เลี้ยงสัตว์ » เรื่องน่ารู้ในการเลี้ยงวัว-ควาย

เรื่องน่ารู้ในการเลี้ยงวัว-ควาย

12 พฤษภาคม 2022
1455   0

เรื่องน่ารู้ในการเลี้ยงวัว-ควาย

การเลี้ยงวัวควาย จำแนกได้ ๒ แบบใหญ่ๆ

1.การเลี้ยงวัวควายเพื่อใช้แรงงาน การเลี้ยงแบบนี้ เป็นแบบที่ดำเนินกันทั่วไปในเมืองไทย อันได้แก่ การเลี้ยงวัวควายเพื่อเป็นส่วนประกอบของการ ทำไร่ทำนา โดยมิได้มุ่งเลี้ยงเป็นการค้าโดยเฉพาะ การเลี้ยงเป็นไปแบบตามมีตามเกิด ไม่ต้องมีวิชาการเข้าช่วยมากนัก อาศัยธรรมชาติเป็นเครื่องอำนวยการเลี้ยง การเลี้ยงวัวควายแบบนี้จึงเรียกว่า การเลี้ยงแบบ ธรรมชาติ

2.คือ การเลี้ยงแบบการค้า ซึ่งยังกระทำกันเป็นส่วนน้อยในเมืองไทย การเลี้ยงแบบนี้ อาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วยอย่างมาก เพื่อมุ่งให้ได้กำไรมากที่สุดจากกิจการเลี้ยงวัวควายนั้น การเลี้ยงวัวควายแบบนี้ จึงเรียกได้ว่า เป็นการเลี้ยงแบบอุตสาหกรรม โดยมุ่งให้ได้ผลิตผล คือ เนื้อหรือนมมากที่สุด ต่อหนึ่งหน่วยของสิ่งลงทุน การเลี้ยงแบบอุตสาหกรรมจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ ๔ ประการ คือ

๑. การดูแลจัดการ
ได้แก่ การจัดสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ของวัวควาย ให้อยู่ในสภาพที่ดี ให้ผลิตผลสูงแต่ลงทุนต่ำ การดูแลนี้ ครอบคลุมถึงการจัดโรงเรือน การปรนนิบัติต่อสัตว์ การควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือน และความชื้น การดูแลรักษาความสะอาด เพื่อให้เหมาะสมแก่การขยายพันธุ์ การเจริญเติบโตตลอดจนการให้ผลิตผลของวัวควาย

๒. อาหารและการให้อาหาร
ผู้เลี้ยงจะแสวงหาอาหารที่มีคุณภาพในราคาพอสมควร มาใช้เลี้ยงวัว ควาย โดยมุ่งให้ได้ผลิตผล และผลกำไรสูง ทั้งนี้จะได้พิจารณารวมถึงวิธีการให้อาหารที่เหมาะสม เพียงพอ และประหยัด

๓. พันธุ์และการผสมพันธุ์
ผู้เลี้ยงจะพิจารณาเลือกเลี้ยงพันธุ์ที่ให้ผลิตผลสูง แต่เลี้ยงง่ายตามสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น ยิ่งกว่านั้น ผู้เลี้ยงจะเลือกใช้วิธีการผสมพันธุ์ที่เหมาะตามวัตถุประสงค์ของการผลิตว่าเป็นการผลิตพันธุ์แท้ การผลิตเพื่อขุน หรือการผลิตวัวควายนม และพยายามปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

๔. การป้องกันรักษาโรค
ได้แก่ การวางมาตรการอันเหมาะสมในการป้องกันโรค และดูแลรักษาสุขภาพสัตว์ เพื่อให้สัตว์สามารถให้ผลิตผลได้สูงสุด เท่าที่จะเป็นไปได้

ระบบการเลี้ยงวัวควายแบบอุตสาหกรรมอาจจำแนกได้เป็นประเภทต่างๆ ดังนี้ คือ
๑. การเลี้ยงวัวควายเนื้อ ได้แก่ การเลี้ยงแบบทำไร่ปศุสัตว์ การต้อนเลี้ยงในทุ่ง และการเลี้ยงขุนในคอก
๒. การเลี้ยงวัวควายนม ได้แก่ การเลี้ยงแบบยืนโรง และการเลี้ยงแบบปล่อย

การเลี้ยงวัวควายเนื้อแบบทำไร่ปศุสัตว์
ใช้พื้นที่กว้างขวางมาก และมีการลงทุนปรับปรุงพื้นที่ กั้นรั้ว และปลูกสร้างแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงแบบนี้โดยทั่วไป เป็นการเลี้ยงเพื่อขายพันธุ์วัวควายคุณภาพดี ราคาแพง มีการลงทุนสูง ใช้วิชาการมาก ใช้โรงเรือน และเครื่องมืออุปกรณ์ไร่มาก ในเมืองไทยได้มีผู้ลงทุนทำไร่ปศุสัตว์กันอยู่บ้าง เช่น ไร่ปศุสัตว์โชคชัย ใกล้อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

การต้อนเลี้ยงวัวควายในทุ่ง
เป็นการเลี้ยงแบบไล่ต้อนสัตว์ไปกินหญ้าในทุ่งกว้าง ซึ่งว่างเว้นจากการเพาะปลูก หรือทุ่งสาธารณะ ผู้เลี้ยงสัตว์อาจไม่มีพื้นที่เป็นขอบเขตของตนเอง หรือจำกัดพื้นที่สำหรับการกักขังวัวควายเมื่อคราวจำเป็นเท่านั้น การเลี้ยงแบบนี้ลงทุนเกี่ยวกับสถานที่เลี้ยง และอุปกรณ์น้อยมาก โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องมีโรงเรือนหรืออุปกรณ์มากนัก ใช้วิชาการน้อย ผู้เลี้ยงไล่ต้อนวัวควายไปเลี้ยงโดยการเดินเท้า หรือขี่ม้าแบบคาวบอยอเมริกันตะวันตก วัตถุประสงค์ของการเลี้ยงแบบนี้ โดยทั่วไป เพื่อผลิตวัวควายขายใช้งาน และเอาเนื้อ มีผู้เลี้ยงวัวควายแบบนี้อยู่ทั่วไปในเมืองไทย การเลี้ยงแบบนี้ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงวัว จำนวนวัวในฝูงหนึ่งๆ มีจำนวนตั้งแต่ ๒๐๐-๓๐๐ ตัว

การเลี้ยงวัวควายแบบขุนในคอก
เป็นการเลี้ยงวัวควาย เพื่อขุนให้อ้วนแล้วส่งตลาดโดยเฉพาะ วัวควายจะถูกกักบริเวณโดยได้รับอาหารที่มีพลังงานสูง ช่วยให้อ้วนเร็ว การเลี้ยงแบบนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ทุ่งหญ้า หรือพื้นที่กว้างขวาง ส่วนใหญ่กระทำกันแถบชานเมือง ในเมืองไทยไม่ค่อยมีการเลี้ยงแบบนี้ แต่ในอนาคตคาดว่าจะมีการเลี้ยงวัวควายแบบนี้เกิดขึ้น เพราะราคาเนื้อแพงขึ้น ผู้บริโภคนิยมเนื้อคุณภาพสูง ราคาอาหารขุนก็ไม่แพงนัก วิชาการเลี้ยงวัวควายแบบนี้แพร่หลายขึ้น พร้อมทั้งความต้องการเนื้อวัวควายในต่างประเทศก็สูงขึ้นด้วย

การเลี้ยงวัวควายนมในเมืองไทยส่วนใหญ่ใช้วัวนม การเลี้ยงควายนมมีน้อย เนื่องจากควายพันธุ์นมมีจำนวนจำกัด และยังไม่รู้จักกันแพร่หลาย

การเลี้ยงวัวนมในเมืองไทยมีอยู่หลายเขต เขตใหญ่ๆ คือ เขตนครปฐม – ราชบุรี เขตพระนครศรีอยุธยา เขตมวกเหล็ก (สระบุรี) และเขตเชียงใหม่ มีแม่โคนมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ ๑๓,๐๐๐ ตัว ให้นมวันละประมาณ ๘๐-๑๐๐ ตัน ซึ่งหมายความว่า ถ้าจะให้คนไทยรับประทานนมกันในปริมาณคนละหนึ่งขวดน้ำอัดลม/วัน จะต้องเลี้ยงวัวนมกันเป็นจำนวนมากกว่านี้ หลายร้อยเท่าตัว หรืออย่างน้อยต้องมีแม่โคนมเป็นจำนวนล้านตัว อันจะก่อให้เกิดอาชีพแก่คนไทยนับแสนครอบครัวเป็นอย่างน้อย

การเลี้ยงวัวควายนมแบบหนึ่ง คือ การเลี้ยงแบบยืนโรง แม่วัวรีดนมจะถูกกักอยู่กับที่ในโรงเลี้ยงตลอดเวลา อาหารและหญ้าถูกนำมาเลี้ยงถึงที่ การรีดนมมักกระทำในโรงเลี้ยงนั่นเอง การเลี้ยงแบบนี้ ต้องเปลืองแรงงานในการเลี้ยงดูมาก แต่การควบคุมดูแลสะดวก และใกล้ชิดกว่า เหมาะสำหรับการเลี้ยงวัวนมพันธุ์ที่จำเป็นต้องดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษ หรือมิอาจปล่อยแม่วัวลงเลี้ยงในทุ่งหญ้าได้ เพราะไม่มีทุ่งหญ้าเพียงพอ และมีบริเวณจำกัด

การเลี้ยงวัวควายนมอีกแบบหนึ่ง ได้แก่ การเลี้ยงแบบปล่อย ซึ่งแบ่งได้เป็น ๒ แบบ แบบหนึ่งปล่อยในโรงกว้าง เรียกว่า แบบปล่อยโรง แล้วตัดหญ้ามาให้กินถึงที่ แบบนี้ใช้เมื่อมีทุ่งหญ้าจำกัด และต้องการผลิตผลสูงสุดจากทุ่งหญ้า

อีกแบบหนึ่งปล่อยในทุ่งหญ้าเรียกว่า แบบปล่อยทุ่ง แบบนี้ประหยัดแรงงานและอุปกรณ์แต่ไม่สะดวกในการควบคุมดูแล หากมีสัตว์จำนวนมากๆ การเลี้ยงแบบปล่อยทั้งสองวิธีจะมีโรงรีดนมแยกส่วนจากสถานที่เลี้ยง และต้อนวัวควายเข้าไป เมื่อถึงเวลารีดนมเท่านั้น

การเลี้ยงวัวนมแบบยืนโรง
อาหารเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยให้วัวควาย เติบโตและให้ผลิตผลมาก อาหารวัวควายนั้นจำแนก ได้เป็น ๒ ชนิด ตามปริมาณของเยื่อใย (fiber) ที่มีในอาหารชนิดแรก คือ
1.อาหารข้น (concentrate) ได้แก่ อาหารที่มีเปอร์เซ็นต์เยื่อใยต่ำ แต่มีส่วนประกอบย่อยง่ายมาก อาหารชนิดนี้ ได้แก่ ปลาป่น กากถั่ว เมล็ดพืช รำ มันสำปะหลัง

2.อาหารหยาบ (roughage) ได้แก่ อาหารที่มีเปอร์เซ็นต์เยื่อใยสูง มีส่วนประกอบย่อยง่ายน้อยเมื่อเทียบสัดส่วนกัน เช่น หญ้า หรือพืชสด ฟาง หญ้าแห้ง ชานอ้อย เปลือก ถั่วลิสง

อาหารที่ใช้เลี้ยงวัวควายใช้งานโดยทั่วไป มีแต่ หญ้าและฟางเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นการเพียงพอแก่ การดำรงชีพและทำงาน วัวควายกินหญ้าและฟาง วันละประมาณ ๑๐-๑๕ กิโลกรัม หรือโดยทั่ว ไปประมาณ ๓-๕ เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว การขุนวัวควายเนื้อ และการเลี้ยงวัวควายนม จำเป็นต้องใช้อาหารข้น ประกอบด้วย เพื่อให้วัวควายโตเร็วและให้นมมาก แต่ไม่ควรใช้อาหารข้นเพียงอย่างเดียว เพราะวัวควาย อาจท้องเสีย ทำให้ได้ประโยชน์จากอาหารไม่เต็มที่ตาม ที่คาดหมาย ยิ่งกว่านั้นยังเป็นการสิ้นเปลือง เพราะอาหารข้นมีราคาแพง

โรงเรือนเลี้ยงควาย
วัวควายที่กินหญ้าเพียงอย่างเดียวเป็นอาหาร สามารถดำรงชีพและให้ผลิตผลได้ ทั้งนี้เพราะวัวควายมีกระเพาะแบบพิเศษ ผิดไปจากหมู หมา เป็ด ไก่ ซึ่งเป็นสัตว์กระเพาะเดี่ยว (simple stomach)

วัวควายเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง ที่มีกระเพาะแบ่งเป็นหลายช่อง เรียกว่า กระเพาะรวม (compound stomach) กระเพาะรวมนี้แบ่งได้เป็น ๔ ช่อง คือ

-ช่องแรก เรียกว่า กระเพาะรูเมน (rumen) หรือกระเพาะขอบกระด้ง หรือผ้าขี้ริ้ว เป็นช่องที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นกระเพาะที่ทำให้วัวควาย เป็นสัตว์ที่มีความสามารถพิเศษ เพราะในกระเพาะนี้มีจุลินทรีย์อยู่มากมายหลายชนิด ทำหน้าที่ในการช่วยย่อยหมักหญ้า และอาหารหยาบอื่นๆ ให้มีคุณค่าต่อร่างกายของวัวควายได้ ถ้าวัวควายปราศจากจุลินทรีย์ ในกระเพาะรูเมนนี้ จะไม่สามารถดำรงชีพด้วยหญ้าเพียงอย่างเดียวได้

-ช่องที่สอง เรียกว่า กระเพาะรวงผึ้ง (honey comb หรือ reticulum) ช่องนี้เป็นช่องที่เล็กที่สุด ช่วยในการดูดซึมน้ำ และโภชนะบางอย่าง ที่ได้จากการย่อยหมักหญ้าในช่องแรก

-ช่องที่สาม เรียกว่า กระเพาะสามสิบกลีบ (omasum) ทำหน้าที่ในการดูดซึมน้ำจากอาหาร และช่วยลดขนาดของอาหารที่มาจากช่องที่สองให้เล็กลง และยังเป็นทางผ่านของนม จากหลอดอาหารไปกระเพาะช่องสุดท้ายขณะวัวควายยังเล็กอยู่ด้วย

-ช่องสุดท้าย เรียกว่า กระเพาะธรรมดา (abomasum) เทียบได้กับกระเพาะของสัตว์กระเพาะเดี่ยว เพราะในช่องนี้จะมีการสร้างน้ำย่อย มาย่อยอาหารอย่างแท้จริง ก่อนที่จะส่งไปย่อยและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายที่ลำไส้เล็กต่อไป

การที่วัวควายเติบโตและให้ผลิตผลได้ ด้วยการกินหญ้าเพียงอย่างเดียว เพราะมีกระเพาะรูเมนซึ่งเต็มไปด้วยจุลินทรีย์ ที่ทำหน้าที่หมักและย่อยหญ้า และอาหารหยาบอื่นๆ จนในที่สุดให้ผลพลอยได้จากกระบวนการนั้นเกิดขึ้น ในรูปวิตามินบางชนิด กรดอะมิโน และกรดไขมันบางชนิด อันจำเป็นต่อร่างกายวัวควาย.

เรียบเรียง-https://saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=3&chap=9&page=t3-9-infodetail04
https://www.google.com/..A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%84%…

ใช้แพะกินหญ้าในสวนปาล์ม ได้ทั้งปุ๋ยจากมูลแพะ ยูเรียจากฉี่แพะ ..ประหยัดค่าปุ๋ย เซฟค่าน้ำมัน