เลี้ยงสัตว์ » พยาธิภายในของแพะและการใช้ยาควบคุม

พยาธิภายในของแพะและการใช้ยาควบคุม

23 กุมภาพันธ์ 2022
1047   0

พยาธิภายในของแพะและการใช้ยาควบคุม

พยาธิภายใน โดยเฉพาะพยาธิในระบบทางเดินอาหาร เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง ในการเลี้ยงแพะในประเทศไทย เนื่องจากสภาพอากาศร้อนชื้น เหมาะสมต่อการระบาดของพยาธิ โดยพยาธิเหล่านี้ มีผลกระทบ ทั้งทำให้แพะอ่อนแอ ผลผลิตลดลง และถ้ามีพยาธิเป็นจำนวนมาก ก็อาจทำให้แพะตายได้ นอกจากนั้น ในการควบคุมพยาธิ เกษตรกรนิยมใช้ยาถ่ายพยาธิ แต่ถ้าใช้ยาถ่ายพยาธิชนิดเดียวติดต่อกันเป็นเวลานาน พยาธิจะดื้อต่อยาถ่ายพยาธิ ทำให้ไม่สามารถควบคุมพยาธิได้ รวมทั้งสิ้นเปลืองค่ายาอีกด้วย

บทความนี้ จะกล่าวถึงพยาธิภายในที่สำคัญในแพะ 2 ชนิด คือ พยาธิตัวตืด และพยาธิตัวกลมในระบบทางเดินอาหาร โดยจะกล่าวถึงรายละเอียดในเรื่อง วงจรชีวิตของพยาธิ การวินิจฉัย ผลกระทบที่มีต่อแพะ การป้องกันและการควบคุม

พยาธิตัวตืด

พยาธิตัวตืดเป็นพยาธิที่อาศัยอยู่ในลำไส้เล็กของแพะ แม้พยาธิชนิดนี้จะทำอันตรายต่อแพะโดยการดูดกินสารอาหาร แต่ที่อันตรายที่สุดและทำให้แพะตายอย่างเฉียบพลัน เกิดขึ้นเมื่อมีพยาธิเป็นจำนวนมากและไปอุดตันลำไส้ของลูกแพะ ส่วนแพะโต (อายุมากกว่า 1 ปี) จะมีภูมิต้านทาน และไม่ได้รับผลกระทบจากพยาธิชนิดนี้

วงจรชีวิตของพยาธิตัวตืดในแพะ
พยาธิตัวตืดตัวแก่ที่อยู่ในลำไส้เล็ก มีลำตัวเป็นปล้องที่มีไข่พยาธิอยู่ภายใน ส่วนของปล้องเหล่านี้จะหลุดติดออกมากับมูลแพะ เมื่อปล้องแตกไข่พยาธิก็จะหลุดออกมา ตัวไรที่อาศัยอยู่ตามพื้นดินหรือรากของหญ้าจะกินไข่พยาธิเข้าไป ไข่พยาธิซึ่งอยู่ในตัวไรจะฟักตัวออกเป็นตัวอ่อน เมื่อแพะกินหญ้าที่มีตัวไรติดอยู่เข้าไป ก็ได้รับตัวอ่อนของพยาธิเข้าไป น้ำย่อยในกระเพาะของแพะจะย่อยตัวไร ทำให้ตัวอ่อนพยาธิหลุดออกมาและเจริญไปเป็นตัวแก่และอาศัยอยู่ในลำไส้เล็ก

  ลูกแพะที่มีพยาธิตัวตืดเป็นจำนวนมากจะ ผอม แกร็น ขนหยิกหยอง ท้องป่อง และอาจตายทันที เนื่องจากพยาธิอุดตันลำไส้เล็ก ถ้าสังเกตจะพบปล้องสีขาวของพยาธิติดออกมากับมูล

การวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันการติดพยาธิตัวตืด ทำได้โดยนำมูลแพะ ไปตรวจหาไข่พยาธิตัวตืดในมูลโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ แต่บางครั้งอาจตรวจไม่พบไข่พยาธิแม้แพะจะมีพยาธิตัวตืด เนื่องจากมูลแพะที่เก็บมา ไม่มีปล้องของพยาธิติดมาหรือปล้องไม่แตก

พยาธิตัวตืดมีผลกระทบกับลูกแพะที่อายุน้อยกว่า 1 ปีเท่านั้น ส่วนแพะที่โตมีผลกระทบน้อยมาก การควบคุม จึงทำได้โดยการถ่ายพยาธิประมาณ 2-3 ครั้ง ขึ้นกับความรุนแรงของการติดพยาธิ โดยครั้งแรกถ่ายพยาธิเมื่อลูกแพะมีอายุประมาณ 2 เดือน และถ่ายซ้ำอีกครั้งหลังจากถ่ายครั้งแรกประมาณ 2 เดือน และถ้าสังเกตพบว่า ลูกแพะยังแสดงอาการติดพยาธิอยู่ อาจถ่ายพยาธิซ้ำอีกครั้งเมื่อลูกแพะมีอายุประมาณ 6-8 เดือน

เคยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะถามว่า จะถ่ายพยาธิครั้งแรกเมื่อลูกแพะมีอายุเท่าไร ? จะถ่ายตั้งแต่อายุ 1 เดือนได้หรือไม่ ? คำตอบคือ “ได้” แต่ไม่จำเป็นเพราะลูกแพะตั้งแต่แรกคลอดจนถึงอายุประมาณ 1 เดือนจะกินนมแม่เป็นหลัก แทบไม่กินหญ้าหรืออาหารอื่นเลย จึงมีโอกาสรับตัวอ่อนของพยาธิเข้าไปน้อยมาก แต่เมื่อมีอายุประมาณ 1 เดือน ลูกแพะจะเริ่มหัดกินหญ้าและอาหารข้น จึงมีโอกาสได้รับตัวอ่อนของพยาธิเข้าไป ซึ่งถ้าลูกแพะได้รับตัวอ่อนของพยาธิเข้าไปมาก ตัวอ่อนเหล่านี้จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ในการพัฒนาไปเป็นตัวแก่ ดังนั้นเมื่อลูกแพะอายุ 2 เดือน จึงมีโอกาสได้รับผลกระทบจากพยาธิ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องถ่ายพยาธิให้ลูกแพะก่อนอายุ 2 เดือน เพราะพยาธิยังไม่มีผลประทบต่อลูกแพะและสิ้นเปลืองค่ายาถ่ายพยาธิโดยไม่จำเป็น

คราวนี้มาถึงตอนสำคัญที่สุดคือ การเลือกใช้ยาถ่ายพยาธิ ยาถ่ายพยาธิที่มีจำหน่ายในท้องตลาดโดยทั่วไป ถ้าแบ่งชนิดตามความสามารถในการควบคุมพยาธิสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ ..

1.กลุ่มที่หนึ่งเป็นยาถ่ายพยาธิชนิดที่ออกฤทธิ์กว้าง ซึ่งสามารถควบคุมหรือกำจัดพยาธิได้หลายชนิด

2.กลุ่มที่สองเป็นยาถ่ายพยาธิที่ออกฤทธิ์แคบ ควบคุมพยาธิได้บางชนิดเท่านั้น

ในกรณีของยาถ่ายพยาธิตัวตืด ปัจจุบันในประเทศไทย มียาถ่ายพยาธิ “อัลเบนดาโซล” ซึ่งมีชื่อการค้าคือ วันบาเซ็น หรือ ฟาร์มบาเซ็น โดยบริษัทผู้ผลิตอ้างว่าสามารถควบคุมพยาธิตัวตืดได้ดี แต่จากประสบการณ์ของผมพบว่า ถ้าใช้ในปริมาณหรือโด๊สปกติที่กำหนดโดยบริษัทผู้ผลิต ซึ่งเป็นปริมาณเดียวกับที่ใช้ควบคุมพยาธิชนิดอื่น (ยาชนิดนี้เป็นยาออกฤทธิ์กว้างจึงควบคุมพยาธิได้หลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยาธิตัวกลมในระบบทางเดินอาหาร) ยาถ่ายพยาธิชนิดนี้ไม่สามารถควบคุมพยาธิตัวตืดได้

ยาถ่ายพยาธิที่สามารถกำจัดพยาธิตัวตืดได้ดีที่สุดคือยา “นิโคลซาไมด์” แต่ในปัจจุบันในประเทศไทยไม่มียานิโคลซาไมด์ที่ใช้สำหรับสัตว์จำหน่าย จึงจำเป็นต้องใช้ยา นิโคลซาไมด์ที่ใช้สำหรับคนแทนซึ่งเป็นยาเม็ด โดยใน 1 เม็ด มีตัวยาอยู่ 500 มิลลิกรัม มีชื่อการค้าหลายชื่อ และมีราคาแตกต่างกัน ตั้งแต่เม็ดละ 2-9 บาท

..จากการสังเกตพบว่า “ของดีมักมีราคาแพง” ยานิโคลซาไมด์ที่ใช้กำจัดพยาธิตัวตืดที่ดีที่สุด ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดปัจจุบัน มีชื่อทางการค้าว่า “โยเมซาน” เป็นของบริษัทไบเออร์ ซึ่งมีราคาแพงที่สุดเช่นกัน ยานี้มีจำหน่ายเป็นแผงๆละ 4 เม็ด ราคาขายปลีกแผงละประมาณ 35-38 บาท ถ้าซื้อในปริมาณมาก อาจได้ราคาต่ำกว่านี้เล็กน้อย เนื่องจากยานิโคลซาไมด์เป็นยาที่ใช้ในคน จึงจำเป็นต้องปรับปริมาณที่ใช้ให้เหมาะสม โดยโด๊สสำหรับยานิโคลซาไมด์ ที่ใช้ในแพะคือ 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักแพะ 1 กิโลกรัม หรือยา 1 เม็ดต่อน้ำหนักแพะ 5 กิโลกรัม ดังนั้น ถ้าจะถ่ายพยาธิลูกแพะที่มีน้ำหนักตัว 10 กิโลกรัม ก็นำยา 2 เม็ดมาบด และผสมน้ำประมาณ 5-10 ซีซี แล้วกรอกให้ลูกแพะกินจนหมด หรือถ้ามีลูกแพะหลายตัวอาจต้องเตรียมยาครั้งละมากๆ เช่น นำยา 20 เม็ดมาบด และละลายน้ำให้ได้ปริมาณ 100 ซีซี แล้วกรอกให้ลูกแพะกินในปริมาณ 1 ซีซีต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ดังนั้นลูกแพะที่มีน้ำหนักตัว 10 กิโลกรัม ก็จะได้รับยา 10 ซีซี.

หมายเหตุเพิ่มเติมจากpohchae.com
นิโคลซาไมด์ (Niclosamide)ชื่อการค้า
-โยเมซาน (Yomesan)เป็นผลิตภัณฑ์ของไบเออร์ (Bayer)ราคาค่อนข้างแพงแต่ให้ผลดีและมีความปลอดภัย
-แมนโซนิล (Mansonil)เป็นผลิตภัณฑ์ของไบเออร์ (Bayer)
-ดรอนชิต เป็นผลิตภัณฑ์ของไบเออร์ (Bayer)

หมายเหตุ: Niclosamide เป็นยาที่ใช้ในการรักษาพยาธิตัวตืด ต้องรับประทานยาระบายตาม หลังรับประทานยาไปแล้วประมาณ 1-2 ชั่วโมง ..เนื่องจากยา niclosamide ทำให้พยาธิแยกเป็นส่วนๆและปลดปล่อยไข่พยาธิได้ ทำให้เกิดโรคถุงตัวตืด (Cysticercosis) เป็นโรคที่เกิดจากมีถุงตัวอ่อนของพยาธิตืดหมู ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้ จึงต้องรับประทานยาระบายเพื่อถ่ายไข่พยาธิและพยาธิออกไป..

 …จะเห็นว่าคำแนะนำมีน้ำหนักตัวแพะ และปริมาณยาที่ให้มาเกี่ยวข้อง ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่อาจไม่คุ้นเคยกับการชั่งน้ำหนักแพะข้างต้นหรือการผสมยาเอง แต่เรื่องนี้มีความสำคัญมาก เกษตรกรที่เลี้ยงแพะหลายตัว ควรมีเครื่องชั่งไว้ชั่งน้ำหนักแพะ เพราะโด๊สของยาถ่ายพยาธิที่ใช้ขึ้นกับน้ำหนักตัวของแพะ และปริมาณยาที่แพะได้รับมีผลต่อประสิทธิภาพในการกำจัดพยาธิ ถ้าแพะได้รับยาในปริมาณที่น้อยกว่าที่ควรจะได้รับจะกำจัดพยาธิได้ไม่หมด และในระยะยาวอาจทำให้ดื้อยาได้ แต่ถ้าแพะได้รับยาในปริมาณมากเกินไป นอกจากสิ้นเปลืองแล้ว อาจเป็นอันตรายอีกด้วย..

ในกรณีของการถ่ายพยาธิตัวตืด เนื่องจากนำเม็ดยาบดและละลายน้ำ เมื่อตั้งทิ้งไว้ตัวยาจะตกตะกอน ดังนั้นก่อนกรอกยาให้แพะกินแต่ละตัวจะต้องคนให้ตัวยากระจายในน้ำสม่ำเสมอ และต้องให้แพะกินจนหมดปริมาณที่ต้องการกรอก และการกรอกยา ควรใช้กระบอกฉีดยาพลาสติกที่มีขีดบอกปริมาณยา ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป

พยาธิตัวกลมในกระเพาะแท้

พยาธิตัวกลมในกระเพาะแท้ เป็นพยาธิที่เป็นอันตรายกับแพะทุกอายุ มีทั้งทำให้แพะตาย และทำให้แพะเจริญเติบโตช้า พยาธิตัวกลมในกระเพาะแท้ จึงเป็นพยาธิภายในที่เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดของการเลี้ยงแพะในเขตร้อนชื้น

  บทความนี้ จะแยกกล่าวถึงพยาธิตัวกลมในกระเพาะแท้ออกเป็น 3 ตอน โดยตอนแรกจะกล่าวถึงลักษณะและวงจรชีวิตของพยาธิชนิดนี้ รวมทั้งผลกระทบที่มีต่อแพะ ตอนที่สองจะกล่าวถึงการวินิจฉัยการเป็นพยาธิชนิดนี้ หรืออีกนัยหนึ่ง เกษตรกรจะได้รู้อย่างไรว่าแพะเป็นพยาธิชนิดนี้ ส่วนตอนสุดท้ายซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด จะกล่าวถึงการควบคุมและป้องกันเพื่อลดผลกระทบของพยาธิที่มีต่อแพะ..

พยาธิตัวกลมที่พบในกระเพาะแท้ของแพะมีหลายชนิด แต่ที่พบมากที่สุดในแพะที่เลี้ยงในประเทศไทย คือ พยาธิตัวกลมที่ชื่อ ฮีมอนคุส

ฮีมอนคุส เป็นชื่อที่เรียกตามชื่อวิทยาศาสตร์ของพยาธิตัวนี้คือ Haemonchus contortus พยาธิชนิดนี้อาศัยอยู่ในกระเพาะแท้หรือกระเพาะเปรี้ยวของแพะ โดยตัวแก่ของพยาธิมีความยาว 1-3 ซม. ซึ่งอาจจะเกาะอยู่ตามผนังของกระเพาะหรืออยู่ในของเหลวในกระเพาะก็ได้ ตัวผู้มีลำตัวสีแดง ส่วนตัวเมียลำตัวมีสีแดงและมีแถบสีขาวพันอยู่รอบๆ ลำตัว แถบสีขาว คือ กระเปาะไข่ การที่พยาธิตัวเมียมีลำตัวสีแดงและมีแถบสีขาวพันอยู่รอบๆ ทำให้มีรูปร่างคล้ายเครื่องหมายที่อยู่หน้าร้านตัดผมหรือร้านเสริมสวย จึงนิยมเรียกชื่อทั่วไปของพยาธิชนิดนี้ว่า Barber’s pole worm

วงจรชีวิตของพยาธิฮีมอนคุส
พยาธิฮีมอนคุสที่โตเต็มวัยหรือตัวแก่ อาศัยอยู่ในกระเพาะแท้ของแพะ เมื่อพยาธิตัวผู้และตัวเมียผสมพันธุ์กัน ตัวเมียก็จะออกไข่ ไข่พยาธิจะติดออกมากับมูลแพะ เมื่อมูลแพะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม จะฟักตัวเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 และพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนระยะที่ 2 และ 3 ตามลำดับ

โดยตัวอ่อนระยะที่ 3 จะเคลื่อนที่ไปอยู่ที่ใบและลำต้นของหญ้า เมื่อแพะกินหญ้าก็จะรับตัวอ่อนระยะที่ 3 เข้าไปในร่างกาย ตัวอ่อนพยาธิจะเข้าสู่กระเพาะแท้ และพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะที่ 4, 5 และพยาธิตัวแก่ ตามลำดับ ถ้าสภาพความชื้นและอุณหภูมิเหมาะสม วงจรชีวิตนี้ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ไข่พยาธิที่ติดออกมากับมูล จะพัฒนาไปเป็นพยาธิตัวแก่อยู่ในกระเพาะแท้ภายใน 1 เดือนแต่ถ้าตัวอ่อนของพยาธิในระยะที่ 3 ไม่ได้เข้าสู่ร่างกายแพะ และโดนแสงแดดหรืออยู่ในสภาพแห้ง ตัวอ่อนของพยาธิจะตาย ในทางตรงกันข้าม ถ้าพื้นดินมีหญ้าปกคลุมหนาแน่น มีความชื้นและอุณหภูมิเหมาะสม ตัวอ่อนของพยาธิจะมีชีวิตอยู่ได้นานหลายเดือน

พอกล่าวถึงวงจรชีวิตของพยาธิฮีมอนคุส ทำให้นึกถึงภูมิปัญญาชาวบ้าน เกี่ยวกับการควบคุมพยาธิในแพะ จึงขอนำมาอธิบายเพื่อชี้ให้เห็นว่า ภูมิปัญญานี้ มีเหตุทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนอย่างไร เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะที่มีประสบการณ์ มักจะปล่อยแพะให้ออกไปกินหญ้าตอนสายๆ หรือรอให้ “น้ำค้างแห้ง” เสียก่อน เพราะจากการสังเกตพบว่า ถ้าปล่อยแพะให้ไปกินหญ้าในขณะที่หญ้ายังเปียกอยู่ แพะจะสุขภาพไม่ดี ซึ่งอธิบายได้ว่า ถ้าปล่อยแพะไปกินหญ้าเมื่อหญ้ายังเปียกชื้นอยู่ โอกาสที่แพะจะรับตัวอ่อนของพยาธิฮีมอนคุสเข้าไปก็มีมาก เพราะตัวอ่อนชอบอาศัยอยู่บนหญ้าที่เปียกชื้น แต่พอสายๆ มีแสงแดด น้ำค้างระเหยไป ตัวอ่อนของพยาธิจะหลบลงมาอยู่ที่กอหญ้าหรือบริเวณพื้นดิน ทำให้โอกาสที่แพะจะได้รับตัวอ่อนของพยาธิเข้าไปมีน้อยลง

พยาธิฮีมอนคุสทำอันตรายแพะ โดยการดูดกินเลือดและสารอาหารต่างๆ โดยจากการศึกษาพบว่า พยาธิฮีมอนคุสตัวแก่ จำนวน 20 ตัว จะดูดกินเลือดแพะได้วันละประมาณ 1 ซีซี แพะที่มีพยาธิฮิมอนคุสอยู่เป็นจำนวนมาก จะแสดงอาการโลหิตจาง ซึ่งสังเกตที่เนื้อเยื่อเปลือกตาด้านในจะซีด (แพะปกติจะมีเปลือกตาด้านในสีแดงหรือชมพู) และถ้ามีพยาธิเป็นจำนวนมากเป็นเวลานาน แพะจะมีอาการบวมน้ำที่กรามทั้งสองข้าง และถ้านำตัวอย่างเลือดของแพะ ที่มีพยาธิฮีมอนคุสเป็นจำนวนมากไปวิเคราะห์ จะพบว่ามีจำนวนเม็ดเลือดแดง ค่าเม็ดเลือดแดงอัดแน่น ความเข้มข้นของฮีโมโกลบิน และระดับของโปรตีนในเลือดต่ำกว่าแพะปกติ

คราวนี้มาถึงตอนที่สอง คือ จะรู้ได้อย่างไรว่าแพะเป็นพยาธิฮีมอนคุส ? โดยทั่วไปแพะที่มีพยาธิฮีมอนคุสเป็นจำนวนมาก จะผอม ขนหยิกหยอง ซึม และอาจมีอาการท้องร่วงเรื้อรังร่วมด้วย แต่ในกรณีของท้องร่วง อาจสับสนกับ อาการท้องร่วงที่เกิดจากการติดเชื้อโรคอื่นๆ วิธีการแยกความแตกต่างง่ายๆ คือ ถ้าเป็นอาการท้องร่วงที่เกิดจากโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่พยาธิ เมื่อใช้ยารักษาก็จะหาย แต่ถ้าอาการท้องร่วงที่เกิดจากพยาธิ จะรักษาด้วยยาเหล่านั้นไม่หาย เมื่อพบแพะที่มีอาการดังกล่าว และสงสัยว่าอาจเป็นพยาธิฮีมอนคุส จะสังเกตที่ใต้เปลือกตา ถ้าซีดแสดงว่าแพะมีพยาธิฮีมอนคุสอยู่เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม วิธีการสังเกตดังกล่าวข้างต้น อาจไม่พบอาการในแพะทุกตัว แม้จะมีพยาธิเป็นจำนวนมากก็ตาม เนื่องจากแพะแต่ละตัวมีสภาพร่างกายแตกต่างกันหรือได้รับอาหารที่แตกต่างกัน เช่น แพะที่ได้รับอาหารอย่างเพียงพอ แม้ว่าจะมีพยาธิเป็นจำนวนมาก ก็อาจไม่แสดงอาการดังกล่าวให้เห็นก็ได้ นอกจากอาหารแล้ว พันธุ์แพะก็มีผลต่อระดับความรุนแรงที่เกิดจากพยาธิอีกด้วย ผลการศึกษาที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พบว่า เมื่อเลี้ยงในสภาพการจัดการที่เหมือนกัน แพะพันธุ์พื้นเมืองไทย มีจำนวนไข่พยาธิในมูลน้อยกว่าแพะลูกผสมพื้นเมือง-แองโกลนูเบียน และเมื่อให้แพะทั้งสองพันธุ์ได้รับตัวอ่อนของพยาธิฮีมอนคุสในจำนวนที่เท่ากัน และมากพอที่จะมีผลกระทบต่อแพะพบว่า แพะพันธุ์พื้นเมืองไทย ได้รับผลกระทบจากพยาธิน้อยกว่าแพะลูกผสมพื้นเมือง-แองโกลนูเบียน โดยสังเกตจากค่าเม็ดเลือดแดงอัดแน่น ฮีโมโกลบิน และความเข้มข้นของโปรตีนในเลือด ของแพะพันธุ์พื้นเมืองไทยลดลงน้อยกว่าของแพะลูกผสมพื้นเมือง-แองโกลนูเบียน สาเหตุที่แพะพันธุ์พื้นเมืองไทย มีความต้านทานต่อพยาธิฮีมอนคุสมากกว่าแพะลูกผสมพื้นเมือง-แองโกลนูเบียน เนื่องจากแพะพันธุ์พื้นเมืองไทยมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อม ที่มีพยาธิฮีมอนคุสเป็นจำนวนมากเป็นระยะเวลานาน จึงปรับตัวให้มีความต้านทานต่อพยาธิเพื่อความอยู่รอด ในขณะที่แพะลูกผสมที่มีสายเลือดของแพะพันธุ์แองโกลนูเบียน ซึ่งเป็นพันธุ์แพะที่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิด อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการระบาดของพยาธิฮีมอนคุส จึงไม่มีความต้านทานต่อพยาธิชนิดนี้

ตอนสุดท้ายของบทความนี้ และถือว่ามีความสำคัญที่สุดคือ การป้องกันและควบคุมพยาธิฮีมอนคุส ซึ่งมีหลักในการควบคุมและป้องกันที่สำคัญอยู่ 2 ประการ คือ ประการแรก การปรับปรุงการจัดการ และประการที่สอง การใช้ยาร่วมกับการจัดการ การควบคุมพยาธิโดยวิธีการจัดการ มีจุดประสงค์เพื่อลดโอกาสที่แพะจะได้รับตัวอ่อนของพยาธิเข้าไปให้น้อยที่สุด โดยทำได้ดังนี้

1. การหมุนเวียนแปลงหญ้าเพื่อตัดวงจรชีวิตของพยาธิ โดยควรพักแปลงหญ้าจากการแทะเล็มประมาณ 2-3 เดือน เพื่อลดจำนวนตัวอ่อนของพยาธิ ในแปลงหญ้า

2. ถ้าสามารถทำได้ ควรเลี้ยงลูกแพะ หรือปล่อยให้ลูกแพะแทะเล็มในแปลงหญ้าที่แยกจากแพะโต

3. หลีกเลี่ยงการปล่อยให้แพะแทะเล็มในแปลงหญ้าที่เปียกชื้น อยู่ที่ลุ่ม หรือบริเวณที่มีน้ำขัง

4. หลีกเลี่ยงการปล่อยให้แพะแทะเล็มหญ้าที่สั้นมากๆ หรือติดดิน เพราะจะทำให้แพะมีโอกาสรับตัวอ่อนของพยาธิเข้าไปมากขึ้น การให้แพะแทะเล็มใบไม้หรือหญ้าสูงๆ จะลดการติดพยาธิลงได้มาก

5. การเลี้ยงแบบขังคอกและตัดหญ้าให้แพะกิน จะช่วยป้องกันการติดพยาธิได้ดี แต่ควรระวังไม่ไปตัดหญ้าในบริเวณที่เพิ่งปล่อยแพะเข้าไปแทะเล็ม เพราะอาจติดตัวอ่อนของพยาธิมาได้

ส่วนการควบคุมพยาธิ โดยการใช้ยาถ่ายพยาธิร่วมกับการจัดการ มีหลักสำคัญอยู่ 2 ประการเช่นกัน ประการแรก การลดจำนวนพยาธิในตัวแพะเมื่อสิ้นฤดูฝน เพื่อป้องกันไม่ให้แพะมีพยาธิเป็นจำนวนมากไปถึงฤดูแล้ง และประการที่สอง ถ้ามีช่วงฤดูฝนติดต่อกันนานๆ จะต้องถ่ายพยาธิเพื่อลดจำนวนพยาธิในตัวแพะ โดยเฉพาะในลูกแพะ จะขอยกตัวอย่างช่วงเวลาถ่ายพยาธิสำหรับการเลี้ยงแพะในภาคใต้ ซึ่งมีฝนตกชุกมากกว่าภาคอื่นๆ โดยสามารถแบ่งฤดูออกเป็น 3 ฤดูคือ ฤดูฝนเบาบาง (พฤษภาคม-สิงหาคม) ฤดูฝนหนัก (กันยายน-ธันวาคม) และฤดูแล้ง (มกราคม-เมษายน) การถ่ายพยาธิควรทำปีละ 3 ครั้ง ครั้งแรกตอนต้นฤดูฝนเบาบาง ประมาณเดือนพฤษภาคม ครั้งที่สอง ตอนต้นฤดูฝนหนักประมาณเดือนกันยายน และครั้งที่สามตอนปลายฤดูฝนหนัก ประมาณเดือนธันวาคม แต่ถ้าในช่วงฤดูฝนพบลูกแพะที่แสดงอาการเนื่องจากมีพยาธิเป็นจำนวนมาก ควรถ่ายพยาธิเพิ่มเติมในช่วงกลางเดือนกรกฏาคม และกลางเดือนตุลาคม เพื่อให้การควบคุมพยาธิมีประสิทธิภาพสูงสุด

ยาถ่ายพยาธิที่ใช้ควบคุมพยาธิฮีมอนคุส ซึ่งมีทั้งยาชนิดที่ออกฤทธิ์แคบและชนิดที่ออกฤทธิ์กว้าง ยาที่ออกฤทธิ์แคบมีอยู่เพียงชนิดเดียวคือ ลีวามิโซล ซึ่งมีชื่อการค้าหลายชื่อ เช่น นิลเวิร์ม ซิตาริน ริเปอร์คอล และลีวาลิน ส่วนยาที่ออกฤทธิ์กว้างมีหลายชนิด เช่น อัลเบนดาโซล มีชื่อการค้า คือ วันเบนเซน หรือ ฟาร์มบาเซ็น พีเบลเทล มีชื่อการค้า คือ รินตัล เฟนเบนดาโซล มีชื่อการค้า คือ พาร์นาคูร์ ออกเฟนดาโซล มีชื่อการค้า คือ ซีสตาแมกซ์ และไอเวอร์เมกตินมีชื่อการค้า คือ ไอเวอเมค

ผมมักจะได้รับคำถามจากเกษตรกรอยู่เสมอว่า จะเลือกใช้ยาถ่ายพยาธิชนิดใดดี ? จากประสบการณ์ พบว่า ยาถ่ายพยาธิที่กล่าวมาทั้งหมด มีประสิทธิภาพในการควบคุมพยาธิฮีมอนคุสใกล้เคียงกัน ดังนั้น เกษตรกรควรเลือกใช้ยาที่มีราคาถูก โดยดูจากราคายาที่ใช้ต่อน้ำหนักตัวแพะ มีการศึกษาเปรียบเทียบราคายาถ่ายพยาธิ ที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน 4 ชนิด คือ เลวามิโซล เฟนเบนดาโซล อัลเบนดาโซล และไอเวอเมกติน ผลการศึกษาพบว่า ต้นทุนของการใช้ยาเหล่านี้ต่อน้ำหนักแพะ 1 กิโลกรัม เท่ากับ 0.11, 0.15, 0.15 และ 0.30 บาท ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ควรเลือกใช้ยาถ่ายพยาธิ ที่มีราคาถูก เช่น เลวามิโซล เฟนเบนดาโซล หรืออัลเบนดาโซล แต่ยาไอเวอร์เมกติน แม้จะมีราคาแพงกว่ายาชนิดอื่น แต่สามารถควบคุมพยาธิภายนอก เช่น เห็บ เหา ไร ได้ด้วย ดังนั้น ถ้าแพะมีปัญหาเกี่ยวกับพยาธิภายนอกด้วย ก็ควรใช้ยาไอเวอเมกติน

การใช้ยาถ่ายพยาธิชนิดเดียวติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้พยาธิมีความต้านทานต่อยาถ่ายพยาธิชนิดนั้น มีผลทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องใช้ยาถ่ายพยาธิติดต่อกันนานๆ โดยเฉพาะในฟาร์มขนาดใหญ่ ควรใช้ยาชนิดต่างกัน ตัวอย่างเช่น ฟาร์มเลี้ยงแพะของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เริ่มเลี้ยงแพะมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 โดยในระยะ 4 ปีแรก ใช้ยาเฟนเบนดาโซล เพียงชนิดเดียว 4 ปีต่อมา เปลี่ยนมาใช้ยาอัลเบนดาโซล และในปี พ.ศ. 2536 เปลี่ยนมาใช้ยาเลวามิโซล และยาไอเวอเมกติน และใช้มาจนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2537 ได้มีการทดสอบประสิทธิภาพของยา เฟนเบนดาโซล อัลเบนดาโซล เลวามิโซล และไอ-เวอเมกติน พบว่า ยาเฟนเบนดาโซล และอัลเบนดาโซล มีประสิทธิภาพในการควบคุมพยาธิฮีมอนคุสได้เพียง 50 และ 60% ตามลำดับ แสดงว่าพยาธิมีความต้านทานต่อยาเฟนเบนดาโซลและอัลเบนดาโซล ในขณะที่ยาเลวามิ-โซล และไอเวอเมกติน ยังมีประสิทธิภาพในการควบคุมพยาธิได้ดี (มากกว่า 95%)

พยาธิฮีมอนคุส เป็นพยาธิภายในที่ทำความสูญเสียให้แก่ผู้เลี้ยงแพะเป็นอย่างมาก และพบได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย ผมหวังว่าบทความนี้ คงทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้เกี่ยวกับพยาธิชนิดนี้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งรู้และเข้าใจหลักและวิธีการในการป้องกันและควบคุม การลงทุนในเรื่องยาถ่ายพยาธิเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะการถ่ายพยาธิแต่ละครั้งมีต้นทุนประมาณตัวละ 5-10 บาท เท่านั้น แต่ถ้าไม่ถ่ายพยาธิและแพะตาย เกษตรกรอาจสูญเสียรายได้ไปถึง 1,000-2,000 บาท

cr-ผศ.ดร.สุรศักดิ์ คชภักดี คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ
https://tcd.tsu.ac.th/detail.php?id_list=834&aNum=20200207072635
http://thaigoatclub.blogspot.com/2007/09/tapeworm..