โป๊ะเช๊ะ ดอท คอม

Web 3.0 คืออะไร? อาจทำให้โลกของโซเชียลในปัจจุบันต้องเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

Web 3.0 คืออะไร? อาจทำให้โลกของโซเชียลในปัจจุบันต้องเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ในการสร้างจักรวาล Metaverse ก่อนจะอธิบายตรงนี้ เรามาย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน การเกิดขึ้นของ “อินเทอร์เน็ต” ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้น ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกเทคโนโลยีเลยก็ว่าได้ นวัตกรรมตัวนี้ได้เข้ามาสร้างสิ่งที่ไม่คาดคิดหลายอย่างให้เกิดขึ้น และได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

แต่เมื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามาสร้างให้เกิดเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ๆ สิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อินเทอร์เน็ตถูกพัฒนาไปเช่นกัน จนตอนนี้โลกของเรากำลังจะก้าวเข้าสู่รุ่นที่ 3 ที่เรียกว่า Web 3.0 แล้ว

บทความนี้จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจวิวัฒนาการของอินเทอร์เน็ต และรู้จักกับอินเทอร์เน็ตรุ่นใหม่ หรือ Web 3.0 และมันจะเป็นยุคใหม่ที่รองรับและขับเคลื่อนเทคโนโลยีล้ำสมัย หรือ Cutting-Edge Technology

ย้อนวิวัฒนาการของอินเทอร์เน็ต

Web 1.0 (ปี 1989-2005)

Web 1.0 เป็นอินเทอร์เน็ตในยุคแรก ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมในช่วงยุค 90 โดยอินเทอร์เน็ตในยุคนี้ จะเป็นเว็บไซต์ที่ตอบสนองทางเดียว หรือที่เรียกกันว่า Static Web ไม่มีการเชื่อมต่อกับ Database ไม่สามารถเก็บข้อมูลต่าง ๆ ได้ การท่องเว็บในยุคแรกนั้น จึงเป็นเหมือนการอ่านหนังสือ ที่สามารถเข้าไปอ่านได้เท่านั้น ทำให้ในช่วงนั้น การสร้างเพจ หรือการแสดงความคิดเห็นต่อคอนเทนต์ไม่เกิดขึ้น นอกจากนั้นแล้ว Web 1.0 ยังไม่มีอัลกอริทึม ในการเปลี่ยนไปหน้าต่าง ๆ หรือเพจอื่น ๆ ทำให้เป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่คนจะเข้าไปค้นหา แล้วเจอข้อมูลที่ต้องการ 

Web 2.0 (ปี 2005-ปัจจุบัน)

Web 2.0 หรือ Social Web นับเป็นยุคที่เทคโนโลยี นวัตกรรม รวมทั้งธุรกิจที่เรียกว่า Startup เกิดขึ้นมา ทั้ง Facebook, Youtube, Wikipedia และอื่นๆอีกมากมาย ด้วยการพัฒนาไปของอินเทอร์เน็ตที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถโต้ตอบ มีปฏิสัมพันธ์กันได้บนเว็บ มีการเชื่อมต่อกับ Database ทำให้สามารถเก็บข้อมูลต่าง ๆ ไว้บนเว็บได้

อินเทอร์เน็ตในยุคนี้ทำให้เกิดขึ้นเป็นสังคมอีกหนึ่งแห่งบนโลกออนไลน์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ Social media คอมมูนิตี้ที่คนสามารถโต้ตอบ แสดงความคิดเห็น สร้างคอนเทนต์ และสามารถแชร์ข้อมูลข้ามแพลตฟอร์ม หรือข้ามแอปพลิเคชันกันได้อีกด้วย

Web 3.0 (ยังไม่เกิดขึ้น ?)  

Web 3.0 มีการคาดการณ์ไว้ว่า จะเป็น The Next Era of the Internet ที่จะมีความอัจฉริยะมากขึ้น สามารถทำงาน วิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น อีกทั้งยังสามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติ ..

และยุคนี้เองที่จะทำให้เทคโนโลยีอย่าง Machine Learning (ML), Big Data, AI, Blockchain และเทคโนโลยีอัจฉริยะอื่น ๆ สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และวิวัฒนาการไปมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดย Tim Berners-Lee ผู้คิดค้น World Wide Web ได้กล่าวไว้ว่า Web 3.0 จะเป็น Semantic Web หรือเว็บที่สามารถถ่ายโอนข้อมูลระหว่างระบบ คน และอุปกรณ์ IoT ได้แบบอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น การสร้างคอนเทนต์ และการตัดสินใจ จะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างคน และเครื่องจักร ซึ่งจะทำให้การสร้างคอนเทนต์บนโลกอินเทอร์เน็ตมีความพิเศษมากขึ้น โดยจะสามารถสร้างสิ่งที่ตรงตามความต้องการของแต่ละผู้ใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตได้เลย..

คำอธิบายของ Web 3.0 ยังบอกเพิ่มเติมอีกว่า จะเป็นแหล่งกักเก็บ Data แบบ Decentralized หรือแบบกระจายออกจากศูนย์กลาง ซึ่งแตกต่างจาก Web 2.0 ที่ Data ส่วนใหญ่จะถูกจัดเก็บไว้แบบ Centralized หรือที่ศูนย์กลางมากกว่า

และการรันข้อมูลบน Protocol แบบ Decentralized จะเหมือนกับเทคโนโลยีอย่าง Blockchain และ Cryptocurrency ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ในอนาคตจะเห็นการทำงานร่วมกันของ 3 เทคโนโลยีนี้แบบไร้รอยต่อ บน Smart Contract ที่จะทำให้ทุกอย่างก้าวหน้าไปอีกขั้น ตั้งแต่ การทำ Microtransaction, Peer-to-Peer การกักเก็บข้อมูล การทำงานข้ามแอปพลิเคชัน ไปจนถึง การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจของหลาย ๆ องค์กร..

และในอนาคตจะเห็นว่า DeFi Protocol ที่เราเห็นกันตอนนี้นั้น จะเป็นแค่สิ่งเล็ก ๆ เมื่อยุคของ Web 3.0 มาถึง

รู้จัก Web 3.0 ด้วย 4 Key Features

Ubiquity:

คำว่า Ubiquity หมายถึง การมีความสามารถในการอยู่ทุกๆที่ ทุกๆแห่ง ในเวลาเดียวกัน หรือมีอีกหนึ่งคำที่ใช้เรียกกัน คือ Omnipresent หรือไปทั่วทุกหนทุกแห่งในเวลาเดียวกัน

คำนี้ใช้อธิบายได้ทั้ง Web 2.0 และ 3.0 โดยในยุคปัจจุบันที่เป็น Web 2.0 มีการใช้คำนี้แล้ว ตัวอย่างเช่น การใช้งาน Facebook ที่ผู้ใช้สามารถแชร์ภาพ วิดีโอ รวมถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ทันทีจากทุกที่ เพียงแค่มีบัญชีบน Facebook และเมื่อเราก้าวเข้าสู่ยุคต่อไปที่เป็น Web 3.0 สิ่งต่าง ๆ ก็จะก้าวหน้ามากขึ้น เมื่ออินเทอร์เน็ตเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา การเชื่อมต่อสิ่งต่าง ๆ ก็จะเป็นไปได้เร็วขึ้น และต่อไปการเชื่อมต่ออุปกรณ์อย่าง IoT ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเชื่อมผ่านคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเหมือนกับ Web 2.0 อีกต่อไป..

ในรายงานของ Singapore Fintech Festival บอกว่า Web 3.0 มีสามองค์ประกอบสำคัญ คือ..

1) บริการที่ขับเคลื่อนด้วย AI (AI-driven services) ที่ทำให้ประสบการณ์บนอินเทอร์เน็ตนั้นเฉพาะเจาะจงไปตามแต่ละบุคคล

2) การจัดเก็บข้อมูลไร้ตัวกลาง (decentralised data architecture) ที่เก็บผ่านระบบบล็อกเชนซึ่งยากต่อการแฮ็กข้อมูล

3) การประมวลผลใกล้แหล่งข้อมูล (edge computing) ที่จะทำให้อุปกรณ์ทำงานรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถึงขั้นว่าเราสามารถรันอัลกอริทึมจดจำใบหน้าได้ด้วยสมาร์ทโฟนที่มีอยู่ในมือ

ทำไมต้อง Web 3.0?

Web 2.0 ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มีปัญหาใหญ่ที่ยังแก้ไม่ตก คือ ความปลอดภัยของข้อมูล (data security) และความเป็นส่วนตัว (data privacy)

ในแต่ละวันมีข้อมูลมากมายที่เก็บจากกิจกรรมที่เราโพสต์ แชร์ ดู กดไลก์ หรือแม้แต่แค่เลื่อนผ่าน ข้อมูลเหล่านี้หลั่งไหลเข้าสู่ผู้ให้บริการ เช่น Meta (Facebook), Google, Amazon ที่นับเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวบริษัทและสามารถนำข้อมูลของผู้ใช้งานไปใช้ประโยชน์ หรือส่งต่อให้บุคคลที่สาม การปกป้องข้อมูลของผู้ใช้ของผู้ให้บริการในยุค Web 2.0 ยังถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์อยู่หลายครั้งในกรณีที่ข้อมูลถูกแฮ็กหรือหลุดออกไปจากระบบ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่นกรณีที่บริษัท Cambridge Analytica ทำการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานผ่านแอพฯ ทดสอบบุคลิกภาพใน Facebook ที่ต่อมาในปี ค.ศ.2016 ข้อมูลเหล่านั้นถูกโยงว่านำไปร่วมวิเคราะห์เพื่อทำแคมเปญการเมืองส่งให้ โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับบลิกัน ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี

Web 3.0 อาจมีหน้าตาไม่ต่างจากในตอนนี้มากเท่าไหร่ แต่ด้วยระบบบล็อกเชนที่กระจายการเก็บข้อมูลให้ไปอยู่ในหลายแหล่ง หรือหลายโนด (node) การยืนยันตัวตนที่ต้องได้รับการพิสูจน์จากหลายโนดพร้อมกันจะทำให้การแฮ็กข้อมูลนั้นเป็นไปได้ยาก ต่างจากการเก็บข้อมูลในยุค Web 2.0 ที่มักจะเก็บอยู่ในแหล่งข้อมูลเดียวหรือไม่กี่แหล่ง

“เทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้ผู้ใช้งานมั่นใจและสามารถตรวจสอบได้ ทั้งข้อมูลที่พวกเขาได้รับ ข้อมูลที่ออกจากตัวพวกเขา อะไรบ้างที่พวกเขาจ่ายไปและอะไรบ้างที่ได้พวกเขาได้กลับมา การเซนเซอร์และการผูกขาดจะมีที่ซ่อนเหลือน้อยลงเมื่อเราสนับสนุนให้ผู้ใช้งานสร้างกำแพงเพื่อตัวเอง คิดเสียว่า Web 3.0 คือกฎบัตรแมกนา คาร์ตา (Magna Carta)—รากฐานเสรีภาพของประชาชนที่ลุกขึ้นต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบโดยผู้มีอำนาจเผด็จการ” เกวิน วูด ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum กล่าว

Semantic Web:

ตามที่กล่าวไปข้างต้น Semantic Web คือคำนิยามจากปากของผู้คิดคิด World Wide Web ที่ว่า Web 3.0 จะเป็นอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ที่สามารถทำงานได้อย่างอัตโนมัติ คล้ายมนุษย์ ฉลาดมากขึ้น และรองรับเทคโนโลยีอัจฉริยะได้

ซึ่งคำว่า Semantic ในภาษาศาสตร์นั้น คือ การศึกษาด้านความหมาย ความสัมพันธ์ของคำ วลี หรือประโยคกับความหมาย ตัวอย่างเช่น คำว่า 1. I love Bitcoin และ 2. I <3 Bitcoin ซึ่งหากมองด้าน Syntax หรือไวยากรณ์จะพบว่า คำที่ 2 ไม่สามารถตีความหมายได้ แต่ในทาง Semantic ทั้งสองคำนั้นมีความหมายเดียวกัน

ดังนั้น การประยุกต์ศาสตร์ด้าน Semantic ลงบนเว็บจะทำให้ความสามารถในการวิเคราะห์ การทำงาน การถอดโค้ด และอื่น ๆ จะมีความอัจฉริยะมากขึ้น และจะช่วยให้ผู้ใช้งานได้พบกับประสบการณ์ที่เหนือกว่าในการท่องโลกอินเทอร์เน็ต

Artificial Intelligence หรือ AI:

AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ที่หลายคนมองว่า เมื่อเข้าสู่ยุคของ Web 3.0 AI จะสามารถอ่าน และถอดความหมาย รวมถึงอารมณ์ ได้จากชุดข้อมูลที่ป้อนเข้าไป ซึ่งจะทำให้เครื่องมือต่าง ๆ มีความอัจฉริยะมากขึ้น

ถึงแม้ว่าในยุค Web 2.0 นี้ จะมีเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ แล้วก็ตาม แต่ในโลกอินเทอร์เน็ตแล้ว คน ยังเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักที่คอยดำเนินการต่าง ๆ อยู่ข้างหลัง ตัวอย่างเช่น การรีวิวบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่คนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ทั้งด้านดี และด้านลบ รวมทั้งสามารถใส่ข้อมูลเท็จลงไปได้ ทำให้ผู้ให้บริการต่าง ๆ ต้องคอยว่าจ้างคนหลายกลุ่มให้เข้ามารีวิวผลิตภัณฑ์ไปในทางที่ดี สิ่งนี้เองทำให้อินเทอร์เน็ตถูกพัฒนาไป โดยนำเอา AI เข้ามาคัดแยกข้อมูลรีวิวที่เป็นด้านลบ หรือข้อมูลเท็จออก และเพิ่มเฉพาะข้อมูลที่เชื่อถือได้ลงไป

อย่างเช่น ระบบ AI ของ Google ที่ไปลบรีวิวด้านลบกว่า 100,000 รีวิวของแอปฯ Robinhood ออกจาก Play Store ซึ่งนับเป็นอีกก้าวของ AI ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในยุคของ Web 3.0 และในอนาคตเราอาจจะได้เห็นข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูก AI คัดกรอง และช่วยลดความลำเอียง (Bias) ของการให้ข้อมูลที่เกิดจากคนได้

Spatial Web และ 3D Graphics:

มี Futurists หลายคนมองว่า Web 3.0 เป็น Spatial Web เนื่องจาก มันจะเข้ามาปิดช่องว่างระหว่างโลกดิจิทัล กับโลกจริงลง โดยการปฏิวัติเทคโนโลยีด้านกราฟิก ให้สามารถออกแบบ และสร้างโลก 3D เสมือนจริงขึ้นมาได้ และโลก 3D นี้จะไม่ได้เข้ามาเฉพาะรูปแบบของเกมที่ใครหลายคนกำลังให้ความสนใจ แต่จะมาในรูปแบบของอสังหาริมทรัพย์ และสามารถพัฒนาไปสู่ด้านสุขภาพ และ E-Commerce ได้ด้วยเช่นกัน

การก้าวเข้าสู่ยุค Web 3.0

ยังเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก หากจะบอกว่าตอนนี้โลกของเราก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของอินเทอร์เน็ตแล้ว แต่นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะคนได้หันมาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Cutting-Edge Technology) กันอย่างต่อเนื่อง

มีบางองค์กรที่ตอนนี้เราสามารถบอกได้แล้วว่า พวกเขากำลังพัฒนานวัตกรรมที่ต้องอาศัยอินเทอร์เน็ตแบบ Web 3.0 ตัวอย่างที่จะเห็นในบทความนี้ เป็นนวัตกรรมจากเทคยักษ์ใหญ่ที่ใคร ๆ ก็ต้องรู้จัก อย่าง Apple, Amazon และ Google

จะเห็นว่า เรากำลังก้าวออกจากยุคของ Web 2.0 ทีละเล็กน้อย เทคโนโลยีต่าง ๆ เริ่มพัฒนาไปอย่างก้าวหน้ามากขึ้น มีการเกิดขึ้นของคำศัพท์ใหม่ ๆ มากมาย ที่บ่งบอกได้ว่า ยุคอินเทอร์เน็ตแบบ Web 3.0 คงจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมที่มนุษย์จะพัฒนาไปได้ โดยเฉพาะการมาของ Metaverse ที่หลังจากนี้ Web 3.0 จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆขึ้น เหมือนกับบรรดา Social Media ที่เกิดขึ้นในช่วง Web 2.0 นั่นเอง.

ขอบคุณhttps://techsauce.co/tech-and-biz/what-is-web-three-point-zero
https://www.google.com/..NhknHEjkMPfEQ1ToI_sPdbQ%3A1658709..
https://thematter.co/futureverse/what-is-web-3-0/166398

websiteดีๆ ที่ถูกมองข้าม?