เกษตร » รู้เรื่องกัญชาก่อนปลูก (2)

รู้เรื่องกัญชาก่อนปลูก (2)

12 มิถุนายน 2022
1419   0

ผศ.ดร.สมชาย แก้ววังชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหาสารคาม กล่าวบรรยายในหัวข้อ “เคล็ดลับการปลูก ‘กัญชา กัญชง’ ที่ใครก็ทำได้” ให้ผู้สนใจที่ร่วมงานมหกรรมได้ตักตวงความรู้จนล้นห้องสัมมนา..

ด้วยประสบการณ์ที่เคยล้มลุกคลุกคลาน ก่อนจะก่อร่างสร้าง “วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรศรทอง” ณ ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม จุดเริ่มต้นคือการใช้ความรู้ด้านวิทยศาสตร์-เคมี ไปกับการวิเคราะห์วิจัยในหลากสายพันธุ์กัญชา

เริ่มต้นปลูก ตั้งแต่กันยายน 2562 ทำให้รู้ว่า “กัญชา ไม่ต่างจากมนุษย์” ที่มีเพศผู้-เพศเมีย มีกะเทย บ้างก็ไม่ชอบแสง-หิวแสง..

..ไปจนถึงความใส่ใจที่เป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกพืชสมุนไพรชนิดนี้ นำไปสู่การขยับขยาย ทำดินขาย รับสร้างโรงเรือนและรั้วสำหรับผู้ต้องการปลูก ไปจนถึงเสื้อผ้าและสินค้าอื่นๆ จากการดัดแปลงส่วนที่เหลือนอกเหนือช่อดอก

หากรู้สึกว่าตนเองมือร้อน ปลูกอะไรก็ไม่รอด ไม่งอกงาม ต่อไปนี้คือเคล็ดลับการปลูกจากผู้ที่ไม่เป็นมาก่อน เพื่อเป็นแนวประกอบการตัดสินใจให้กับผู้ที่สนใจต่อยอดพืชกัญชาทางการแพทย์ และกัญชงเพื่อเศรษฐกิจ

แบบไหนเลือกให้ชัด แค่อย่าปลูก‘ตัวผู้’

. ความจริงอยู่ที่ปลายช่อดอก จากการวิจัยในต่างประเทศ ดอกช่อบนสุดจะมีสารสำคัญมากกว่าช่อข้างล่าง จึงต้องมีเทคนิคในการต่อยอดขึ้นมา และกัญชามี “ไตรโครม” (ขน) ที่เก็บสารสำคัญ 2 ตัวหลัก คือ THC และ CBD ซึ่งแต่ละตัวมีคุณสมบัติต่างกัน นอกจากนี้ ยังมีสารสำคัญกลุ่ม “เทอร์พีน” อีกกว่า 100 ชนิด ให้กลิ่น เช่น กลิ่นมะม่วง ส้ม แต่หากดูจริงๆ แล้วจะมีสารสำคัญมากกว่า 500 ชนิด เราจึงต้องดูว่าจะปลูกเอาสารอะไร กลิ่นไหน”

 ในมุมนักเคมี มีกัญชา 3 สายพันธุ์หลัก คือ..

1.Savita ต้นจะสูง มีสาร THC (เมา) สูง

2.Indica ต้นเตี้ย สารที่มีมาก คือ CBD (ไม่เมา)

3.Ruderalis ใบหนา ลำต้นเตี้ย-สั้น ข้อป้อม มีทั้ง CBD และ THC

ซึ่งถ้ามีการผสมสายพันธุ์ไทยกับต่างประเทศจะเรียกว่า “สายพันธุ์ไฮบริด

 

“กัญชา” ยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ..

1.Photoperiod ใช้ชั่วโมงแสงน้อยในการเริ่มทำดอก และ

2.Auto flowering ข้อดีไม่ขึ้นกับชั่วโมงแสง ให้กี่ชั่วโมงก็ได้

“กัญชา” เดิมอยู่ในรูปดอก-สด มีสาร THCA ไม่เมา แต่ถ้าโดนความร้อนจะเกิดปฏิกิริยาดีคาร์บ กลายเป็นสารเมา หรือ THC

..จึงต้องสกัดโดยไม่ใช้ความร้อน ซึ่ง ผศ.ดร.สมชายบอกถึงสรรพคุณที่มากมาย ไม่ว่าจะลดแบคทีเรีย ฆ่ามะเร็ง แก้ปวด ช่วยให้นอนหลับ ลดความเครียด เพิ่มความอยากอาหาร รักษาพาร์กินสัน

..โดยความฝันส่วนตัวคือ จะทำสายพันธุ์กัญชาในการรักษาเฉพาะโรค โดยให้ความรู้ก่อนว่า อย่าปลูกต้นตัวผู้ เพราะละอองปลิวได้ไกล อาจเกิดการข้ามสายพันธุ์จนเสียสารสำคัญในกัญชาได้

“กัญชาเหมือนคน มีต้นตัวเมีย (มีขน) ตัวผู้ (มีแง่งยื่นออกมา) ตัวเมียดอกจะแหลมๆ และมีเกสรตัวเมีย 2 เส้น (คล้ายขนอวัยวะเพศ) ส่วนเพศผู้เป็นกระเปาะกลมๆ เห็นเพศผู้ตัดทิ้งทันที เพราะเมล็ดนั้นอาจจะทำให้สายพันธุ์เปลี่ยน และสารสำคัญในดอกจะลดลงมาก จึงไม่ควรมีต้นตัวผู้

..คนเรายังมี กะเทย มีทอม กัญชาก็มี มีดอกตัวผู้และเมีย และกะเทย ซึ่งจะคล้ายตัวเมียแต่มีลักษณะคล้ายกล้วยยื่นออกมา ซึ่งเวลานำไปผสมพันธุ์ สารสำคัญจะลดลง” นักเคมีชี้แนะ

47 สายพันธุ์เป็นอะไรที่อลังการมาก สำหรับผู้ดูแลอย่างอาจารย์สมชาย เพราะแต่ละต้น แต่ละสายพันธุ์ กินน้ำและปุ๋ยไม่เท่ากัน มีสีสันและกลิ่นที่แตกต่าง ความต้องการหลากหลายกันไป

ย้อนไปเมื่อเริ่มต้นปลูก อ.สมชาย เล่าว่า เอาเมล็ดไปเพาะด้วยดินถุงตลาด ผลปรากฏว่าต้นอ่อนป่วยตายทั้งหมด รอบสองก็ไม่แคล้ว จึงเริ่มศึกษากลุ่มสายพันธุ์ ซึ่งเมื่อผสมสายพันธุ์ จาก 82 ตัวอย่าง พบสายพันธ์ที่มีสาร CBD สูง 5 ตัวอย่าง และ THC : CBD เท่ากัน 25 ตัวอย่าง ซึ่งนอกจากจะสามารถพัฒนาสายพันธุ์ที่มี THC และ CBD ได้แล้ว ยังพัฒนากลิ่น (เทอร์พีน) ได้อีกด้วย อีกทั้งในปัจจุบัน ยังได้เข้าร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการตรวจคุณภาพสมุนไพรด้วยเทคนิค HPTLC ในสายพันธุ์ไทยต่างๆ จนทราบว่ากัญของไทยในแต่ละชนิด มีสารอะไรมากกว่าสารอะไรบ้าง ส่วนตัวใช้วิธีสกัดด้วย เอทานอล ซึ่งได้ออกมาเป็นน้ำสีน้ำผึ้ง

สำหรับวัตถุประสงค์ในการขออนุญาต ผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ต้องเป็นไปภายใต้ 6 ข้อนี้ คือ

1.เพื่อประโยชน์ตามภารกิจของหน่วยงานรัฐ

2.เพื่อประโยชน์จากเส้นใยตามประเพณี วิถีชีวิตและใช้ในครอบครัวเท่านั้น โดยปลูกได้ไม่เกินครอบครัวละ 1 ไร่

3.เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม

4.เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์

5.เพื่อประโยชน์ในการศึกษา วิเคราะห์วิจัย หรือปรับปรุงพันธุ์

6.เพื่อประโยชน์ในการผลิตเมล็ดพันธุ์รับรอง

แต่สำหรับประชาชนทั่วไป ผศ.ดร.สมชายบอกว่า สามารถขอปลูกได้ภายใต้ข้อ 3 เท่านั้น คือ ในเชิงพาณิชย์กับอุตสาหกรรม จะปลูกแบบไหนก็แล้วแต่เรา แต่ต้องมีแหล่งปลายน้ำให้ถูกต้องชัดเจน..

โดยสรุปแล้ว “กัญชง” จะปลูกง่ายกว่า “กัญชา” แล้วคุณจะปลูกกัญชาหรือกัญชง จะปลูกชนิด “โฟโต้” หรือ “ออโต้” ปลูกเอาสาร CBD หรือ THC ต้องรู้ให้แน่ชัด ก่อนเริ่มต้นปลูกในลำดับถัดไป โดยเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ ซึ่งมี 3 แบบคือ..

1.การปลูกกลางแจ้ง ทุนน้อย-ความเสี่ยงสูง ข้อดีคือ ไม่ต้องซื้อหลอดไฟ ออกดอกตามชั่วโมงแสงธรรมชาติ ข้อจำกัดคือ ศัตรูพืชซึ่งอาจใช้ “ตัวห้ำ” มาช่วยจัดการ, เก็บเกี่ยวได้ปีละครั้งถึงสองครั้ง ไม่มีที่บัง ความร้อนสูง ปลูกเอาสาร CBD ก็อาจจะยากขึ้นเล็กน้อย

2.การปลูกในโรงเรือน ต้องใช้หลอดไฟ จะไม่สามารถปลูกพันธุ์ไทยได้เพราะจะไม่ออกดอก เนื่องด้วยแสงจากหลอดไฟเข้มไม่พอ

ดังนั้น ในงานวิจัยจึงปลูกเฉพาะ “สายพันธุ์ไฮบริด” คือการเอาพันธุ์ไทยผสมพันธุ์ต่างประเทศ ทั้งชนิดโฟโต้และออโต้ ซึ่งสามารถปรับไฟหลอกให้ออกดอกได้ แค่ข้อเสียคือ ใบอาจเหลือง เปลืองค่าแอร์ ค่าไฟ และไม่ได้ปลอดภัยจากแมลง หรือคุมไรแดงได้ 100 เปอร์เซ็นต์

3.การปลูกกลางแจ้ง แบบกรีนเฮาส์ คือการเอา 2 ข้อดีนี้มาร่วมกัน เป็นระบบปิด มีหลังคาแต่ใช้แสงธรรมชาติ ซึ่งข้อดีใช้ทุนน้อย ข้อเสียคือ จะเกิดความร้อน ยากต่อการควบคุมผลผลิต หลายคนจึงใส่พัดลมเพื่อปรับอากาศ และสามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

อุปสรรค-เคล็ดลับ จากนักเคมี

เมื่อขออนุญาตเป็นที่เรียบร้อย หากได้เริ่มทดลองปลูก หลายคนจะต้องพบกับอุปสรรค “เมล็ดไม่งอก” หรืองอกแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ จากที่เพาะ

ณ จุดนี้ อ.สมชายชี้ว่า เมล็ดที่ดีต้อง “อ้วน แน่น สมบูรณ์ แข็ง มีสีน้ำตาลแก่ ผิวแข็งเรียบเนียน ขั้วแห้งสุก ไม่มีรอยปริแตก” ซึ่งช่วงแรกๆ มีการเผยแพร่ทางโซเชียลว่าดูเพศจากลักษณะของเมล็ดได้ทันที ซึ่ง “ไม่จริง”

อ.สมชายแนะเคล็ดลับการปลูกอย่างละเอียด ตามลำดับขั้น

1.การเพาะเมล็ด 3-7 วัน

ใช้น้ำเปล่าที่มีค่า pH 6.3-6.8 แช่เมล็ดในที่มืดและอุ่น 12 ชั่วโมง, วางบนทิชชูที่ชุ่มน้ำหมาดๆ แล้วใช้ทิชชูอีกแผ่นปิด, ปิดฝากล่องแล้วเก็บให้พ้นแสง, เมล็ดเริ่มปริ และมีรากแทงออกมาภายใน 1-3 วัน หมั่นเช็กเมล็ดทุก 12-24 ชม.

ซึ่งบางเมล็ดอาจต้องใช้กรรไกรหนีบเล็กน้อยแล้วเอาไปแช่น้ำ โดยหนีบตรงปลายเปลือก แต่อย่าให้ถึงเนื้อเมล็ด

2.การอนุบาล 1-2 สัปดาห์

วัสดุปลูก ร่วนฟู รากสามารถไชผ่านได้ง่าย อย่าง พีทมอส (Peat moss) ที่มีค่า pH ระหว่าง 6.3-6.8 มีสารอาหารไม่มาก จนเกินไป เอามาใส่ในแก้วพลาสติกที่เจาะรูใต้แก้ว โดยเว้นความสูงลงมาจากขอบ 2-3 ซม. รดน้ำให้ชุ่มทั่วกระถาง ก่อนใช้ไม้หรือปากกาทำหลุมลึกลงไป 2-3 ซม. เพื่อใส่เมล็ด

จากนั้นอนุบาลด้วยไฟให้แสง 18 ชั่วโมง/วัน 150-300 PPFD แสงแดดธรรมชาติกรองด้วยสแลน ชอบความชื้นและแสงรำไร เลี่ยงรับแสงโดยตรง และไม่ควรปล่อยให้ต้นแห้ง หรือโดนความร้อนเป็นเวลานาน

อ.สมชายยังเน้นย้ำว่า ค่า pH สำคัญมาก ในการปลูกกัญชา จึงควรดูค่า pH ของน้ำ ก่อนนำมารดต้นกัญชา

โดยในระยะอนุบาลนี้ จะมีศัตรูที่ต้องระวังกวนใจต้นอ่อน เช่น หอยทากจิ๋ว มด นก

ขั้นตอนต่อไป ผสมวัสดุปลูก ดินต้องร่วนซุย ชื้นแต่ไม่แฉะ ค่า pH 5.6-6.5 ส่วนตัว อ.สมชาย พยายามทำดินที่จะใช้ปลูก ด้วยการผสมวัสดุปลูกด้วยสูตร 12 ชนิด คือ พีทมอส 30%, ดินปลูก 20%, Perlite 15%, ขุยมะพร้าว 15%, แร่เวอร์มิคูไลท์ (vermiculite) 5%, หินพัมมิช 5%, แกลบสด 5%, มูลไส้เดือน 5%, Rebone 70 กรัม มูลค้างคาว 70 กรัม และไตรโคเดอมา 15 กรัม, B1 2 มล./น้ำ 1 ลิตร

โดยการปลูกในดิน จะใช้กระถางพลาสติกที่มีรูรอบๆ (Air pot) เพื่อระบายน้ำได้ดีถ่ายเทอากาศ

3.ระยะเลี้ยงใบ 4-8 สัปดาห์

เป็นระยะของการสร้างราก กิ่ง ใบ ควรเปลี่ยนไซซ์กระถางให้เหมาะสม เพราะหากรากไชไปไม่ได้ ต้นจะชะงัก โดยให้เน้นปุ๋ยไนโตรเจนเป็นหลัก แนะนำปุ๋ยมูลไส้เดือน ฮอร์โมนไข่

ในขั้นนี้ หลักการคือ “ให้โดยแสงครบทุกมุม” ซึ่งนอกจากนี้ยังมีเทคนิค อาทิ

“Topping” คือการตัดระหว่างข้อและยอดเพื่อให้เกิดการแบ่งสารอาหารและแตกยอด

“Firming” คือการตัดยอดออกให้กิ่งไม้สูง และยอดขึ้นมาเพิ่มอีกหลายกิ่ง

“Low stress training Topping” คือการดัดดึงต้นกัญชาลงมา ให้กิ่งก้านสาขาโตไปในแนวนอน เพื่อกระตุ้นพืชส่วนด้านข้าง

“High stress training supercooling” และ “Lollipopping” ซึ่งข้างล่างลำต้น มีใบมาก อากาศจึงไม่ถ่ายเท และทำให้ไม่โดนแสง ไม่มีดอก เมื่ออากาศไม่ถ่ายเทก็เกิดรา จึงต้องตัดให้โปร่ง มีช่องลมผ่าน

“Sea of green” คือ ปลูกถี่ๆ ข้างล่างไม่เอา เอาแต่ยอดบน แต่ยอดต้องสูง ซึ่งช่วยให้ประหยัดพื้นที่ อยู่ที่เทคนิคว่าจะทำอย่างไร

“Screen of green” (SCROG) ด้วยการใช้ตาข่าย ในการช่วยพยุงต้น

โดยในช่วงทำใบ จะมีศัตรูพืช เช่น เพลี้ยกระโดด เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว ไรแดง (จุดขาวๆ) ซึ่งตอนฉีดยาต้องฉีดใต้ใบ

กัญชาปลูกไม่ยาก แต่ใช้ ‘ความใส่ใจ’ อย่างมาก

อ.สมชายบอกว่า ที่สำคัญ คือขั้นที่..

4.ระยะทำดอก  ซึ่งต้องปรับแสง เป็นเปิดไฟ 12 ชม. – ปิด 12 ชม. แต่แสงต้องเข้มขึ้น ช่วงนี้ต้องการดูแลเป็นพิเศษ ถ้ามีตัวผู้ต้องตัดทิ้ง อย่าเก็บ

ในระยะนี้ต้องให้มีธาตุ โพแทสเซียม NPK และฟอสฟอรัสเป็นหลัก เพื่อช่วยเพิ่มการแตกดอก

สำหรับข้อระวังคือ อย่าฉีดน้ำที่ดอก เพราะน้ำจะไม่สามารถระเหยได้ ก่อให้เกิดโรคราเทา ในช่วงนี้ให้ใช้ “ตัวห้ำ” ช่วย และต้องลดอุณหภูมิ ลดความชื้น ลดชั่วโมงแสง แต่เพิ่มความเข้มแบบที่ไม่ถึงกับร้อน และอาจต้อใช้แผ่นกาวดักแมลงช่วยด้วย

5.ระยะการเก็บเกี่ยว และจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

เพื่อความแม่นยำ ควรใช้กล้องส่อง เพื่อดูสีและความใสของไตรโคม (ขน) ด้วยแว่นขยาย หรือกล้องส่องพระ ซึ่งดอกกัญชาที่สุกพร้อมเก็บเกี่ยว จะมีเส้นเกสรแห้ง เป็นสีส้มหรือน้ำตาล ค่อนข้างขุ่น หรืออาจเป็นสีเหลืองทองก็ได้

แต่ถ้าหากจะเอาสาร CBD สามารถเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ที่ไตรโคมเริ่มมีสีขาว

ขั้นตอนต่อไปคือ การ “แต่งดอกสด” (Wet trim) โดยตัดออกจากกิ่งหลัก และเล็มใบส่วนเกินรอบๆ ดอกออกทั้งหมด ก่อนนำไปตาก ซึ่งต่างประเทศจะตากในห้องเย็น มืด และอากาศถ่ายเท เพื่อให้ในดอกแห้งได้ทุกข้อเท่าๆ กัน

เมื่อตากดอกแห้งดีแล้ว ก็มา “แต่งดอกแห้ง” (Dry trim) เพื่อเอาใบรองดอกออกมา และตัดแต่งให้มีมีรูปร่างสวยงาม ทั้งยังคงกลิ่นของดอกให้ชัดเจน

เหล่านี้ คือขั้นตอนแบบละเอียดยิบสำหรับผู้ที่อยากเริ่มต้นปลูก ก่อนนำส่วนช่อดอกที่ได้ส่งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อใช้ในการทำยารักษาผู้ป่วย

แต่ส่วนอื่นที่เหลือ อย่างใบ ลำต้น กิ่ง ก้าน ราก ผู้ปลูกสามารถขออนุญาตกับ อย. เพื่อนำมาเป็นส่วนประกอบ ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์และอาหารได้หลากหลายตามความชอบ

ที่มาและข้อมูลเพิ่มเติม- หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน
https://www.google.com/..q=%E0%B8%A7%..

กัญชง กัญชา “ไทยปลดล็อก”แล้ว/ ปลูก ใช้ จำหน่าย อย่างไร? ให้ถูกกฎหมาย