“..ศูนย์จีโนมฯ รพ.รามาธิบดี เผยผลวิจัยยืนยัน การฉีดวัคซีน mRNA เข็มกระตุ้นมากครั้ง ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19…..”
วันที่ 27 ธันวาคม 2565 เฟซบุ๊กแฟนเพจ Center for Medical Genomics ของ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ประสิทธิผลของ “วัคซีนเข็มกระตุ้น” เอ็มอาร์เอ็นเอรุ่นที่สอง “ไบวาเลนต์” จากการใช้งานจริงในกลุ่มประชากรกว่า 5 หมื่นคนเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ปรับปรุง 27/12/2565 เวลา 10.05 น.
นพ. นาบิน เค เชรสธา (Nabin K Shrestha) และทีมวิจัยแผนกโรคติดเชื้อ จากคลีฟแลนด์คลินิก ซึ่งเป็นศูนย์การแพทย์เพื่อการศึกษาที่ไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งอยู่ที่เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำเสนองานวิจัย (เตรียมตีพิมพ์ เป็นงานวิจัยใหม่ที่ยังไม่ได้รับการประเมินให้การรับรองโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ/peer review ไม่ควรใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติทางคลินิก) อาศัยข้อมูลจริง (real world data) ของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เอ็มอาร์เอ็นเอรุ่นที่สอง ไบวาเลนต์ (bivalent Vaccine Booster Shot)
รวบรวมจากพนักงานในวัยทำงานจำนวน 51,011 คน (อายุเฉลี่ย 42.3 ปี) ของคลีฟแลนด์คลินิก ซึ่งเคยได้รับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอรุ่นแรก และมีการติดเชื้อโควิด-19 ตามธรรมชาติมาก่อน ระหว่างเดือนธันวาคม 2563-2565 พบว่าเมื่อได้รับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอรุ่นที่สอง ไบวาเลนต์ (bivalent Vaccine Booster Shot) เริ่มตั้งแต่ 12 กันยายน 2565 ที่ผ่านมาสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ร้อยละ 30 ในระยะเวลา 3 เดือน (ภาพ 1)
โดยช่วงเวลาดังกล่าว รัฐโอไฮโอและรัฐใกล้เคียง มีการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ BQ.1.1, BQ.1, BA.5, XBB, BF.7, BN.1 และ BA.2.75 สัปดาห์ล่าสุดมีสายพันธุ์เหล่านี้ระบาดคิดเป็นร้อยละ 40.7, 28.9, 8.9, 6.2, 5.8, 4.2 และ 1.3 ตามลำดับ (ภาพ 2)
แต่สิ่งที่คาดไม่ถึงที่ทีมวิจัยพบ คือ ความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 กลับมีการแปรผันตรงตามจำนวนครั้งหรือโดส (dose) ของการฉีดวัคซีน (เอ็มอาร์เอ็นเอ) กล่าวคือหากได้รับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอจำนวนมากก่อนหน้านี้ ความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ก็จะยิ่งสูงขึ้น ผู้ที่ได้รับวัคซีนตั้งแต่ 3 โดสขึ้นไปจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 6 เท่าเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน
งานวิจัยนี้ไม่ใช่งานวิจัยแรก ที่แสดงให้เห็นว่า หากได้รับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ จำนวนมากจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 แต่ยังมีงานวิจัยก่อนหน้า ที่เก็บรวบรวมข้อมูลจากอาสาสมัครจำนวนกว่าแสนคนในประเทศกาตาร์ ที่พบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ 3 โดสมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโอมิครอนซ้ำมากกว่าผู้ที่มีได้รับวัคซีน 2 โดส และงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งยังพบว่าการได้รับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ 2 หรือ 3 โดสมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ำ สูงกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอเพียงโดสเดียว..
การค้นพบเหล่านี้ อาจมีส่วนชี้ให้เห็นว่าการฉีดวัคซีน เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยการใช้สายพันธุ์โควิดที่จำเพาะเจาะจง (Narrow-Spectrum Anti-coronavirus Vaccines) ซ้ำ จนประทับเข้าไปในความทรงจำของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Imprinted SARS-CoV-2 humoral immunity) ว่าต้องเข้าจับและทำลายสายพันธุ์นี้เท่านั้น อาจส่งผลให้ภูมิคุ้มกันที่ได้ ด้อยประสิทธิภาพลง หากบุคคลเหล่านั้นได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (booster shot) ที่สร้างจากไวรัสสายพันธุ์เดิมซ้ำ และต่อมามีการติดเชื้อซ้ำ (breakthrough SARS-CoV-2 infection) ด้วยโควิดสายพันธุ์อุบัติใหม่ ที่มีการกลายพันธุ์แตกต่างออกไป จากสายพันธุ์ที่ใช้เป็นต้นแบบในการสร้างวัคซีน..
การค้นพบนี้ไม่ได้บั่นทอนประโยชน์ของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม 608 แต่กลับเป็นตัวเร่งให้ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกตระหนัก และให้ความสนใจศึกษาระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ เมื่อได้รับการกระตุ้นจากวัคซีนหรือจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ ที่มีความซับซ้อนให้รอบด้าน ครบทุกมิติ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ในการบริหารจัดการชนิดของวัคซีน จำนวนครั้ง (โดส) ของการฉีดวัคซีน รวมทั้งระยะห่างของการฉีด
อีกทั้งยังจะเป็นตัวเร่งการพัฒนาวัคซีน ที่สามารถป้องกันการติดเชื้อ ที่ครอบคลุมสายพันธุ์ดั้งเดิม สายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบัน และสายพันธุ์ใหม่ที่จะอุบัติขึ้นในอนาคต (Broad-Spectrum Anti-coronavirus Vaccines) เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนได้รับประสิทธิผลของวัคซีนแต่ละประเภทในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สูงสุด ท้ายสุดต้องไม่ลืมว่า “ความเสี่ยง” ของการติดเชื้ออย่างรุนแรง หรือแม้กระทั่งการเสียชีวิตด้วยโควิด-19 ทั่วโลกลดลงอย่างมากก็ด้วยการฉีดวัคซีน.
cr:https://www.thairath.co.th/news/society/2588645
https://www.google.com/..%B8%89%E0%B8%B5%..