ยูทูป » มีผลแล้ว! ราชกิจจาฯเปลี่ยน‘ส.ป.ก.4-01’เป็น‘โฉนดฯ’เป็นที่ดินซื้อขายเปลี่ยนมือได้

มีผลแล้ว! ราชกิจจาฯเปลี่ยน‘ส.ป.ก.4-01’เป็น‘โฉนดฯ’เป็นที่ดินซื้อขายเปลี่ยนมือได้

10 ธันวาคม 2023
363   0

มีผลแล้ว! ราชกิจจาฯเปลี่ยน‘ส.ป.ก.4-01’เป็น‘โฉนดฯ’เป็นที่ดินซื้อขายเปลี่ยนมือได้

8 ธ.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ลงนามโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ประธานกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ค.ป.ก.) และให้ระเบียบฯฉบับดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค.2566 เป็นต้นไป..

ทั้งนี้ ระเบียบฯฉบับนี้ มีสาระสำคัญ เช่น เพิ่มบทนิยามคำว่า ‘โฉนดเพื่อการเกษตร’ และให้เกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินมาแล้ว เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี สามารถนำเอกสารสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ของตนเอง ไปยื่นขอเปลี่ยนเป็นโฉนดเพื่อการเกษตรได้ โดย ส.ป.ก. จะต้องพิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน และหากไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ ให้ ส.ป.ก. ขยายระยะเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน

พร้อมกันนั้น ให้เกษตรกรผู้ได้รับที่ดินตามโฉนดเพื่อการเกษตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี อาจยื่นคำขอสละสิทธิของตนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนต่อ ส.ป.ก.จังหวัด เพื่อให้เกษตรกรอื่นเป็นผู้ได้รับการพิจารณาจัดที่ดินแทนที่ คือ สามารถนำที่ดินไปขายหรือให้เช่าได้ แต่ต้องได้รับการยินยอมจาก ส.ป.ก. ก่อน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2566

ระเบียบฯฉบับดังกล่าว ได้กำหนดให้ยกเลิกการกำหนดระยะเวลาที่ให้ทายาทเกษตรกร ซึ่งถึงแก่ความตาย ไปยื่นคำขอรับการตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อ พร้อมทั้งกำหนด ‘ลำดับทายาท’ ของเกษตรกรซึ่งถึงแก่ความตาย ที่มีสิทธิได้รับการตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อที่ดิน ส.ป.ก. ในกรณีที่มีทายาทเกินกว่าหนึ่งรายและเป็นกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในระหว่างทายาท

@kanakorn2519 ข่าวดี เตรียมเปลี่ยนที่ ส.ป.ก. เป็นโฉนด ต้นปีหน้ากว่า 22 ล้านไร่ #สปก #โฉนดที่ดิน #ข่าวtiktok #เกษตรกร #ที่ดิน #โฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม #CapCut @สำนักประชาสัมพันธ์เขต8 ♬ เสียงต้นฉบับ – สำนักประชาสัมพันธ์เขต8

นอกจากนี้ ระเบียบฉบับนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ที่ ส.ป.ก. ได้จัดให้แก่เกษตรกรแล้ว โดยไม่ได้รับอนุญาตและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนดก่อนวันที่ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับ ให้มาดำเนินการแจ้งการครอบครองที่ดินกับ ส.ป.ก.จังหวัด ภายใน 2 ปีนับตั้งแต่วันที่ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับ เพื่อรับสิทธิโดยการเช่าที่ดินตามที่กำหนดในระเบียบนี้ ส่วนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับสิทธิโดยการเช่าที่ดิน ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

สำหรับเนื้อหาของ ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 มีดังนี้..

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566”

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “การจัดให้เข้าทำประโยชน์” แห่งระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ.2564 และให้ใช้ความดังต่อไปนี้แทน

““การจัดให้เข้าทำประโยชน์” หมายความว่า การจัดให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน หรือโฉนดเพื่อการเกษตรที่ ส.ป.ก. ออกให้แก่เกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน”

ข้อ 4 ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “โฉนดเพื่อการเกษตร” ระหว่างคำว่า “การจัดให้โดยมีค่าชดเชย” กับคำว่า “คู่สมรส” ของข้อ 4 แห่งระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ.2564

““โฉนดเพื่อการเกษตร” หมายความว่า หนังสือแสดงสิทธิที่ ส.ป.ก. ออกให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการจัดให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน”

ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในข้อ 6 แห่งระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ.2564 และให้ใช้ความดังต่อไปนี้แทน

“ข้อ 6 ให้ ส.ป.ก. ดำเนินงานเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ที่ ส.ป.ก. ได้มาตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนี้

(1) ที่ดินของรัฐที่นำมาเพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

(2) ที่ดินที่ได้มานอกเหนือจาก (1) เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ให้นำที่ดินตามวรรคก่อน มาจัดให้แก่เกษตรกรตามระเบียบนี้หรือระเบียบเกี่ยวกับการจัดที่ดินให้สถาบันเกษตรกรตามความเหมาะสมเป็นลำดับแรก กรณีที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดหรือเลขาธิการ หรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมายพิจารณาแล้วเห็นสมควรให้นำที่ดินดังกล่าวไปดำเนินการตามระเบียบอื่นเพื่อประโยชน์เกี่ยวกับกิจการสาธารณูปโภคและกิจการอื่นๆ ในเขตปฏิรูปที่ดินหรือเพื่อจัดให้แก่บุคคลใช้สำหรับกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนด ให้กระทำได้เท่าที่จำเป็น”

ข้อ 6 ให้ยกเลิกความในข้อ 22 แห่งระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ.2566 และให้ใช้ความดังต่อไปนี้แทน

“ข้อ 22 กรณีเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน ซึ่งได้รับสิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อ ถึงแก่ความตาย เมื่อทายาทของเกษตรกรดังกล่าวได้ยื่นคำขอรับการตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อต่อ ส.ป.ก.จังหวัด ให้พิจารณาการตกทอดทางมรดกโดยนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในข้อ 20 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีทายาทที่ยื่นคำขอตามวรรคหนึ่งมีสิทธิได้รับการตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อเกินกว่าหนึ่งรายและเป็นกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในระหว่างทายาทด้วยกัน ให้พิจารณาตามลำดับ ดังนี้

(1) ให้สิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อตกทอดแก่คู่สมรสเป็นลำดับแรก

(2) กรณีไม่มีคู่สมรส หรือมีแต่ไม่ขอรับสิทธิดังกล่าว หรือคู่สมรสนั้นไม่ต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด ให้สิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อตกทอดแก่ทายาทชั้นบุตร ซึ่งหมายรวมถึง ผู้สืบสันดานของทายาทชั้นบุตรที่ตายก่อนเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน โดยให้เป็นไปตามลำดับ ดังนี้

ก.ให้สิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อตกทอดแก่บุตรเพียงรายเดียว เว้นแต่เป็นกรณีที่อาจให้สิทธิแก่บุตรได้เกินกว่าหนึ่งรายตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในข้อ 20 (2) ให้พิจารณาตามข้อตกลงระหว่างบุตรดังกล่าว หากไม่อาจตกลงกันได้ให้บุตรผู้มีสิทธิแต่ละรายได้รับการตกทอดทางมรดสิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อที่ดินตามส่วนที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน

ข.กรณีที่ดินนั้นไม่สามารถให้สิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อแก่บุตรตามจำนวนของผู้มีสิทธิทั้งหมดและไม่อาจตกลงกันได้ในระหว่างบุตรผู้มีสิทธิด้วยกัน ให้คัดเลือกผู้ที่เหมาะสมจากบุตรเหล่านั้นเท่ากับจำนวนแปลงที่อาจแบ่งได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในข้อ 20 (2) เป็นผู้ได้รับการตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อตามจำนวนแปลงที่ดินที่อาจให้สิทธิได้

ทั้งนี้ การคัดเลือกดังกล่าวให้คำนึงถึงความเกี่ยวพันระหว่างทายาทนั้นกับเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน เช่น เป็นผู้ร่วมประกอบอาชีพเกษตรกรรม เป็นผู้อุปการะ หรือได้รับอุปการะ โดยพิจารณาประกอบกับความสามารถในการรับไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินที่ถึงแก่ความตายเป็นสำคัญ

(3) หากไม่มีทายาทตาม (1) และ (2) หรือมีแต่ไม่ขอรับสิทธิดังกล่าว หรือทายาทนั้น ไม่ต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด ให้สิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อตกทอดแก่ทายาทอื่นของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินได้ ถ้าทายาทอื่นผู้มีสิทธิได้รับการพิจารณานั้นมีจำนวนเกินกว่าหนึ่งรายให้นำความใน (2) ก. และ ข. ตลอดจนการจัดลำดับและชั้นของทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

ข้อ 7 ให้เพิ่มความดังต่อไปนี้ เป็นข้อ 29/1 แห่งระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรการโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ.2564

“ข้อ 29/1 เกษตรกรผู้ได้รับที่ดินตามโฉนดเพื่อการเกษตรมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี อาจยื่นคำขอสละสิทธิของตนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนต่อ ส.ป.ก.จังหวัด เพื่อให้เกษตรกรอื่นเป็นผู้ได้รับการพิจารณาจัดที่ดินแทนที่

เมื่อได้รับคำขอรับการจัดที่ดินแทนที่จากเกษตรกรอื่นตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ ส.ป.ก. พิจารณาคัดเลือกและดำเนินการทางทะเบียน โดยนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในข้อ 19 และข้อ 20 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

ข้อ 8 ให้เพิ่มความดังต่อไปนี้ เป็นข้อ 29/2 แห่งระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรการโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ.2564

“ข้อ 29/2 ภายใต้บังคับข้อ 12 ระยะเวลาอื่นใดในการพิจารณาเพื่อให้ได้รับโฉนดเพื่อการเกษตรต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน

กรณีตามวรรคหนึ่ง หากไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ ให้ ส.ป.ก. ขยายระยะเวลาได้ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน”

ข้อ 9 ให้ยกเลิกความในข้อ 30 แห่งระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ.2564 และให้ใช้ความดังต่อไปนี้แทน

“ข้อ 30 เมื่อทายาทของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินซึ่งได้รับการจัดให้เข้าทำประโยชน์ถึงแก่ความตาย ได้ยื่นคำขอรับการจัดที่ดินแทนที่ผู้ตายต่อ ส.ป.ก.จังหวัด ให้พิจารณาการจัดที่ดินแทนที่ โดยนำหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในข้อ 19 และข้อ 22 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ให้จัดที่ดินแทนที่แก่ทายาทโดยการจัดให้เข้าทำประโยชน์”

ข้อ 10 ให้ยกเลิกความในข้อ 36 แห่งระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ.2564 และให้ใช้ความดังต่อไปนี้แทน

“ข้อ 36 เหตุจำเป็นต้องจัดการทรัพย์สินหรือหนี้สินที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ได้รับที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะมีได้เฉพาะในกรณีที่เกษตรกรผู้ได้รับที่ดินมีทรัพย์สินหรือหนี้สินจากการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ดังต่อไปนี้

(1) เกษตรกรผู้ได้รับที่ดินมีอสังหาริมทรัพย์ติดอยู่กับที่ดินในลักษณะถาวร เช่น ไม้ยืนต้นทางการเกษตร โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือได้มีการปรับปรุงพัฒนาที่ดินเพื่อให้เหมาะสมต่อการเกษตรกรรม

(2) เกษตรกรผู้ได้รับที่ดินยังมีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพันอยู่ หรือมีหนี้สินค้างชำระกับ ส.ป.ก. หรือสถาบันการเงินที่ร่วมโครงการกับ ส.ป.ก. หรือสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน เกษตรกรผู้ได้รับที่ดินซึ่งมีความประสงค์ขอรับเงินค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการสละสิทธิคืนที่ดินให้แก่ ส.ป.ก. ตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ตามระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินการเบิกจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2550 ไม่ถือว่ามีเหตุจำเป็นต้องจัดการทรัพย์สินหรือหนี้สินที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ได้รับที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม”

ข้อ 11 ให้เพิ่มความดังต่อไปนี้เป็น “ส่วนที่ 5 โฉนดเพื่อการเกษตร” และเพิ่มข้อ 53/1 และข้อ 53/2 แห่งระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ.2564

“ส่วนที่ 5

โฉนดเพื่อการเกษตร

ข้อ 53/1 เมื่อเกษตรกรยื่นคำขอ ให้ ส.ป.ก. ออกโฉนดเพื่อการเกษตร แก่เกษตรกรผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จะต้องเป็นการได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินมาแล้ว เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี

กรณีมีการโอนสิทธิ หรือจัดที่ดินแทนที่ให้กับคู่สมรส บุตร เครือญาติ หรือทายาท ให้นับระยะเวลาที่ได้ร่วมทำประโยชน์เป็นระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง

ข้อ 53/2 การออก แก้ไขเพิ่มเติม ยกเลิกเพิกถอน และออกใบแทนโฉนดเพื่อการเกษตรให้นำความในส่วนที่ 1 ส่วนที่ 2 ส่วนที่ 3 และส่วนที่ 4 เฉพาะที่เกี่ยวกับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินมาใช้โดยอนุโลม

แบบ หลักเกณฑ์และวิธีการออกโฉนดเพื่อการเกษตร ให้เป็นไปตามที่ ส.ป.ก. กำหนด”

ข้อ 12 ให้เพิ่มความดังต่อไปนี้ เป็นข้อ 60 ข้อ 61 และข้อ 62 แห่งระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ.2564

“ข้อ 60 เมื่อเกษตรกรผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน หรือได้รับ ส.ป.ก.4-01 ได้ยื่นคำขอออกโฉนดเพื่อการเกษตร ให้ ส.ป.ก.จังหวัด ออกหนังสือรับรองสิทธิการขอออกโฉนดเพื่อการเกษตรไว้เป็นหลักฐาน จนกว่าจะมีการออกโฉนดเพื่อการเกษตรให้แก่เกษตรกร

กรณีมีการออกโฉนดเพื่อการเกษตรเรียบร้อยแล้ว ให้หนังสือรับรองตามวรรคหนึ่งสิ้นผลการรับรอง”

“ข้อ 61 ให้คณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการแต่งตั้งตามข้อ 5 ของระเบียบนี้ มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์การสั่งให้สิ้นสิทธิ การเพิกถอนการจัดที่ดินก่อนระเบียบนี้ใช้บังคับ รวมถึงคำขออุทธรณ์ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา”

“ข้อ 62 ผู้ใดที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ ส.ป.ก. ได้จัดให้แก่เกษตรกรแล้ว โดยไม่ได้รับอนุญาตและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนดก่อนวันที่ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับ ให้มาดำเนินการแจ้งการครอบครองที่ดินกับ ส.ป.ก.จังหวัด ภายในสองปีนับตั้งแต่วันที่ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับ เพื่อรับสิทธิโดยการเช่าที่ดินตามที่กำหนดในระเบียบนี้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับสิทธิโดยการเช่าที่ดิน ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”

สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ก่อนหน้านี้ สำนักงาน ส.ป.ก. ระบุว่า มีเกษตรกรที่ได้รับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 และเข้าเงื่อนไขที่สามารถนำที่ดิน ส.ป.ก. ไปยื่นขอออกเป็นโฉนดเพื่อเกษตรกร รวมทั้งสิ้น 1,628,520 ราย มีเอกสารสิทธิรวม 2,205,561 ฉบับ เนื้อที่รวม 22,079,407 ไร่

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จ.หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่า ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา อนุญาตให้เปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ทั่วประเทศ 22 ล้านไร่ เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะทยอยเปลี่ยน สปก. 4-01 เป็นโฉนดฯ ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เมื่อมีการเปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดฯแล้ว เกษตรกรสามารถนำที่ดินดังกล่าวไปขาย หรือนำไปค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินได้ ซึ่งเฉพาะในพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู นั้น มีเกษตรกรครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. กว่า 9.5 แสนไร่ หากมูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้น 1 แสนบาท/ไร่ ก็จะทำให้มีเงินทุนไหลสู่มือพี่น้องเกษตรกร จ.หนองบัวลำภู กว่า 1 แสนล้านบาท

“พอเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร มันแปลว่า ซื้อขายได้ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสถาบันการเงินได้ คือ จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ได้ดีขึ้น มากขึ้น แล้วใครไม่ได้ทำเกษตรแล้ว หรือทำน้อยลงแล้ว หรือมีหนี้สิน อาจยอมขายบางส่วนเพื่อตัดหนี้เลย แล้วตั้งหลักใหม่ได้ อันนี้ 9.5 แสนไร่ของ จ.หนองบัวลำภูนี่ มหาศาลนะครับพี่น้อง ถ้าไร่หนึ่งมูลค่าขึ้นมา 1 แสนบาท หมายถึงเม็ดเงินที่เป็นเงินทุนไหลเข้ามาสู่มือพี่น้องเกษตรกรจังหวัดนี้ร่วมๆแสนล้านบาท ประกาศในราชกิจนุเบกษา 15 ธ.ค.2566 จะเริ่มทยอยแจกตั้งแต่ 15 ม.ค.2567” นายชัยกล่าว

cr:https://isranews.org/article/isranews-news/124517-Enforcement-Agricultural..

ครุฑแดง ครุฑเขียว ครุฑดำบนโฉนดที่ดิน แสดงว่า..