สภาวะอากาศร้อนร่วมกับสภาวะที่มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูงจะมีผลทำให้มีการเติบโตของเชื้อราต่างๆ ในอาหารสัตว์เกิดขึ้นง่าย ทั้งนี้เพราะอาหารสัตว์เป็นแหล่งของแป้งที่เป็นอาหารของเชื้อราต่างๆ เป็นอย่างดี
เชื้อราที่ขึ้นบนอาหารสัตว์มักมีการสร้างสารพิษเชื้อรา (mycotoxins) ชนิดต่างๆ จำนวนหลายชนิดด้วยกัน เช่น สารพิษอะฟลาทอกซิน (aflatoxins) โอคราทอกซิน (ochratoxins) ไตรโคทีซีน (tricothecene) ฟูโมนิซิน (fumonisin) ซีราลีโนน (zearalenone) ฯลฯ
ซึ่งทุกชนิดล้วนมีผลเสียต่อสุขภาพ ความต้านทานโรค การเติบโต และการสืบพันธุ์ของสัตว์ชนิดต่างๆ เป็นอย่างมากทั้งสิ้น
*ที่น่าตระหนัก!! เชื้อราต้องการวิตามินสำหรับการเจริญเติบโต ดังนั้นถ้ามีเชื้อราเกิดขึ้นจะทำลายวิตามินต่างๆ คือ A C B K B1 B2 ไนอาซีน B6ในอาหารไปเป็นจำนวนมาก
คำแนะนำวิธีการจัดการอาหารสัตว์เพื่อการลดปริมาณปนเปื้อนสารพาเชื้อราในอาหารสัตว์
1. รำละเอียดที่มีความชื้นสูงยิ่งต้องรีบใช้โดยเร็วเพราะจะมีโอกาสขึ้นราได้ง่าย หากแก้ปัญหาไม่ได้จริงๆ ควรหาทางงดการใช้รำละเอียดดังกล่าวในสูตรอาหารสัตว์จะเป็นการปลอดภัยมากกว่า
2. ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบอาหารอีกชนิดหนึ่งที่มีโอกาสปนเปื้อนสารพิษเชื้อราสูง ข้าวโพดที่ใช้ในสูตรอาหารในช่วงฤดูฝนมักเป็นข้าวโพดที่ผ่านการเก็บมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรและมีโอกาสปนเปื้อนสารพิษเชื้อราในระดับสูง หากข้าวโพดที่ใช้ผสมอาหารมีเชื้อราขึ้นมาก ควรหลีกเลี่ยงการใช้ข้าวโพดนั้นในการผสมอาหารสัตว์ แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ให้ใช้ข้าวโพดดังกล่าวในปริมาณต่ำ (ไม่เกิน 10-20%) ในสูตรอาหารสัตว์ที่มีความทนทานต่อสารพาเชื้อราได้ดี เช่น อาหารสุกรขุน เป็นต้น ไม่ควรใช้ข้าวโพดดังกล่าวในอาหารสุกรอนุบาล สุกรเล็ก สุกรพ่อแม่พันธุ์ อาหารเป็ดทุกชนิดและทุกระยะโดยเด็ดขาด
3. การฝัดทำความสะอาดเมล็ดข้าวโพดก่อนบดละเอียดและก่อนผสมอาหาร จะสามารถลดปริมาณการปนเปื้อนสารพิษเชื้อราบนเมล็ดข้าวโพดได้มากขึ้น
4. การเสริมสารดูดซับสารพิษ (toxin binders) เช่นสารกลุ่มอะลูมิโนซิลิเกต (aluminosilicates) ได้แก่ สาร HSCAS สารซีโอไลท์ (zeolites) สารเบนโทไนท์ (bentonites) หรือ เมทไธโอนีน จะช่วยขับพิษหรือแก้พิษจากอะฟลาทอกซิน ฯลฯ ในสูตรอาหารสัตว์พบว่าสามารถลดความเป็นพิษของเชื้อราต่างๆ ได้ดี
อย่างไรการเสริมสารดูดซับสารพิษต้องมีปริมาณมากพอที่จะดูดซับสารพิษได้ทั้งหมด ซึ่งจากการวิจัยพบว่าระดับหวังผลอยู่ระหว่าง 1-1.5% ในอาหาร นอกจากนี้การเสริมสารดังกล่าวในสูตรอาหารมักทำให้สัตว์มีการย่อยอาหารและการใช้ประโยชน์ได้ของอาหารสูงขึ้น อีกทั้งสัตว์มีสุขภาพดีขึ้นตามมาด้วย
5. การเพิ่มสารกันรา (mold inhibitor) ในสูตรอาหารก็เป็นวิธีหนึ่งทำให้อาหารสัตว์เก็บได้นานขึ้นโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน
6. การใช้สูตรอาหารมันสำปะหลังในการเลี้ยงสัตว์เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยขจัดปัญหาการปนเปื้อนสารพิษเชื้อราในอาหารสัตว์ได้ดี เพราะมันสำปะหลังมีปัญหาการปนเปื้อนของสารพิษเชื้อราน้อยมากหรือไม่มีเลย
มันสำปะหลังมีความเป็นกรด-ด่าง (พีเอช) เป็นกรดอ่อนๆ และมีการปนเปื้อนจุลินทรีย์ผลิตกรดแลคติค (lactic acid bacteria) มาก ทำให้เชื้อราไม่สามารถเติบโตได้ดี นอกจากนี้สารพิษกรดไฮโดรไซยานิค (HCN) ที่มีอยู่ในระดับต่ำและไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ในมันสำปะหลังที่ใช้เลี้ยงสัตว์ เมื่อเข้าไปในร่างกายจะทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระและมีฤทธิ์ในการสลายสารพิษเชื้อราที่อยู่ในร่างกายสัตว์ด้วย
7. การใช้อาหารที่สดใหม่ ได้แก่ อาหารที่ผสมเสร็จแล้วใช้เลย ไม่เก็บไว้เป็นเวลานาน ก็เป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการป้องกันและแก้ปัญหาการปนเปื้อนสารพิษเชื้อราในอาหารสัตว์ในช่วงฤดูฝน
ที่มา-อาหารสุกรและสัตว์ปีกเชิงประยุกต์ เรียบเรียงครั้งที่ 1 โดยรองศาสตราจารย์ อุทัย คันโธ www.uktpublishing.com.
https://www.lazada.co.th/products/1-i706252744..