รู้ไว้ได้ประโยชน์ » โคเคน คืออะไร?

โคเคน คืออะไร?

2 สิงหาคม 2020
2658   0

ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โคเคนจัดอยู่ในยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 2 คือ ยาเสพติดประเภทนี้สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ แต่ต้องใช้ในการควบคุมของแพทย์ และใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น เช่นโคเคนในปริมาณน้อยมีที่ยอมรับให้ใช้ทางการแพทย์เป็นยาชาและลดการตกเลือดระหว่างการผ่าตัดจมูกและการผ่าตัดท่อน้ำตาฯ ซึ่งกลุ่มนี้ประกอบด้วย ฝิ่น มอร์ฟีน โคเคน หรือโคคาอีน โคเคอีน และเมทาโดน

โดยมีบทลงโทษสำหรับผู้ผลิต นำเข้า หรือส่งออก จะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปจนถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2 ล้านบาท ถึง 5 ล้านบาท ด้านผู้เสพก็มีโทษเช่นกัน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โคเคน หรือโคคาอีนนั้น นิยมปลูกมากในแถบอเมริกาใต้และอเมริกากลาง เช่น โบลิเวีย เปรู โคลัมเบีย เอกวาดอร์ ฯ

โดยขั้นตอนการผลิตโคเคน มี 2 ประเทศหลักที่ผลิต คือ เปรูและโบลิเวีย เป็นแหล่งแปรสภาพใบโคคาเป็น COCA PASTE และ COCA BASE ซึ่งจะแปรเป็น COCAINE HYDROCHLORIDE หรือโคเคนบริสุทธิ์ ซึ่งกลุ่มผู้เสพมักนิยมเรียกว่า COKE , SNOW , SPEED BALL , CRACK ฯลฯ

โคเคนเป็นยาที่ใช้ผิดกฎหมายทั่วโลกมากที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากกัญชา มีผู้ใช้โคเคนระหว่าง 14 ถึง 21 ล้านคนต่อปี พบใช้มากที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ ตามมาด้วยทวีปยุโรปและอเมริกาใต้

สำหรับในประเทศไทยพบโคเคนใน 2 ลักษณะ คือ..
1.ชนิดผง มีลักษณะเป็นผงละเอียด สีขาว มีรสขม ไม่มีกลิ่น
2.ชนิดผลึกเป็นก้อน หรือเรียกว่าแคร็ก

-โคเคนผงนั้นเสพด้วยการสูดดม ออกฤทธิ์ช้ากว่า แต่อยู่ได้นานใกล้เคียงกันเมื่อเสพแคร็กด้วยกล้องสูบไปป์

-แคร็กจะเสพโดยการสูบ ทำให้เกิดอารมณ์สนุกสนานเร็วกว่ามาก ภายในระยะเวลาเพียง 10 วินาที และมีฤทธิ์อยู่นานถึง 5-15 นาที นอกจากนี้จะทำให้เคลิบเคลิ้ม มีความสุขมากกว่า เสพติดง่ายกว่า แต่จะทำให้ผู้เสพอ่อนแอและเกิดโรคทางกายเร็วและรุนแรงกว่าอาการที่ปรากฏ

“โคเคน” เคยถูกนำมาใช้ทางการแพทย์

ขณะที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ได้อธิบายถึงต้นตอของโคเคนไว้ว่า โคเคนนั้นเป็นสารที่ได้จากการสกัดจากใบของต้นโคคา (Coca) ซึ่งพบมากในอเมริกาใต้

เริ่มต้นจากเมื่อ 1,000 ปีก่อน ชาวอินเดียนในเปรูมีวัฒนธรรมในการเคี้ยวใบโคคา และใบโคคานี้ได้เข้าไปในยุโรปและอเมริกา จนถึงศตวรรษที่ 19 Sigmund Freud ปรมาจารย์ทางจิตเวช นำสารที่สกัดจากต้นโคคามาใช้เป็นยารักษาโรคจิต ซึมเศร้า และภาวะติดยาเสพติดอื่นๆ ต่อมาทางการแพทย์ใช้โคเคนเพื่อเป็นยาชาเฉพาะที่

ขณะเดียวกันมีการนำไปผลิตเครื่องดื่มที่ทำจากใบโคคาและ caffeine ใช้ชื่อว่า Coca Cola ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จนถึงศตวรรษที่ 20 บริษัทเครื่องดื่มได้สกัดเอาโคเคนออกจากใบโคคา

“โคเคน” ตรวจพบได้ในปัสสาวะได้นานถึง 24-36 ชั่วโมง

ทั้งนี้โคเคนระบาดหนัดที่สุดตั้งแต่ปี 1970 เนื่องจากมีการมีพัฒนาการการผลิตที่ดีขึ้น ทำให้มีราคาถูก ใช้ได้ง่าย และออกฤทธิ์เร็ว โดยฤทธิ์ของโคเคนจะเหมือนยาม้า (amphetamine) มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง แต่โคเคนจะออกฤทธิ์เร็วกว่าและสั้นกว่า

สำหรับวิธีการเสพโคเคนจะทำให้เกิดอาการเมายาที่แตกต่างกันออกไป เช่น หากเสพด้วยวิธีการสูดผงเข้าทางจมูก ผู้เสพจะมีอาการเมายาประมาณ 15-30 นาที ส่วนการสูบ หรือการฉีดเข้าเส้นเลือดจะทำให้ยาออกฤทธิ์รุนแรงมากกว่า แต่จะมีอาการเมายาในระยะเวลาสั้นๆ 5-10 นาทีเท่านั้น

สรุปพิษที่มีต่อร่างกาย

-มีลมในช่องอก เนื่องจากผู้ป่วยหายใจอย่างแรงเพื่อดูดซึมโคเคนได้มากที่สุด ทำให้ผนังช่องปอดฉีกขาด หายใจไม่ออก และอาจเสียชีวิต
-ทำให้เป็นโรคไซนัสอักเสบ เลือดออกในจมูก และผนังกั้นในจมูกทะลุ
-น้ำหนักลดมาก โดยโคเคนกดสมอง ทำให้ไม่อยากรับประทานอาหาร
-อาจทำให้เป็นโรคหัวใจขาดเลือด และเสียชีวิต แม้อายุยังน้อย
-ใจสั่นหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ
-มีอาการชัก แบบโรคลมบ้าหมู

นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ที่พบ เช่น ภาพหลอน อาเจียน จากการที่ฤทธิ์เข้าไปกระตุ้นระบบประสาท sympathetic ทำให้เกิดความดันสูง หัวใจเต้นเร็วหรือผิดจังหวะ รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อนของระบบหัวใจและหลอดเลือดด้วย ฯลฯ ทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บได้สูง

ขณะที่การวินิจฉัยสามารถทำได้จากตรวจได้จากประวัติและตรวจร่างกายเป็นหลัก รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการก็จะช่วยในการวินิจฉัยด้วย และถึงแม้โคเคนจะมีฤทธิ์สั้น แต่ metabolite ของโคเคน คือ benzolecgonine จะถูกขับออกทางปัสสาวะ สามารถตรวจพบในปัสสาวะได้นานถึง 24-36 ชั่วโมงหลังได้ยา.

ขอบคุณ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/8916..
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%82%E0%B8%84%E0..
https://www.google.com/search?q=%E0%B9%82%E0%B8%…..