สุขภาพ-ชีวิต » ฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ (Smallpox)

ฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ (Smallpox)

31 พฤษภาคม 2022
1107   0

ฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ (Smallpox)

ฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ (Smallpox) เป็นโรคติดเชื้อไวรัส อาการแสดงของผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีตุ่มคล้ายฝีขึ้นทั่วร่างกาย มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัวจนทรมาน คนที่เป็นโรคสามารถหายได้ เองแต่มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 30%

ในประวัติศาสตร์โรคฝีดาษมีการระบาดอยู่เรื่อยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เกิดเหตุการณ์ระบาดครั้งใหญ่ที่สุดทั่วประเทศ และพบการระบาดครั้งสุดท้ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

ปัจจุบันโรคฝีดาษถูกกวาดล้าง (Eradicate) หมดไปจากโลกนี้แล้ว แต่ยังมีการเก็บตัวอย่างเชื้อไว้เพื่อในสำหรับการศึกษาเพิ่มเติม จนได้มีการผลิตยารักษาโรคฝีดาษตัวใหม่คือ ยา Tecovirimat (TPOXX) ในปี 2018 ที่ผ่านมา รองรับการระบาดในอนาคต

โรคฝีดาษคืออะไร?

ฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ (Smallpox) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Variola กลุ่ม Orthopoxvirus ปัจจุบันไม่มีการระบาดของโรคนี้แล้ว โดยคนที่ติดเชื้อฝีดาษจะมีตุ่มคล้ายฝีขึ้นอยู่ดาษดื่นทั่วร่างกายและเห็นได้ชัด เป็นที่มาของชื่อ “โรคฝีดาษ” โดยผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่หายจากโรคได้ แต่จำนวน 3 ใน 10 คนจะเสียชีวิต ส่วนคนที่หายจากโรคฝีดาษก็มักจะเกิดรอยแผลเป็นทั่วร่างกาย ในบางคนตาบอดหลังจากที่หายจากโรคนี้แล้ว

ประวัติโรคฝีดาษในไทย

โรคฝีดาษปรากฏขึ้นครั้งแรกในช่วงปีพุทธศักราช 1997 ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ต่อมาใน พ.ศ. 2460 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ไข้ทรพิษมีการระบาดต่อเนื่องทุกๆ ปี

แต่เหตุการณ์ระบาดครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2488 – 2489 จากเชลยศึกชาวพม่าที่มาสร้างทางรถไฟสายมรณะข้ามแม่น้ำแคว จ.กาญจนบุรี ป่วยเป็นไข้ทรพิษและแพร่กระจายไปยังกลุ่มกรรมกรไทยจากภาคต่างๆ ที่มารับจ้างทํางาน เมื่อแยกย้ายกันกลับบ้านก็ได้นําโรคกลับไปแพร่ระบาดจนเกิดเป็นการระบาดใหญ่ทั่วประเทศ มีผู้ป่วยมากถึง 62,837 คน (เสียชีวิต 15,621 คน)

การระบาดครั้งสุดท้ายในไทยเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2504 – 2505 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่9 มีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษ 2 คน

ในปี พ.ศ. 2522 – 2523 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศว่า โรคฝีดาษถูกกวาดล้าง (Eradicate) หมดไปจากโลกนี้แล้ว อย่างไรก็ตามยังคงมีการเก็บเชื้อโรคฝีดาษไว้ในห้องปฏิบัติการบางแห่งในสหรัฐอเมริกาและรัสเซียภายใต้การดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อศึกษาวิจัยเนื่องจากมีความกังวลว่าเชื้ออาจกลับมาระบาดอีกครั้ง

โรคฝีดาษมีกี่ชนิด?

โรคฝีดาษ แบ่งได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้

-ไข้ทรพิษชนิดร้ายแรง เกิดจากเชื้อไวรัส Variola Major or Classical Smallpox
-ไข้ทรพิษชนิดร้ายแรงน้อยกว่า เกิดจากเชื้อไวรัส Variola Minor or Alastrim

สาเหตุของการเกิดโรคฝีดาษ

ฝีดาษเกิดจากการติดเชื้อ Variola virus กลุ่ม Orthopoxvirus จุดกำเนิดของเชื้อโรคฝีดาษยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีการพบผื่นคล้ายตุ่มผื่นฝีดาษบนร่างกายมัมมี่อียิปต์โบราณ จึงสันนิษฐานว่าเชื้อโรคฝีดาษดำรงอยู่มายาวนานมากกว่า 3,000 ปี เอกสารที่บันทึกเรื่องราวของโรคฝีดาษไว้เป็นลายลักษณ์อักษรพบครั้งแรกในประเทศจีน ในศตวรรษที่ 4 และประเทศอินเดียในศตวรรษที่ 7

โรคฝีดาษติดต่อกันอย่างไร?

การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดขึ้นผ่านระบบทางเดินหายใจ คือ ติดจากละอองฝอย (Droplet spread) เช่น สูดละอองฝอยจากการไอหรือจามของผู้ติดเชื้อเข้าทางจมูก โดยผู้ป่วยจะเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ระยะที่มีแผลในปากหรือคอ ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดผื่นตามลำตัว และแม้แต่ในระยะแผลตกสะเก็ดก็ยังสามารถแพร่เชื้อได้ นอกจากการติดเชื้อผ่านระบบทางเดินหายใจ ยังสามารถติดเชื้อผ่านระบบอื่นๆ อีก ได้แก่

-ทางผิวหนัง (Skin inoculation) เช่น ใช้มือที่เป็นแผลสัมผัสกับตุ่มบนตัวผู้ติดเชื้อ
-ทางเยื่อบุตา (Conjunctiva) เช่น ใช้มือที่สัมผัสรอยโรคของผู้ติดเชื้อขยี้ตา
-ติดจากแม่สู่ลูกผ่านทางสายรก

เชื้อฝีดาษแพร่กระจายจากคนสู่คนเท่านั้น และปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าเชื้อสามารถแพร่กระจายผ่านแมลงหรือสัตว์ได้

โรคฝีดาษ อาการ

ระยะฟักตัวของโรคฝีดาษ เป็นระยะที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการ สำหรับระยะนี้ไม่เกิดการแพร่เชื้อ อาจกินเวลา 10-14 วันโดยประมาณ หรือมากถึง 19 วัน

ระยะแสดงอาการเริ่มต้น โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน (40 องศาเซลเซียส) ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ และอาจมีอาการอาเจียนได้ เป็นระยะที่สามารถแพร่เชื้อได้ แต่ไม่มากเท่าระยะหลังจากนี้ กินระยะเวลาประมาณ 2-4 วัน

ระยะมีผื่นขึ้น เป็นระยะที่เริ่มมีผื่นขึ้นตามตัว โดยผู้ป่วยยังคงมีอาการไข้ขึ้นสูง การเกิดผื่นจะเริ่มจากมีผื่นแดงที่ลิ้นและปาก เมื่อตุ่มผื่นเหล่านี้แตกทำให้เกิดแผลและแพร่กระจายเชื้อในปากเป็นวงกว้างรวมถึงลามไปที่คอ หลังจากนั้นผื่นก็จะเริ่มขึ้นที่หน้าแล้วลามไปที่แขน ขา มือ เท้า และกระจายไปทั่วร่างกายภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อถึงระยะที่ผื่นลามไปทั่วตัวแล้ว ไข้จะเริ่มลดลงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น ระยะนี้กินเวลาประมาณ 4 วัน เป็นช่วงที่สามารถแพร่เชื้อได้มากที่สุด

ระยะตุ่มหนองและตกสะเก็ด โดยแผลที่เกิดขึ้นจะเริ่มกลายเป็นตุ่มหนอง เมื่อผ่านไปประมาณ 5 วันตุ่มหนองก็ค่อยๆ กลายเป็นสะเก็ดแผล ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 10 วัน โดยปกติแล้วหลังจากการเกิดผื่น ตุ่มหนองต่างๆ จะตกสะเก็ดทั้งหมดภายใน 2 สัปดาห์ เป็นระยะที่ยังสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้

ระยะสะเก็ดหลุดออก ระยะนี้จะดำเนินไปประมาณ 6 วัน โดยแผลที่ตกสะเก็ดจะค่อยๆ หลุดออกจนหมด และทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้ ซึ่งเป็นระยะที่ยังสามารถแพร่กระจายเชื้อไข้ทรพิษได้

ระยะที่ไม่มีสะเก็ดแผลแล้ว เป็นระยะสุดท้ายของโรคไข้ทรพิษ โดยเมื่อสะเก็ดแผลหลุดออกจนหมด ก็จะไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ นับจากระยะที่เริ่มมีผื่นขึ้นจนถึงระยะสุดท้ายกินเวลาประมาณ 4 สัปดาห์

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคฝีดาษ

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคฝีดาษ เช่น แผลเป็นตามร่างกาย ใบหน้า แขนขา เชื้อโรคไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย สมองอักเสบ เกิดการแท้งบุตรในหญิงตั้งครรภ์ และร้ายแรงถึงขั้นตาบอดได้

การวินิจฉัยโรคฝีดาษ

เบื้องต้นเป็นการตรวจดูอาการ รวมถึงการตรวจหาเชื้อไวรัสโดยการขูดผิวหนังจากตุ่มผื่น ตรวจของเหลวจากตุ่มน้ำ (Vesicles) และตุ่มหนอง (Pustules) หรือจากผิวตกสะเก็ดแล้วส่งเพาะเชื้อ การวินิจฉัยอย่างรวดเร็วอาจทําได้โดยการตรวจดูผ่านกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน หรือใช้วิธี Polymerase Chain Reaction (PCR) เพื่อหาเชื้อไวรัสไข้ทรพิษ หรือไวรัสชนิดอื่นๆ ในตระกูล Orthopoxvirus

การรักษาโรคฝีดาษ

ในสมัยก่อนยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษ แต่มีการสังเกตว่าผู้ที่เคยเป็นฝีดาษแล้วไม่เสียชีวิต ไม่มีการป่วยด้วยโรคนี้ซ้ำอีก จึงได้มีการเอาสะเก็ดแผลของผู้ป่วยมาป่นเป็นผงและแปะเข้ากับผิวหนังของคนที่ไม่เคยเป็น โดยการขูดผิวหนังให้มีรอยแผลเล็กน้อยก่อน หรือการใช้เข็มจิ้มที่ตุ่มน้ำของผู้ป่วยแล้วไปสะกิดบนผิวหนังของคนที่ยังไม่ป่วย ทำให้ร่างกายรับเชื้อฝีดาษและเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีอาการของโรคเล็กน้อยแต่ไม่เสียชีวิต เป็นที่มาของการฉีดวัคซีนในปัจจุบัน

วัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ

วัคซีนสำหรับป้องกันไข้ทรพิษเรียกว่า Vaccinia Virus Vaccine เป็นวัคซีนที่ผลิตมาจากเชื้อไวรัส Vaccinia คล้าย Smallpox virus แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า มีผลต่อการป้องกัน 3 กรณีดังนี้

1-ได้รับวัคซีนก่อนได้รับเชื้อไวรัส จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้
2-ได้รับวัคซีนภายใน 3 วันหลังจากได้รับเชื้อไวรัส วัคซีนสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคฝีดาษได้ แต่หากเกิดโรคอาการก็จะไม่รุนแรงเท่าคนที่ไม่ได้รับวัคซีน
3-ได้รับวัคซีนหลังจาก 4-7 วันนับจากได้รับเชื้อไวรัส มีโอกาสที่จะเกิดโรคฝีดาษ แต่อาการจะเบากว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน
แต่หากโรคฝีดาษพัฒนาไปถึงระดับที่มีผื่นฝีดาษแล้ว วัคซีนจะไม่สามารถช่วยป้องกันโรคได้

ยารักษาโรคฝีดาษ

1.ยา Cidofovir เป็นยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งในผู้ป่วยโรค HIVs และยานี้มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อฝีดาษในหลอดทดลองด้วย แต่มีข้อเสีย คือ เกิดพิษต่อไตในมนุษย์

2.ยา Tecovirimat (TPOXX) ในเดือนกรกฎาคม ปี 2018 สำนักงานคณะกรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริการับรองยา Tecovirimat (TPOXX) สำหรับใช้รักษาไข้ทรพิษ โดยมีผลการศึกษาในหลอดทดลองพบว่ายาช่วยยับยั้งการเจริญของเชื้อไข้ทรพิษ มีประสิทธิภาพในการรักษาสัตว์ทดลองที่มีอาการป่วยด้วยโรคที่ใกล้เคียงกับฝีดาษ นอกจากนี้ยังได้ทดลองใช้กับอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี พบว่ามีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ยาทั้งสองชนิดนี้ยังไม่ถูกนำมาทดลองในผู้ป่วยไข้ทรพิษจริงๆ เนื่องจากยังไม่มีการระบาดในปัจจุบัน

การป้องกันการโรคฝีดาษ

การป้องกันโรคฝีดาษทำได้โดยการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกัน แต่ในปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนโรคฝีดาษในคนทั่วไป เพราะโรคนี้ไม่มีการระบาดแล้ว มีเพียงกลุ่มคนที่ต้องทำงานเกี่ยวกับเชื้อฝีดาษในห้องปฏิบัติการ (Laboratory) เท่านั้น ที่จะได้รับพิจารณาให้ฉีดวัคซีนโรคฝีดาษ.

cr:https://www.doctorraksa.com/th-TH/blog/smallpox.html
https://www.google.com/..YbgycQAzKnYNDVIsPcCxaKsNSkQ:16539..

โรคฝีดาษลิง