เลี้ยงสัตว์ » กระถินยักษ์ Leucaena leucocepphala (Lam.)

กระถินยักษ์ Leucaena leucocepphala (Lam.)

13 มีนาคม 2022
1373   0

กระถินยักษ์ Leucaena leucocepphala

ลักษณะทั่วไป

ไม้กระถินยักษ์ เป็นไม้ตระกูลถั่วที่มีความสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้โดยปมของไรโซเบียม ซึ่งมีขนาด
เส้นผ่าศูนย์กลาง1.5-2.5 มิลลิเมตร โดยในรากขนาดเล็กหรือรากฝอย จะมีเชื้อราไมโครไรซ่าอยู่รวมกับระบบราก
ช่วยให้ต้นกระถินยักษ์ได้ฟอสฟอรัสและธาตุอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็นได้มากขึ้น..

ไม้กระถินยักษ์ มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ บางสายพันธุ์เป็นไม้ยืนต้น บางสายพันธุ์เป็นไม้พุ่ม เนื่องจากกระถินยักษ์
สามารถกระจายพันธุ์ได้กว้างขวาง จึงมีความแตกต่างกันอย่างมากมายในเรื่องขนาดและรูปร่าง อาจจำแนกพันธุ์
กระถินยักษ์ออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 3 กลุ่ม คือ

1. พันธุ์ฮาวาย เป็นพันธุ์ไม้พุ่มเตี้ย สูงประมาณ 5 เมตร ออกดอกขณะที่ต้นยังอ่อน ออกดอกตลอดปีมากกว่าจะออกเป็นฤดู

2. พันธุ์ซัลวาเดอร์ เป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 20 เมตร มีใบ ฝักและเมล็ดใหญ่ ดก ลำต้นเดียว ไม่มีกิ่งก้าน ออกดอก
ไม่สม่ำเสมอและฤดูที่แน่นอน โดยจะให้ดอกนาน ๆ ครั้ง อาจเรียกว่าพันธุ์กัวเตมาลาหรือกระถินยักษ์ฮาวาย

3. พันธุ์เปรู เป็นต้นไม้สูง 15 เมตร คล้ายพันธุ์ซัลวาเดอร์ แต่มีกิ่งก้านใหญ่ตรงส่วนล่างของลำต้น ลำต้นขนาดเล็ก
และให้ปริมาณใบตามกิ่งก้านสูงมาก การออกดอกจะให้ดอกนาน ๆ ครั้ง

โดยทั่วไปไม้กระถินยักษ์มีลักษณะดังนี้..

ลำต้น ไม้กระถินยักษ์ เป็นไม้ขนาดกลาง มีลำต้นเรียบ เปลือกบางสีเทาปนน้ำตาลแดง


ใบ ใบประกอบและมีใบตลอดปี ใบย่อยแตกออกจากก้านใบ 3-10 คู่ ใบย่อย 5-20 คู่
ใบรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมทำมุมกว้าง ไม่มีขน

 


ดอก ดอกมีสีขาว เกิดรวมเป็นจุก เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาล ช่อดอกหนึ่ง ๆ จะมีฝักประมาณ 15-20 ฝัก
ออกดอกในช่วงเดือนมกราคมและฟักจะแก่ในช่วงกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม

 


เมล็ด ฝักเกิดเป็นกลุ่ม ๆ มีลักษณะบาง ๆ แบนและตรง มีสีเขียวเข้มและกลายเป็นสีแดงหรือสีน้ำตาลเมื่อแก่เต็มที่
ฝักมีความกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12-18 เซนติเมตร ในฝักแก่จะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 15-30 เมล็ด
เมล็ดสีน้ำตาลเมื่อแก่ รูปร่างแบนรี กว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร มีความหนาประมาณ 2 มิลลิเมตร

ลักษณะเนื้อไม้ กระพี้มีสีจางกว่าส่วนที่เป็นแก่น เนื้อไม้มีสีเหลืองอ่อนจนถึงสีน้ำตาลอ่อน เสี้ยนตรง
เนื้อไม้ค่อนข้างแข็ง ความถ่วงจำเพาะ 0.52 มีความชื้น 15%

ถิ่นกำเนิด กระถินบางพันธ์มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง บางพันธ์ได้แพร่หลายกระจายอย่างกว้างขวาง
ทั่วท้องที่นับเป็นพันปีมาแล้ว กระถินยักษ์ได้แพร่ไปถึงประเทศฟิลิปปินส์ โดยอาจนำไปในรูปอาหารสัตว์
ต่อมาประชาชนในท้องถิ่นได้เรียนรู้ว่าไม้สามารถใช้ทำฟืนได้ดี และชาวบ้านได้พบว่าต้นกาแฟ โกโก้
พริกไทย วนิลา และพืชอื่น ๆที่ต้องการร่มเงาสามารถเจริญเติบโตได้ดีภายใต้ร่มเงาของกระถิน ซึ่งก็ได้ถูกแนะนำ
ไปปลูกในสวนที่อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกีนี มาเลเซีย และประเทศอื่น ๆ ในประเทศไทยนำเข้ามาปลูกอย่างแพร่หลาย
ในระยะ 20 กว่าปีที่ผ่านมา เพราะเห็นว่าเป็นไม้ที่เจริญเติบโตเร็ว

ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

ไม้กระถินยักษ์มีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี แม้ในที่มีความแห้งแล้งหรือพื้นที่มีน้ำท่วมเป็นระยะ
ก็สามารถขึ้นได้ แต่การเจริญได้ดีในที่สูงไม่เกิน 500 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และบริเวณที่มีฝนตก
ประมาณ 600-1,700 ม.ม./ปี ขึ้นได้ดีในดินที่เป็นหินปูน สภาพความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ควรเป็นกลางหรือมี
pH ตั้งแต่ 5.5 ขึ้นไป

การขยายพันธุ์

การสืบพันธุ์ของกระถินยักษ์ สามารถสืบพันธุ์ได้ทั้ง 2 แบบ คือ การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ และการสืบพันธุ์แบบ
ไม่อาศัยเพศ

การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ เป็นการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ซึ่งนิยมมากที่สุดและใช้กันอย่างแพร่หลายในการปลูก
สร้างสวนป่า เนื่องจากขยายพันธุ์ได้ง่าย เหมาะสมแก่การปฏิบัติ ราคาไม่แพง พืชที่เกิดจากเมล็ดมีอายุยืนนาน
เมล็ดที่เก็บในสถานที่เหมาะสมจะเก็บไว้ได้หลายปี นำไปเพาะปลูกได้ในฤดูกาลต่อไปได้ เมล็ดที่สมบูรณ์จะไม่มี
การงอกเมื่อได้รับปัจจัยต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการงอกก็สามารถงอกได้ภายใน 5-7 วัน..

แต่การขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดมีข้อจำกัดบ้าง เช่น มีความผันแปรกับลักษณะภายนอกมาก ทั้งในด้านความสูง ความโตถึงแม้จะเก็บจากต้นเดียวกันเนื่องจากกระถินยักษ์มักจะผสมพันธุ์กันภายในต้นเดียวกัน แต่ถ้าผสมแบบเปิด ความผันแปรจะมีมากขึ้น จากการทดลองการงอกของเมล็ดที่ศูนย์วิจัยและจัดการเมล็ดพันธุ์ไม้ป่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น โดยตัดขอบ
ของเมล็ดเล็กน้อยจากเมล็ดที่เก็บจากฝักที่เปิดอ้า ฝักสีน้ำตาลและฝักที่ยังมีสีเขียว พบว่า เปอร์เซ็นต์การงอก
81.25, 65.75 และ 64.25 ตามลำดับ แต่วิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุดคือการแช่ในน้ำเดือด 10-20 นาที ก่อนนำไปเพาะ

การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การโน้มกิ่ง การตอน การต่อกิ่ง การติดตา การปักชำ
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การแตกหน่อ เป็นต้น จากการทดลองในประเทศจีน โดยใช้กิ่งจากหน่ออ่อนติดใบ อายุยังน้อย
ปักชำ โดยฉีดสเปรย์น้ำเป็นเวลา จะให้เปอร์เซ็นต์การติดรากสูง เช่น ใช้กิ่งหรือแขนงจากหน่ออ่อนที่มีใบติด
อายุ 1 ปี ปักชำ เปอร์เซ็นต์การติดราก 100% ใช้กิ่งหรือแขนงที่มีใบติดไม่ใช่ส่วนของหน่ออ่อน เปอร์เซ็นต์
การติดราก 97% และใช้กิ่งที่ไม่มีใบติด ไม่ใช่ส่วนของหน่ออ่อน เปอร์เซ็นต์การติดราก 52% แต่ถ้าใช้กิ่งหรือแขนง
อายุ 3 ปีแล้ว เปอร์เซ็นต์การติดรากจะลดลง คือ ใช้กิ่งหรือแขนงจากหน่ออ่อนที่มีใบติด อายุ 3 ปี เปอร์เซ็นต์
ติดราก 50% ใช้กิ่งหรือแขนงที่มีใบติด แต่ไม่ใช่ส่วนของหน่ออ่อน ติดราก 37% และใช้กิ่งไม่มีใบติด ไม่ติดราก

ในประเทศอินโดนีเซีย ทดลองปลูกกระถินยักษ์โดยใช้เหง้า โดยถอนกระถินยักษ์อายุ 5 เดือน จากแปลงเพาะที่มี
ระยะห่างระหว่างต้น 5×5 เซนติเมตร มาเก็บรักษาไว้ในถุงที่เปียกชื้นเป็นเวลา 0, 3, 7, 10 และ 15 วัน ก่อนนำไปปลูก
โดยไม่มีการตกแต่งหรือตัดรากดีก่อนนำไปปลูก อัตราการรอดตายเมื่อปลูกได้ 5 สัปดาห์ และ 6 เดือนในฤดูฝน
ไม่มีผลแตกต่างกัน

การขยายพันธุ์โดยการตัดให้แตกหน่อ เป็นระบบวนวัฒน์วิธีที่ใช้หลักการขยายพันธุ์ โดยไม่ต้องอาศัยเพศอีกวิธีหนึ่ง
เพื่อให้แตกหน่อจากรากหรือตอหน่อที่เกิดใหม่ จะเกิดจากตาที่ฟักตัวหรือตาพิเศษที่อยู่ตามคอราก หน่อที่เกิดจากตอ
จะมีขนาดเท่า ๆ กัน ต้องทำการตัดหน่อที่ไม่ดีออกให้เหลือหน่อที่ดีเพียง 2-3 หน่อต่อตอ เพื่อลดการแก่งแย่งอาหาร
กระถินยักษ์ที่เกิดจากการแตกหน่อมักจะมีรอบตัดฟันสั้นกว่ากระถินยักษ์ที่เกิดจากเมล็ด

จากการศึกษาในประเทศอินเดีย กระถินยักษ์อายุ 2 ปี ถูกไฟไหม้ แล้วทำการตัดให้แตกหน่อชิดพื้นดินใหม่ จำนวนต้น
ที่ถูกไฟไหม้ 78 ต้น สามารถแตกหน่อใหม่ 69 ต้น จำนวนหน่อที่แตกใหม่เฉลี่ย 2.98 หน่อ/ตอ ความสูงของหน่อ
และเส้นผ่าศูนย์กลางของหน่อที่ระดับชิดตอ เมื่ออายุ 6 เดือน คือ 2.94 เมตร และ 1.69 เซนติเมตร และเมื่ออายุ 1 ปี
ได้ความสูงของหน่อและเส้นผ่าศูนย์กลางที่ระดับชิดตอ 4.40 เมตร และ 3.36 เซนติเมตร ตามลำดับ

ความสามารถในการแตกหน่อขึ้นอยู่กับอายุหรือขนาดของตอ ฤดูกาลตัดฟัน ความสูง และลักษณะของตอเป็นสำคัญ
ต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ความสามารถในการแตกหน่อจะลดลง จากการทดลองการแตกหน่อของกระถินยักษ์ที่ศูนย์วิจัย
และจัดการเมล็ดพันธุ์ไม้ป่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น กระถินยักษ์อายุ 3 ปี ระยะปลูก 4×4 เมตร
ตัดจำนวน 2 แปลง ๆ ละ 25 ต้น ตัดตอสูงจากพื้นดิน 20 เซนติเมตร ปรากฏว่า ทุกตอมีหน่อเกิดขึ้นในระยะเวลา 7 วัน
จำนวนหน่อเฉลี่ย 18.14 หน่อ/ตอ มีอัตราการเจริญเติบโตทางความสูงน้อยมากในระยะแรก ในระยะเวลา 1 ปี มีความสูง
เฉลี่ย 218.88 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยที่ระดับชิดตอ 1.57 เซนติเมตร

สวนป่าห้วยระบำ จังหวัดอุทัยธานี
แปลงที่มีระยะปลูก 2×2, 3×3 และ 4×4 เมตร ปรากฏว่า มีจำนวนหน่อเฉลี่ย 4.16, 5.4 และ 5.04 หน่อ/ตอ ตามลำดับ
มีความสูงเฉลี่ย 392.31, 471.63 และ 526.88 เซนติเมตร ตามลำดับ เส้นผ่าศูนย์กลางที่ระดับชิดตอ 2.35, 2.99
และ 3.68 เซนติเมตร ตามลำดับ จากการทดลองจะเห็นได้ว่า ระยะปลูกที่ชิดกัน จะมีจำนวนหน่อและอัตราการเจริญ
เติบโตที่ต่ำกว่าระยะปลูกที่ห่างกว่า อัตราการเจริญเติบโตทางด้านความสูงและเส้นผ่าศูนย์กลางหลังจากตัด
ไม้ 6 เดือนแล้ว จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

การเตรียมกล้าไม้สำหรับปลูก

การเตรียมกล้าไม้กระถินยักษ์โดยการเพาะเมล็ด นิยมปฏิบัติโดยการนำเมล็ดเพาะในแปลงเพาะ แล้วย้ายลงในถุงชำ
ขนาด 4”x 6” ที่บรรจุดินร่วนไว้หรือใช้เมล็ดที่แช่ในน้ำร้อน 10-20 นาที แล้วหยอดลงในถุงพลาสติก โดยใช้เมล็ด
ถุงละ 2 เมล็ด เมื่อเมล็ดงอกแล้วถุงใดมีเมล็ดงอก 2 ต้น ก็ถอนออก 1 ต้นไปชำในถุงที่ไม่ขึ้น กระถินยักษ์จะงอกภายใน
3-7 วัน เลี้ยงกล้าไว้ในถุงพลาสติกประมาณ 3-4 เดือนจึงย้ายปลูก ปัจจุบันสวนป่ามีการปลูกแบบเปลือยรากกันมากขึ้น
เนื่องจากทุ่นค่าใช้จ่ายและง่ายต่อการนำไปปลูก มีวิธีการโดยเพาะเมล็ดในแปลงเพาะที่เตรียมดินไว้แล้ว เมื่อเมล็ดงอก
ก็บำรุงรักษา รดน้ำ ใส่ปุ๋ย โดยใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ละลายน้ำรดทิ้งไว้ 6 เดือน กล้าจากแปลงก็สามารถถอนเปลือยราก
ใช้มีดตัดลำต้น ส่วนยอดออกให้เหลือความยาวของรากและลำต้นประมาณ 10-12 นิ้ว เมื่อนำไปปลูกติดแล้ว กระถินยักษ์
จะแตกยอดใหม่และมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว

การเตรียมพื้นที่ปลูก

กระถินยักษ์สามารถขึ้นได้ดีในดินที่เป็นกลางหรือดินที่มีหินปูน ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางต่ำกว่า 500 เมตร
ลงมา การเลือกพื้นที่ปลูกควรคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้เป็นลำดับแรก สำหรับการเตรียมพื้นที่ปลูกนั้น ต้องทำการเก็บริบ
เผาริบ ให้พื้นที่เหมาะและสะดวกการปลูก อาจใช้แทรกเตอร์เตรียมพื้นที่ปลูกโดยไถกลบ จากนั้นก็วางแนวระยะปลูก
ตามวัตถุประสงค์ โดยใช้หลักไม้ไผ่ขนาดยาว 0.60-1 เมตร ปักเป็นระยะตามความต้องการ หลักนี้ใช้ยึดกับต้น
กระถินยักษ์เพื่อกันลมได้ด้วย

การปลูกและระยะปลูก

การปลูกโดยปกติใช้ฝังต้นไม้ให้ลึกลงไปถึงคอราก โดยให้คอรากนั้นอยู่ใต้ระดับพื้นที่ของระดับนั้น หรือให้ต่ำลงไป
เล็กน้อย กลบดินรอบลำต้นให้แน่น สำหรับระยะปลูกที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการเก็บเกี่ยวผลผลิต
เป็นสำคัญ หากจะปลูกเพื่อเป็นอาหารสัตว์ เพื่อทำเป็นเชื้อเพลิง เพื่อผลผลิตมวลชีวภาพ เพื่อทำไม้แปรรูป
หรือเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน ก็มีระยะปลูกต่างกันออกไป

จากการทดลองในไต้หวัน ปลูกกระถินยักษ์ใช้ระยะปลูก 1×1 เมตร – 0.25×0.25 เมตร เพื่อใช้ทำเชื้อเพลิงและอาหารสัตว์
ใช้ระยะ 2×2 เมตร และ 1.5×1.5 เมตร ตัดเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ สูงจากพื้นดิน 1 เมตร ตัดทุก 2 เดือน ให้ผลผลิตดีกว่า
ตัด 1, 3 และ 4 เดือน/ครั้ง และตัดเพื่อทำเชื้อเพลิง 3 เดือน/ครั้ง ให้ผลผลิตดีที่สุด

การปลูกกระถินยักษ์พันธ์ซัลวาเดอร์และเปรู ระยะปลูก 0.5×0.5 เมตร เพื่อเปรียบเทียบผลผลิตอาหารสัตว์ ศึกษา 1 ปี
พบว่า ตัดทุก 2 เดือน สูงจากพื้นดิน 60 เซนติเมตร พันธุ์ซัลวาเดอร์ให้ผลผลิตมากกว่าพันธุ์เปรู

การปลูกกระถินยักษ์จากการทดลองปลูกในระยะต่าง ๆ พอสรุปได้ดังนี้

1) ปลูกเพื่อเป็นอาหารสัตว์ ใช้ระยะ 5-10×75 เซนติเมตร หรือไม่กำหนดระยะปลูก

2) ปลูกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน พื้นที่ตามเชิงเขา ใช้ระยะปลูก 2-5×4 เมตร
และถ้ามีการปลูกพืชแทรกใช้ระยะ 3-5×12-20 เมตร

3) ปลูกเพื่อเก็บเมล็ด ใช้ระยะปลูก 2×5 เมตร จะให้เมล็ดสูงสุด

4) ปลูกเพื่อทำไม้แปรรูปหรือไม้ซุง ใช้ระยะปลูก 2×10 เมตรแล้วตัดสางขยายระยะออกเป็น 4×10 เมตร
หรือ 6×10 เมตร

5) ปลูกเพื่อเป็นไม้ใช้สอยหรือไม้แปรรูปหรือไม้ซุงร่วมกันใช้ระยะปลูก 1×2 เมตร แล้วตัดสางขยาย
ระยะออกเป็น 4×10 เมตร หรือ 6×10 เมตร

6) ปลูกเพื่อมวลชีวภาพ ไม่ควรปลูกใกล้กว่า 2×1 เมตร

ระยะการปลูก หากปลูกระยะถี่ ๆ จะมีผลทำให้ปริมาตรเปลือกเพิ่มขึ้น คือ ถ้าปลูกระยะ 2×2 เมตร จะมีปริมาตรเปลือก 5%
เมื่อปลูกระยะ 1×1 เมตร จะมีปริมาตรเปลือกเกือบ 10% เมื่อคิดจากน้ำหนักแห้งสำหรับค่าใช้จ่ายในการปลูกสร้างสวนป่า
ไม้กระถินยักษ์จะผันแปรไปตามวัตถุประสงค์ของการปลูก ซึ่งตัวแปรที่สำคัญ คือ ค่ากล้าไม้และการดูแลรักษา

การบำรุงรักษา

กระถินยักษ์ เป็นอาหารของสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ดังนั้น ในระยะแรกควรดูแลไม่ให้สัตว์เลี้ยงเข้าไป นอกจากนี้
หนูยังเป็นศัตรูที่สำคัญในการกัดต้นกล้า จึงควรดูแลรักษาพื้นที่ปลูกให้โล่งเตียน และดายวัชพืชสม่ำเสมอ ปลูกซ่อม
ต้นที่ตายทันที เพื่อให้เติบโตทันกัน ควรใส่ปุ๋ยบ้างตามความจำเป็น หากพื้นที่นั้นไม่อุดมสมบูรณ์ โดยใช้ปุ๋ยสูตร
15-15-15 อายุ 1 ปี ใช้ปุ๋ยประมาณ 100 กรัม/ต้น เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ก็ต้องตัดสางขยายระยะออกบ้าง
ตามวัตถุประสงค์หลักที่ปลูก ส่วนปัญหาโรคแมลงของกระถินยักษ์ในประเทศไทยยังไม่พบมากนัก

การป้องกันโรคแมลงและศัตรูธรรมชาติ

ไม้กระถินยักษ์ที่ปลูกในประเทศไทยยังไม่พบโรคและแมลงต่าง ๆ มากนัก จะพบก็มีโรคใบเหลืองและเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร
อาจเกิดจากขาดธาตุอาหารบางอย่าง เช่น โบรอน ซัลเฟอร์ และโบลิปตินั่ม พบต้นตายไปเพราะโรครากเน่า เนื่องจาก
ดินระบายน้ำไม่ดี น้ำขังเป็นเวลานาน ๆ ส่วนโรคอื่น ๆ ยังไม่พบ ส่วนพวกสัตว์ป่าก็พบพวกหนูที่กัดต้นที่ปลูกใหม่ ๆ
ได้รับความเสียหาย

การป้องกันโรคและแมลง สำหรับโรคที่เกิดจากเชื้อรา โรคกล้าเน่า ก็สามารถป้องกันโดยใช้ยาเบนเลท 0.6% โรคเน่าคอดินใช้ยาฆ่าเชื้อรา บราสซิโคลฉีดพ่นในฤดูฝนทุก ๆ สัปดาห์ โรคใบจุดเกิดจากขาดธาตุอาหาร แก้โดยเติมปุ๋ย
ที่มีธาตุอาหารครบถ้วนลงไป เป็นต้นว่า ฟอสฟอรัส โปตัสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียม สังกะสี โบรอน และโบลิปตินั่ม
จะช่วยให้โรคใบจุดของกระถินยักษ์ลดลงได้ สำหรับสัตว์ป่าป้องกันโดยดายวัชพืชไม่ให้รกเพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่
อาศัยของหนูและกระต่าย

การใช้ประโยชน์

กระถินยักษ์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อเนกประสงค์ ทั้งใช้เป็นอาหารของคน สัตว์เลี้ยง ทำเชื้อเพลิง ทำฟืนถ่าน
ใช้ในการก่อสร้าง ช่วยปรับปรุงดิน สรุปได้ดังนี้

1) อาหาร ใช้เป็นอาหารของวัว ควาย แพะ แกะ เป็ด ไก่ พบว่า ที่ไนโตรเจน 36-47 กรัม/กิโลกรัม น้ำหนักแห้งของใบ
และมีโปรตีนดิบ 230-300 กรัม/กิโลกรัม น้ำหนักแห้งของใบ คนใช้ยอดอ่อนและฝักอ่อนรับประทาน เมล็ดใช้ปรุงอาหาร
เหมือนกับถั่วเขียว ใช้ทำเป็นแป้ง

2) ไม้แปรรูป ใช้ทำไม้แปรรูป ปาเก้ เสา มีความแข็งปานกลาง ไม้กระถินยักษ์อายุ 3 ปี มีค่าความหนาแน่น 0.66
กรัม/ซ.ม.3 มีความแข็งพอที่จะมีกำลังต้านแรงดึงแรงกดและแรงดัดโค้งได้ เนื้อไม้มีรายละเอียดง่ายต่อการตัดและเลื่อย

3) ทำเยื่อกระดาษ ไม้กระถินยักษ์มีลิกนินต่ำ แต่มีไฟเบอร์สั้นกว่าไม้สน กระดาษที่ทำจากไม้กระถินยักษ์มีความแข็งแรง
ต่อการฉีดขาดและการพับต่ำ แต่มีความแข็งแรงโดยเฉลี่ย มีกำลังต่อต้านแรงดึงมีความทึบสูง เหมาะสำหรับใช้
ประโยชน์ในการพิมพ์และเป็นกระดาษเขียน นอกจากนี้ยังสามารถผลิตเป็นแพรเทียมหรือกระดาษแก้วได้

4) ใช้ทำฟืน ไม้กระถินยักษ์ให้ค่าความร้อน 16,438.4 บีทียู/ก.ก. ใช้ฟืนกระถินยักษ์ 2.75 ก.ก.
จะมีค่าเท่ากับใช้ก๊าซเหลวเป็นเชื้อเพลิง 1 ก.ก. ซึ่งเท่ากับค่าความร้อน 45,265 บีทียู/ก.ก.

5) ใช้ทำถ่าน ถ่านจากกระถินยักษ์ให้ควันน้อย มีความร้อนสูง 7,250 คาลอรี่/ก.ก. (28,665 บีทียู/ก.ก.)
ในขณะที่น้ำมันให้ค่าความร้อน 10,000 คาลอรี่/ก.ก. (39,469.5 บีทียู/ก.ก.) ค่าความร้อนจากกระถินยักษ์จะมี
ความร้อนสูง 70% ของน้ำมัน

6) ใช้ทำแอลกอฮอล์ ราคาไม้จะต่ำกว่าราคาน้ำมันเบนซิน เมื่อใช้ไม้ผลิตแอลกอฮอล์แล้วจะได้ลิกนินเป็นผลพลอยได้
ประมาณ 30% ของน้ำหนักแห้งของไม้ ซึ่งทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น

7) ช่วยปรับปรุงดิน เนื่องจากเป็นพืชตระกูลถั่ว ทำให้เพิ่มไนโตรเจนในดิน ทำปุ๋ยพืชสด จากการทดลองที่อินโดนีเซีย
พบว่า กระถิน 1 ไร่ จะให้ N 88 ก.ก./ปี P2O5 36 ก.ก./ปี และ K2O 88 ก.ก./ปี นอกจากนี้ ร่มเงายังช่วยอนุบาลพืช
สวนบางชนิด เช่น กาแฟ มังคุด พริกไทย โกโก้ วานิลา เป็นต้น

8) ใช้ทำแนวกันไฟและกันลม

9) ใช้ทำแนวรั้ว ใบและกิ่งสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ด้วย

ข้อควรระวังในการปลูก

เนื่องจากใบกระถินมีส่วนประกอบของกรดอะมิโนที่มีมิโมชินเป็นสารที่มีพิษตกค้างในสัตว์ ถ้าให้กระถินมากกว่าครึ่ง
ของอาหารและให้สัตว์กินติดต่อกันมากกว่า 6 เดือนแล้ว ผลที่เกิดขึ้นสัตว์อาจมีอาการไม่สบาย มีการเจริญเติบโตช้า
ตามปกติมักจะพบในวัว ควาย ที่กินกระถินยักษ์เป็นอาหาร ใบของกระถินยักษ์ที่แตกออกมาจากการแตกหน่อใหม่ ๆ
จะมีเปอร์เซ็นต์มิโมชินสูงกว่าใบที่เกิดแก่ตามปกติ แต่มิโมชินในใบจะลดลง 50% เมื่อนำไปตากแดดหลังจากเก็บ
มาทันที และลดลง 2-9% โดยการล้าง การแช่น้ำ การต้ม และหมักกระถินยักษ์ มีการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติได้รวดเร็ว
และมีระบบรากลึก หากปลูกโดยไม่ใช้ประโยชน์ ปล่อยทิ้งไว้ จะกลายเป็นวัชพืชที่กำจัดยาก.

ขอบคุณhttp://www.greencountry910.com/Leucaena1.php
https://www.google.com/..%E0%B8%81%E0%B8%A3%..

N-P-K บำรุงส่วนไหนของพืช ?