สุขภาพ-ชีวิต » ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ยาต้านไวรัส

ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ยาต้านไวรัส

29 เมษายน 2021
1709   0

ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) หรือที่รู้จักกันในชื่อ T-705 หรือ Avigan เป็นยาต้านไวรัสที่พัฒนาโดยบริษัทโตยามะเคมิคอล (富山化学工業) ของประเทศญี่ปุ่น มีฤทธิ์ต่อต้านอาร์เอ็นเอไวรัสหลายชนิด

Fujifilm Toyama Chemical บริษัทในเครือ Fujifilm Holding Corp ได้ทำการพัฒนายา Avigan ชื่อทางการค้า Favipiravir (ฟาวิพิราเวียร์) ซึ่งเป็นยาที่ได้รับการอนุมัติให้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ ในประเทศญี่ปุ่น ปี 2014

นายจางซินหมิน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของจีน เปิดเผยว่า จากการทดลองทางคลินิกกับผู้ป่วย 80 ราย ที่โรงพยาบาลในเมืองเซินเจิ้น และทดลองกับผู้ป่วย 120 รายที่โรงพยาบาลชงหนาน ของมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าตัวยา Favipiravir ที่มีใน Avigan ของทาง Fujifilm ออกฤทธิ์ต้าน Coronavirus รวมถึงบรรเทาอาการปอดบวมได้ ผลน่าพอใจ ช่วยให้ผู้ป่วยที่ได้รับยาพื้นตัวได้เร็วเฉลี่ยเพียง 4 วัน จากปกติใช้เวลาเฉลี่ย 11 วัน สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับยา และผล X-RAY ปอดผู้ป่วยรับยาสามารถฟื้นสภาพกลับมาได้ถึง 91%

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ได้รับการศึกษาแบบสุ่มในประเทศจีนเพื่อทำการทดลองรักษาโรค COVID-19 (โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019) ที่พึ่งอุบัติขึ้น ฟาวิพิราเวียร์ ได้รับการรับรองระยะสั้นเป็นเวลาห้าปี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ในฐานะยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพต่อต้านโรค

ขณะนี้ได้ผลิตในประเทศจีนภายใต้ชื่อ ฟาวิลาเวียร์ (Favilavir) เช่นเดียวกับยาต้านไวรัสทดลองอื่น ๆ (T-1105 และ T-1106)

ฟาวิพิราเวียร์เป็นอนุพันธ์ของ ไพราซีนคาร์โบซาไมด์ (Pyrazinecarboxamide) และยังมีฤทธิ์ต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่, ไวรัสเวสต์ไนล์, ไวรัสไข้เหลือง, ไวรัสโรคปากและเท้า รวมถึงเชื้อไวรัสอื่น ๆ ในตระกูลฟลาวิไวรัส (Flaviviruses), อรีนาไวรัส (Arenaviruses), บุนยาไวรัส (Bunyaviruses) และ อัลฟาไวรัส (Alphaviruses)

ฤทธิ์ในการต่อต้านเอนเทอโรไวรัส (Enteroviruses)และไวรัสโรคไข้ริฟต์แวลลีย์ ก็แสดงให้เห็นเช่นกัน

ฟาวิพิราเวียร์ แสดงประสิทธิภาพอย่างจำกัดต่อไวรัสซิกาในการศึกษาในสัตว์ แต่มีประสิทธิภาพน้อยกว่ายาต้านไวรัสชนิดอื่นเช่น MK-608 และยังแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพบางอย่างในการต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งได้ถูกนำมาใช้ในการทดลองในมนุษย์บางคนที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว..

กลไกการออกฤทธิ์นั้นเชื่อกันว่าเกี่ยวข้องกับการยับยั้งการคัดเลือกเอนไซม์ อาร์เอ็นเอโพลิเมอเรสที่ขึ้นกับอาร์เอ็นเอของไวรัส (RNA-dependent RNA polymerase) งานวิจัยอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่า ฟาวิพิราเวียร์ ชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ในอาร์เอ็นเอที่ทำให้เกิดการตาย ซึ่งผลทำให้ฟีโนไทป์ของไวรัสไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้

ฟาวิพิราเวียร์ เป็นโปร-ดรัก (prodrug) ที่ถูกกระบวนการเมตาบอลิซึมเผาผลาญไปเป็นรูปแบบที่ออกฤทธิ์คือ Favipiravir-ribofuranosyl-5′-triphosphate (Favipiravir-RTP) มีทั้งที่อยู่ในตำรับที่ให้โดยทางรับประทานและทางหลอดเลือดดำ เอ็นไซม์ Human hypoxanthine guanine phosphoribosyltransferase (HGPRT) เชื่อว่ามีบทบาทสำคัญในกระบวนการกระตุ้นการออกฤทธิ์นี้

ฟาวิพิราเวียร์ ไม่ยับยั้งการสังเคราะห์อาร์เอ็นเอหรือดีเอ็นเอ ในเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและไม่เป็นพิษต่อเซลล์ในปี พ.ศ. 2557 ฟาวิพิราเวียร์ได้รับการอนุมัติในประเทศญี่ปุ่นสำหรับการสำรองยาต่อต้านการระบาดทั่วของโรคไข้หวัดใหญ่[16] อย่างไรก็ตาม ฟาวิพิราเวียร์ยังไม่ได้แสดงว่ามีประสิทธิภาพในเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจปฐมภูมิของมนุษย์ เป็นเหตุให้ยังมีความสงสัยในประสิทธิภาพในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่

การประยุกต์ใช้กับโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (COVID-19)

ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 มีการคาดการณ์ว่าฟาริพิราเวียร์น่าจะมีผลต่อต้านโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2)[27] ได้

จากเอกสารฉบับร่างซึ่งตีพิมพ์ในเอกสารรายงานวิชาการ Nature Cell Biology โดยคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยไวรัสแห่งอู่ฮั่นภายใต้สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 จากการวิจัยในหลอดทดลองโดยใช้เซลล์มาตรฐานที่แยกจากเซลล์เยื่อบุผิวไตที่สกัดจากลิงเวอร์เว็ท (Vero E6) ผลการประเมินการทดสอบสารต้านไวรัส SARS-CoV-2 จำนวนเจ็ดชนิดรวมถึง ฟาวิพิราเวียร์ซึ่งรายงานผลเป็นค่า 50% Effective concentration (EC50)[a] ซึ่งฟาวิพิราเวียร์ให้ค่า 61.88 μM (ไมโครโมล/ลิตร) ในขณะที่ เรมเดซิเวียร์ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลา มีค่า EC50 0.77 μM (ไมโครโมล/ลิตร) ซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพที่ดีกว่าฟาริพิราเวียร์ถึง 80 เท่า และยาต้านไข้มาลาเรีย คลอโรควิน ให้ค่า EC50 1.13 μM (ไมโครโมล/ลิตร) มีประสิทธิภาพมากเป็นอันดับสองจากสารทดลอง..

นอกจากนี้บทความในหนังสือพิมพ์ เคอจี่รื่อเป้า ฉบับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 มีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบทางคลินิกที่ค่อนข้างเฉพาะเช่น จากการให้สัมภาษณ์กลุ่มการวิจัยทางคลินิกได้ทำการศึกษา 26 ตัวอย่างที่โรงพยาบาลประชาชนที่สามเชินเจิ้น (深圳市第三人民医院) ในจำนวนนี้ผู้ป่วย 25 คน มีความรุนแรงของโรคปานกลางและ 25 คนมีอาการหนัก ฟาริพิราเวียร์ไม่มีผลข้างเคียงที่ชัดเจน มีการยอมรับของผู้ป่วยที่ดี มีผลลดไข้ที่ค่อนข้างดีในผู้ป่วยที่มีไข้ โดยหลังจากได้รับยา 2 วัน 72% มีไข้ลดลง และในสามวันผู้ป่วย 38% มีผลภาพรังสีปอดที่ดีขึ้น และดีขึ้นเป็น 70% ภายใน 6 วัน

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เหตุผลที่ฟาริพิราเวียร์ แสดงออกถึงผลที่ดีในการทดลองทางคลินิกในสิ่งมีชีวิต แม้จะมีผลน้อยกว่าเรมเดซิเวียร์ และคลอโรควิน ในสภาพแวดล้อมในหลอดแก้ว ได้รับการอธิบายโดย จง อู่ (钟武) หนึ่งในคณะวิจัยที่ตีพิมพ์บทความเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ว่า “ฟาริพิราเวียร์ เป็นสารยับยั้งเอนไซม์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรส แต่ขณะเดียวกันก็เป็น โปร-ดัก และต้องการกระบวนการ Tri-phosphorylation ในสิ่งมีชีวิตเพื่อสร้างสารตั้งต้นแข่งขันเข้าทำปฏิกริยากับเอนไซม์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรส” ในการทดสอบในหลอดทดลอง กระบวนการ Tri-phosphorylation มีไม่เพียงพอ ซึ่งมีผลกระทบต่อผลการทดลองที่แสดงออกมา

บริษัท เจ้อเจียงไห่เจิ้ง ฟาร์มาซูติคอล (浙江海正薬业股份有限公司) ได้รับการอนุมัติใบอนุญาตในการผลิตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งชาติจีน (国家薬监局) ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 และพร้อมที่จะผลิตและเริ่มจำหน่ายยาในชื่อฟาวิลาเวียร์ (Favilavir)

การใช้ยา

โดยทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่โดยขนาดการรับประทาน 1,600 มิลลิกรัม วันละสองครั้งในวันแรก และ 600 มิลลิกรัม วันละสองครั้งในวันที่ 2 ถึงวันที่ 5 ระยะเวลาการรักษาโดยรวมคือ 5 วัน ด้วยยาเม็ดขนาด 200 มิลลิกรัม ดังนั้นจึงต้องรับประทาน (1600 x 2 + 600 x 2 x 4) มก. / 200 มก. = 40 เม็ดต่อคน ผลจากการได้รับยาในปริมาณสูงยังคงอยู่ระหว่างการศึกษา..

ความเป็นพิษต่อทารกในครรภ์ ได้รับการยืนยันในการศึกษาในสัตว์ทดลอง และมีข้อห้ามใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่สงสัยว่าตั้งครรภ์ และควรคุมกำเนิดในช่วงเวลาระหว่างได้รับยาจนถึง 7 วันภายหลัง

cr-https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9F%E0%B8%B2%E0%B8%A..
https://mgronline.com/smes/detail/9630000028153

ไม่ใช่แค่ปอดพัง! แพทย์เตือนโควิด-19 ยังทำลายสมอง-หัวใจ บางคนหลังหายก็ไม่สมบูรณ์