สุขภาพ-ชีวิต » วัคซีน“โมเดอร์นา”(Moderna)

วัคซีน“โมเดอร์นา”(Moderna)

2 กรกฎาคม 2021
1826   0

  • ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2564 ระบุว่า วัคซีน Moderna มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดโรคโควิด-19  94.1% ในประชากรทั่วไป ป้องกันการติดโรคได้ 86.4% ในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ลดความรุนแรงของโรคได้ 100% และลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ COVID-19 ได้ 100%
  • พบอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาประมาณ 0.03% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งสามารถหายได้เอง ภายใน 2 – 3 วัน และพบโอกาสแพ้ยาแบบรุนแรง เช่น หายใจลำบาก ปากบวม หน้าบวม หัวใจเต้นเร็ว ผื่นแพ้ขึ้นทั่วตัวหรือตามร่างกาย มีอัตราส่วน 2.5 : 1,000,000 คน

Moderna คือ วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ-1273 ( mRNA-1273) เป็นนวัตกรรมล่าสุด แตกต่างจากวัคซีนทั่วไปที่เป็นโปรตีนหรือเชื้อโรคที่ถูกทำให้ตาย และต่างจากวัคซีนชนิดที่ใช้ไวรัสพาหะ (Viral Vector Vaccine) พัฒนาโดย บริษัท ModernaTX, Inc. สหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

หลังจากคณะกรรมการอาหารและยา ได้ลงนามการขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบัน ชื่อยา โมเดอร์นา วัคซีนโควิด-19 “วัคซีนโมเดอร์นา” (Moderna) โดยจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ เมื่อ 13 พ.ค. 2564 และใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยานี้มีอายุจนถึง 12 พ.ค 2565 จึงมีคำถามเกิดขึ้นมากมายถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนทางเลือก ซึ่งสามารถอธิบายเป็นข้อๆดังนี้..

1. หลักการผลิต วัคซีน Moderna (mRNA-1273) เป็นอย่างไร

  • ส่วนแรก จะใช้สารพันธุกรรมโมเลกุลที่เรียกว่า mRNA หรือรหัสแม่แบบที่คล้ายหนาม (spike) ของเชื้อ SAR-CoV-2 ที่ก่อโรค Covid-19 เพราะหนาม (Spike) คือ อาวุธสำคัญที่เชื้อจะใช้เพื่อจับที่เซลล์ในร่างกาย ส่งผลให้ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
  • ส่วนที่สอง คือ ไขมันอนุภาคนาโน (lipid nanoparticle) ที่ใช้ห่อหุ้ม mRNA เพื่อป้องกันการย่อยสลายจากเอนไซม์ไรโบนิวคลิเอสซึ่งมีอยู่ทั่วร่างกาย

2. กลไกการออกฤทธิ์ของวัคซีนเป็นอย่างไร

หลังจากฉีดวัคซีน mRNA จะถูกห่อหุ้มด้วยไขมันอนุภาคนาโน แล้วเซลล์ร่างกายในบริเวณที่ฉีดจะกลืนกินไขมันอนุภาคนาโนที่มี mRNA เข้าไป ทำให้เซลล์บริเวณนั้น ผลิตสารโปรตีนคล้ายหนามของเชื้อไวรัส ซึ่งโปรตีนนี้จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สร้างแอนติบอดีขึ้นหรือภูมิต้านทานมาต่อต้าน ”หนาม” ของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 แบบจำเพาะเจาะจง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อสามารถก่อโรคในร่างกายได้

3. ประสิทธิภาพของวัคซีนเป็นอย่างไร

วัคซีนโมเดอร์นา ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อ 30 เม.ย. 2564 ในการใช้ป้องกันโรคโควิด-19 และ อย.ไทยขึ้นทะเบียนเมื่อ 13 พ.ค. 2564 จากข้อมูล ณ ขณะนี้ ระบุว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดโรคคือ 94.1% ในประชากรทั่วไป ป้องกันการติดโรคได้ 86.4% ในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ลดความรุนแรงของโรคได้ 100% และลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ COVID-19 ได้ 100% และจากข้อมูลทางห้องปฏิบัติการล่าสุด พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ในระดับที่สูงพอที่จะยับยั้งสายพันธุ์ B.1.17 จากอังกฤษ และ B.1.351 จากแอฟริกาใต้ได้

4. อายุที่แนะนำและจำนวนครั้งที่ต้องฉีด

วัคซีนนี้ เหมาะสำหรับฉีดให้ผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยจะฉีดทั้งหมด 2 โดส (ครั้ง) ห่างกัน 4 สัปดาห์ ปัจจุบันมีมากกว่า 14 ประเทศที่ใช้ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา สวิสเซอร์แลนด์ อังกฤษ ยุโรป อิสราเอล กาตาร์ บรูไน สิงคโปร์ เวียดนาม ญี่ปุ่น ฯลฯ

5. วัคซีนโมเดอร์นามีผลข้างเคียงอย่างไร

จากข้อมูลด้านความปลอดภัย กลุ่มประชากรวิจัย 15,000 คน จากฐานข้อมูลสมาคมโรคติดเชื้อประเทศสหรัฐอเมริกา พบรายงานอาการไม่พึงประสงค์ทั่วไปประมาณ 0.03% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งมีรายงานดังนี้

  • อาการข้างเคียงที่ยอมรับได้ เช่น อาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง บางรายมีอาการเหนื่อย ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หนาวสั่น มีไข้ วิงเวียน คลื่นไส้ และสามารถหายได้เอง ภายใน 2 – 3 วัน
  • โอกาสแพ้ยาแบบรุนแรง เช่น หายใจลำบาก ปากบวม หน้าบวม หัวใจเต้นเร็ว ผื่นแพ้ขึ้นทั่วตัวหรือตามร่างกาย มีอัตราส่วน 2.5 : 1,000,000 คน

6. สามารถฉีดในผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีได้หรือไม่

จากรายงานเมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา โมเดอร์นา ได้เผยผลการทดลองทางคลินิกในกลุ่มคนอายุ 12 – 17 ปี พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ 96% และนอกจากนี้กำลังอยู่ระหว่างทดสอบในเด็กอายุ 6 เดือน – 11 ปี ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ทั้งนี้ควรรอฟังคำแนะนำสำหรับช่วงอายุที่ต่ำกว่า 18 ปีอีกครั้งจากกระทรวงสาธารณสุขของไทย

7. ข้อควรระวังในการฉีดวัคซีนโมเดอร์นา

  • ผู้ที่เคยแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน หรือเคยฉีดวัคซีนชนิด mRNA ยี่ห้ออื่นแล้วมีอาการแพ้รุนแรง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีด
  • ผู้ที่กำลังไม่สบาย มีไข้ หรือสงสัยว่าจะติดโรคโควิด-19 ยังไม่ควรฉีด
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไต และโรคอื่นๆ รวมทั้งผู้ที่กำลังทานยาโรคประจำตัว สามารถฉีดได้ หากอาการต่างๆ ของโรคคงที่ และได้รับความเห็นชอบจากแพทย์ประจำตัวของท่าน
  • สำหรับหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร สามารถฉีดได้หากอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ (อ้างอิงจาก กรมอนามัย) ทั้งนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกาและอื่นๆ ได้มีการฉีดไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีการยืนยันว่าวัคซีนจะสามารถถ่ายทอดจากรกหรือน้ำนมไปสู่ลูกน้อยเพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิต้านทานได้หรือไม่ ทั้งหมดนี้จึงขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ที่ดูแลท่าน
  • ผู้ที่เพิ่งได้รับวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้ออื่นไปก่อนหน้า ควรปรึกษาแพทย์ หากต้องการฉีดซ้ำ
  • เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนที่ผลิตออกมาไม่นาน และยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการให้วัคซีนนี้ควบคู่กับวัคซีนอื่นทุกประเภท จึงแนะนำเว้นระยะห่างอย่างน้อย 4 สัปดาห์เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีนพร้อมกันและรบกวนการสร้างภูมิคุ้มกัน
    ขอบคุณhttps://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/%E0%B8%A7%E0%B8%..
    https://www.google.com/search?q=%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8..

    >แพทย์อินโดนีเซีย14คน เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั้งๆที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว!!