เงินๆงานๆ-อาชีพ » รู้จัก “ระบบเปโตรดอลลาร์” เมื่อทั้งโลกซื้อขายน้ำมัน ด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ เพียงสกุลเงินเดียว

รู้จัก “ระบบเปโตรดอลลาร์” เมื่อทั้งโลกซื้อขายน้ำมัน ด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ เพียงสกุลเงินเดียว

25 มีนาคม 2022
851   0


รู้จัก “ระบบเปโตรดอลลาร์” เมื่อทั้งโลกซื้อขายน้ำมัน ด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ เพียงสกุลเงินเดียว
“..เมื่อไม่นานมานี้ ซาอุดีอาระเบีย ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ได้ออกมาประกาศว่าจะพิจารณาเงินสกุลหยวนของจีนเพื่อใช้ในการซื้อขายน้ำมัน
ซึ่งนั่นก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ในวงการน้ำมัน เพราะปกติการซื้อขายน้ำมัน
จะใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติสากลมาเกือบจะ 40 ปีแล้ว
จนเกิดเป็นคำว่า “เปโตรดอลลาร์” ขึ้นมา
แล้วเรื่องราวของ เปโตรดอลลาร์ มีที่มาอย่างไร ?
..”

ย้อนกลับไปในปี 1944 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ใกล้สิ้นสุดลง
ประเทศสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรกำลังใกล้ที่จะชนะสงครามอย่างเต็มที
เหล่าผู้ชนะในตอนนั้นต้องการที่จะสร้างระบบการเงินโลกขึ้นมาใหม่ โดยไม่ต้องอ้างอิงกับทองคำโดยตรงขึ้นมา
ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีปริมาณทองคำ 2 ใน 3 ของโลกในขณะนั้น
จะเป็นผู้ผูกสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐของตัวเองกับทองคำแทน
และให้ชาติอื่น ๆ มาผูกค่าเงินในอัตราคงที่กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อีกทีหนึ่ง
เพื่อที่จะสามารถมาแลกทองคำหรือใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐไปเป็นทุนสำรองของตนเอง
เพื่อใช้ในการควบคุมเงินในระบบเศรษฐกิจอีกทอดหนึ่ง
ซึ่งระบบนี้เรียกว่า “เบรตตัน วูดส์”

เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ จึงได้กลายเป็นเงินสกุลหลักของโลกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แต่ระบบนี้ก็ต้องสิ้นสุดลงในปี 1971 หรือเพียง 27 ปีให้หลัง
เมื่อประเทศในยุโรปและญี่ปุ่น เริ่มฟื้นตัวจากสงครามและมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น
สวนทางกับเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่เริ่มชะลอตัวลง รวมถึงยังมีการพิมพ์เงินอย่างมหาศาลเพื่อใช้จ่ายภายในประเทศและใช้ทำสงครามในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะสงครามเวียดนามที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 10 ปี
จนเกิดเป็นภาวะเงินเฟ้ออย่างหนักไปทั่วโลก หลายประเทศเริ่มไม่พอใจกับเงื่อนไขที่สหรัฐอเมริกา
รวบอำนาจทางการเงินไว้กับตัวเองเกือบทั้งหมด
และทางสหรัฐอเมริกาเองนั้น ก็ไม่มีอำนาจมากพอที่จะทำแบบเดิมได้อีกต่อไป
ระบบการเงินเบรตตัน วูดส์ นี้จึงล่มสลายลงในที่สุด

หลังจากนั้น ประเทศต่าง ๆ ก็ได้เลิกผูกค่าเงินของตัวเองไว้กับดอลลาร์สหรัฐ และเปลี่ยนมาใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแทน
ซึ่งนั่นก็ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องหาวิธีใหม่ ที่จะยังคงความต้องการเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐไว้ให้เป็นเงินสกุลหลักของโลกต่อไป
ในปี 1974 ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและโลกอาหรับรุนแรงขึ้น
สหรัฐอเมริกาได้เสนอการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับซาอุดีอาระเบีย แลกกับการที่ซาอุดีอาระเบียนั้นต้องขายน้ำมันเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพียงสกุลเดียว
เพียงไม่นานต่อจากนั้น สมาชิกชาติอาหรับอื่น ๆ ในกลุ่มโอเปก หรือ องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก ก็ตกลงที่จะขายน้ำมันด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพียงสกุลเดียว เช่นกัน
จุดนี้เอง ที่กลายมาเป็นที่มาของคำว่า “เปโตรดอลลาร์”
หรือก็คือการใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อเป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนน้ำมัน

ทีนี้เรามาดูว่า วงจรของ “ระบบเปโตรดอลลาร์” นั้นเป็นอย่างไร ?
สินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในโลกก็คือ “น้ำมัน”
ซึ่งเป็นพลังงานพื้นฐานเพื่อหมุนเครื่องจักรเศรษฐกิจของแต่ละประเทศให้เดินไปข้างหน้า
เมื่อแต่ละประเทศต้องการซื้อน้ำมัน ก็ต้องแลกเงินสกุลหลักของตัวเองเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซื้อน้ำมันจากประเทศผู้ผลิต
ประเทศผู้ผลิตก็นำเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่ได้ มาซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐอเมริกา
หรือตลาดอื่น ๆ หรือแลกกลับเป็นเงินสกุลหลักของตนเอง เพื่อใช้จ่ายภายในประเทศต่อไป
และหากมีเงินเหลือเก็บมากก็จะนำกลับไปซื้อทรัพย์สินที่อ้างอิงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐหรือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนอีกวิธีหนึ่ง

วงจรเหล่านี้ก็ได้สร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสถานะของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐให้มีความต้องการต่อไปเรื่อย ๆ
หลายคนยังมองเพิ่มต่อไปอีกว่า ดอลลาร์สหรัฐ ยังได้กลายเป็นอาวุธชั้นดี
ที่ใช้ในการควบคุม ชี้นำ และต่อรองอำนาจที่สำคัญบนเวทีการเมืองโลก

ดังนั้นสหรัฐอเมริกา ย่อมไม่อยากให้สกุลเงินอื่นเข้ามาเป็นสื่อกลางซื้อขายน้ำมันแทนดอลลาร์สหรัฐ อย่างแน่นอน
แล้วหากว่าวันหนึ่ง มีการเพิ่มสกุลเงินในการซื้อขายน้ำมันจริง จะเป็นอย่างไร ?
คำตอบก็คือ มีแล้ว โดยมักจะเป็นประเทศผู้ผลิตที่ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกา
ทำให้ต้องขายน้ำมันด้วยเงินสกุลอื่น ๆ อย่างประเทศเวเนซุเอลา
ที่ต้องขายเป็นเงินสกุลยูโรและหยวน

หรือแม้แต่ อิหร่าน ที่ขายเป็นเงินสกุลยูโรและรูปีอินเดีย
และข่าวใหญ่เมื่อไม่นานมานี้ ที่ประเทศผู้ผลิตยักษ์ใหญ่อย่างซาอุดีอาระเบีย
ได้ออกมาประกาศพิจารณาใช้เงินสกุลหยวนของจีนในการซื้อขายน้ำมัน

หลายคนยังคงมองว่าเป็นเพียงการแสดงออกในเวทีการเมืองโลก ในการรักษาสมดุลของขั้วอำนาจ
และอีกนาน กว่าที่เงินสกุลอื่นอย่างหยวนจะขึ้นมามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจ
แต่ด้วยสถานการณ์สงครามในตอนนี้ ที่ได้เกี่ยวข้องกับประเทศยักษ์ใหญ่ทางพลังงานอย่าง รัสเซีย
อาจกลายมาเป็นตัวเร่งให้รัสเซีย ต้องหันไปพึ่งพาเงินสกุลอื่นในการซื้อขายพลังงานของตัวเอง เช่น หยวนจีน
และถ้ามันเกิดขึ้นจริง ก็น่าติดตามกันต่อไปว่า
ขั้วอำนาจทางการเงินบนโลก จะมีหน้าตาเปลี่ยนไปอย่างไร..

ขอบคุณhttps://www.longtunman.com/36878
https://www.google.com%E0%B8%99%E0%B9%89..

มาฝึกเป็นนักลงทุน .. อาชีพใช้เงินทำงาน ผลตอบแทนคุ้ม แถมไม่เหนื่อย..