สุขภาพ-ชีวิต » โรคไข้กาฬหลังแอ่น

โรคไข้กาฬหลังแอ่น

26 พฤศจิกายน 2022
709   0

โรคไข้กาฬหลังแอ่น เป็นโรคที่รู้จักกันมานาน มีชื่อทางการแพทย์ว่า Meningococcemia (การติดเชื้อไข้กาฬหลังแอ่นในเลือด) หรือ Meningococcal meningitis (เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น)

เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria meningitides ซึ่งเป็นเชื้อกรัมลบรูปทรงกลมจำพวกเดียวกับเชื้อหนองในแท้ หรือ Neisseria gonorrheae แต่ไม่ทำให้เกิดกามโรคและมีความรุนแรงในการก่อโรคมากกว่า มีอัตราการตายสูงกว่า 
ชื่อโรคไข้กาฬ มีเหตุจากความรุนแรงของโรค ซึ่งทำให้ผู้ป่วยถึงแก่กรรมได้ในเวลาอันสั้น
– ชื่อหลังแอ่น เนื่องจากลักษณะของผู้ป่วยโรคนี้อาจมีการชักเกร็ง หลังแข็งแอ่น ไม่เกี่ยวข้องกับนกนางแอ่นแต่อย่างใด
โรคไข้กาฬหลังแอ่นมีรายงานการตรวจพบผู้ป่วยในประเทศไทยมานานหลายปีแล้ว มีผู้ป่วยจำนวนน้อยในแต่ละปี ไม่ค่อยเกิดการระบาดเหมือนโรคระบาด (epidemic) อื่นๆ เช่น อหิวาตกโรค ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นกับประชาชนจำนวนมากนับร้อยหรือพันราย และแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่..

มักเป็นการระบาดในวงจำกัด (cluster of cases) กล่าวคือ เกิดการติดต่อกันในหมู่ประชาชนจำนวนหนึ่ง ในชุมชนเดียวกัน โดยจะเกิดกับผู้สัมผัสโรค เช่น อาศัยในหอ พัก ในกองทหาร ในห้องเรียน ในบ้านเดียวกันกับผู้ป่วย อย่างไรก็ตามอาจพบผู้ป่วยโรคนี้เพียงรายเดียว ไม่มีประวัติการสัมผัสโรคได้เช่นกัน (sporadic) ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักอยู่ในวัยเด็ก หนุ่มสาวหรือผู้ใหญ่อายุน้อย การเกิดโรคไม่สัมพันธ์กับฤดูกาลแต่อย่างใด
เชื้อโรคไข้กาฬหลังแอ่น สามารถพบอยู่ในลำคอของคนปกติส่วนน้อยได้ โดยไม่เกิดโรคขึ้น เรียกว่า การเป็นพาหะของเชื้อ เชื้อสามารถถ่ายทอดได้โดยทางเดินหายใจ ผ่านการไอ, จาม, เสมหะ น้ำมูก น้ำลายไปสู่ผู้ใกล้ชิด ผู้ที่มีปัจจัยภายในตนเองผิดปกติบางอย่าง เช่น ร่างกายไม่สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคนี้ หรือ เชื้อสามารถเล็ดลอดเข้าสู่กระแสโลหิต หรือระบบประสาทส่วนกลางได้ จึงก่อให้เกิดโรคขึ้น
   เมื่อพบผู้ป่วยโรคนี้จะต้องรายงานต่อกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากจัดเป็นโรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่ง


                     โรคไข้กาฬหลังแอ่นมีลักษณะที่สำคัญ 3 อย่าง คือ

1. ไข้
2. ผื่น
3. เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ตามลำดับที่พบมากไปน้อย ผู้ป่วยอาจมีอาการครบทั้ง 3 อย่าง หรือ 2 จาก 3 อย่างนี้ ความรุนแรงของโรคแตกต่างกันได้มาก อาจมีอาการค่อยเป็นค่อยไป จนถึงรุนแรงรวดเร็ว ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันสั้น
       อาการที่พบบ่อย คือ ผู้ป่วยมักจะมีไข้มาก่อนประมาณ 2-3 วัน มีผื่นขึ้น ลักษณะเป็นจ้ำเลือดเหมือนฟกช้ำ ผื่นอาจมีรูปร่างคล้ายดาวกระจายซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ มักเป็นบริเวณลำตัวส่วนล่าง, ขา, เท้า และบริเวณที่มีแรงกดบ่อยๆ เช่น ขอบกางเกง, ขอบถุงเท้า อาจเป็นที่เยื่อบุตา, หรือ มือได้ หากมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะมีอาการได้แก่ ปวดศีรษะรุนแรง, อาเจียน, คอแข็ง อาจซึมลง ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือสับสนได้ ไม่ค่อยมีชักหรืออัมพาตบ่อยเท่าเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียอื่น อัตราการเสียชีวิตขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
  ในรายที่รุนแรง เช่น ในกรณีการติดเชื้อในกระแสเลือด มีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ การไหลเวียนเลือดล้มเหลว  ความดันเลือดต่ำ ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าเขียวหรือดำคล้ำ ไตวาย น้ำท่วมปอด ร่วมด้วย มักเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว อัตราตายสูงถึงร้อยละ  70-80 ของผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนในรายที่มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อในเลือด อัตราตายต่ำกว่ามาก ประมาณร้อยละ 2-10 ของผู้ป่วยทั้งหมด การรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงทีมีส่วนช่วยลดอัตราการตายลงได้ส่วนหนึ่ง
หากเด็กหรือหนุ่มสาว ผู้ใหญ่อายุน้อย ที่มีอาการของไข้เฉียบพลัน มีผื่นที่เป็นจ้ำเลือดคล้ายรูปดาวกระจาย หรือมีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบข้างต้น จะต้องนึกถึงโรคไข้กาฬหลังแอ่นไว้ด้วยเสมอ ควรไปรับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ หากล่าช้าเกินไป ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ แพทย์จะทำการสอบถามประวัติความเจ็บป่วย ตรวจร่างกายผู้ป่วย ควรแจ้งแก่แพทย์ด้วยว่า ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวใดหรือไม่ แพ้ยาใดหรือไม่ เนื่องจากแพทย์จะต้องพิจารณาให้ยาต้านจุลชีพโดยเร็ว แพทย์จะทำการเพาะเชื้อในเลือด ในบางรายอาจตรวจน้ำไขสันหลัง จากนั้นจะเริ่มให้ยาต้านจุลชีพชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ยาที่มักจะเลือกใช้ คือ ยา กลุ่ม penicillin หรือ cephalosporins ร่วมกับการรักษาประคับประคอง เช่น ให้น้ำเกลือแก้ไขภาวะขาดน้ำเกลือแร่ กรดด่างไม่สมดุล
การป้องกันโรคมี 2 วิธีหลัก คือ
1. การฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรค
2. การกินหรือฉีดยาต้านจุลชีพ
1. การฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรค
วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นป้องกันโรคได้เพียงบางสายพันธุ์  ได้แก่ สายพันธุ์ A, C, Yและ W-135 ดังนั้น การให้วัคซีนจะได้ผลในบางพื้นที่ที่ทราบสายพันธุ์ (serogroup) ของเชื้อแล้วเท่านั้น ในกรณีให้วัคซีนไม่ครอบคลุมสายพันธุ์ก่อโรคจะไม่ได้ผลในการสร้างภูมิคุ้มกัน

ในประเทศไทย สายพันธุ์ที่พบบ่อย ได้แก่ สายพันธุ์ A และ B การฉีดวัคซีนจึงมีที่ใช้ในกรณีที่คนที่จะเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคเป็นประจำ หรือ ให้วัคซีนแก่ประชาชนที่อยู่เขตระบาดซึ่งทราบสายพันธุ์ของเชื้อแล้ว

..ประชาชนทั่วไปไม่จำเป็นต้องรับการป้องกัน นอกจากจะเดินทางเข้าไปในเขตที่มีการระบาดเป็นประจำ เช่น เช่น ประเทศแถบทะเลทรายซาฮาราในทวีปอาฟริกา ประเทศในตะวันออกกลาง ผู้ที่จะเดินทางเข้าไปในเขตดังกล่าว ดังเช่นชาวไทยมุสลิมผู้ไปแสวงบุญ ณ.นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องโรคไข้กาฬหลังแอ่นก่อนการเดินทาง โดยติดต่อขอรับวัคซีนในกรุงเทพมหานครได้ที่กองควบคุมโรค สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร, สภากาชาดไทย, ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ, สำนักโรคติดต่อทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข, สถาบันบำราศนราดูร จังหวัดนนทบุรี ในเขตภูมิภาครับได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ หรือด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา ขอข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก website ของหน่วยงานต่างๆข้างต้น
2. การกินหรือฉีดยาต้านจุลชีพ
ใช้ป้องกันการเกิดโรคในกรณีภายหลังการสัมผัสโรค ยาต้านจุลชีพมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคโดยไม่ขึ้นกับสายพันธุ์ของเชื้อ แตกต่างจากวัคซีนข้างต้น ผู้ที่สมควรได้รับยาเพื่อป้องกันการเกิดโรคไข้กาฬหลังแอ่น ได้แก่ ผู้ที่สัมผัสโรคใกล้ชิดผู้ป่วยเป็นเวลานาน เช่น สมาชิกในครัวเรือนเดียวกัน ร่วมห้องนอนเดียวกัน เด็กที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็ก, ห้องเรียนเดียวกับผู้ป่วย ทหารในค่ายเดียวกัน และผู้สัมผัสผู้ป่วยใกล้ชิดในชุมชน ดังนั้น ผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดข้างต้นควรแจ้งแก่แพทย์โดยเร็ว ..

แพทย์จะสามารถให้คำปรึกษาแนะนำได้ว่า ผู้สัมผัสโรคสมควรได้รับยาต้านจุลชีพป้องกันหรือไม่ รวมทั้งให้ชนิดใด ในรูปกินหรือฉีด ในกรณีทั่วไป ยาต้านจุลชีพป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นได้ผลดี.

ที่มา https://covidthai.com/2022/11/26/meningococcemia/

คาดสาเหตุที่หมอกฤตไท ในเชียงใหม่เป็นมะเร็งปอด ทั้งที่ดูแลร่างกายอย่างดี ภัยใกล้ตัวกว่าที่คิด