เลี้ยงสัตว์ » กรมประมงประกาศหมอสีคางดำ ขึ้นบัญชีดำ ห้ามนำเข้า,ส่งออก,เพาะเลี้ยง โทษหนักปรับ 1 ล้านบาท จำคุก 1 ปี

กรมประมงประกาศหมอสีคางดำ ขึ้นบัญชีดำ ห้ามนำเข้า,ส่งออก,เพาะเลี้ยง โทษหนักปรับ 1 ล้านบาท จำคุก 1 ปี

22 มิถุนายน 2024
44   0

กรมประมงประกาศหมอสีคางดำ ขึ้นบัญชีดำ ห้ามนำเข้า,ส่งออก,เพาะเลี้ยง โทษหนักปรับ 1 ล้านบาท จำคุก 1 ปี

  • ชื่อสามัญ::
    Blackchin tilapia
  • ชื่อไทย::
    ปลาหมอคางดำ
  • ชื่อท้องถิ่น::
    ปลาหมอเอเลี่ยน
  • อาณาจักร::
    Animalia
  • ไฟลัม::
    Chordata
  • ชั้น::
    Actinopterygii
  • อันดับ:
    Perciformes
  • วงศ์::
    Cichlidae
  • สกุล:
    Sarotherodon

ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการรุกรานของสัตว์น้ำต่างถิ่นหรือเอเลียนสปีชีส์ ที่มีการนำเข้ามาจากถิ่นอื่นโดยไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในบ้านเรา บางชนิดสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ทำให้เจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้ดี ถือเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ดั้งเดิมของไทยและก่อให้เกิดความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขอนามัย ..


นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากปัญหาที่มีการพบการระบาดของปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน และปลาหมอบัตเตอร์ สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรบางรายเนื่องจากมีรายงานพบว่ามีการหลุดรอดเข้าบ่อเลี้ยงของเกษตรกรในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และกาญจนบุรี..

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ปลาดังกล่าวมีโอกาสแพร่ขยายพันธุ์อันจะส่งผลต่อเกษตรกร สัตว์น้ำพื้นถิ่น ตลอดจนระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ กรมประมงได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 65 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจึงได้มีการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 9 มกราคม 2561 เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ.2561 และได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561

ซึ่งประกาศฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2561 นี้ สำหรับสัตว์น้ำ 3 ชนิดพันธุ์ตามประกาศที่ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือเป็นผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย ได้แก่
1. ปลาหมอสีคางดำ Sarotherodon melanotheron RÜppell,1852
2. ปลาหมอมายัน Cichlasoma urophthalmus (GÜnther,1862)
3. ปลาหมอบัตเตอร์ Heterotilapia buttikoferi (Hubrecht,1881)

ในส่วนของประกาศฉบับดังกล่าวจะมีแนวทางปฏิบัติหลักๆ ที่สำคัญดังนี้
1. กรณีที่เกษตรกรที่เลี้ยงปลาทั้ง 3 ชนิดในบ่อเพาะเลี้ยง ให้รีบนำปลาดังกล่าวส่งมอบให้เจ้าหน้าที่กรมประมงโดยด่วน
2. กรณีที่ประชาชนทำการประมงแล้วได้ปลาทั้ง 3 ชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ประชาชนสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ควรทำให้ปลาตายก่อนนำไปจำหน่าย
3. กรณีที่ปลาทั้ง 3 ชนิดจากธรรมชาติหลุดรอดเข้าในบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกรโดยไม่เจตนา เกษตรกรสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ควรทำให้ปลาตายก่อนนำไปจำหน่าย

4. กรณีส่วนราชการ สถาบันการศึกษา หรือกรณีจำเป็นอื่นใดที่เพาะเลี้ยงปลาทั้ง 3 ชนิด ไว้เพื่อศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางราชการให้แจ้งขออนุญาตกรมประมงต่อไป
5. ห้ามผู้ใดปล่อยปลาทั้ง 3 ชนิด ลงในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด เนื่องจากมีความผิดตามมาตรา 144 แห่ง พรก.การประมง 2558

สำหรับบทลงโทษหากพบผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 64 หรือมาตรา 65 วรรคสองต้องระวางโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า การประกาศห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงปลาทั้ง 3 สายพันธุ์นี้ เป็นอีกแนวทางที่จะช่วยลดปัญหาสัตว์น้ำต่างถิ่นที่หลุดรอดเข้ามาแพร่ระบาดและสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรไทย ดังนั้นจึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน หากท่านเลี้ยงสัตว์น้ำต่างถิ่น (สัตว์น้ำจากต่างประเทศ) และไม่ต้องการเลี้ยงอีกต่อไปแล้ว อย่านำไปปล่อยลงในแหล่งน้ำสาธารณะ ขอให้ท่านนำสัตว์น้ำต่างถิ่นมามอบให้กับทางกรมประมง หรือสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ใกล้บ้านท่าน เพื่อให้กรมประมงรับไปดูแลและป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะอันจะสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศของประเทศต่อไป

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมประมง
21 มีนาคม 2561
cr:https://www4.fisheries.go.th/local/file_document/20170809092205_file.pdf

https://108kaset.com/2022/09/11/alien-fish/

“ประมง”ออกกฎห้ามนำเข้า-เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเอเลียนเช่น กุ้งเครย์ฟิช ปลาหมอสี มีโทษคุก1ปี ปรับ 1 ล้านบาท