เงินๆงานๆ-อาชีพ » อุ๊งอิ๊ง แจงนโยบายเพื่อไทย ต้องคิดการณ์ใหญ่ ชูค่าแรงขั้นต่ำ 600 – ป.ตรี 25,000

อุ๊งอิ๊ง แจงนโยบายเพื่อไทย ต้องคิดการณ์ใหญ่ ชูค่าแรงขั้นต่ำ 600 – ป.ตรี 25,000

8 ธันวาคม 2022
630   0

อุ๊งอิ๊ง แจงนโยบายเพื่อไทย ต้องคิดการณ์ใหญ่ ชูค่าแรงขั้นต่ำ 600 – ป.ตรี 25,000

พรรคเพื่อไทย นำโดย แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะทำงานนโยบาย พรรคเพื่อไทย เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนผู้จบการศึกษาปริญญาตรี 25,000 บาท ..

แพทองธาร กล่าวว่า ตนเข้าใจดีว่าเหตุใดจึงมีการถกเถียงในเรื่องนี้ เพราะภาพรวมเศรษฐกิจในขณะนี้ยังไม่ดี พรรคเพื่อไทยจึงแสดงวิสัยทัศน์ให้ทุกคนได้เห็นว่า ถ้าเราปรับภาพรวมเศรษฐกิจทั้งประเทศให้เติบโตไปพร้อมกัน เหมือนสมัยที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีเคยปรับค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวัน 10 ปีผ่านไป ค่าแรงขั้นต่ำยังปรับขึ้นมาแค่หลักสิบบาท จึงเป็นเหตุให้เกิด รวยกระจุก จนกระจาย..

คนได้ประโยชน์จากค่าแรงขั้นต่ำ คือคนกลุ่มเล็กๆ บนยอดสามเหลี่ยม แต่ฐานรากคือคนส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจนเดือดร้อน คนใช้แรงงานยังไม่ได้รับเกียรติไม่ได้รับศักดิ์ศรีเพียงพอ เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำในประเทศอื่น อีกทั้งหากภาพรวมเศรษฐกิจของทั้งประเทศดีขึ้น แรงงานมีรายได้มากขึ้นจะสามารถจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น ช่วยผลักดันเศรษฐกิจทั้งระบบ ดังนั้นการเติบโตของเศรษฐกิจในแนวทางของพรรคเพื่อไทย คือต้องการให้ทั้งประเทศ คนทุกชนชั้น เติบโตได้ทุกโอกาส สามารถออกมาจับจ่ายใช้สอยดูแลครอบครัวของตัวเองได้ การคิดเล็กไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงเป็นที่มาของแนวคิด ‘คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน’

“เราต้องเป็นทุนนิยมที่มีหัวใจ ค่าแรงต้องปรับขึ้นเมื่อเศรษฐกิจทั้งประเทศพร้อม วันนี้ค่าแรงยังปรับขึ้นเป็น 600 บาท ไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดี แต่เมื่อเศรษฐกิจดีแล้ว จีดีพี จะเติบโตที่ 5% ปีแรกอาจสูงกว่า หรือปีต่อมา อาจลดน้อยลงตามเลขเฉลี่ยแต่ละปี ทั้งหมดคือหัวใจหลัก” แพทองธาร กล่าว

นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช กล่าวว่า จุดยืนหรือหัวใจหลักของพรรคเพื่อไทยคือ สร้างรายได้ ขยายโอกาส แต่ปัญหาขณะนี้คือหนี้ เราจึงต้องแก้หนี้ด้วยการสร้างรายได้ ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดีก็ไปกู้ กู้แล้วก็ขยายเพดานหนี้จึงทำให้ค่าจ้างแรงงานยังต่ำ ประเทศรายได้ก็ต่ำ ความเหลื่อมล้ำก็สูง เราจึงต้องใช้นโยบายหลายเรื่องราวที่แถลงเมื่อวานเรียงร้อยและผลักดันไปพร้อมกัน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น คือต้องสร้างรายได้ใหม่ไปพร้อมกัน ..

การปรับค่าแรงงานขั้นต่ำ ไม่ใช่การทำลายโครงสร้าง แต่เป็นการทำงานร่วมกันในระดับไตรภาคีคือ เห็นพ้องร่วมกันระหว่างรัฐ – ผู้ประกอบการ – ประชาชน ค่าแรงขั้นต่ำคิดขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ เพราะค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น พรรคเพื่อไทยรู้ว่าผลิตภาพการผลิต คือที่มากำไรของผู้ประกอบการที่จะนำมาจ่ายเงินเดือน-โบนัส แรงงานได้ ส่วนรายได้เข้าประเทศอื่นๆ อย่าง ภาคการท่องเที่ยว พรรคเพื่อไทยคิดจากฐานของรายได้ภาคท่องเที่ยวก่อนเกิดการระบาดของโควิด ซึ่งอยู่ที่มูลค่า 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อไทยตั้งเป้าเพิ่มเป็น 3 ล้านล้านบาท ซึ่งสามารถทำได้แน่นอนด้วยการสร้างแรงดึงดูดด้วยศักยภาพการท่องเที่ยวที่ไทยมีอยู่มากมาย และการจัดการการบิน-สนามบิน-การอำนวยความสะดวกด่านตรวจคนเข้าเมือง พรรคเพื่อไทยมีผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นผู้แทนจากภาคธุรกิจ จากภาคประชาชน จึงมีความมั่นใจว่าเราคิด ทำ และขับเคลื่อนทั้งระบบได้อย่างแน่นอน..

ด้าน เผ่าภูมิ โรจนสกุล กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวโดยแบ่งเป็น 4 ประเด็นคือ..

1. ค่าแรง 600 บาท กับปี 2570 เหมาะสมไหม และทำได้หรือไม่? ประเด็นนี้ ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศเลย ถ้าผู้นำมองประเทศไทยแค่เป็นลูกจ้างผลิตกินค่าแรงราคาถูก ก็ผลิตแต่แรงงานไร้ฝีมือ แต่ถ้าเป็นเพื่อไทย จะยกระดับการผลิตไปอีกขั้น จากผลิตตามคำสั่งเป็นการเป็นผู้สร้างนวัตกรรม จากการเกษตรตามยถากรรรม จะเป็นการเกษตรที่กำหนดราคาได้ จากเป็นบริการราคาถูก จะเป็นภาคบริการชั้นสูง คู่แข่งเราต้องไม่ใช่เวียดนาม แต่ต้องเป็นสิงคโปร์และประเทศพัฒนาแล้ว นี่คืวิสัยทัศน์ของผู้นำที่มองต่างก็จะนำไปสู่ราคาค่าแรงที่ต่าง

2. ค่าแรง 600 บาท คิดจากอะไร? 3 องค์ประกอบของค่าแรง การโตของเศรษฐกิจ ผลิตภาพแรงงาน และเงินเฟ้อ ค่าแรงต้องถูกปรับอย่างสม่ำเสมอตามปัจจัยเหล่านี้ แต่ 20 ปีที่ผ่านมาเกาะอยู่เงินเฟ้อและผลิตภาพแรงงาน และโตไม่ทัน GDP เศรษฐขยายตัวเร็วกว่ารายได้ของแรงงาน หมายถึงรายได้นายจ้างโตเร็วกว่าลูกจ้าง และนี่คือปัญหา คือสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข และเราตั้งเป้า GDP ต่อจากนี้จะโตปีละ 5% หากไม่ปรับค่าแรงขั้นต่ำ ช่องว่างจะระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างจะยิ่งกว้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น

3. ค่าแรง 600 บาท กับนายจ้าง? นายจ้างกับลูกจ้างคือขาซ้ายและขาขวาของเศรษฐกิจ ต้องเดินไปคู่กัน การปรับค่าแรงขั้นต่ำ ต้องทำคู่ขนานกับต้นทุนนายจ้าง ซึ่งเราจะมีการออกมาตรการสำหรับผู้ประกอบการต่อไป ทั้งในเรื่องของภาษีและสิทธิประโยชน์ รวมทั้งการผลักในเศรษฐกิจขยายตัว จากนโยบายทั้งหมดของพรรคเพื่อไทย และในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปรับค่าแรง ผนวกกับการลดภาระผู้ประกอบการผ่านการลดภาษีนิติบุคคล

4. ค่าแรง 600 บาท กับการเร่งเงินให้หมุนเร็วในระบบเศรษฐกิจ ปัจจุบันเม็ดเงินในประเทศหมุนช้าที่สุดในรอบ 20 ปี ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มความเร็วของการหมุนเงินในระบบเศรษฐกิจ และรายได้ที่เพิ่มขึ้นของแรงงาน 600 บาทเป็นหนึ่งในคำตอบที่สำคัญ จำเป็นต้องสร้างรายได้ในชนะภาระหนี้ และสามารถสร้างเศรษฐกิจที่ขยายตัว ทั้งนี้ในช่วง รัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยทำมาแล้ว เศรษฐกิจที่ขยายตัวสูงด้วยเม็ดเงินที่หมุนเร็ว เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เงินเปลี่ยนมือเร็ว เงินหมุนเร็ว กว่าในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกือบ 40% เงินในอดีตหมุนเร็วกว้าในปัจจุบันเกือบ 2 เท่าตรงนี้เป็นสิ่งอันตรายและต้องเร่งแก้ไข.

cr:https://mgronline.com/uptodate/detail/9650000116524

วิธีเป็นพ่อค้าขายสลากดิจิทัล ผ่านแอปฯ ถุงเงิน-เป๋าตัง 2565