“สภาพแวดล้อม” เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเราไม่น้อยเลยนะครับ เอาง่ายๆ ถ้าห้องของผมรก ผมก็ไม่รู้สึกอยากจะทำอะไรให้ตัวเอง active ขึ้นมาแล้ว แม้กระทั่งมงคล 38 ประการยังให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ “สภาพแวดล้อม” ได้ถูกนักอาชญาวิทยานำมาศึกษาจนเกิดเป็น “ทฤษฎีกระจกแตก” ( Broken Windows Theory) เนื้อหาต่างๆนั้นวันนี้โป๊ะเชะดอทคอมได้รวบรวมมาไว้ให้เพื่อนๆได้ศึกษากันแล้วครับ
The Broken Windows Theory
” ต้นตอของย่านที่พักอาศัยสุดอันตราย อาจเริ่มต้นขึ้นจากกระจกแตกสลายเพียงแค่บานเดียว “
ทฤษฎีกระจกแตกนี้ถูกเผยแพร่ขึ้นครั้งแรก โดยอาจารย์รัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด James Q. Wilson และนักอาชญาวิทยา George L. Kelling ในปี 1982 เป็นผลงานการศึกษาที่พูดถึงเรื่องสาเหตุของการเกิดอาชญากรรมนั้นมีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการขาดระเบียบวินัยของสภาพเมืองที่อยู่อาศัยในละแวกชุมชนที่บ้านเรือนมีกระจกหน้าต่างแตกอยู่แล้วปล่อยทิ้งไว้ไม่ยอมซ่อมแซม รอยแตกนั้นจะกลายเป็นสื่อสัญญาณให้กับคนที่ผ่านไปมาในย่านนั้นคิดว่า “นี่คือชุมชุนที่เสื่อมโทรม ไม่มีใครดูแลรับผิดชอบ เพราะงั้นแล้วชั้นเองก็ไม่ต้องใส่ใจความเป็นระเบียบไปด้วยก็ได้”
การปล่อยละเลย รู้สึกไม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมนี้เองจะจุดชนวนให้เกิดรอยแตกอื่นๆขึ้นตามมา คนมือบอนที่เริ่มเอาก้อนหินไปขว้างกระจกบ้านคนอื่นให้เสียหายเพราะคิดว่าทำได้ไม่มีใครสนใจ พ่นสีสเปรย์ตามผนัง ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ระดับการกระทำที่เลวร้ายค่อยๆ เติบโต และความโกลาหลจะเดินทางจากบ้านหลังหนึ่งไปสู่อีกหลังหนึ่ง จากชุมชนหนึ่งไปสู่อีกชุมชนหนึ่ง จนกลายเป็นย่านเขตพื้นที่อันตรายที่มีอาชญากรรมก่อตัวขึ้นได้ในที่สุด
ก่อนที่จะเกิด ทฤษฎีกระจกแตก ขึ้นมานั้นมีฐานข้อมูลสนับสนุนที่เราต้องขอเท้าความย้อนกลับไปในการทดลองครั้งก่อนหน้าของ Dr. Philip Zimbardo ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ได้ลองเอารถยนต์คลาสสิคหรู 2 คันหนึ่งไปจอดทิ้งไว้บนถนนย่าน Bronx Campus ของมหาวิทยาลัย New York และอีกคันหนึ่งจอดอยู่ในเขต Palo Alto ใกล้มหาวิทยาลัย Stanford รัฐ California จุดแตกต่างของสถานที่ทั้ง 2 แห่งคือ ย่าน Bronx ค่อนข้างจะขึ้นชื่อเรื่องแหล่งอาชญากรรม มีสภาพแวดล้อมที่ดูอันตรายสำหรับคนเดินผ่านไปมา ในขณะที่เขต Palo Alto เป็นที่พักอาศัยของผู้ดี คนมีฐานะ สภาพบ้านเมืองสะอาดเรียบร้อย และผลการทดลองหลังจากจอดรถทิ้งไว้ 3 วันก็คือ รถยนต์ที่จอดไว้ที่ย่าน Bronx ถูกกระทำชำเลา งัดแงะแยกชิ้นส่วนจนเกือบจำหน้าตาไม่ได้ นับจำนวนรอยแผลจากการศัลกรรมแยกชิ้นส่วนในครั้งนี้ได้ถึง 23 ครั้ง ! ส่วนรถยนต์ที่เขต Palo Alto ยังคงอยู่สภาพดีเหมือนใหม่ไร้รอยข่วน จอดนิ่งนานอยู่เกือบสัปดาห์ก่อนที่ Dr. Philip จะเพิ่มปัจจัยตัวแปรเพิ่มลงในสมการ ด้วยการลองทุบรถคนงามนี้ดูซัก 2-3 แผลแล้วปล่อยทิ้งไว้อีกครั้ง ผลลัพธ์สมการสูตรใหม่ที่ได้คือเมื่อรถเริ่มเกิดรอยบุบสลายไปแล้วเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนมีสภาพไม่ต่างไปจากเพื่อนของมันอีกคันที่จอดอยู่ในย่าน Bronx เลยละครับ
การทดลองครั้งนั้นทำให้เกิดการตั้งสมมติฐานทฤษฏีขึ้นมาว่า รอยบาดแผลเล็กๆ ในขนาดแค่จุดเลอะดำบนผ้าผืนใหญ่ หรือความไร้ระเบียบในสังคมที่คนมักมองข้าม จริงๆแล้วมีสามารถจะสื่อความหมายออกไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่ให้รับรู้ว่าบริเวณนั้นเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมที่ไม่มีใครดูแลรับผิดชอบ เกิดอันตรายขึ้นได้โดยไม่มีคนใสใจ เข้าไปกระตุ้นแนวโน้มพฤติกรรมทางอาชญากรรมของเหล่าคนร้ายให้รู้สึกย่ามใจ เพราะคิดว่าทำได้ไม่เป็นไร ลงมือกระทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากนับ 1 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 2 , 3 ….. จนอาจถึง 23 ครั้งเหมือนในตัวอย่างการทดลอง จากชุมชนที่ไม่มีพิษภัยกลายเป็นย่านอันตรายจากแค่ความเสียหายเล็กๆที่ไม่มีใครซ่อมแซม
แต่ในทางกลับกัน ถ้าละแวกพื้นที่ไหนที่มีกระจกแตกแล้วรีบดำเนินการรีบซ่อมแซมให้กลับมาสมบูรณ์เหมือนใหม่ ดูแลความเรียบร้อยของทรัพย์สินส่วนบุคคลและส่วนสาธารณะอย่างดี ผลลัพธ์ที่ตามาคือคนที่อาศัยอยู่ชุมชนนั้นจะรู้สึกว่า หมู่บ้านชั้นมีระเบียบวินัย มีคนดูแลจัดระเบียบ มีกฎหมายคุ้มครองความสงบ รีบจัดการปัญหา ไม่ได้ปล่อยปะค้างคาและยินยอมให้เกิดอาชญากรรมได้แม้แต่เพียงเล็กน้อย และในหมู่อาชญากรที่ชอบทำความผิดเองก็จะรู้สึกระมัดระวังตัว ไม่กล้าทำความผิดกันมากขึ้น ดังนั้นการที่เราเลือกที่จะซ่อม หรือไม่ซ่อมกระจกที่เสียหาย อาจส่งผลต่อสภาพสังคมที่เราอาศัยอยู่ได้เลยทีเดียวครับ
สิ่งที่จะมาช่วยยืนยัน ทฤษฎีกระจกแตก ให้มีน้ำหนักมาขึ้นไปอีกก็คือการนำแนวทางนี้ไปใช้งานจริงๆในเมือง ของนาย Rudolf Giuliani อดีตนายกเทศมนตรีเมืองนิวยอร์ก (1983-1989) ได้นำทฤษฎีกระจกแตกมาปรับใช้ในเมืองของตน ลงมือปราบปรามอาชญากรรมในนิวยอร์กยุคอันตรายที่ยังมีพวกค้ายา การต่อสู่ยิงกันกลางเมือง เหตุข่มขืนหญิงสาวเกิดขึ้นแทบทุกวัน แต่แทนที่จะเพ่งเล็งหมายหัวพวกอาชญากรตัวเป้ง ท่านเทศมนตรีกลับทุ่มทรัพยากรกำลังคน กำลังทรัพย์ลงไปเอาผิดอย่างจริงจังกับความผิดเล็กๆน้อยๆในเมืองเสียแทน ตั้งแต่คนที่พ่นสเปรย์กราฟฟิตี้ ปัสสาวะในที่สาธารณะ เบี้ยวค่ารถไฟใต้ดิน ให้เจ้าหน้าที่หันมาตั้งใจสอดส่องพร้อมแก้ไขปัญหาที่เคยมองข้ามไป เอาทั้งหูและดวงตาไปดูแลแปลงไร่และผืนนากันให้มากขึ้น
เป็นธรรมดาที่ในช่วงแรกๆของนโยบายนี้ได้รับเสียงวิจารณ์ คอมเม้นในเชิงลบกันถล่มทลาย จนกระทั่งผู้คนเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงขึ้นทีละน้อย จากเด็กมือบอนที่เคยมาฝากลีลาจิตกรรมฝาผนังในสถานีรถไฟใต้ดินอยู่เป็นประจำ ก็เหนื่อยหน่ายและลดจำนวนลงเรื่อยๆ เพราะทันทีที่พวกเค้าสร้างงานเสร็จในตอนกลางคืน เช้าวันรุ่งขึ้นผนังแผ่นนั้นก็ถูกทาสีขาวทับให้เรียบสนิทเหมือนใหม่ไปซะแล้ว เป็นวงจรพวกนายทาได้-ชั้นก็ลบได้ เพื่อส่งข้อความถึงเด็กวัยรุ่นพวกนั้นว่า “อย่าเสียเวลามาพ่นสีที่นี่เลยนะน้อง”
บรรยากาศแวดล้อมในเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ฝาผนังสะอาดสะอ้านไร้รอยขีดเขียนจากเด็กมือบอน ถนนหนทางที่ปลอดกลิ่นปัสสาวะ ผู้คนที่ไม่กล้าทำความผิดแม้แต่เพียงแค่การโกงค่าโดยสารรถไฟใต้ดินอีกแล้ว นโยบายการทุ่มเทเอาผิดกับเรื่องแม่เพียงเล็กน้อยในเมืองค่อยๆ ส่งผลให้อัตราการเกิดคดีอาชญากรรมในนิวยอร์กลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนคดีฆาตกรรม 2,154 คดี และคดีอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆอีกกว่า 626,182 คดีในสมัยที่รับตำแหน่งใหม่ (1992) เมื่อผ่านกระบวนการจัดการตามแนวคิดของทฤษฎีกระจกแตก ในเวลา 5-6 ปีต่อมา จำนวนคดีฆาตกรรมเหลือเพียง 770 และคดีอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ อีกแค่ 355,893 คดี (1997) ทำให้นโยบายนี้เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นในหมู่ชาวนิวยอร์กเกอร์ แพร่หลายเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่านโบบาย Zero Tolerance ปรานีเป็นศูนย์ คือเราจะไม่ทนและจะเข้าไปจัดการแบบทันท่วงที แม้จะเป็นเพียงแค่ความผิดเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม
จากเมืองนิวยอร์กย้อนกลับสู่ประเทศไทยเรา ที่ประชากรส่วนใหญ่มักจะทำได้แค่นั่งถอนหายใจกับปัญหาที่คิดว่าเป็นเชื้อร้ายแบบเรื้อรังเกินแก้ไข อยากชวนให้พวกเราลองมาเปลี่ยนความคิดกันเสียใหม่ การจัดการแก้ที่ต้นต้นเหตุใหญ่เป็นเรื่องที่ดี แต่การร่วมมือกันสร้างสภาพแวดล้อมที่สงบสุขก็ไม่ควรจะมองข้ามไปด้วยเหมือนกันนะครับ เพราะหากแต่ละคนไม่รับผิดชอบ ละเลยแม้ในเรื่องเล็กๆน้อยๆของตนเองก็สามารถลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ๆ ของสังคมได้ จึงควรจะหันมาเอาจริงจังกับการแก้ปัญญาเล็กน้อยที่อยู่ตรงหน้า เหมือนอย่างที่คำโบราณเค้าเคยว่า จงเริ่มตัดเชื้อไฟเสียตั้งแต่ต้นลม
ขอขอบคุณแหล่งที่มาดีๆจาก
th.wikipedia.org
dsignsomething.com
thairath.co.th
kapook.com
www.youtube.com