“ไอ้โม่ง”กดราคามังคุด ปล่อยข่าว “ผลผลิตมาก” ไม่มีคนรับซื้อ ทั้งๆ ที่ “ตลาดจีน” ก็ยังไปได้ปกติ “ตลาดในประเทศ” ก็ปกติ
ปี 2566 ผลผลิต “มังคุด” ทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 261,000 ตัน เป็นผลผลิต “ภาคตะวันออก” ประมาณ 120,000 ตัน และ “ภาคใต้” ประมาณ 140,000 ตัน
ขณะนี้ ผลผลิตออกมาแล้วกว่า 60% โดยภาคตะวันออกหมดแล้ว เหลือแต่ภาคใต้ ที่ผลผลิตรุ่นที่ 1 หมดไปแล้ว กำลังเข้าสู่รุ่นที่ 2 คาดว่าจะ “เหลือเต็มที่” ไม่เกิน 50,000 ตัน ที่จะทยอยออกมาในช่วงนี้..
ช่วงที่ผลผลิตรุ่น 2 เริ่มออก ปรากฏว่า มี “ไอ้โม่ง” พยายามที่จะกดราคา ปล่อยข่าว “ผลผลิตมาก” ไม่มีคนรับซื้อ ทั้ง ๆ ที่ “ตลาดจีน” ก็ยังไปได้ปกติ “ตลาดในประเทศ” ก็ปกติ
ทำ “ราคาซื้อขายมังคุด” ในแหล่งผลิตใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ตกทันที 20-30 บาท/กิโลกรัม (กก.) ซึ่งสร้างความ “งงงวย” ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมากว่า “เกิดอะไรขึ้น”
แต่สถานการณ์ยังไม่ทันจบวัน “พาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช” และ “กรมการค้าภายใน” ได้แท็กทีมเข้าไปดูแลและติดตามสถานการณ์
เบื้องต้น ได้ประสาน “ผู้ประกอบการในพื้นที่” และ “ผู้ประกอบการที่กรมการค้าภายในติดต่อมา” เข้าไปรับซื้อผลผลิตมังคุดจากเกษตรกรในทันที ส่งผลให้สถานการณ์เริ่ม “ปรับตัวดีขึ้น”
ถัดมา กรมการค้าภายในได้ร่วมกับจังหวัดนครศรีธรรมราช ขับเคลื่อนมาตรการ “อมก๋อย โมเดล” นำผู้รวบรวม ผู้ส่งออก ห้างค้าปลีกค้าส่ง ตลาดกลาง และห้างท้องถิ่น เข้ามาทำสัญญารับซื้อมังคุด ปริมาณ 12,950 ตัน จากเกษตรกร
แยกเป็น “ห้างแม็คโคร โลตัส บิ๊กซี ท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต และเดอะมอลล์” รับซื้อปริมาณ 530 ตัน “ตลาดศรีเมือง-ตลาดล้านเมือง” รับซื้อ 2,000 ตัน ส่วนที่เหลือ “ผู้รวบรวม ผู้ส่งออก ห้างท้องถิ่น” จะรับซื้อ เพื่อนำไปขายตามช่องทางที่ตัวเองมีอยู่ต่อไป
“เป้าหมาย” เพื่อช่วย “ดูแลราคา” และ “สร้างความมั่นใจ” ให้กับพี่น้องเกษตรกรว่ามังคุดคุณภาพจะมีผู้ประกอบการเข้ามารับซื้ออย่างแน่นอน
ต่อมา ได้เร่ง “อุดช่องโหว่” ในจุดที่ผู้ซื้ออาจจะเข้าไปไม่ถึง หรือเป็นจุดที่มีเกษตรกรรายย่อยเป็นจำนวนมาก ได้ประสาน “ผู้รวบรวม” ทั้งในพื้นที่และจากส่วนกลาง เข้าไปรับซื้อปริมาณกว่า 1,000 ตัน เพื่อนำไปจำหน่ายใน “ห้างท้องถิ่น” ทั่วประเทศ 120 จุด และ “โมบายพาณิชย์” 100 จุด ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร นอกเหนือจากการจัดชุดใหญ่ไปก่อนหน้านี้ ที่ประสานผู้ประกอบการเข้าซื้อ 12,950 ตัน
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า เป็นดาบสอง หรือม้าเร็วก็ได้ โดยจะนำผู้ประกอบการลงพื้นที่เข้าไปรับซื้อในจุดที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังเข้าไปไม่ถึง หรือเข้าไปยังพื้นที่ ๆ มีเกษตรกรรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ อ.เมือง อ.ลานสกา อ.พรหมคีรี และ อ.ท่าศาลา รวมถึงจะขยายพื้นที่การรับซื้อให้ครอบคลุมมากที่สุด
เรียกว่าจะปิดช่องทุกจุด ให้เกษตรกรมีที่ขายผลผลิต ไม่ให้มีตกหล่น เพื่อเป็นการดูแลในช่วงที่ผลผลิตรุ่นที่ 2 กำลังออกสู่ตลาด
สำหรับสถานการณ์ “ราคามังคุด” ในจังหวัดนครศรีธรรมราชขณะนี้ ราคาประมูล “เกรดมันรวม” หรือ “เกรดส่งออก” อยู่ที่ 40-50 กว่าบาท/กิโลกรัม (กก.) ราคาเกรดคละอยู่ที่ 25 บาท/กก. ส่วนเกรดที่ตกไซต์อยู่ที่ ประมาณ 20 บาท/กก. ถือว่าอยู่ในราคาที่สูงกว่าปีที่แล้ว
ส่วนที่มีข่าว “กดราคา” หรือ “ฮั้วกดราคา” จะมีการลงพื้นที่ “ติดตาม” การรับซื้ออย่างใกล้ชิด และ “กำกับดูแล” การซื้อขาย เพื่อ “ป้องกัน” ไม่ให้มีการ “เอารัดเอาเปรียบ” เกษตรกร หากตรวจสอบพบจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ “ผู้บริโภค” ขอฝากให้ “ช่วยกัน” บริโภคมังคุด พบเจอมังคุดขายที่ไหน ก็ให้เลือกซื้อเลือกหาได้ จะซื้อในตลาด ซื้อในห้าง ก็ซื้อได้เลย ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นจุดที่กรมการค้าภายในนำไปขาย
แต่ถ้ารอมังคุดที่กรมการค้าภายในเชื่อมโยงนำไปขาย ก็ให้ไปหาซื้อได้ที่ “ห้างท้องถิ่น” เบื้องต้นกำหนดไว้ 120 จุดทั่วประเทศ และ “โมบายพาณิชย์” จำนวน 100 จุด ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
สุดท้ายนี้ ขอบอกว่า ปีนี้ “มังคุดภาคใต้” คุณภาพดีมาก และรสชาติอร่อย
ที่สำคัญ เป็นช่วง “โค้งสุดท้าย” ที่จะได้บริโภคมังคุดแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ต้องคิดมาก ซื้อแค่คนละ 1 กิโล 2 กิโรวม ๆ กันก็จะเป็นการ “บริโภคก้อนใหญ่” สร้างแรง “กระเพื่อม” ได้มาก
ถือว่าได้ “ช่วย” เกษตรกรด้วย
ได้ “บริโภค” ผลไม้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “ราชินีผลไม้” ด้วย
ที่มา-เว็บกระทรวงพาณิชย์
จีนเป็นนายทุนปลูกทุเรียนที่สปป.ลาว แปลงนี้ หนึ่งหมื่นสี่พันไร่ มองไปไกล สุดลูกหูลูกตา..