โป๊ะเช๊ะ ดอท คอม

”ชิป”รถขาดแคลน บ.รถยนต์ค่ายอเมริกา หยุดสายงานผลิตนับล้านคัน

AlixPartners เชื่อว่าวิกฤต “ชิป” ขาดแคลนน่าจะทำความเสียหายให้กับบริษัทรถยนต์แต่ละรายเฉลี่ย 61 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ TSMC บริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่สุดของโลกสัญชาติไต้หวัน เผยว่าตลอดปี 2563 ชิปที่ผลิตได้ ส่งให้โรงงานผลิต Smartphone ราว 80 % รถยนต์ที่มีสัดส่วนเพียง 3% ดังนั้นตลาดรถยนต์จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

รถยนต์ยุคปัจจุบันมีเรื่องของซอฟต์แวร์ และการควบคุมการทำงานด้านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นกว่าที่เคยมีมา ดังนั้น ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการผลิตรถยนต์สักคัน และในตอนนี้ทำท่าว่าจะบานปลายจนส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตของบริษัทรถยนต์ทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา คือ การขาดแคลนสมองกลของหน่วยประมวลผลที่จะต้องมีไมโครโปรเซสเซอร์ หรือชิปเข้ามาช่วยควบคุมการทำงาน

ต้นตอมาจาก โควิด-19?

เราจะพูดกันอย่างนั้นก็ได้ เพราะโควิด-19 ที่ระบาดเมื่อปี 2563 คือต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง และบางอย่างดูเหมือนว่าจะมีความเกี่ยวพันกัน ถ้าหากของ 2 สิ่งนั้นจำเป็นจะต้องใช้ชิ้นส่วนแบบเดียวกัน ..

อย่างที่ทราบกันดีว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้โรงงานผลิตหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใดก็ตามจำเป็นต้องหยุดการทำงานอยู่พักใหญ่อาจจะเพราะนโยบายของภาครัฐด้านสุขอนามัยเพื่อลดการแพร่ระบาด หรือว่ากำลังพลหรือ Manpower ขาดแคลนอันเนื่องมาจากการติดโควิด-19  ซึ่งอุตสาหกรรมรถยนต์ก็เจอปัญหานี้เช่นเดียวกัน..

อย่างไรก็ตาม เมื่อทุกอย่างผ่านพ้นปี 2563 หลายโรงงานเริ่มกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง แต่ดูเหมือนว่าในระบบซัพพลายเชนของชิ้นส่วนที่เป็นส่วนประกอบของรถยนต์ 1 คันกลับไม่สามารถเดินเครื่องได้ทันตามความต้องการ และเลือกที่หันไปตอบสนองอุตสาหกรรมอีกส่วนที่มีอัตราการเติบโตดีกว่า เพราะการที่คนเราต้อง Work From Home

..การที่ชิปสำหรับใช้ในสมองกลเพื่อควบคุมการทำงานของรถยนต์กำลังกลายเป็นปัญหาในด้านกำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการนั้น เป็นเพราะผู้ผลิตชิปเองหันไปตอบสนองตลาดคอมพิวเตอร์ทั้งเดสทอป แลปท็อป หรือ Mobile Device ที่มีอัตราการเติบโตอย่างมากในช่วงปี 2020 ที่เกือบทุกประเทศในโลกมีการล็อคดาวน์ และกำลังคนต้อง WFH

เพราะในปี 2563 โรงงานผลิตรถยนต์ต้องลดกำลังการผลิตและบางแห่งต้องหยุด แต่ตลาดคอมพิวเตอร์โตเอาโตเอาเพราะการล็อคดาวน์ นั่นเลยทำให้โรงงานผลิตชิปเลือกที่จะลดกำลังการผลิตชิปสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ลดลงอย่างมาก และเทกำลังการผลิตไปที่ชิปสำหรับการใช้งานของบรรดาคอมพิวเตอร์ที่มีอนาคตสดใสและความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมากแทน

TSMC บริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่สุดของโลกสัญชาติไต้หวัน เผยว่าตลอดปี 2563 ราว 80% ของชิปที่ผลิตได้ ส่งไปให้โรงงานผลิต Smartphone และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ทิ้งห่างชิปในรถยนต์ที่มีสัดส่วนเพียง 3% อย่างไม่เห็นฝุ่น แม้ไตรมาส 4 ปีเดียวกันส่งให้ฝ่ายหลังเพิ่มขึ้นพอสมควรแต่ก็ยังคงเป็นสัดส่วนที่น้อยมากอยู่ดี

ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ปลายปี 2563 ที่ตลาดรถยนต์เริ่มฟื้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ บริษัทรถยนต์ขาดแคลนชิป

ณ ตอนนี้กลายเป็นว่า แม้โรงงานผลิตรถยนต์จะกลับมาทำงานได้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่เต็มกำลังการผลิตก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พวกเขาขาดชิ้นส่วนในการผลิตให้รถยนต์ 1 คันสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ นั่นคือ ชิป

ทาง AlixPartners มีการประเมินการณ์เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมาว่า ภายใต้สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ตลาดรถยนต์จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา โดยตัวเลขการผลิตของตลาดแห่งนี้น่าจะขาดหายไปมากกว่า 3.9 ล้านคันสำหรับปีนี้ อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ชิปหายนี่นั่นเอง จากเดิมที่คาดว่าน่าจะมีตัวเลขหายไปเพียง 1.5 ล้านคัน

..ขณะที่ตลาดแห่งอื่น ๆ ของโลกก็น่าจะเจอปัญหานี้ไม่แพ้กัน เช่นมาสด้า ได้เปิดเผยว่ากำลังการผลิตรถยนต์ของตัวเองเดือนกุมภาพันธ์หายไปถึง 7,000 คัน

ขณะที่ของ ออดี้ ขาดหายไปถึง 10,000 คัน
ส่วน ฟอร์ด เผยว่าโรงงานในเยอรมนีต้องหยุดการผลิตชั่วคราวจากปัญหาเดียวกัน

ด้านโตโยต้า และนิสสัน ก็ยอมรับว่าได้ผลกระทบจากปัญหาด้วย ท่ามกลางคาดการณ์ว่า ยอดผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกไตรมาสแรกปีนี้จะลดลงไปราว 672,000 คันและต้องพ้นไตรมาส 3 ไปแล้วสถานการณ์จึงจะดีขึ้น

จากการประเมินของ AlixPartners วิกฤตครั้งนี้จะทำให้กำลังการผลิตรถยนต์หายไปตามตัวเลขขั้นต้น และสิ่งที่ตามมาคือ รายได้ที่ลดลงของแต่ละบริษัท โดยเฉลี่ยแล้วรายได้ก่อนหักภาษีของแต่ละบริษัทอาจจะหายในระดับ 110 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กันเลยทีเดียว ซึ่งถือว่าวิกฤตกว่าที่ประเมินสถานการณ์ครั้งนี้เกือบเท่าตัวเลข โดยตอนนั้น AlixPartners เชื่อว่าวิกฤตชิปหายน่าจะทำความเสียหายให้กับบริษัทรถยนต์แต่ละรายเฉลี่ย 61 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น

เหตุผลที่ความเสียหายมีเพิ่มขึ้น ก็เพราะในตอนนี้ยังไม่มีแนวโน้มที่ผู้ผลิตชิปรายใดในโลกสามารถเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นมารองรับกับความต้องการได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที หรือแก้ปัญหานี้ได้ในแบบข้ามคืน แม้แต่ TMSC ที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ก็ยังต้องสร้างโรงงานเพิ่มเพื่อรับมือกับความต้องการครั้งนี้ ซึ่งก็ยังต้องใช้เวลานานถึง 3 ปีในการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่เพื่อรองรับการผลิต

ส่วนสหรัฐอเมริกา ซึ่งในอดีตเคยเป็นฐานการผลิตของชิปในยุคทศวรรษที่ 1990 นั้น ดูเหมือนว่าที่นี่จะไม่ใช่ฐานการผลิตหลักของชิ้นส่วนนี้อีกตต่อไป เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตในยุค 2 ทศวรรษที่แล้วนั้น สัดส่วนการผลิตชิปในสหรัฐอเมริกาสำหรับป้อนออกสู่ตลาดโลกมีเพียงแค่ 12% เท่านั้นจากเดิมที่เคยครองส่วนแบ่งถึง 37%

จากการแค่ปัญหาการผลิต เรื่องอาจบานปลายเป็นประเด็นการเมือง

นอกจากนั้น ปัญหานี้ถูกมองว่า อาจจะกลายเป็นเรื่องประเด็นทางการเมืองเพิ่มเติม หลังจากที่จีน ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายการแบนสินค้าจากจีนโดยรัฐบาลชุดก่อนของสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของ Donald Trump อาจจะต้องมองหาทางออกอย่างใดอย่างหนึ่งในการใช้นโยบายจีนเดียวในการกดดันไต้หวัน ที่ในตอนนี้กำลังเนื้อหอม และอาจจะใช้วิกฤตนี้ในการสร้างอำนาจในการต่อรองบนเวทีตลาดโลกได้ ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่าความต้องการใช้ชิปนั้นไม่ได้มีแค่อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และรถยนต์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ อีกมากมาย..

ขณะเดียวกันในสหรัฐอเมริกาเอง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Joe Baiden ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจอนุมัติงบเงินทุนรวมกว่า 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.15 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นงบประมาณสำหรับแก้ปัญหาชิปขาดแคลนโดยตรง เพื่อเร่งกระบวนการผลิตในประเทศให้ทันกับความต้องการของตลาด และอุตสาหกรรมรถยนต์ ตลอดจนอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า

นอกจากนั้น บรรดากลุ่มผู้ประกอบการบิ๊กเทคฯ นำโดย Apple, Microsoft, Alphabet (Google), Amazon และ Cisco ต่างก็ออกมาร่วมกันส่งจดหมายกดดันให้ผู้ออกกฎหมายในสหรัฐฯ พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติมอีก 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.56 ล้านล้านบาท เพื่อดำเนินการผ่านกฎหมายมุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ โดยที่เงินทุนเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้เพิ่มเป็นค่าตอบแทนเพิ่มเติมสำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และการวิจัยในสหรัฐฯ โดยเฉพาะ

△รถในอเมริกาจอดนิ่งเป็นตับ เพราะสายงานผลิตขาดเเคลน ชิป สมองกล

..วิกฤตครั้งนี้ถือว่าเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในโรงงานการผลิตใหญ่ๆ ซึ่งต้องยอมรับว่าทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปกำลังได้รับผลกระทบอย่างมาก ที่สำคัญในรถยนต์ 1 คันนั้นไม่ได้ใช้ชิปเพียงแค่ตัวหรือสองตัว แต่จากการเปิดเผยของ Dan Hearsch แห่ง AlixPartners ระบุว่า ส่วนใหญ่แล้วรถยนต์ในปัจจุบัน 1 คันจะใช้ชิปมากถึง 1,400 ตัวเลยทีเดียว และจะเพิ่มมากขึ้นถ้าโลกของเรากำลังเดินหน้าสู่การเป็นรถยนต์แบบขับเคลื่อนด้วยตัวเองหรือมีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบเต็มตัว

สำหรับบ้านเรา ก็มีบางแบรนด์รถยนต์ได้รับผลกระทบแล้ว อย่างรายงานล่าสุดคือ การที่ฮอนด้า ประกาศหยุดการผลิตโรงงานที่อยุธยาตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคมจนถึงสิ้นเดือน ซึ่งวิกฤตนี้เป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากหลายเรื่องทั้งการขาดแคลนชิปเพราะกำลังการผลิตไม่พอ เรื่องวิกฤตที่คลองสุเอชทำให้สินค้าจากฝั่งยุโรปเดินทางมาไม่ตรงตามกำหนด บวกกับโรงงานชิปในญี่ปุ่นไฟไหม้ และตรงนี้น่าจะมีผลกระทบในเรื่องของยอดการผลิตรวมในปี 2564 ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน ขณะที่ โตโยต้า และ อีซูซุ ก็ยังยืนยันว่าเตรียมแผนในการรับมือปัญหานี้มาระดับหนึ่งแล้ว และน่าจะจัดการเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ส่งผลกระทบมากนัก..

บทสรุปของวิกฤตครั้งนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามดูกันต่อไป และอย่างที่บอกว่า ปัญหาครั้งนี้ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงแค่ข้ามคืน ทุกอย่างยังคงต้องใช้เวลา เพียงแต่จะเร็ว หรือจะช้าขนาดไหน เราน่าจะได้คำตอบกันอีกไม่นานนับจากนี้.

cr: https://mgronline.com/motoring/detail/9640000049417
https://www.google.com/..1%E0%B8%84%E0%B8%A5%E…

Honda เปิดตัวจักรยานไฟฟ้า พร้อมแบตลิเธียมฯ เพียงสองหมื่นกว่าเท่านั้น