กัญชง กัญชา “ไทยปลดล็อก”แล้ว/ ปลูก ใช้ จำหน่าย อย่างไร? ให้ถูกกฎหมาย
กัญชาถูกกฎหมาย นับแต่วันที่ 9 มิ.ย.65 รัฐบาลได้ปลดล็อกพืชกัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติด และยกเลิกความผิดฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออก มีไว้ในครอบครอง จำหน่ายมีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ หรือเสพพืชกัญชา..
“..การ “ปลดล็อก” กัญชา กัญชง ทุกคนปลูกได้ในวันที่ 9 มิ.ย. นี้ ประชาชนสามารถปลูกเพื่อใช้เอง รวมทั้งผู้ประกอบการที่ปลูกในเชิงพาณิชย์ โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” ขององค์การอาหารและยา (อย.)
ส่วนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจำหน่าย ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง และยาสมุนไพร ยังคงต้องขออนุญาต..”
การปลูกกัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมาย
- ไม่ต้องขออนุญาต ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565
- ให้ประชาชนที่ต้องการปลูกกัญชา กัญชง แจ้งข้อมูลผ่านระบบ Application “ปลูกกัญ” ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจัดทำขึ้น
- เข้าสู่เว็บไซต์ คลิก หรือแอปพลิเคชั่น ปลูกกัญ สามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง iOS และ แอนด์ดรอยด์
- ลงทะเบียน
- จดแจ้งตามวัตถุประสงค์
- รับเอกสารจดแจ้งอิเล็กทรอนิกส์
การสูบกัญชาถูกกฎหมาย
- ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป การสูบกัญชา ไม่มีความผิดกฎหมายยาเสพติด
- แต่การสูบกัญชาในที่สาธารณะ รบกวนสิทธิผู้อื่น มีความผิดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท
- การสูบกัญชาในที่สาธารณะ ยังไม่มีกฎหมายควบคุมโดยตรงเช่น บุหรี่ ที่มี พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ควบคุมอยู่
กัญชา กัญชง ที่ใช้ในอาหารที่ผลิตเพื่อจำหน่ายถูกกฎหมาย
- กัญชา กัญชง และสารสกัดแคนนาบิไดออล (CBD) ที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารเพื่อผลิตจำหน่าย ต้องเป็นเฉพาะส่วนของพืชที่กำหนดในประกาศของกระทรวงสาธารณสุข
- ได้แก่ เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง ผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน รากและใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
- ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการใช้ประโยชน์จากสารสกัด CBD ผู้ประกอบการขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหารหรือขออนุญาตใช้ฉลากอาหาร
- เงื่อนไขชนิดอาหาร ปริมาณ THC และ CBD และแสดงคำเตือนเป็นไปตามที่ประกาศกำหนด
- ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย ต้องดำเนินการยื่นขอรับเลขสถานที่ผลิตอาหารและเลขสารบบอาหารด้วย
สารสกัดพืชกัญชา กัญชง ที่ถูกกฎหมาย
- ไม่ว่าจะเป็นการนำส่วนใดของพืชกัญชา กัญชง ไปสกัด สารสกัดที่ได้จะมี THC เท่าใดก็ตาม ต้องขออนุญาตผลิตสกัดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด (ยกเว้นการสกัดจากเมล็ด) โดยผลผลิตสารสกัดที่ได้ แบ่งเป็น 2 ส่วน
- สกัดที่มี THC ไม่เกิน 0.2 % จะได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ
- สารสกัดที่มี THC เกิน 0.2 % จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ
การจำหน่ายกัญชาแบบถูกกฎหมาย
- การจำหน่ายส่วนของพืชกัญชา ไม่ต้องขอรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด
- การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์และกิ่งพันธุ์ต้องขอรับอนุญาตตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518
- การจำหน่ายสารสกัดที่ได้รับอนุญาตให้สกัดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด
- กรณีเป็นสารสกัดที่มี THC ไม่เกิน 0.2 % ไม่ต้องมีใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ
- สารสกัดที่มี THC เกิน 0.2 % ต้องมีใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ และผู้ซื้อต้องมีใบอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษด้วย
- การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น
การนำเข้ากัญชา กัญชง ที่ถูกกฎหมายต้องทำอย่างไร
ทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง ห้ามนำเข้าสารสกัด ยกเว้นกรณีดังต่อไปนี้
- กรณีเพื่อการศึกษาวิจัย
- กรณีเป็นหน่วยงานรัฐเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
นำเข้าเมล็ดกัญชา กัญชง และส่วนอื่น ๆ เช่น เปลือก ลำต้น ใบ เส้นใย กิ่งก้าน ราก ยอดหรือช่อดอก ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือเป็นวัตถุดิบในการผลิตสารสกัด
- ต้องขอรับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507
- กรณีนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง ต้องขออนุญาตนำเข้าตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ด้วย
- เมื่อได้รับอนุญาต หากจะนำพืชกัญชา กัญชงมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ สุขภาพ หรือเป็นวัตถุดิบในการผลิตสารสกัดจากกัญชา กัญชงให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วย ผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น ๆ
- กรณีนำมาผลิตเป็นอาหาร ไม่สามารถนำเข้าได้ เนื่องจากจัดเป็นอาหารห้ามนำเข้า
- กรณีนำผลิตเป็นเครื่องสำอาง ไม่สามารถนำเข้าได้ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ห้ามนำเข้า
- กรณีนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ซึ่งหากได้รับอนุญาตให้ผลิตถูกต้องตามกฎหมายแล้ว การพิจารณาตรวจสอบการนำเข้าเพื่อเป็น วัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ก็สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกัน
การนำเข้า นำติดตัวเพื่อใช้เฉพาะตน ของกัญชา กัญชง
- การนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชา กัญชง รวมถึงการนำเข้าส่วนต่าง ๆ ของพืช เพื่อใช้เฉพาะตัว
- ครอบคลุมการนำเข้าใน 2 ลักษณะ
1. การนำติดตัวผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
2. การส่งทางพัสดุ/ไปรษณีย์ระหว่างประเทศ กำหนดหลักเกณฑ์การนำเข้าเพื่อใช้เฉพาะตัวไว้ว่า.. - ผู้นำเข้าต้องเป็นบุคคลธรรมดา มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้เฉพาะตัวของผู้นำเข้าเอง พิจารณาจากรูปแบบของสินค้าที่นำเข้า เช่น เครื่องมือแพทย์ หรือวัตถุอันตราย หรือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พิจารณาจากวัตถุประสงค์การใช้งานบนฉลากผลิตภัณฑ์
- หากผลิตภัณฑ์ จัดเป็นอาหาร หรือเครื่องสำอาง จะไม่สามารถนำเข้าได้ เนื่องจากจัดเป็นอาหารห้ามนำเข้า หรือเป็นเครื่องสำอางที่ห้ามนำเข้า
- การนำเข้าในรูปแบบส่วนต่าง ๆ ของพืช ต้องได้รับอนุญาตให้นำเข้าตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 ก่อน หากนำเข้ามาเป็นอาหาร เพื่อบริโภคส่วนตัวจะไม่สามารถนำเข้าได้ เนื่องจากจัดเป็นอาหารห้ามนำเข้าตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 424 พ.ศ. 2564
- ส่วนกรณีนำเข้าส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชา กัญชง มาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อใช้เฉพาะตัว ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร
อ่านเพิ่มเติม: แนวทางการปลูก นำเข้า นำติดตัวเพื่อใช้เฉพาะตน
https://www.thansettakij.com/general-news/528035
https://www.bbc.com/thai/thailand-61703618
สรรพคุณกัญชา..โดยผู้รู้จริง น.อ. พิเศษ พญ. จินตนา มโนรมย์ภัทรสาร รพ.ภูมิพล