เลี้ยงสัตว์ » ยาประเภท Ivermectin ปลอมระบาดในไทยมานานกว่า 15 ปีแล้ว.. ไร้การแก้ไข

ยาประเภท Ivermectin ปลอมระบาดในไทยมานานกว่า 15 ปีแล้ว.. ไร้การแก้ไข

18 สิงหาคม 2020
1923   0

 

 

ยาประเภท Ivermectin ปลอมระบาดในไทยมานานกว่า 15 ปีแล้ว.. ไร้การแก้ไข

 

แฉ! ยากำจัดเห็บ หมัดสัตว์เลี้ยงปลอมแพร่ระบาดทั่วไทยนาน 15 ปี ที่ไม่มีใครสนใจ สัตวแพทย์ระบุขายโจ๋งครึ่มเงินหมุนเวียนนับสิบล้าน ทำสัตว์ตายก่อนวัยอันควร แต่ไร้การจัดการจากผู้เกี่ยวข้อง..

อย. จับผู้ผลิตยาสัตว์ปลอม ย่านลำลูกกา มูลค่า 5 ล้านบาท

1 ก.พ. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วยนพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ พล.ต.ต.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผบก.ปคบ.) ร่วมแถลงการจับกุมการผลิตยาสัตว์ปลอม โดย ตำรวจ บก.ปคบ. ได้นำหมายศาลเลขที่ 107 และ 108/2554 เข้าตรวจสอบบ้านเลขที่ 99/518 และ 99/508 หมู่บ้านเกษมทรัพย์ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี
นายจุรินทร์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า เป็นสถานที่ผลิตยาที่ไม่ได้รับอนุญาติ และมีการผลิตยาและวัตถุอันตรายแบ่งขายให้กับลูกค้าทางไปรษณีย์ โดยเฉพาะตลาดนัดจตุจักร มูลค่าของกลางประมาณ 5 ล้านบาท แบ่งเป็นยาหลายกลุ่ม คือ กลุ่มยาฆ่าเชื้อ ยาฆ่าพยาธิ ใช้รักษาโรค บิด ท้องเสีย ถ่ายพยาธิ อาทิ ยาไวเวอร์เมคติน ยาซัลฟาเมทาโซน ยาเอ็นโรฟล็อกซาซิน ยาปิเปอราซิน ซิเตรท กลุ่มยาฆ่าเชื้อทางผิวหนัง เช่น ยาโพวิโดน ไอโอดีน กลุ่มยาคุมสัตว์ ยาเมทดรอกซีโปรเจสเตอโรน รวมทั้งผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายกำจัดเห็บหมัด ดีทิค อีทิค และทิคฟรี เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 หรือ 3 โดยจะให้ตรวจหาสารต้องห้ามต่อไป นอกจากนี้ ยังสามารถยึดเอกสารกำกับยา แผ่นพับ ซึ่งไม่ได้รับอนุญาติจาก อย.
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับผู้กระทำผิดจะถูกแจ้งข้อหา ผลิตและขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือ ผลิตหรือขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ โฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท และกรณีครอบครองวัตถุอันตรายที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง หากเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ต้องขึ้นทะเบียนและได้รับการอนุญาต ผู้จำหน่ายจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และหากพบว่าเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ที่ต้องขึ้นทะเบียนต้องระวางโทษไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ..

นพ.พิพัฒน์ กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนยาของสัตว์ ถือเป็นข้อตกลงระหว่าง อย.กับกระทรวงเกษตร มาเป็นเวลานานแล้ว เพราะหากยาที่ใช้ในสัตว์ไม่มีการควบคุมมาตรฐาน อาจทำให้เกิดผลกระทบมาถึงคนได้ เช่น โรคบิด โรคหัด โรคท้องเสีย เพราะยาบางประเภทก็อยู่ในกลุ่มเดียวกัน โดยเฉพาะการใช้ยาปฏิชีวนะหากใช้อย่างไม่ถูกต้อง จะทำให้เกิดการดื้อยาและทำให้เชื้อโรคเกิดการระบาดในกลุ่มสัตว์ ซึ่งบางชนิดอาจส่งผลกระทบกลับมาสู่คนได้

“สำหรับยาที่ใช้ในสัตว์บาง ชนิดถือเป็นวัตถุอันตราย หากใช้ไม่ถูกต้อง คือ ใช้เกินปริมาณที่กำหนด ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานโดยไม่ปรึกษาแพทย์ อาจทำให้เกิดอันตรายในสัตว์ เช่น โรคพยาธิหัวใจ อาจทำให้เป็นอันตรายถึงเสียชีวิต หรือ ยาคุม อาจทำให้มดลูกสัตว์อักเสบ ซึ่งยาบางชนิดก็มีผลข้างเคียงที่รุนแรง เพราะยาปลอมบางชนิดใช้สูตรยาที่ไม่ได้รับการยอมรับ หรือ ใช้ยาผิดประเภท จะส่งผลเช่น มีพิษต่อตับไต การทำงานของระบบหัวใจ หลอดเลือด ระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ ทำให้สัตว์พิการหรือเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ อย.ได้เตือนและทำความเข้าใจต่อผู้ผลิตผู้จำหน่าย ว่า การผลิตยาปลอม ถือเป็นอันตรายต่อสัตว์ ที่อาจส่งผลถึงคนได้เช่นกัน” นพ.พิพัฒน์ กล่าว.


นายสัตวแพทย์ประจำคลินิกแห่งหนึ่งในพื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเป็นระยะเวลากว่า 10-15 ปี ปัญหาของยาปลอมที่ใช้สำหรับรักษาอาการกำจัดเห็บ หมัดของสัตว์ในพื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงจำพวกสุนัข และแมว ที่ได้รับการรักษามีอายุขัยเฉลี่ยน้อยลงกว่าวัยอันควร โดยเหตุผลมาจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และความมักง่ายของคลินิก หรือร้านจำหน่ายที่เห็นแก่ประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของสัตว์เลี้ยง ซึ่งกรณีดังกล่าวมีการร้องเรียนมายังต่อเนื่อง แต่จนถึงปัจจุบันก็พบว่าปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข และยังคงทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากธุรกิจการจำหน่ายยาปลอมนี้มีเงินหมุนเวียนอยู่จำนวนนับสิบล้านบาท..

นายสัตวแพทย์รายนี้ ระบุว่า ธุรกิจประเภทนี้หากินจากความรัก และห่วงใยสัตว์ของผู้เลี้ยง โดยผลิตยากำจัดเห็บหมัดของสัตว์ที่มีส่วนผสมของยา หรือสารบางชนิดที่ไม่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนด หรือมีการตรวจสอบจากภาครัฐ คือ องค์การอาหารและยา หรือ อย. ได้แก่ ยาประเภท Ivermectin ก่อนจะนำออกมาจำหน่าย ซึ่งพบว่ามีแพร่ระบาดไปทั่วประเทศ ทั้งในส่วนของคลินิกรักษาสัตว์ ร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ หรือตามตลาดนัดโดยทั่วไป ทั้งในประเภทของยากิน ยาหยอด และยาผง ทั้งนี้ เนื่องจากยาปลอมเหล่านี้เมื่อทางร้านรับมาจำหน่ายจะทำให้ได้กำไรจากส่วนต่างของยามากกว่ายาที่มีมาตรฐานถูกต้อง เช่น ยาหยอดปลอม จะรับมาในราคา 9-10 บาทแต่จำหน่ายในราคา 50 บาท ยาเม็ด รับมาในราคา 20 บาท จำหน่ายในราคา 120-150 บาท และยาผงในราคา 20 บาท นำมาจำหน่าย 350 บาท ขณะที่ยาที่มีมาตรฐานถูกต้องจะรับมาในราคา 30-40 บาท แต่จำหน่ายในราคา 60 บาทเท่านั้น

ขณะที่ผู้ซื้อเองก็ขาดความเข้าใจ และผลเสียที่เกิดขึ้น เนื่องจากได้รับข้อมูลที่ผิดๆ จากผู้ขาย ด้วยเห็นว่าตัวยามีราคาถูกกว่า และใช้ในการรักษาได้คล้ายคลึงกัน ยาปลอมเหล่านี้จึงได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งๆ ที่เกิดผลเสียอย่างรุนแรงต่อสัตว์เลี้ยง เนื่องจากสารเคมีที่ถูกนำมาผสมในยาปลอมเหล่านี้ไม่ได้มีการควบคุมปริมาณ หรือคำนวณการใช้ตามน้ำหนักของสัตว์เพื่อให้เกิดความปลอดภัย โดยเมื่อนำไปใช้เป็นประจำก็จะส่งผลเสียไปถึงสุขภาพของสัตว์ที่จะตามมา ทั้งปัญหาโรคตับ โรคไต หรือโรคหัวใจ เป็นต้น เหตุสำคัญที่ทำให้สัตว์มีอายุขัยเฉลี่ยน้อยลงประมาณ 4-5 ปีเท่านั้น ขณะที่สุนัข และแมวโดยทั่วไปนั้นจะมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 12-15 ปี แต่เมื่อเป็นโรคที่ไม่เกิดขึ้นฉับพลัน จึงทำให้ประเด็นข้อสงสัยในเรื่องของยาเหล่านี้จึงถูกมองข้ามไปเท่านั้น

นายสัตวแพทย์ ระบุเพิ่มเติมอาการของสัตว์ที่ได้รับสารเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่เมื่อมีอาการและนำสัตว์มาตรวจรักษา ก็จะพบว่า สัตว์ที่ได้รับยาปลอมส่วนใหญ่จะมีปัญหาตับ ไต ที่รุนแรง โดยเฉพาะค่าครีตินีน หรือค่าไต ที่มีเกณฑ์เฉลี่ยสูง 10-20 ขณะที่สัตว์ที่ใช้ยาที่มีมาตรฐานแม้ปัญหาโรคเหล่านี้จะเกิดขึ้นบ่อยแต่ก็จะมีค่าเฉลี่ยของการตรวจวัดอยู่ที่ไม่เกิน 6 เท่านั้น จึงทำให้การรักษาเป็นไปได้ยาก และมีอัตราการเสียชีวิตสูง

ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และที่ผ่านมา ก็มีการร้องเรียนจากคลินิกหลายแห่ง รวมทั้งสัตวแพทย์เป็นจำนวนมากไปยังสัตวแพทยสภา หรือกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ และกรมปศุสัตว์ ซึ่งแม้จะมีการติดตามจับกุมอยู่บ้างแต่ก็ยังพบว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ลดลง และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจนี้ที่เกิดประโยชน์แก่ผู้จำหน่ายเป็นจำนวนมากนับสิบล้านบาท โดยเฉพาะในเขตเมืองพัทยา จ.ชลบุรี เองก็พบว่า ยาปลอมเหล่านี้มีจำหน่าย และพบเห็นกันอยู่ได้โดยทั่วไป จึงอยากให้มีมาตรการแก้ไข และตรวจสอบอย่างจริงจัง

สำหรับประชาชน หรือผู้รักสัตว์โดยทั่วไปนั้นการเลือกใช้สถานพยาบาล หรือยารักษาโรคสำหรับสัตว์ก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องสังเกต และให้ความในใส่ใจ เพื่อลดกระทบและความสูญเสียต่อสัตว์เลี้ยงที่รัก โดยการเลือกใช้ยารักษาโรคของสัตว์นั้นจำเป็นต้องดูถึงมาตรฐาน ทั้งเรื่องของผลิตภัณฑ์ มาตรฐานที่ได้รับการรับรองจากภาครัฐ รวมไปถึงสถานที่ผลิต อายุการใช้งาน และปริมาณยาที่เหมาะสมต่อสัตว์เลี้ยงตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ ซึ่งจะถือว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งที่ทำให้ความสูญเสียลดน้อยลง และเป็นการตัดช่องทางทำกินของกลุ่มขบวนการจำหน่ายยาปลอมเหล่านี้ด้วย.

ขอบคุณ https://mgronline.com/local/detail/9600000057085
https://www.google.com/search?client=firefox-b-d&q=%E0..
https://consumersouth.org/paper/1136