Clubhouse คืออะไร? ทำไมใครๆถึงอยากใช้งาน
แอป Clubhouse คืออะไร?
Clubhouse เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียน้องใหม่ ที่จะเน้นไปที่การใช้งาน Voice Chat หรือการพูดคุยด้วยเสียงเป็นหลัก หรือจะอธิบายง่าย ๆ ก็คือแอปนี้มันเหมือนกับว่าเป็นแอปลูกผสมระหว่างการโทรประชุมออนไลน์และการฟังวิทยุสดนั่นเอง ซึ่งผู้ใช้งานสามารถสร้างห้อง แล้วตั้งหัวข้อต่าง ๆ ที่ต้องการจะพูดคุย เพื่อให้คนที่สนใจในเรื่องเดียวกันเข้ามารวมตัวกันสำหรับการถกเถียงเรื่องต่าง ๆ นั่นเอง
โดยภายในห้องจะมีคนคุม (Moderator) ที่สามารถอนุญาตให้ผู้ร่วมฟังเปิดไมค์เข้ามาสนทนากับ Host หรือพิธีกร ณ ตอนนั้นได้นั่นเอง (หรือจะเลือกฟังแบบเงียบ ๆ ก็ยังได้)
ภายในแต่ละห้องของ Clubhouse สถานะของผู้ใช้งานจะมีด้วยกันอยู่ 3 แบบ ได้แก่
- Moderator (ผู้ดูแลห้อง) ทำหน้าที่ควบคุมห้อง เปิดห้อง มอบสิทธิ์เปิด หรือปิดไมค์ใครก็ได้
- Speaker (ผู้พูด) สามารถเปิดไมค์สนทนาในห้อง (แต่ Mod ต้องอนุญาตก่อน) ขอสิทธิ์ได้ด้วยการยกมือ
- Listener (ผู้ฟัง) สถานะเริ่มต้นที่ทุกคนได้ สามารถขอสิทธิ์เป็น Speaker ได้ด้วยการยกมือ
โดยในแต่ละห้อง ทาง Moderator จะกำหนดกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ เอาไว้อย่างชัดเจนว่าต้องทำอะไร อะไรบ้างที่ห้ามทำ ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าเพื่อน ๆ จำเป็นต้องอ่านและทำความเข้าใจก่อนเข้าทุกครั้งนะครับ บางห้องอาจจะอนุญาตให้เราเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ ในขณะที่บางห้องอาจจะมีข้อบังคับเล็กน้อยเพื่อให้คนหมู่มากอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
ทำไมอยู่ดี ๆ Clubhouse ถึงดัง เป็นกระแสได้ขนาดนี้
จริง ๆแล้ว Clubhouse เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2020 ที่ผ่านมา ทว่าสำหรับสาเหตุที่ทำไมอยู่ดี ๆ แอปนี้กลับได้รับความสนใจแบบชั่วข้ามคืน ส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากการที่ Elon Musk ซีอีโอคนเก่งของ SpaceX และ Tesla ได้ใช้แอปนี้พูดคุยกับ Vladimir Tener ผู้จัดการแอป Robinhood (ไม่ใช่ Robinhood แอปสั่งอาหารบ้านเรานะ) เกี่ยวกับดราม่าการปั่นหุ้น GameStop ที่กำลังเป็นกระสอยู่ตอนนี้ ทำให้หลายคนเทความสนใจมาให้กับ Clubhouse และติดตั้งมาใช้งานตามนั่นเอง..
ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ก็มีคนดังในไทยต่าง ๆ เริ่มตามกระแส หยิบแพลตฟอร์มนี้มาใช้เปิดเรื่องคุยกับเหล่าแฟนคลับมากขึ้น โดยปัจจุบัน Clubhouse ถูกใช้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนถกเถียงในหัวข้อต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง การศึกษา หรือแม้กระทั่งเรื่องจิปาถะทั่วไป
หัวข้อส่วนมากบน Clubhouse ก็จะเหมือนกับแพลตฟอร์มโซเชียลอื่น ๆ เลย ก็คือจะมีแทบทุกเรื่อง ไล่ตั้งแต่หัวข้อที่เป็นการเป็นงาน ไปจนถึงหัวข้อเบาสมอง ฟังแล้วไม่ต้องคิดอะไรมาก ซึ่งอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ Clubhouse ได้รับความนิยมขนาดนี้ ก็น่าจะมาจากที่ Speaker ส่วนมากล้วนแต่เป็นบุคคลสำคัญ และเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ เข้ามาแบ่งปันความรู้ และแชร์ประสบการณ์ที่อาจจะหาที่ไหนไม่ได้..
อย่างไรก็ดี ต้องบอกก่อนว่า ไม่ใช่ทุกห้องนะครับที่จะมี Speaker มากความสามารถหรือประสบการณ์สูง บางห้องอาจจะมีเพียงแค่ Speaker มาเล่าประสบการณ์ส่วนตัว จากมุมมองตัวเองเฉย ๆ ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องพิจารณาเป็นห้อง ๆ ไป ชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือว่าจุดประสงค์ของแต่ละห้องนั้นถูกสร้างมาเพื่ออะไร
จริง ๆ ไม่ใช่แค่เฉพาะ Clubhouse เท่านั้นนะครับ ทุกแพลตฟอร์มเลย ข่าวจริงก็มี ข่าวปลอมก็มี การที่คนฝั่งเดียวกับเราเอาข่าวมาให้อ่านให้เสพ ไม่ได้แปลว่าข่าวนั้นเป็นข่าวจริงนะครับ สุดท้ายแล้วหน้าที่ของคนเสพอย่างเรา ๆ ก็คือต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกทีเหมือนกัน พยายามอย่าเชื่อในทุกสิ่งที่ปรากฎบนโลกอินเทอร์เน็ต ทำตัวเป็นคนขี้สงสัยเข้าไว้ และจะไม่กลายเป็นเหยื่อของเฟคนิวส์นะครับ..
นอกจากนี้ ภายใน Clubhouse ยังมีห้องแนว ๆ คาราโอเกะให้ไปร้องเพลงประชันเสียงกันอีกด้วย
Clubhouse ยังไม่มีขั้นตอนยืนยันตัวตน จะฟอลคนดังต้องคิดให้ดี เพราะอาจเจอตัวปลอม
Clubhouse ยังไม่มีขั้นตอนการยืนยันตัวตน (Verification Process) แบบโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ทำให้เราไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่าคนดังที่เราติดตามอยู่เป็นตัวจริงหรือไม่ (เว้นแต่เจ้าตัวจะยืนยันเองผ่านแพลตฟอร์มอื่น) และแม้ว่าบัญชีนั้น ๆ มีตัวยอดผู้ติดตามหลักล้าน ก็ไม่ได้แปลว่าบัญชีดังกล่าวจะเป็นของตัวจริงนะครับ อันนี้ต้องคอยระวังกันนิดนึง
อยากเข้า Clubhouse ต้องทำยังไง?
อย่างแรกที่ต้องเข้าใจกันก่อนเลยคือ Clubhouse ตอนนี้มีให้ใช้งานเฉพาะอุปกรณ์ iOS เท่านั้น ทางผู้เขียนแอปก็มีวางแผนจะพัฒนาเวอร์ชัน Android เข้ามาเพิ่มเติมเร็ว ๆ นี้แต่ก็ยังไม่มีวันเวลากำหนดที่แน่ชัด..
อีกส่วนที่ทำให้ Clubhouse เป็นแอปที่ยากต่อการเข้าใช้งาน และเป็นกระแสในขณะนี้คือเรื่องของระบบ “เชิญชวน” นั่นเอง หลักการทำงานก็คือผู้ใช้งานที่ต้องการเข้า Clubhouse จะต้องถูกเชิญชวนโดยคนที่อยู่ใน Clubhouse อยู่แล้วเท่านั้น อีกทั้งแต่ละคนจะได้สิทธิ์ในการชวนเพื่อนเพียง 2 คนต่อบัญชีเท่านั้น ทำให้ตัวแอปมีความ Exclusive แบบสุด ๆ นั่นเอง ซึ่งสำหรับคนที่ยังไม่ได้สมัครก็สามารถโหลดแอปพลิเคชั่นมาเพื่อจองชื่อ Username ที่ต้องการไว้ก่อนได้ แล้วถ้าเพื่อนหรือคนรู้จักเรามี Account เมื่อไหร่ เราก็สามารถไปขอให้เพื่อนชวนเราเข้าไปเล่นได้นั่นเอง..
สรุปรวม ๆ ก็คือแอป Clubhouse ก็เปรียบเสมือนห้องสโมสรที่รวมคนที่สนใจหัวข้อหรือเรื่องราวคล้าย ๆ กัน ให้สามารถเข้ามาพูดคุยแลกเปลื่ยนความคิดเห็นกันได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ซึ่งก็ถือว่าเป็นเวลานานแล้วเหมือนกันที่ไม่ได้มี Social Media แบบใหม่ ๆ โผล่เข้ามาในตลาด
ส่วนผู้ใช้งาน Android ตอนนี้ก็มีวิธีการเล่น Clubhouse ผ่านแอป Houseclub โดยแอปที่ว่านี้ไม่ได้ลอกเลียนแบบ Clubhouse แต่อย่างใด แต่เป็นการสร้างแอปเพื่อไปเชื่อมต่อกับระบบของ Clubhouse ทั้งหมดเลย นั่นหมายความว่าแอปตัวนี้ถือว่าเป็น 3rd Party App ตัวหนึ่งไม่ต่างอะไรกับแอปอย่าง TweetCaster ที่เป็น 3rd Party App ของ Twitter นั่นเอง
ขอบคุณhttps://droidsans.com/what-is-clubhouse-how-to-play-and-register/
https://www.google.com/search?client=firefox-b-d&q=Clubhouse+%E0%B..