สุขภาพ-ชีวิต » แรงงานเมียนมาตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร อยู่กันอย่างไรในพื้นที่ล็อกดาวน์

แรงงานเมียนมาตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร อยู่กันอย่างไรในพื้นที่ล็อกดาวน์

28 ธันวาคม 2020
575   0

แรงงานเมียนมาตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร อยู่กันอย่างไรในพื้นที่ล็อกดาวน์

หลังจากมีการระบาดของโควิด-19 ในตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานต่างชาติอยู่รวมกันอย่างแออัด จำนวนแรงงานที่ติดเชื้อพุ่งไปที่กว่า 1,200 คนแล้วในวันนี้ (24 ธ.ค.) รัฐบาลไทยเริ่มจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในตลาดกลางกุ้งหรือที่ทางการเรียกว่า “พื้นที่ไข่แดง” ของการระบาด โดยเริ่มให้บริการแล้ว 30 เตียง ทว่านั่นจะเพียงพอหรือไม่สำหรับแรงงานต่างชาติที่คาดว่ามีอยู่ราว 3,000 -4,000 คนในพื้นที่นั้น

“เครียดไปเลย คิดอย่างนี้แหละว่าใครติดไหม ไม่ติดไหม…” ติน ติน เฮ แรงงานชาวมอญ วัย 45 ปี ทำงานในแพกุ้ง และอาศัยอยู่ที่หอพักย่านตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยทางโทรศัพท์วานนี้ (23 ธ.ค.)

แรงงานหญิงชาวมอญคนนี้ตกอยู่ในความกังวลไม่ต่างจากแรงงานคนอื่น ๆ ใน “พื้นที่สีแดง” ที่รัฐบาลและ ศบค. ดำเนินการควบคุมการระบาดอยู่ในขณะนี้ ซึ่งถูกระบุว่าเป็นการจัดการตามแบบ “สิงคโปร์โมเดล”

แม้นี่จะเป็นการดำเนินการตามแบบสิงคโปร์ที่ควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด คือ บริเวณหอพักของแรงงาน เพื่อกันกลุ่มแรงงานออกจากประชากรกลุ่มอื่น ทว่าสิงคโปร์โมเดลก็ถูกวิจารณ์จากองค์กรด้านแรงงาน เพราะการล็อกดาวน์แรงงานต่างชาติของสิงคโปร์ ต่างไปจากการล็อกดาวน์ทั่วไปซึ่งอนุญาตให้คนออกไปซื้อของ ออกกำลังกาย และส่งของได้ แต่แรงงานต่างชาติเหล่านี้ถูกกักขังไว้จริง ๆ และได้รับเพียงอาหารพื้นฐานสำหรับยังชีพเท่านั้น..

วัชระพล บูรณะเนตร ผู้ประสานงานภาคสนาม มูลนิธิรักษ์ไทย ซึ่งทำงานในพื้นที่สมุทรสาคร บรรยายสภาพของหอพักแรงงานว่าเป็นตึกที่มีความทรุดโทรมและสภาพแวดล้อมไม่ดี พวกเขาอาศัยกันอยู่ในห้องที่แออัด ซึ่งนั่นทำให้ยากต่อการเว้นระยะเพื่อป้องกันโรค จากการรวบรวมข้อมูลของอาสาสมัครที่มูลนิธิสำรวจล่าสุดในโซนล็อกดาวน์มีห้องพักอยู่ประมาณ 1,209 ห้อง

“เคยเห็นทาวน์เฮาส์ที่เขาทำเป็นห้องพักไหมครับ เขาจะซอยห้องออกไปเยอะ ๆ เป็นห้องพัก พวกเขาอยู่กันในนั้น”

“บางห้องมี 3 คนมีพ่อแม่ลูก บางห้องมี 4 คน จากที่จังหวัดประมาณการน่าจะมีแรงงานกว่า 4,000 คน เป็นการประเมินจากจำนวนห้องที่มี แต่ทางเรายังไม่รู้แน่ชัดว่ามีคนเท่าไหร่”

Thai News Pix
คำบรรยายภาพ, หอพักแรงงานข้ามชาติภายในตลาดกลางกุ้ง มหาชัย ก่อนการปิดกั้นพื้นที่ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.

เจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทย ซึ่งเข้ามาสนับสนุนเป็นล่ามให้กับหมอ พยาบาลภาคสนามในการตรวจคัดกรอง บอกว่าความกังวลของแรงงานในตลาดกุ้งที่สะท้อนออกมา คือ พวกเขาไม่รู้ว่าใครติดเชื้อบ้าง จะได้รับเชื้อหรือไม่ และต้องแยกตัวออกจากผู้ที่พักอาศัยร่วมกันอย่างไร รวมไปถึงวิธีการป้องกัน ทำให้แรงงานมีความเครียด เพราะแรงงานส่วนหนึ่งที่อยู่ข้างในเป็นแรงงานที่ไม่มีบัตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีปัญหาขยะที่เริ่มสะสมซึ่งทางจังหวัดสมุทรสาครกำลังหาแนวทางแก้ไขอยู่

“พวกเขามีความกังวลใจว่าตกลงใครติดเชื้อบ้าง เขาเป็นหรือเปล่า หรือเพื่อนเขาเป็น ถ้าเพื่อนติดหรือครอบครัวติดจะแยกตัวออกจากห้องยังไง”

แรงงานชาวมอญในตลาดกลางกุ้ง

ติน ติน เฮ ทำงานในแพกุ้ง และอาศัยอยู่ที่หอพักย่านตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร กับสามีและลูกวัย 12 ปี ในห้องพักที่อยู่มาก่อนนี้ ทั้งสามคนได้รับการตรวจหาเชื้อแล้วตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่แล้ว แต่เพิ่งได้รับโทรศัพท์แจ้งผลในวันนี้ (24 ธ.ค.) ซึ่งนับเป็นเวลาเกือบหนึ่งสัปดาห์ โดยผลระบุว่าทั้งเธอและครอบครัวไม่พบเชื้อ

“ออกข่าวว่าติด 500 คน 300 คน แต่พวกเราไม่มีอาการ ไม่ได้เป็นอะไรเลย” เธอเล่าถึงตัวเธอและครอบครัวเป็นภาษาไทยเท่าที่พอสื่อสารได้

ติน ติน ซึ่งเข้ามาทำงานในไทยมาราว 15 ปี แล้ว เล่าความเป็นอยู่ของแรงงานตอนนี้ว่า แรงงานในพื้นที่นี้มีทั้งทำงานในตลาดกุ้ง และทำงานในโรงงาน แม้จะมีการล็อกดาวน์บริเวณตลาด แต่แรงงานในหอพักย่านนี้ก็ยังอาศัยในห้องพักแบบเดิม ไม่ได้มีการแยกว่าใครเป็นผู้ป่วย เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าใครที่ติดเชื้อบ้าง

เธอบอกอีกว่า เพื่อนแรงงานในตลาดกุ้งทยอยออกไปตรวจทุกวัน มีการเอาชื่อไปและบอกว่าหากติดเชื้อจะโทรศัพท์แจ้งผล วันนี้ติน ติน ได้รับโทรศัพท์ แต่ยังมีอีกหลายคนที่ยังรอการแจ้งผลการตรวจ

ส่วนเรื่องการกินอยู่ ติน ติน เล่าว่าร้านค้าในนั้นปิดหมด แต่ยังมีอาหารเพียงพอจากการได้รับแจกข้าวสารถุงและอาหารแห้ง เช่น ปลากระป๋อง ทั้งจากนายจ้างและจากจังหวัดที่เอามาวางไว้ให้ที่จุดรวมในตลาด

หอพักแรงงานข้ามชาติภายในตลาดกลางกุ้ง มหาชัย ก่อนการปิดกั้นพื้นที่ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.
คำบรรยายภาพ, หอพักแรงงานข้ามชาติภายในตลาดกลางกุ้ง มหาชัย ก่อนการปิดกั้นพื้นที่ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.

เธอยังชื่นชมเจ้าหน้าที่ที่คอยนำอาหารมาให้ นอกจากนี้ ติน ติน ยังทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครไปรับอาหารและน้ำในแต่ละวัน แล้วเดินแจกให้กับเพื่อนแรงงานตามตึก และคอยถามอาการว่ามีการเจ็บป่วยหรือไม่ รวมทั้งให้คำแนะนำให้ไปพบหมอหากมีอาการ

“ฉันส่งข้าวที่ห้อง ต้องถามอยู่กี่คน ส่งทั้งน้ำข้าว ไม่ต้องให้พวกเขาลงมา” ติน ติน เล่า

แรงงานหญิงจากประเทศเพื่อนบ้านคนนี้บอกว่า เธอไม่ได้รู้สึกตกใจในวันแรกที่ถูกจำกัดพื้นที่ เพราะเข้าใจถึงมาตรการของทางการ ส่วนความต้องการในตอนนี้ เธอบอกว่าเป็นหน้ากากอนามัยที่เริ่มจะไม่เพียงพอ เพราะที่ใช้อยู่ก็เป็นส่วนที่หาซื้อไว้ใช้ก่อนหน้านี้

“ถ้าออกไปข้างนอก หรือคนข้างนอกเข้ามาก็อันตราย ใครติด ใครไม่ติดไม่รู้เนอะ อย่างนี้ดีกว่า”

โรงพยาบาลสนามที่รองรับได้สูงสุด 100 เตียง

วานนี้ (23 ธ.ค.) มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในบริเวณตลาดกลางกุ้งขึ้นและเริ่มให้บริการเป็นวันแรก จำนวน 30 เตียง

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่าในบริเวณนี้ที่มีผู้ติดเชื้อค่อนข้างมาก พื้นที่โรงพยาบาลสนามซึ่งรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ จะใช้ดูแลรักษาผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย และให้การรักษาเบื้องต้นโรคทั่วไป วางแผนครอบครัว ฉีดยาคุมกำเนิด และสุขภาพจิต ตามหลักมนุษยธรรม ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล มีทีมแพทย์และพยาบาลประจำ หากมีอาการรุนแรงจะส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งจนถึงวานนี้ให้การรักษาผู้ป่วยแล้ว 75 คน

โรงพยาบาลสนามภายในตลาดกลางกุ้ง ที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.
คำบรรยายภาพ, โรงพยาบาลสนามภายในตลาดกลางกุ้ง ที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.

โรงพยาบาลสนาม แบ่งโซนบริการเป็น 3 โซน ได้แก่ โซนสีแดงคือบริเวณหอพัก โซนสีส้ม จุดรอรักษาและคัดกรอง และโซนสีเขียวคือจุดพยาบาลปฏิบัติการ ขณะนี้กำลังเพิ่มจำนวนโดยได้รับการสนับสนุนเตียงจากทหาร คาดว่าจะรองรับได้สูงสุด 100 เตียง

ส่วนแผนการรักษากลุ่มแรงงานต่างชาติ นพ.เกียรติภูมิ ระบุว่า จะนำคนที่กักตัวครบ 14 วันออกมาเจาะเลือดตรวจหาภูมิต้านทาน ซึ่งหากมีภูมิต้านทานแล้วถือว่าหายป่วย จะย้ายออกไปอยู่ในบริเวณอื่นที่ภาครัฐจัดไว้ให้

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุด้วยว่า การดูแลสุขภาพแรงงานในหอพักที่ตลาดกลางกุ้งนั้นเป็นการกักตัวเป็นกลุ่มก้อน (cluster quarantine) เพื่อไม่ให้คนในกลุ่มนั้นเดินทางและเกิดการแพร่เชื้อ มีทีมอาสาสมัครแรงงานต่างด้าว (อสต.) ช่วยในการสื่อสารและให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ผู้ที่อยู่ภายในที่พัก จัดส่งอาหารและระบบป้องกันโรค และมีทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤตลงพื้นที่ดูแลด้านสุขภาพจิต

ถูกทิ้งไว้กลางทาง

หลังจากปรากฏผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างชาติ มาตราการหนึ่งที่รัฐดำเนินการ ได้แก่ การกวาดล้างจับกุมของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และกระทรวงแรงงาน ที่ปล่อยชุดเคลื่อนที่เร็วตรวจจับแรงงานลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายในหลายพื้นที่ เริ่มทำให้เกิดสภาพนายจ้างลอยแพแรงงานอย่างที่เกิดขึนที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ทำให้เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยุตินโยบายการตรวจจับแรงงานและนายจ้างที่ผิดกฎหมาย แต่ให้ปรับวิธีการเป็นการขอความร่วมมือจากแรงงานทุกคนในการตรวจ คัดกรองและรักษาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

“ข่าวสารและสัญญาณที่นายกรัฐมนตรีและฝ่ายความมั่นคงส่งออกไปนั้น ได้ทำลายบรรยากาศของความไว้วางใจและความร่วมมือในการป้องกันรักษาโรคโควิด-19 ลงอย่างน่าเสียดาย”

เจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทย องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ ช่วยสนับสนุนการเป็นล่ามแปลภาษาให้กับพยาบาลภาคสนาม และจัดคิวเข้ารับการตรวจอย่างเว้นระยะห่าง
คำบรรยายภาพ, เจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทย องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ ช่วยสนับสนุนการเป็นล่ามแปลภาษาให้กับพยาบาลภาคสนาม และจัดคิวเข้ารับการตรวจอย่างเว้นระยะห่าง

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ได้ย้อนปัญหาของแรงงานนอกกฎหมายในปีนี้ว่าเกิดในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ในระยะแรก การกำหนดนโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและสถานการณ์ ไม่ชัดเจนและขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะเรื่องการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ การต่อใบอนุญาตทำงานและวีซ่าในช่วงที่มีการปิดพรมแดน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการนำแรงงานกลับเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องกฎหมาย

ทั้งกฎระเบียบการทำงานที่ไม่เอื้อให้แรงงานข้ามชาติสามารถเปลี่ยนงานจากกิจการที่ที่ลดจำนวนคนไปสู่กิจการที่ต้องการแรงงาน ด้วยการเปลียนนายจ้างอย่างถูกต้องตามกฎหมายส่งผลให้มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ถูกเลิกจ้างจากกิจการที่ปิดตัวลงหรือลดจำนวนแรงงาน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านที่ผลักแรงงานเข้ามาทำงานและความต้องการแรงงานของนายจ้าง หรือการทุจริตของเจ้าหน้าที่บางคน ส่งผลให้มีขบวนการลักลอบพาแรงงานเข้าประเทศที่ยากแก่การป้องกันและปราบปรามได้.

ขอบคุณ https://www.bbc.com/thai/thailand-55435224