เลี้ยงสัตว์ » จังหวัดน่าน ,ลำพูน หมูตายนับพันด้วยโรคPRRS..กรมปศุสัตว์สั่งคุมเข้มหวั่นแพร่ระบาด

จังหวัดน่าน ,ลำพูน หมูตายนับพันด้วยโรคPRRS..กรมปศุสัตว์สั่งคุมเข้มหวั่นแพร่ระบาด

9 พฤศจิกายน 2020
2171   0

นายสัตวแพทย์อนุสรณ์ หอมขจร ปศุสัตว์จังหวัดน่าน เปิดเผยว่า เนื่องด้วยขณะนี้เกิดการแพร่ระบาดของโรคพีอาร์อาร์เอส (PRRS: Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome) ในสุกรในหลายหมู่บ้านของตำบลยม ตำบลผาตอ ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา และตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว จังหวัดน่าน ทำให้สุกรป่วย ตาย เป็นจำนวนมาก..

ทั้งนี้ สุกรที่ป่วยจะแสดงอาการซึม มีไข้ ไม่กินอาหาร แท้ง โดยที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดน่าน ได้ดำเนินการควบคุมโรคและให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการป้องกันโรค จึงขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร เฝ้าระวังและป้องกันโรค โดยจัดให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ เช่น ฟาร์มต้องมีรั้วรอบขอบชิด ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปในบริเวณฟาร์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถขนส่งสุกร รถขนส่งอาหารสัตว์ หรือเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรฟาร์มอื่น มีการแยกใช้อุปกรณ์ภายในฟาร์มโดยเฉพาะจัดให้มีอ่างจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ทำการพ่นยาฆ่าเชื้อยานพาหนะ อุปกรณ์ต่างๆ และโรงเรือนเป็นประจำ หากพบสุกรป่วยด้วยอาการข้างต้น ให้แจ้งปศุสัตว์อำเภอทันที..

โรค PRRS ไม่ติดต่อคน โดยเกิดจากไวรัสไม่มียารักษา จึงต้องทำลายหมูในพื้นที่เสี่ยง เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยยืนยันว่ามีการเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง และมีมาตรการติดตามการชำแหละ-จำหน่ายเนื้อหมูอย่างเข้มงวด ซึ่งโดยก่อนหน้านั้นนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome (PRRS) นั้นทำให้ต้องทำลายสุกรในรัศมีที่กำหนดจากจุดเกิดโรค เพื่อลดปริมาณสุกร ซึ่งจะลดความเสี่ยงที่จะเสียหายจากการแพร่ระบาด

ทั้งนี้ โรค PRRS ทำให้เกิดกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจ พบได้ในสัตว์จำพวกสุกร ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมีกีบคู่ ทั้งที่เป็นสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันถึงการติดเชื้อในสัตว์ชนิดอื่น รวมทั้งไม่ติดต่อสู่คน สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Arteriviridae แบ่งออกเป็น 2 จีโนไทป์ ได้แก่ ไทป์ 1 กลุ่มสายพันธุ์ยุโรป และไทป์ 2 กลุ่มสายพันธุ์อเมริกา ต่อมาปี 2549 พบการระบาดของไวรัสไทป์ 2 สายพันธุ์รุนแรงในจีนและประเทศในแถบอาเซียน.

สำหรับการติดต่อของเชื้อผ่านทางรก ทางน้ำนม หรือจากการสัมผัสโดยตรงกับสุกรที่ติดเชื้อ ผ่านทางอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำเชื้อ สิ่งคัดหลั่ง หรือแม้แต่การรับเชื้อทางอากาศ ทำให้เกิดการติดเชื้อวนเวียนในฝูงสุกร นอกจากนี้ ยังพบการติดต่อผ่านทางสัตว์พาหะ เช่น ยุง อาการและความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ การจัดการฟาร์ม การสุขาภิบาล ระบบการหมุนเวียนอากาศ และสุขภาพของสุกรในฝูง โดยสุกรตัวเต็มวัยอาจคลอดก่อนกำหนด แท้งในระยะท้ายของการตั้งท้อง ลูกที่คลอดอ่อนแอ อัตราลูกตายแรกคลอดสูง ส่วนสุกรเล็กมักมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แคระแกร็น โตช้า และพบโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย เป็นโรคที่ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ.


รายละเอียดของโรค

โรค พี อาร์ อาร์ เอส (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome , PRRS)

กลุ่มไวรัสวิทยา สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ

บทนำ
โรค พี อาร์ อาร์ เอส หรือ Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome เป็นโรคที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์ และทางเดินหายใจ โดยมีรายงานการระบาดเป็นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2530 ประเทศเยอรมนีในปี พ.ศ.2533 แล้วแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วทวีปยุโรป ในขณะที่มีการแพร่กระจายของโรค ความรุนแรงและสูญเสียในกลุ่มสุกรพันธุ์ค่อยๆ ลดลง แต่ไปมีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจในกลุ่มสุกรอนุบาล และสุกรขุนมากขึ้น
ในระยะแรกยังไม่ทราบสาเหตุของโรค จึงมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น Mystery Swine Disease, Swine Infertility and Respiratory Syndrome (SIRS), New Pig Disease, Blue Ear, Porcine Epidemic Abortion and Respiratory Syndrome (PEARS) ต่อมาในปี พ.ศ.2534 นักวิจัยชาวเนเธอร์แลนด์สามารถแยกเชื้อซึ่งทำให้สุกรทดลองแสดงอาการเช่นเดียวกับสุกรป่วยได้เป็นผลสำเร็จจึงตั้งชื่อเชื้อไวรัสนี้ว่า “Lelystad virus” ขณะเดียวกันทางอเมริกาก็แยกเชื้อได้เช่นกันโดยตั้งชื่อว่า “VR-2332” หลังจากนั้นจึงมีการศึกษาเกี่ยวกับเชื้อไวรัสนี้อย่างกว้างขวาง มีการพัฒนาการตรวจโรคทั้งด้านซีรั่มวิทยา และวิธีการแยกเชื้อให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว จากการศึกษาด้านซีรั่มวิทยาควบคู่ไปกับการแยกและพิสูจน์เชื้อบ่งชี้ว่าโรค พี อาร์ อาร์ เอส มีการแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตที่มีการเลี้ยงสุกรอย่างหนาแน่น ประเทศเดียวที่ยังปลอดจากโรคนี้คือ ออสเตรเลีย

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Arteriviridae ซึ่งเป็น RNA ไวรัสชนิดสายเดี่ยว ขนาดเล็ก (45-65 nm) มีเปลือกหุ้ม เชื้อถูกทำลายได้ง่ายในสภาพอากาศร้อน (37oC ภายใน 48 ชั่วโมง) และมีความคงทนต่ำในสภาพกรด ด่าง (คงทนที่ pH 5.5-6.5)
มีเซลล์เพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถใช้เพาะเลี้ยงเชื้อไวรัสนี้ได้ เซลล์ที่ใช้ได้ดีที่สุดคือเซลล์แม็คโครฟาจที่เตรียมจากปอดลูกสุกรอายุ 4-8 สัปดาห์ เชื้อไวรัสนี้สามารถคงอยู่ในกระแสโลหิตได้เป็นเวลานาน แม้แต่ในระยะเดียวกับที่ตรวจพบแอนติบอดีก็ยังสามารถตรวจะพบเชื้อได้ นอกจากนั้นเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส ยังมีความหลากหลายทางด้านแอนติเจน เชื้อที่แยกได้จากอเมริกาเป็นคนละชนิดกันกับทางยุโรป โดยมีคุณสมบัติของแอนติเจนบางส่วนร่วมกันบ้าง แต่ไม่เหมือนกันทั้งหมด และเชื้อที่แยกได้จากทางอเมริกาเองจะมีความหลากหลายมากกว่าเชื้อที่แยกได้จากทางยุโรป

การแพร่กระจายของเชื้อ
– โดยการนำสุกรป่วย หรือสุกรที่เป็นตัวอมโรคเข้าสู่ฝูง
– โดยการแพร่กระจายของเชื้อทางอากาศภายในรัศมี 3 กิโลเมตร (โดยทั่วไปประมาณ 2 กิโลเมตร)
– โดยการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ป่วย เชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส จำนวนมากจะถูกขับออกมาทางลมหายใจและอุจจาระเชื้อจึงแพร่จากสุกรป่วยไปยังสุกรอื่นๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะจากการดมและเลียกัน

อาการ
อาการและความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ การจัดการฟาร์ม การสุขาภิบาล ระบบการหมุนเวียนอากาศ และสถานภาพสุขภาพของสุกรในฝูง
– สุกรพันธุ์ พบว่ามีการคลอดก่อนกำหนด แท้งในระยะท้ายของการตั้งท้อง (มากกว่า 100 วัน) ลูกที่คลอดอ่อนแอ อัตราการเกิดมัมมี่และลูกตายแรกคลอดสูง
– สุกรดูดนม สุกรอนุบาล สุกรขุน มักมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แคระแกร็น โตช้า และมักพบโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วยความรุนแรงของโรคจะลดลงเมื่อสุกรอายุมากขึ้น สุกรที่อายุมากกว่า 1 เดือน จะแสดงอาการไม่เด่นชัดถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน
หลักจากมีการระบาดของโรคนี้ไประยะหนึ่ง ความรุนแรงของโรคจะค่อยๆ ลดลง ซึ่งอาจเนื่องมาจากมีการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น ทำให้สุกรป่วยแสดงอาการไม่รุนแรง หรืออาจมีการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัสทำให้ความรุนแรงลดลง เพื่อให้เชื้อสามารถคงอยู่ในฝูงได้เป็นเวลานานในระยะหลังๆ มีรายงานการตรวจพบแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส แต่มักไม่พบว่ามีความสูญเสียเกิดขึ้นอย่างเด่นชัด

สภาวะของโรค พี อาร์ อาร์ เอสในประเทศไทย
ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2538 สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ ได้เริ่มทำการศึกษาสภาวะของโรค พี อาร์ อาร์ เอส แบบย้อนหลังจากตัวอย่างซีรั่มสุกรที่เก็บไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531-2539 โดยตรวจพบแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส ตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 จำนวนซีรั่มสุกรที่ให้ผลบวกมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี จาก8.6% ในปีพ.ศ.2534 เป็น 56% ในปีพ.ศ.2538 และ 2539 ผลการตรวจทางซีรั่มวิทยาบ่งชี้ว่าสุกรในบ้านเรามีการติดเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส อย่างน้อยที่สุดตั้งแต่ปีพ.ศ.2532 และมีการแพร่กระจายของเชื้ออย่างกว้างขวางในบริเวณที่มีการเลี้ยงสุกร ในปีพ.ศ.2539 พบว่าซีรั่มสุกรจากเกือบทุกฟาร์มที่ส่งมาตรวจที่สถาบันฯ ให้ผลบวกต่อการตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส โดยที่ทางฟาร์มไม่เคยตระหนักว่ามีเชื้อนี้อยู่ในฝูงมาก่อน เนื่องจากไม่พบว่ามีความสูญเสียอย่างเด่นชัด ขณะเดียวกันทางสถาบันฯ ก็ได้ตรวจซีรั่มจากสุกรนำเข้าตั้งแต่ปี พ.ศ.2534-2539 ผลการตรวจบ่งชี้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อภายในประเทศ อาจมีสาเหตุจากการนำเข้าสุกรที่มีการติดเชื้อ หรือเป็นตัวอมโรคจากต่างประเทศ
แม้ว่าในปีพ.ศ.2534 ได้มีการตื่นตัวและเฝ้าระวังเกี่ยวกับโรคนี้ขึ้นจนส่งผลให้มีการชะลอการนำเข้าสุกรจากต่างประเทศในปีนั้น แต่ผลการศึกษาทางซีรั่มวิทยาบ่งชี้ว่าโรคได้เข้าสู่ประเทศไทยมาก่อนปีพ.ศ.2534 ซึ่งระยะนั้นยังไม่มีประเทศใดสามารถตรวจแยกและพิสูจน์เชื้อนี้ได้ การที่โรคพี อาร์ อาร์ เอส แพร่ระบาดเข้าสู่ประเทศไทย จึงเป็นสาเหตุสุดวิสัยไม่อาจตำหนิว่าเป็นความผิดของใครได้ แม้แต่ประเทศผู้ส่งออกก็ตาม
หลักจากทราบผลการศึกษาสภาวะของโรค พี อาร์ อาร์ เอส ในประเทศแล้ว ทางสถาบันฯ ได้รายงานไปยังกองควบคุมโรคระบาด กรมปศุสัตว์ กองควบคุมโรคระบาดจึงได้กำหนดให้มีการตรวจโรค พี อาร์ อาร์ เอส ในสุกรนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีกโรคหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำเชื้อ พี อาร์ อาร์ เอส สายพันธุ์ใหม่เข้าสู่ประเทศ ดังนั้นตั้งแต่ต้นปีพ.ศ.2539 เป็นต้นมา สุกรนำเข้าทุกตัวต้องได้รับการตรวจว่าปลอดจากโรคนี้
สถาบันฯ ได้พยายามแยกเชื้อจากสุกรพันธุ์ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ จากลูกแท้งหรือลูกคลอดอ่อนแอมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2538 ควบคู่ไปกับการตรวจระดับแอนติบอดีที่เพิ่มขึ้นในซีรั่ม โดยตรวจซ้ำ 2 ครั้ง ห่างกัน 3 อาทิตย์ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนกระทั่งในกลางปีเดียวกันจึงสามารถแยกเชื้อไวรัสได้เป็นครั้งแรกจากสุกรอนุบาล ซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจแบบเรื้อรัง จากฟาร์มสุกรแห่งหนึ่งในเขต 7 จนถึงปัจจุบันเชื้อที่แยกได้ทั้งหมดมาจากสุกรอนุบาล หรือสุกรขุนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และหรือท้องเสียเท่านั้น (โรคแทรกซ้อน) จึงไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส เป็นสาเหตุโดยตรงเกี่ยวกับการแท้งของสุกรในประเทศไทย
ต่อมาสถาบันฯ ได้ทำการศึกษาความรุนแรงของเชื้อที่แยกได้ โดยผ่านเชื้อเข้าลูกสุกรทดลอง พบว่าเชื้อที่แยกได้เป็นชนิดไม่รุนแรงนัก โดยทำให้ลูกสุกรทดลองมีไข้ต่ำๆ อยู่ประมาณ 3 วัน มีอาการซึม เบื่ออาหาร แล้วหายเป็นปกติภายใน 10 วัน นอกจากนั้นได้ทำการศึกษาคุณสมบัติของเชื้อนี้ โดยวิธีการเพิ่มขยายยีนส์ในหลอดทดลอง (Polymerase chain reaction) พบว่าเชื้อที่แยกได้ในบ้านเรามีความใกล้ชิดกับสายเชื้อทางอเมริกามากกว่าสายเชื้อทางยุโรป อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถสรุปได้แน่นอน จำเป็นต้องมีการแยกและศึกษาเชื้อเพิ่มเติมอีกเนื่องจากการนำเข้าสุกรมีทั้งจากยุโรปและอเมริกา จึงออกเป็นไปได้ว่ามีเชื้อไวรัสทั้งสองสายพันธุ์ในบ้านเรา เช่าเดียวกับรายงานจากประเทศอื่นๆ ทางแถบเอเซีย

การชันสูตร
เนื่องจากเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส ทำให้เกิดกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์ (แท้ง, คลอดก่อนกำหนด, ผสมไม่ติด) และระบบหายใจ และไม่มีรอยโรคเฉพาะ การวินิจฉัยโรคโดยการซักประวัติร่วมกับการสังเกตอาการจึงไม่เพียงพอเนื่องจากมีโรคสุกรอีกหลายชนิดที่ทำให้สุกรป่วย และแสดงอาการเช่นเดียวกันจำเป็นต้องมีการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ
– การตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส โดยใช้ชุดตรวจสำเร็จรูป (ELISA test kit) ส่งตรวจได้ที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ (กรมปศุสัตว์) คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
– การตรวจแยกและพิสูจน์เชื้อ โดยการเพาะเชื้อในเซลล์แม็คโครฟาจ แล้วย้อมด้วยแอนติซีรั่มจำเพาะต่อเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส ส่งตรวจได้ที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์

ตัวอย่างที่ใช้ในการตรวจ
ก. แม่สุกร ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนด
– ซีรั่ม
– ลูกตายแรกคลอด ลูกคลอดอ่อนแอ หรือลูกแท้ง
ข. ลูกสุกร
– ส่งลูกสุกรป่วย
– ซีรั่ม
– อวัยวะ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ทอมซิล ม้าม และปอด

วิธีการส่ง
– ซีรั่มหรืออวัยวะ ให้แช่เย็นในกระติกน้ำแข็งและนำส่งทันที ถ้าไม่สามารถส่งตรวจได้ในวันนั้น ควรเก็บแช่แข็งที่ -20oC และส่งภายใน 3 วัน
ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีการใช้วัคซีนป้องกันโรค พี อาร์ อาร์ เอส ในประเทศไทย แต่การตรวจพบแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส ไม่สามารถระบุได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในฟาร์มมีสาเหตุโดยตรงจากเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส การตรวจพบแอนติบอดี เพียงบ่งชี้ว่าสุกรเคยมีการสัมผัสเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส มาก่อนหน้านั้น ส่วนการที่จะสรุปว่าปัญหาที่เกิดขึ้นภายในฟาร์ม มีสาเหตุเนื่องมาจากติดเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส นั้น จำเป็นต้องตรวจซีรั่มซ้ำ 2 ครั้ง ห่างกัน 3 อาทิตย์ จากสุกรป่วยเพื่อดูระดับแอนติบอดีที่เพิ่มขึ้น และหรือร่วมกันกับการตรวจแยกและพิสูจน์เชื้อเท่านั้น

แนวทางในการป้องกันและควบคุมความเสียหายที่เกิดจากโรค พี อาร์ อาร์ เอส
– ในกรณีที่ฝูงยังไม่มีการติดเชื้อ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการตรวจเช็คสุกรสาวทดแทนและสุกรพ่อพันธุ์ที่เข้าใหม่ทุกตัวว่าปลอดจากโรคพี อาร์ อาร์ เอส
– ในกรณีที่ฝูงมีการสัมผัสเชื้อมาแล้ว ซึ่งเป็นสถานภาพของฟาร์มสุกรส่วนใหญ่ในประเทศไทย (>95%) มักไม่ค่อยพบการสูญเสียอย่างรุนแรงทางด้านระบบสืบพันธุ์ แต่จะพบปัญหาการสูญเสียอย่างแอบแฝง โดยเฉพาะปัญหาทางด้านระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมักพบเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ ร่วมด้วยการลดความสูญเสียจึงมุ่งไปยังการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมโรคแบคทีเรียแทรกซ้อน และการใช้วัคซีนเพื่อควบคุมโรคไวรัสระบบทางเดินหายใจ
ในกรณีที่มีการนำสุกรสาวทดแทนหรือสุกรพ่อพันธุ์ที่ปลอดจากโรค พี อาร์ อาร์ เอส เข้าสู่ฟาร์ม ควรนำสุกรดังกล่าวไปอยู่รวมกับสุกรเดิมที่มีการติดเชื้อ เพื่อให้สุกรใหม่ได้รับเชื้อและสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นก่อนที่จะนำไปใช้งาน วิธีที่ดีที่สุดได้แก่การนำสุกรสาวไปขังไว้ใกล้กับลูกสุกรอายุ 6-10 สัปดาห์ เป็นเวลานาน 3 สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการติดเชื้อ หลังจากนั้นรออีกประมาณ 3-4 สัปดาห์ เพื่อให้มีการสร้างแอนติบอดีขึ้นจึงนำไปใช้ผสมพันธุ์ได้

การควบคุมความสูญเสียจากโรคพี อาร์ อาร์ เอส
1. สุกรที่จะนำเข้ามาทดแทนจากแหล่งอื่น ต้องมีระยะพักฟื้นกักโรค และก่อนใช้งานควรนำมารวมกับสุกรเก่าในฟาร์ม อย่างน้อย 1 เดือน เพื่อป้องกันปัญหาระหว่างอุ้มท้อง
2. ให้ยาลดการอักเสบและยาลดไข้แม่สุกร 7-10 วันก่อนคลอด เพื่อลดการคลอดก่อนกำหนด
3. เพิ่มความอบอุ่นในห้องคลอดโดยการใช้ไฟกก และให้ลูกสุกรคลอดได้รับน้ำนมเหลืองเพียงพอ
4. ในลูกสุกรที่มีการติดเชื้อแรกคลอด ให้ลดภาวะต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความเครียด เช่น เลื่อนการตัดหางและการฉีดธาตุเหล็กออกไปประมาณ 3 วันหลังคลอด ในลูกสุกรที่อ่อนแออาจงดหรือเลื่อนการตัดเขี้ยวออกไป แต่การผูกสายสะดือทำได้ในวันแรกคลอด
5. ให้วิตามิน กลูโคส และอิเล็กโตรไลท์ แก่ลูกสุกรที่อ่อนแอ และเปลี่ยนสูตรอาหารเป็นชนิดที่ให้พลังงานสูงแก่แม่สุกร
6. ควบคุมโรคแทรกซ้อน โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ ด้วยยาปฏิชีวนะ
7. รักษาความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดปริมาณของเชื้อไวรัสและเชื้ออื่นๆ ที่สะสมอยู่ภายในฟาร์ม
8. อย่ารีบผสมพันธุ์แม่สุกรที่เพิ่งแท้งลูก ควรรออย่างน้อย 21 วัน การผสมครั้งแรกหลังจากมีการระบาดของโรค ควรใช้การผสมเทียมก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่สมบูรณ์พันธุ์ในสุกรตัวผู้

วัคซีน
ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีวัคซีน พี อาร์ อาร์ เอส ออกมาจำหน่ายหลายชนิดทั้งชนิดเชื้อเป็นและเชื้อตาย โดยมีประสิทธิภาพในการคุ้มโรคแตกต่างกันออกไป วัคซีนเชื้อตายให้ผลไม่ดีในแง่ความคุ้มโรคและการลดการสูญเสียเมื่อเทียบกับวัคซีนเชื้อเป็น ความหลากหลายทางด้านแอนติเจนของตัวเชื้อเองก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ ถึงแม้ว่าวัคซีนสามารถให้ความคุ้มโรคข้ามสายพันธุ์ได้แต่ความคุ้มโรคที่เกิดขึ้นจะดีกว่า ถ้าวัคซีนที่ใช้มีความใกล้เคียงกับเชื้อที่ระบาดในท้องที่นั้นๆ นอกจากนั้นวัคซีนยังมีราคาค่อนข้างสูงมาก

ข้อเสียของการใช้วัคซีน

ก. ในสุกรอุ้มท้อง เชื้อไวรัสจากวัคซีนเชื้อเป็นสามารถผ่านรกและทำให้เกิดการติดเชื้อในตัวอ่อนได้
ข. ในสุกรพ่อพันธุ์ การใช้วัคซีนเชื้อเป็นมีผลทำให้ตัวอสุจิมีรูปร่างผิดปกติและเคลื่อนไหวช้าลง นอกจากนั้นเชื้อไวรัสจะถูกขับมาในน้ำเชื้อได้เป็นเวลานาน ซึ่งจะมีผลต่ออัตราการผสมติด
ค. หลังจากทำวัคซีนเชื้อเป็น สามารถตรวจพบเชื้อไวรัสในกระแสเลือดได้นานถึง 2 สัปดาห์ ซึ่งจะไปรบกวนผลการแยกและพิสูจน์เชื้อทางห้องปฏิบัติการ
ง. แอนติบอดีที่เกิดขึ้นไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ หรือเนื่องมาจากการทำวัคซีน
เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการเกี่ยวกับการใช้วัคซีน รวมทั้งประสิทธิภาพของวัคซีนในการให้ความคุ้มต่อโรคซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์บ้านเราก็ยังไม่ทราบแน่ชัด นอกจากนั้นราคาของวัคซีนค่อนข้างแพงมาก ซึ่งอาจทำให้ประโยชน์ที่ได้เนื่องจากการใช้วัคซีนไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายยิ่งกว่านั้นโรค พี อาร์ อาร์ เอส ไม่ใช่โรคระบาดร้ายแรงที่ทำให้สุกรตาย ไม่ใช่โรคใหม่ มีการระบาดของเชื้อนี้ในสุกรบ้านเรามาตั้งแต่ปีพ.ศ.2532 ฉะนั้นการแก้ปัญหาและลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นเนื่องจากโรค พี อาร์ อาร์ เอส โดยเน้นทางด้านการสุขาภิบาลและการจัดการฟาร์มที่ดี จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการลดความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าการหวังผลจากการใช้วัคซีน การมีสุขาภิบาลและการจัดการฟาร์มที่ดี ไม่ใช่จะช่วยลดปัญหาเฉพาะโรค พี อาร์ อาร์ เอส เท่านั้น แต่ยังช่วยลดปัญหาที่เกิดจากโรคอื่นๆ ได้ด้วย

สรุป
เชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส ถูกทำลายได้ง่ายในสภาพอากาศร้อน และมีความคงทนต่ำต่อสภาพกรดด่าง เชื้อไวรัสที่แยกได้จากท้องที่เป็นชนิดที่ไม่รุนแรงมาก ประกอบกับการเลี้ยงสุกรในบ้านเราเลี้ยงในโรงเรือนปิด ทำให้ไม่มีการสะสมของเชื้อมากเช่นการเลี้ยงในโรงเรือนปิด ความสูญเสียจึงไม่รุนแรงดังเช่นที่มีรายงานในประเทศทางเขตหนาว การจัดการฟาร์ม การสุขาภิบาล และระบบการถ่ายเทอากาศที่ดี มีการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเป็นประจำ รวมทั้งการควบคุมป้องกันโรคแทรกซ้อนอื่นๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมและลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นเนื่องจากโรค พี อาร์ อาร์ เอส.

ที่มา https://108kaset.com/2020/11/09/prrs-pig-2/