โป๊ะเช๊ะ ดอท คอม

”พังแหร” มีพิษอย่างแรง ห้ามให้แพะแกะกินโดยเด็ดขาด!!

”พังแหร” มีพิษอย่างแรง ห้ามให้แพะแกะกินโดยเด็ดขาด!!

..ฝากเตือนอันตรายในการนำพืชที่มีพิษให้แพะ/แกะ กินเป็นอาหารพืชที่ว่านี้ คือ ”พังแหร” มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปอ (เชียงใหม่), พังแหร (แพร่), พังแหรใหญ่ พังแกรใหญ่ ตายไม่ทันเฒ่า (ยะลา), ขางปอยป่า ปอแฟน ปอหู ปอแหก ปอแฮก (ภาคเหนือ), ตะคาย (ภาคกลาง), ปะดัง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กีกะบะซา บาเละอางิงิ (มลายู นราธิวาส), พังอีแร้, พังอีแหร ปอแต๊บ (ไทลื้อ), ด่งมั้ง (ม้ง), ตุ๊ดอึต้า (ขมุ), ไม้เท้า (ลั้วะ)

 

△ต้นพังแหร จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงได้ประมาณ 4-12 เมตร เป็นไม้เนื้ออ่อนโตเร็ว เรือนยอดโปร่งเป็นพุ่มแผ่กว้าง กิ่งก้านออกในแนวขนานกับพื้นดิน ปลายกิ่งลู่ลง ตามกิ่งอ่อนมีขนขึ้นปกคลุม เปลือกต้นเป็นสีเขียวอมเทาอ่อนหรือน้ำตาล ผิวบางเรียบเกลี้ยงหรือมีรอยแตกตามยาวบาง ๆ และมีรูอากาศมาก ส่วนเปลือกชั้นในเป็นสีเขียวสด มีเขตการกระจายพันธุ์ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน ญี่ปุ่น โมลัคคาล์ นิวกินี และประเทศเขตร้อนในทวีปแอฟริกา ส่วนในประเทศไทยมักพบขึ้นตามที่โล่งแจ้ง ป่าเบญจพรรณ และตามชายป่าดงดิบ ที่ระดับความสูง 600-1,500 เมตร


ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
“ต้นพังแหร”ลำต้นและเปลือก พบสาร decussatin, decussating glycosides, lupeol, methylswertianin, p -hydroxybenzoic acid, sweroside, scopoletin, (-)-epicatechin ส่วนเปลือกต้นพังแหรพบสาร simiarenone, simiarenol, episimiarenol, (-)-ampelopsin F, (-)-epicatechin, (+)-catechin, (+)-syringaresinol, N-(trans-p-coumaroyl) tyramine, N-(trans-p-coumaroyl) octopamin, trans-4-hydroxycinnamic acid, สารไตรเทอร์ปีน trematol


จากการศึกษาทางพิษวิทยาพบว่า แพะที่กินยอดและใบสดของพังแหร จะตายจากอาการเกิดพิษต่อตับ โดยสารพิษที่ออกฤทธิ์ คือ สาร Trematoxin glycocides (อาจเป็นพวก cyanogenetic) ซึ่งมีความเป็นพิษต่อตับ ส่วนมากสัตว์กินแล้วจะตาย ส่วนสัตว์ที่ฟื้นตัวอาจไม่มีผลผลิตไปนานหลายเดือน โดยมีความเป็นพิษต่อแพะสูง รองลงมาคือ แกะ โค และม้า

อาการป่วยที่แสดง คือ สัตว์จะไม่กินอาหาร ตัวสั่น กระตุก ตื่นเต้น ลำไส้อักเสบ ไม่รู้สึกตัว และตาย (มีโอกาสน้อยมากที่แพะจะกินพืชชนิดนี้เองตามธรรมชาติ เพราะต้นพังแหรจะมีความสูงทำให้แพะกินไม่ถึง เมื่อมีเกษตรกรนำใบพังแหรมาเลี้ยงสัตว์ ในระยะแรกจะพบว่าแพะสามารถกินได้เป็นอย่างดี จึงนำมาให้แพะกินเป็นประจำหรือเพิ่มปริมาณมากขึ้น จนกระทั่งเกินกว่าร่างกายของแพะจะขับพิษออก พิษที่สะสมอยู่จึงทำอันตรายต่อตับและแสดงอาการป่วยจนถึงตายในที่สุด ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการนำใบพังแหรมาใช้เลี้ยงแพะจะปลอดภัยที่สุด แม้ว่าแพะจะชอบกินก็ตาม)

ปล.กรณีนี้เกิดขึ้นกับแพะของเครือข่าย(มือใหม่)รับแพะไปเลี้ยงทั้งหมด13ตัว โดยให้แพะกินต้นพังแหร ร่วมกับหญ้าหวาน หลังจากนั้น1-2 วันพบว่าแพะมีอาการซึม เบื่ออาหาร ยืนเกร็ง มีอาการท้องอืดร่วมด้วย และวันแรกแพะได้ตายไป1ตัว จากนั้นทยอยตายอีก3ตัว รวมจำนวนแพะตายไป4ตัว จากนั้นได้ช่วยวิเคราะห์หาสาเหตุการตายของแพะตัวแรกและแจ้งให้หยุดให้ต้นพังแหรเป็นอาหารแพะ สอบข้อมูล จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากกินพืชพังแหร เบื้องต้นได้ช่วยเหลือแพะจำนวน9 ตัวที่เหลือโดยการกรอกน้ำจากใบรางจืดและให้ยาเฮปปาเจน แพะแต่ละตัวอาการดีขึ้นเป็นลำดับ
**เพื่อนสมาชิกท่านใดเคยพบเจอประสบการณ์ ดังกล่าว ช่วยแชร์ข้อมูลและการดูแลรักษา ให้เพื่อนสมาชิกได้รับทราบร่วมได้นะครับ ขอบคุณครับ.

ที่มา https://108kaset.com/2020/10/06/cyanogenetic-goat/