นศ. เรียกร้องสถานศึกษาคืนค่าเทอม 25% หลังเปลี่ยนเป็นเรียนออนไลน์ หนีโควิด 19
นักศึกษาเรียกร้องมหาวิทยาลัยคืนเงินค่าเทอม 25% ช่วยนักศึกษาสู้พิษ โควิด 19 ชี้ต้นทุนลดเพราะจัดเรียนออนไลน์ ด้าน รมว.การอุดมศึกษา ตอบรับข้อเสนอ สั่งเร่งหารือแนวทางเยียวยา
30 มีนาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีนิสิตนักศึกษากลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกันเรียกร้องผ่าน เฟซบุ๊ก เยาวชนปลดแอก – Free YOUTHขอให้มหาวิทยาลัยคืนค่าเทอมให้นักศึกษาอย่างน้อย 25% โดยระบุเหตุผลว่า เนื่องด้วยโรคระบาดโควิด-19 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศปรับการเรียนการสอนไปสู่รูปแบบออนไลน์ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัยในด้านต่าง ๆ ลดลงไปด้วย อาทิ ค่าใช้จ่ายด้านอาคารสถานที่ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าดำเนินกิจกรรมบางส่วน รวมถึงค่า OT เจ้าหน้าที่
แต่ในส่วนของนักศึกษากลับไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยในการลดค่าใช้จ่าย ซ้ำยังต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง บางคนยังคงต้องจ่ายค่าหอพัก โดยเฉพาะในปีการศึกษาหน้า นักศึกษาและผู้ปกครองส่วนใหญ่จะได้รับความลำบากที่ต้องดิ้นรนหาเงินเพื่อนำมาจ่ายค่าเทอม
ด้วยเหตุนี้จึงขอเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยช่วยเหลือนักศึกษา ด้วยการคืนค่าเทอมบางส่วนอย่างน้อย 1 ใน 4 หรือ 25% แลกกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ลดลงหลังจากปรับการเรียนการสอนสู่รูปแบบออนไลน์ ซึ่งเงินจำนวนนี้จะช่วยให้นักศึกษาได้อิ่มท้องไปอีกหลายมื้อ หรือแม้แต่ช่วยเหลือทางบ้านในเรื่องค่าเทอมในปีการศึกษาถัดไป..
..นอกจากนี้ ทาง เดลินิวส์ รายงานเพิ่มเติมว่า ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้กำหนดมาตรการการช่วยเหลือกลุ่มผู้ปกครองของนักศึกษา และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเป็นการเร่งด่วน โดยให้หน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด อว. พิจารณาดำเนินการใน 6 เรื่องสำคัญ ดังนี้
1. ลดค่าเช่าพื้นที่แก่ผู้ประกอบการรายย่อย
2. ลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เรียกเก็บจากนักศึกษาในภาคการศึกษาที่จะถึงนี้ เป็นกรณีพิเศษ
3. ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่เร่งด่วน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยให้นำงบประมาณไปสนับสนุนการจ้างงานในมหาวิทยาลัย
4. ให้นำการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์มาปรับใช้ช่วงภาวะวิกฤต
5. ให้อุทยานวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย เมืองนวัตกรรมอาหารและหน่วยงาน พิจารณาลดค่าบริการต่าง ๆ ที่เรียกเก็บจาก SMEs, Start up และประชาชนทั่วไป
6. เปิดโอกาสให้หน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ สามารถกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดัง กล่าวเพิ่มเติมได้
ดร.สุวิทย์ ระบุอีกว่า ล่าสุดทางมหาวิทยาลัยได้ร่วมมือในการจัดการศึกษาออนไลน์จนเกือบครบบริบูรณ์แล้ว โดยมีภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับนำซอฟต์แวร์ และการสื่อสารฯ มาช่วยให้การเรียนการสอนออนไลน์สะดวก และเป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายของทั้งมหาวิทยาลัยและนักศึกษาให้น้อยที่สุด สิ่งใดที่นักศึกษาเดือดร้อน เชื่อว่าทุกมหาวิทยาลัยไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามผ่อนผันให้ เช่น ลดค่าธรรมเนียมการศึกษา การให้ที่พัก การลดค่าเช่าพื้นที่ในมหาวิทยาลัยเพื่อช่วยเหลือ SME เป็นต้น หากสถานการณ์ยังคงไม่คลี่คลาย กระทรวง อว. และมหาวิทยาลัย จะปรึกษากันเพื่อมีมาตรการช่วยเหลือนักศึกษาที่เดือดร้อนจาก โควิด 19 เพิ่มเติมต่อไป.