”มะเร็ง” คือเซลล์ที่ทำงานผิดปกติซึ่งจะก่อตัวเป็นเนื้องอกร้าย โดยธรรมชาติแล้วร่างกายจะสามารถตรวจจับความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกายได้และทำการกำจัดหรือป้องกันต่อไป แต่ความผิดปกติบางอย่างจะส่งผลให้เซลล์มะเร็งสามารถแพร่กระจายไปยังเซลล์รอบข้างได้โดยระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่รู้ตัว และเมื่อไหร่ก็ตามที่เซลล์มะเร็งเริ่มรุกรานเซลล์ที่อยู่ห่างไกลได้ เซลล์มะเร็งก็เริ่มที่จะรักษาได้ยากแล้ว หลายคนอาจจะสงสัยกันว่าทำไมมะเร็งถึงได้รักษายากนัก? วันนี้เราจะมาดูคำตอบสำหรับคำถามนี้กันครับ
1. มะเร็งไม่ได้มีแค่ชนิดเดียว
เซลล์มะเร็งมีมากมายเกินกว่า 100 ชนิดซึ่งการรักษามะเร็งแต่ละชนิดก็จะมีวิธีการไม่เหมือนกัน ทำให้นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้มะเร็งรักษาได้ยากมาก
2. ผลที่ได้จากห้องทดลองไม่เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายของคนจริงๆ
ในการวิจัยมะเร็งนั้นนักวิจัยจะนำก้อนเนื้องอกมะเร็งของผู้ป่วยมาทำการวิเคราะห์ในห้องทดลองเพื่อหาทางกำจัดมัน แต่ความเป็นจริงแล้วก้อนเนื้องอกที่นักวิจัยตัดออกมานั้นจะสูญเสียความซับซ้อนบางอย่างไป ทำให้บ่อยครั้งเมื่อเราได้วิธีการกำจัดมะเร็งชนิดหนึ่งๆแล้ว วิธีนั้นอาจจะใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยจริงเนื่องจากเซลล์มะเร็งในผู้ป่วยมีความซับซ้อนมากกว่าเซลล์มะเร็งที่นักวิจัยใช้ศึกษามากนัก
3. เมื่อเซลล์มะเร็งแบ่งตัวแล้ว เซลล์ที่ได้อาจจะไม่เหมือนเดิม
เมื่อเซลล์มะเร็งเกิดการแบ่งตัวเพื่อรุกลามไปยังเซลล์อื่นๆ เซลล์ที่ได้อีกหนึ่งเซลล์อาจจะมีลักษณะและสมบัติไม่เหมือนกับเซลล์แม่ที่เกิดการแบ่ง ทำให้เมื่อเราทำการกำจัดเซลล์แม่ได้ด้วยวิธีการบางอย่างแล้ว วิธีการนั้นจะไม่สามารถใช้กับเซลล์ลูกได้
4. เซลล์มะเร็งคือ Master Of Adaptation
เซลล์มะเร็งมีการปรับตัวที่รวดเร็วมาก เมื่อเราทำการกำจัดมันทิ้งแล้ว เซลล์มะเร็งที่เหลือจะพยายามปรับตัวเพื่อป้องกัน ทำให้วิธีการเดิมใช้ไม่ได้ผล
แหล่งที่มา Youtube : TED Ed chanel
ภาพประกอบโดยผู้เขียน