ข่าวเด่น » ไปรษณีย์ไทย เร่งปรับปรุงกิจการ โดน “เคอรี่ “แย่งรายได้กว่าสองหมื่นล้าน/ปี

ไปรษณีย์ไทย เร่งปรับปรุงกิจการ โดน “เคอรี่ “แย่งรายได้กว่าสองหมื่นล้าน/ปี

14 มกราคม 2020
1508   0

ไปรษณีย์ไทย เร่งปรับปรุงกิจการ โดน “เคอรี่ “แย่งรายได้กว่าสองหมื่นล้าน/ปี

“ไปรษณีย์ไทย” พลิกเกมฝ่าสมรภูมิโลจิสติกส์ หลังโดนยักษ์ข้ามชาติรุมชิงเค๊กอุตลุด ลุ้นบอร์ดเคาะแม่ทัพใหม่ เดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีทรานส์ฟอร์มองค์กร แข่งราคาท้าชน “เคอรี่” น้องใหม่ “Best Express-Flash-J&T Express” เร่งเกมขยายตลาดทั่วประเทศ เปิดบริการทุกวันไม่มีวันหยุด..

นายรัฐพล ภักดีภูมิ ประธานกรรมการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาเลือกผู้ที่เหมาะสมเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ในวันที่ 13 ม.ค. 2563 นี้ เนื่องจากนางสมร เทิดธรรมพิบูล จะครบวาระในวันที่ 14 ม.ค. โดยภารกิจแรกที่กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การทรานส์ฟอร์มองค์กรรับมือสถานการณ์การแข่งขันในตลาดโลจิสติกส์ในปัจจุบันที่รุนแรงมาก และมีส่วนแบ่งตลาดลดลงจากเกือบ 70% เหลือ 52-53%

“สิ่งแรกที่ต้องทำหลังได้ซีอีโอใหม่คือจะมีการทำเวิร์กช็อปร่วมกันระหว่างคณะกรรมการบริษัทกับฝ่ายบริหารเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ 3 ปีข้างหน้า โดยปัญหาหลัก คือ การสื่อสารให้คนภายในองค์กรเข้าใจโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วกับการแข่งขันที่เกิดขึ้น”

สำหรับสิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนมีทั้งในแง่โครงสร้างองค์กร และการทำงาน รวมถึงการเฟ้นหาบุคลากรที่จะเป็นอนาคตขององค์กรต่อไป เพราะเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปจากการนำส่งไปรษณีย์ และจดหมายไปสู่การส่งพัสดุรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เป็นเรื่องของโลจิสติกส์มีความแตกต่างกัน จึงต้องจัดโครงสร้างองค์กรให้มีความเหมาะสม ซึ่งตนมองว่าควรต้องทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า ใน 18 เดือนข้างหน้าต้องทำอะไรและอย่างไรบ้าง

แหล่งข่าวจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เป็นที่คาดหมายกันว่าผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้บอร์ดพิจารณาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ คือ นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยในการแสดงวิสัยทัศน์ของนายก่อกิจระบุว่าจะเข้ามารักษางานไปรษณีย์ และทำคุณภาพไปรษณีย์ให้ดีก่อนที่จะพัฒนาด้านระบบการขนส่งหรือโลจิสติกส์ให้ดีขึ้น

“นายก่อกิจระบุว่างานรับส่งพัสดุเป็นแค่สาขาหนึ่ง แต่แก่นหลักคือกิจการไปรษณีย์ที่ต้องเร่งพัฒนาขึ้น เพราะอีกไม่กี่ปีจะมีสิ่งที่เรียกว่า GDX : กัฟเวิร์นเมนต์ดาต้าเอ็กซ์เชนจ์ที่ทำให้หน่วยงานภาครัฐใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เมล์ส่งข้อมูลหากันได้เองจะทำให้กิจการไปรษณีย์หายไป เพราะไม่มีรายได้จากหน่วยงานภาครัฐ มูลค่า 3-5 พันล้านบาท ฉะนั้นจึงต้องเร่งเข้าไปบริการจัดการเอกสาร (document handler) ให้หน่วยงานรัฐทั้งหมด ส่วนธุรกิจอื่นที่เติบโตต้องแตกบริษัทออกไป”


ส่องกำไร “เคอรี่ฯ” ไล่บี้ ปณท.

สำหรับผลประกอบการ 10 เดือนแรกปี 2562 ของ ปณท มีรายได้ 22,900 ล้านบาท โดย 48% มาจากธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ 31% มาจากไปรษณียภัณฑ์ มีกำไรสุทธิ 1.4 พันล้านบาท คาดว่าทั้งปี 2562 จะมีรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 3 หมื่นล้านบาท เป็นปีที่ 2 ที่ต่ำกว่าเป้า หลังจากปี 2561 ตั้งเป้าไว้ 30,000 ล้านบาท แต่ทำได้จริง 2.97 หมื่นล้านบาท

“ไปรษณีย์ไทยยังมีกำไร แต่กำไรเติบโตลดลง จากปี 2560 กำไร 4 พันกว่าล้านบาท ปี 2561 เหลือ 3.8 พันล้านบาท ปีนี้ (2563) ก็น่าจะยิ่งลดลง ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่างเคอรี่ฯกำไรเพิ่มขึ้น คาดว่าปี 2562 จะมีกำไรใกล้เคียงไปรษณีย์ไทย เพราะปี 2561 เคอรี่ฯมีกำไรเกือบ 1.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 67% ขณะที่ 10 เดือน ปี 2562 ไปรษณีย์ไทยมีกำไร 1.4 พันล้านบาท”

หากเทียบรายได้ของเคอรี่ฯกับรายได้ของไปรษณีย์ไทยเฉพาะในส่วนที่เป็นขนส่งโลจิสติกส์แล้วถือว่าใกล้เคียงกันมาก หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ คาดว่าในปี 2563 เคอรี่ฯอาจแซงหน้าไปรษณีย์ไทยทั้งในแง่ของรายได้และกำไร

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ในช่วงปลายปีที่ผ่านม่า ทั้งเคอรี่ฯและไปรษณีย์ไทยมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดมาก โดยไปรษณีย์ไทยพยายามทำตลาดเรียกลูกค้าด้วยแคมเปญชิงโชค ขณะที่เคอรี่ฯก็จัดเช่นกัน ทั้งยังมีโปรโมชั่นส่งสินค้าในราคาเหมาจ่าย 19 บาทเหมือนกันอีกด้วย

เคอรี่ฯ รุกหนักเต็มสตรีม

โดยในปีที่ผ่านมา เคอรี่ฯมียอดส่งพัสดุทะลุ 2 ล้านกล่องต่อวัน รถขนส่งกว่า 20,000 คัน ซึ่งนอกจากมีแคมเปญลดราคาค่าบริการแล้ว ยังขยายจุดบริการกว่า 10,000 แห่ง รวมถึงเปิดจุดบริการใหม่บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส และเปิดบริการ “BTS Express Service” ให้ส่งพัสดุไปยัง 12 สถานีปลายทางแบบดีลิเวอรี่ภายใน 3 ชั่วโมง และเริ่มมีการเปิดให้บริการจัดส่งโดยไม่มีวันหยุดในบางช่วงเทศกาล อาทิ วันหยุดสิ้นปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังดึง “เวียร์ ศุกลวัฒน์” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ และจัดกิจกรรมกระตุ้นการขายต่อเนื่อง

Best Express ปูพรมแฟรนไชส์

ขณะที่น้องใหม่อย่าง Best Express กำลังเดินสายไปตามจังหวัดหัวเมืองเพื่อโปรโมตแฟรนไชส์ และช่วงปลายปีมีโปรโมชั่นลดค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ 50% ในหัวเมืองรองอย่างลำปาง-ลำพูน ฉะเชิงเทรา บุรีรัมย์ โดยมีการดึง “ณเดชน์ คูกิมิยะ” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์

ส่วน J&T Express ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นปี 2562 ชูจุดเด่นเรื่องการให้บริการไม่มีวันหยุด มีสาขาให้บริการแล้ว 300 แห่ง ได้จัดโปรโมชั่นดัมพ์ราคาให้ลูกค้าแบบแยกรายภาค โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ เริ่มต้นเพียง 19 บาท ส่วนกรุงเทพฯและปริมณฑล เริ่มต้นที่ 29 บาท

ด้านแฟลช เอ็กซ์เพรส คิดราคาเริ่มต้นที่ 25 บาทต่อชิ้น แต่มีโปรโมชั่นพิเศษ 40% สำหรับลูกค้าที่ใช้บริการในวันอาทิตย์ พร้อมชูจุดขายเรื่องการเข้ารับพัสดุจากผู้ส่งถึงหน้าบ้านฟรีตั้งแต่ชิ้นแรก และเปิดให้บริการ 365 วัน

นายคมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจแฟลช เปิดเผยว่า ปี 2562 มียอดจัดส่งแล้วกว่า 100 ล้านชิ้น มีรายได้กว่า 5,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนถึง 10 เท่า มีจุดรับ-ส่งพัสดุทั่วประเทศรวมกว่า 3,500 แห่ง มีรถขนส่งทุกประเภทกว่า 10,000 คัน ให้บริการครบ 77 จังหวัด พร้อมทุ่มเงินลงทุนกว่า 300 ล้านบาท เพื่อติดตั้งเครื่องคัดแยกสินค้าอัจฉริยะ และอีกกว่า 100 ล้านบาท ในการสร้างและพัฒนาระบบไอที.

ขอบคุณ https://www.msn.com/th-th/money/business/%e0%b9..
https://www.google.com/search?q=%E0%B9%84%E0%B8%9B..