทันทีในขณะที่นอนหงายอยู่ เพราะจะต้องใช้กล้ามเนื้อหลังและกล้ามเนื้อหน้าท้องมาก อาจทำให้ปวดหลังได้

การนั่ง

ท่านั่ง นั่งหลังตรงพิงกับพนักพิง น้ำหนักลงบริเวณตรงกลาง ไม่นั่งเอียง เท้าสองข้างวางราบกับพื้น เข่างอตั้งฉาก ต้นขาวางราบกับที่นั่ง ให้ข้อพับเข่าอยู่ห่างจากขอบที่นั่งของเก้าอี้ประมาณ 1 นิ้วเพื่อป้องกันการกดทับเส้นเลือดใต้เข่า หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ

ไม่ควรนั่งไขว่ห้าง เพราะทำให้น้ำหนักตัวลงข้างใดข้างหนึ่งและแนวกระดูกสันหลังเอียง ทำให้ปวดหลังได้

การนั่งขับรถ ควรขยับเบาะที่นั่งให้เอนไปข้างหลังเล็กน้อย ประมาณ 10 – 15 องศา และขยับเบาะให้ใกล้พอดี ซึ่งเมื่อเหยียบคันเร่งหรือเบรกเต็มที่แล้ว เข่าจะงอเล็กน้อยประมาณ 20 – 30 องศาและนั่งให้แผ่นหลังและสะโพกแนบกับเบาะ อาจจะใช้หมอนเล็กๆ หนาประมาณ 3 – 5 นิ้ว รองที่หลังบริเวณเอวด้วยก็ได้

การยืน
   ยืนให้หลังตรงในท่าที่สบาย กางขาออกเล็กน้อย ให้น้ำหนักตัวลงค่อนมาทางส้นเท้าทั้งสองข้าง แขม่วท้อง อกผายไหล่ผึ่ง
ไม่ควรยืนในท่าเดียวนานๆ ควรขยับตัวเปลี่ยนท่าบ่อยๆ หรือยืนลงน้ำหนักบนขาข้างใดข้างหนึ่งสลับกัน หรือสลับเท้าวางพักเท้าบนโต๊ะเล็กๆ ที่สูงประมาณ 1 คืบ หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าส้นสูงมากกว่า 1 นิ้ว
การยกของ
   ขั้นตอนการยกของหรือหยิบของ ที่วางอยู่ต่ำกว่าระดับสะโพก
*ต้องพยายามให้หลังตรงอยู่ตลอดเวลาที่ยกของ ไม่ควรก้มหลังยกสิ่งของในท่าที่เข่าเหยียดตรงหรือบิดเอี้ยวตัว

  • ขั้นที่ 1 ยืนหลังตรง ขากางออกเล็กน้อย งอเข่า ย่อตัวลงจนกระทั่งมาอยู่ในท่านั่งยองๆ
  • ขั้นที่ 2 หยิบสิ่งของที่ต้องการ ถ้าของนั้นหนักต้องอุ้มของชิ้นนั้นชิดแนบลำตัว
  • ขั้นที่ 3 ค่อยๆ ลุกขึ้นด้วยกำลังขา โดยให้หลังตรงอยู่ตลอดเวลา

การไอและจาม
   ขณะไอหรือจาม ควรระวังไม่ให้ร่างกายอยู่ในลักษณะงอตัวหรือโน้มตัวไปข้างหน้า เพราะจะกระตุ้นอาการปวดหลังได้

cr:

วันเวลาทำการ
เปิดทุกวันทำการ วันจันทร์ – วันอาทิตย์ เวลา 08:00 – 20:00 น.
ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด ชั้น 6 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
ติดต่อสอบถาม
โทรศัพท์ : 02-109-9111 ต่อ 10627, 10628
Call Center 1745

ท่านั่ง+นอนป้องกันไม่ให้เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท