รู้ไว้ได้ประโยชน์ » ประวัติวันสงกรานต์ 2567ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี แต่ละวันคือวันอะไร? & เพลงรำวงสงกรานต์ – ยาว 1 ชั่วโมง

ประวัติวันสงกรานต์ 2567ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี แต่ละวันคือวันอะไร? & เพลงรำวงสงกรานต์ – ยาว 1 ชั่วโมง

13 เมษายน 2024
452   0

ประวัติวันสงกรานต์ 2567..ทำไมวันขึ้นปีใหม่ไทย ต้องเป็นวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี แต่ละวันคือวันอะไร?

เดือนเมษายน ของทุกปีเป็นที่รู้จักกันแล้วว่าเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ไทย ที่หลายคนตั้งตารอคอยที่จะได้พบปะสังสรรค์กับครอบครัว พร้อมที่จะเล่นน้ำสงกรานต์ 2567 เฉลิมฉลองสนุกสนาน ทำบุญตักบาตร สวดมนต์ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ สรงน้ำพระ แห่รถบุปผชาติ ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย ..

โดยสงกรานต์ 2567 มีวันหยุดทั้งหมด 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-16 เมษายน 2567 เพื่อให้ประชาชนได้มีเวลาพักผ่อนได้อย่างเต็มที่

วันหยุดเดือนเมษายน 2567 วันหยุดสงกรานต์ 2567

  • วันศุกร์ ที่ 12 เมษายน 2567 วันหยุดราชการเพิ่มเติม เป็นกรณีพิเศษ
  • วันเสาร์ ที่ 13 เมษายน 2567 วันสงกรานต์
  • วันอาทิตย์ ที่ 14 เมษายน 2567 วันสงกรานต์ (วันครอบครัว)
  • วันจันทร์ ที่ 15 เมษายน 2567 วันสงกรานต์
  • วันอังคาร ที่ 16 เมษายน 2567 วันหยุดชดเชยวันสงกรานต์

เปิดประวัติวันสงกรานต์ 2567 ทำไมวันขึ้นปีใหม่ไทย ต้องเป็นวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี

วันสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี

คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า การเคลื่อนที่ หรือการ เคลื่อนย้าย หมายถึงการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งสู่อีกราศีหนึ่ง คือวันขึ้นปีใหม่นั่นเองตามความหมายในภาษาสันสกฤตสงกรานต์จึงเกิดขึ้นทุกเดือน

ส่วนระยะเวลาที่คนไทยเรียก “สงกรานต์” นั้น เป็นช่วงที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ นับว่าเป็นมหาสงกรานต์ เพราะเป็นวันและเวลาตั้งต้นปีใหม่ตามสรุยคติ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือ วันที่ 13-14-15 เมษายน

  • โดยเรียกวันที่ 13 เมษายน ว่าวันมหาสงกรานต์
  • วันที่ 14 เมษายน เป็นวันเนา
  • วันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศก
 สมัยก่อนถือวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย ตรงกับช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร คนสมัยโบราณจึงคิดทำกิจกรรมเพื่อเป็นการพักผ่อนหลังจากทำงาน และเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้พบกันและเล่นสาดน้ำกัน เพื่อคลายความร้อนในเดือนเมษายน

ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงให้พิธีสงกรานต์นั้นเป็นเทศกาลสงกรานต์ ในพิธีสงกรานต์จะใช้ น้ำ เป็นสัญลักษณ์ที่เป็นองค์ประกอบหลักของพิธี แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ

ในวันนี้จะใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ มีการรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ..

ต่อมาในสังคมไทยสมัยใหม่เกิดเป็นประเพณีกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นับว่าวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว อีกทั้งยังมีประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่ดั้งเดิม อย่าง การสรงน้ำพระที่นำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข

 การสรงน้ำพระ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำในคนรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือเยาว์กว่า เป็นความงดงามของประเพณี

 ช่วงวันสงกรานต์มีวันสำคัญต่างๆดังนี้

วันที่ 13 เมษายน เป็นวันผู้สูงอายุ

เริ่มมีขึ้นในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีวันนี้ขึ้นมาเพื่อให้ลูกหลานได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่บุพการี ผู้อาวุโส หรือผู้ใหญ่ในชุมชนที่เคยทำคุณประโยชน์แก่สังคม

วันที่ 14 เมษายน เป็นวันครอบครัว

มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ตระหนักถึงคุณค่าของสถาบันครอบครัว และใช้เวลาว่างในวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ให้สมาชิกในครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าและทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวและสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว

วันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศกหรือวันเปลี่ยนศักราชใหม่

แต่หากดูตามการคำนวณวัน-เวลาแบบเป๊ะๆ ตามปฏิทินทางจันทรคติในตำราโบราณ (ซึ่งจะทำการคำนวณใหม่ทุกๆ ปี) ปรากฏว่า สงกรานต์ปีนี้ วันเถลิงศกตรงกับวันที่ 16 เมษายน 2566 ณ เวลา 20 นาฬิกา 12 นาที 24 วินาที ซึ่งถือเป็นวันเปลี่ยนศักราชใหม่นั่นเอง

ตำนานนางสงกรานต์ประจำวันมีที่มาจากไหน?

โดยตำนานเกี่ยวกับนางสงกรานต์นั้น ได้มีปรากฏในศิลาจารึกที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ท่าเตียน โดยย่อว่า เมื่อวันสงกรานต์ตรงกับวันใดในแต่ละปี ก็จะมีนางสงกรานต์ประจำวันนั้นๆ

เมื่อวันสงกรานต์ตรงกับวันใดในแต่ละปี ก็จะมีนางสงกรานต์ประจำวันนั้นๆ

  • ตรงกับวันอาทิตย์ จะชื่อ “ทุงษเทวี”
  • ตรงกับจันทร์ ชื่อ “โคราดเทวี”
  • ตรงกับวันอังคาร ชื่อ “รากษสเทวี”
  • ตรงกับวันพุธ ชื่อ “มัณฑาเทวี”
  • ตรงกับวันพฤหัสบดีชื่อ “กิริณีเทวี”
  • ตรงกับวันศุกร์ ชื่อ “กิมิทาเทวี”
  • ตรงกับวันเสาร์ ชื่อ “มโหทรเทวี”

สงกรานต์ 2567 ตรงกับวันเสาร์นางสงกรานต์ชื่อ “มโหทรเทวี”

มโหทรเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ เนื้อทราย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง)

ที่มาของนางสงกรานต์

ธรรมบาลกุมาร เป็นเทพบุตรที่พระอินทร์ประทานให้ลงไปเกิดในครรภ์ภรรยาเศรษฐี เมื่อโตขึ้นก็ได้เรียนรู้ภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เพียง 7 ขวบ จึงได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่างๆ แก่คนทั้งหลาย

จนวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ โดยถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสียเอง โดยธรรมบาลกุมารได้ขอตอบคำถามใน 7 วัน

เมื่อถึงเวลา ท้าวกบิลพรหม ก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ทำให้ท้าวกบิลพรหมแพ้ในการตอบคำถามครั้งนี้

และก่อนจะตัดเศียร ท้าวกบิลพรหม ได้เรียก ธิดาทั้ง 7 องค์ ซึ่งเป็นนางฟ้า ให้เอาพานมารองรับ เนื่องจากเศียรของท้าวกบิลพรหมเป็นที่รวมแห่งความไม่ดีทั้งปวง ถ้าวางไว้บนแผ่นดินไฟจะไหม้โลก ถ้าโยนขึ้นไปบนอากาศฝนจะแล้ง ถ้าทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง

ธิดาทั้ง 7 จึงมีหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันดูแลเศียรของท้าวกบิลพรหม และในทุกๆ ปี ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหม แห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ จึงเป็นที่มาของ นางสงกรานต์ โดยแต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์นั่นเอง

อ้างอิง : นายประพนธ์ รอบรู้ นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี , หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี.
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1122023
https://www.google.com/..1l8tlzM6pqmNucLTj_GZ..