เกษตร » เพกา พืชสาระพัดประโยชน์ มากมายคุณค่าทางสมุนไพร

เพกา พืชสาระพัดประโยชน์ มากมายคุณค่าทางสมุนไพร

26 สิงหาคม 2019
1811   0


————————

เพกา หรือ ลิ้นฟ้า พืชมหัศจรรย์! ช่วยชะลอวัยและต้านมะเร็ง

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oroxylum indicum (L.) Kurz
• ชื่อสามัญ :
– Broken bones tree
– Damocles tree
– Indian trumpet flower

△เพกาพันธุ์เตี้ย
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– เพกา
ภาคอีสาน
– ลิ้นฟ้า
– หมากลิ้นฟ้า
ภาคเหนือ
– มะลิ้นไม้
– ลิดไม้
– หมากลิ้นช้าง
– หมากลิ้นก้าง
– ดุแก ดอก๊ะ ด๊อกก๊ะ (กระเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)
ภาคใต้
– เบโก (มาลายู-นราธิวาส)
อื่นๆ
– กาโด้โด้ง (กระเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)
-โชยเตียจั้ว (จีน)

เพกา/ลิ้นฟ้า (Broken bones tree) จัดเป็นพืชสมุนไพรที่นิยมนำฝักอ่อน ยอดอ่อน และดอกมารับประทานคู่กับน้ำพริก และอาหารในเมนูซุปหน่อไม้+ลาบต่างๆ เนื่องจากให้ความกรอบ นุ่ม และมีรสขมเล็กน้อย ทำให้เพิ่มรสชาติของอาหาร ให้คุณค่าทางสมุนไพรในการบรรเทา และรักษาโรคต่างๆได้ดี

เพกา เป็นพืชดั้งเดิมในเอเชีย พบได้ในประเทศอินเดีย พม่า ไทย ลาว มาเลเชีย และจีนตอนใต้ ส่วนประเทศไทยพบแพร่กระจายในทุกภาค และในทุกจังหวัด

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
เพกา เป็นไม้ยืนต้นที่เป็นได้ทั้งชนิดผลัดใบ และไม่ผลัดใบ หากเติบโตในที่ชุ่มจะไม่ผลัดใบ มีใบเขียวที่ปลายยอดตลอด แต่หากเติบโตบนพื้นที่ค่อยข้างแห้งแล้งจะพบต้นพลัดใบจนเหลือกิ่งก้าน

เป็นไม้ขนาดเล็กถึงกลาง ลำต้นมีขนาดเล็ก และเรียวยาว ขนาดลำต้นประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีความสูงประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นไม่แตกกิ่ง แต่จะแตกกิ่งเมื่อปลายยอดถูกตัด หรือ หลังการออกดอกครั้งแรกแล้ว โดยมีใบแตกออกเฉพาะบริเวณปลายยอด ทำให้แลดูไม่เป็นทรงพุ่ม

เพกามีรูปทรงต้นเป็นทรงกลม เปลือกลำต้นขรุขระเล็ก และแตกเป็นสะเก็ด สีเปลือกลำต้นมีสีครีม และบางลำต้นมีฝ้าขาวของราปกคลุม ส่วนเนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน สีขาวขุ่น โดยส่วนปลายยอดมีรอยแผลเป็นบาก จากการหลุดร่วงของก้านใบ ทั้งลำต้น และกิ่งเปราะหักง่าย

ใบเพกา เป็นใบประกอบ 2 ชั้น ที่ชั้นแรกเป็นก้านใบหลักที่แตกออกตรงข้ามกันเป็นคู่บนลำต้นบริเวณปลายยอด ซึ่งมีความยาวได้ถึง 1.5 เมตร ส่วนชั้นที่ 2 เป็นก้านใบย่อยที่แตกออกเป็นคู่ๆตรงข้ามกันบนก้านใบหลัก 3-5 คู่ และมีก้านใบย่อยอีก 1 ก้านเดี่ยวที่ปลายก้านหลัก รวมแล้วประมาณ 7-11 ก้าน แต่ละก้านใบย่อยประกอบด้วยใบย่อยเรียงกันเป็นคู่ๆตรงข้ามกัน 3-5 คู่

ใบย่อยแต่ละใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจยาว ความกว้างประมาณ 4-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร โคนใบมน และเว้าเข้าตรงกลาง ส่วนปลายใบแหลม แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม แผ่นใบด้านล่างมีสีเขียวอ่อน แผ่นใบ และขอบใบเรียบ มีเส้นกลางใบ และเส้นใบย่อยมองเห็นชัดเจน

ดอก
เพกา ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายยอด ความยาวก้านช่อประมาณ 0.8-1.5 เมตร โดยมีดอกเรียงซ้อนกัน 20-30 ดอก ที่ปลายก้านช่อดอก โดยแต่ละดอกจะมีก้านดอกยาว 5-15 เซนติเมตร

ดอกตูมเพกามีลักษณะเป็นหลอดของกลีบเลี้ยง และกลีบดอกสีเขียวที่หุ้มไว้ ต่อมาเมื่อแก่ ปลายกลีบดอกจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีม่วง และพองตัวใหญ่ขึ้น และ เมื่อดอกบาน กลีบดอกด้านนอกจะเปลี่ยนม่วงเข้ม ส่วนด้านในเป็นสีครีม ทั้งนี้ กลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นรูปแตร ปลายกลีบไม่แยกเป็นแฉก แต่ย่นเป็นลูกคลื่น และโค้งพับลงด้านล่าง ส่วนด้านในประกอบด้วยก้านเกสรตัวผู้เรียงกัน 5 อัน ปลายก้านเกสรเป็นหลอดห้อยติดที่มีละอองเกสรจำนวนมาก ส่วนก้านเกสรตัวเมียจะมี 1 อัน

ทั้งนี้ ดอกเพกาจะทะยอยบานจากดอกด้านล่างไปสู่ดอกที่ปลายช่อ และดอกจะบานในตอนกลางคืนถึงก่อนรุ่งสาง และร่วงในช่วงสายๆ


ผลเพกา เรียกเป็น ฝัก ที่มีลักษณะแบนยาว คล้ายดาบจีนโบราณ กว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 45-120 เซนติเมตร โคนฝักสอบแคบ ปลายฝักแหลม เปลือกฝักหนา ฝักอ่อนมีสีเขียวสด เนื้อแน่นกรอบ มีรสขม-นิยมรับประทาน

ฝักเริ่มแก่มีสีเขียวอมดำ ไม่นิยมรับประทาน เพราะแข็ง และเหนียว ฝักแก่เต็มที่ และแห้งจะมีสีดำ และปริแตกออกเป็น 2 ซีก ส่วนด้านในจะมีเมล็ดจำนวนมากเรียงซ้อนอัดแน่นอยู่

เมล็ดเพกา มีลักษณะแบน เปลือกเมล็ดมีสีดำหรือน้ำตาลอมดำ ซึ่งจะถูกหุ้มด้วยเยื่อสีขาวอมเหลืองเป็นแผ่นบางๆล้อมรอบ เยื่อนี้ทำหน้าที่ช่วยให้เมล็ดปลิวตามแรงลมให้ตกห่างจากต้นได้ไกลขึ้น ทั้งนี้ ช่อดอกเพกา 1 ช่อ จะติดฝักประมาณ 1-20 ฝัก

ประโยชน์ของเพกา
1. ฝักอ่อน อายุฝักประมาณ 1 เดือน จัดเป็นผักพื้นบ้านที่นิยมนำมารับประทานด้วยการลวกหรือย่างไฟ คู่กับน้ำพริก เมนูลาบต่างๆ และซุปหน่อไม้ ฝักอ่อนนี้ เมื่อรับประทานจะมีรสขม เนื้อฝักกรอบ บางครั้งมีจำหน่ายทั้งฝักอ่อนดิบตามตลาดสด ราคาฝักละ 15-25 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดฝัก และฝักอ่อนลวกสำเร็จที่ตัดแบ่งครึ่งหรือหั่นเป็นชิ้น ครึ่งฝักละ 5-10 บาท ที่ขายคู่กับน้ำพริก ทั้งนี้ การย่างไฟ นิยมย่างไฟจากเตาถ่าน แต่อาจย่างจากไฟลุกไหม้ก็ได้ โดยย่างให้เปลือกฝักอ่อนร้อน และอ่อนตัวจนไหม้เกรียมเป็นสะเก็ดดำ จากนั้นค่อยขูดสะเก็ดดำออก ก่อนนำมาหั่นรับประทาน

2. ใบ และยอดอ่อน ชาวบ้านนิยมนำมารับประทานดิบหรือลวกหรือย่างไฟ คู่กับน้ำพริก ซุปหน่อไม้ และเมนูลาบต่างๆเช่นกัน เมื่อรับประทานจะให้รสขม และกรอบเช่นกับเหมือนกับฝักอ่อน ทั้งนี้ ใบอ่อน และยอดอ่อน มักไม่นิยมเด็ดมารับประทานมากนัก เพราะจำเป็นให้ยอดเติบโต และติดดอก แต่มักเด็ดเพื่อให้ลำต้นแตกกิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น

3. ดอกบาน ถือเป็นส่วนหนึ่งที่นิยมรับประทานไม่แพ้ฝักอ่อน และยอดอ่อน ซึ่งจะใช้เฉพาะดอกบานที่ร่วงจากต้นแล้ว ไม่ใช่ดอกที่ติดบนช่อดอก ทั้งนี้ ดอกบานดังกล่าวนิยมนำมาลวกเท่านั้น สำหรับรับประทานคู่กับอาหารที่กล่าวข้างต้น เนื้อดอกเมื่อลวกแล้วจะมีความนุ่ม และให้รสขมน้อยกว่าฝักอ่อน และยอดอ่อนถือได้ว่าเป็นส่วนที่อร่อยมากที่สุด

4. แก่นไม้เพกา เป็นไม้เนื้ออ่อน ซึ่งในบางพื้นของภาคอีสาน นิยมใช้เผาถ่านสำหรับทำผงถ่านผสมทำดินปืนหรือดินบั้งไฟ ทั้งนี้ สามารถเผาเป็นถ่านได้ทั้งในรูปไม้สด เพราะเนื้อไม้สดค่อนข้างแห้งอยู่แล้ว และเผาในรูปท่อนไม้แห้ง ซึ่งเผาได้ง่ายกว่า แต่ปัจจุบัน ไม่ค่อยนิยมแล้ว เนื่องจาก ต้นเพกาในอีสานหายากขึ้น และหันมาใช้ไม้ยูคาลิปตัสที่หาได้ง่ายกว่า

5. ฝักอ่อนเพกา บางพื้นที่ส่งออกจำหน่ายต่างประเทศเพื่อรับประทาน ส่วนฝักเพกาแก่ นิยมนำมาตากแห้ง และส่งออกต่างประเทศเพื่อใช้ทำยาสมุนไพร สามารถทำรายได้อย่างงามให้แก่เกษตรกรได้ ซึ่งพบในพื้นที่ภาคเหนือ อาทิ จังหวัดสุโขทัย


สรรพคุณเพกา
ฝักอ่อน
– ช่วยย่อยอาหาร และช่วยเจริญอาหาร
– ต้านอนุมูลอิสระ ลดการเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย ลดการเกิดริ้วรอย ทำให้ผิวพรรณแลดูสดใส
– ช่วยบำรุงสายตา
– ต้านโรคมะเร็ง และรักษาโรคมะเร็ง
– ช่วยบำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย
– ช่วยลดไขมันคอเลสเตอรอลในร่างกาย
– ช่วยแก้ร้อนใน
– ลดอาการคออักเสบ ลดอาการเจ็บคอ
– ช่วยแก้ไอ ลดเสมหะ
– ช่วยขับลม
– รักษาโรคในระบบทางเดินอาหาร
– รักษาโรคท้องร่วง ท้องเสีย
– ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ
– ช่วยรักษาบาดแผล ช่วยลดอาการฟกช้ำ
– รักษาแผลในช่องปาก

เมล็ด
– แก้อาการท้องเสีย
– ช่วยลดอาการไอ
– ลดอาการเจ็บคอ แก้คออักเสบ
– ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ
– ช่วยให้ผ่อนคลาย นอนหลับง่ายขึ้น
– แก้อาการฟกช้ำ
– แก้กระหายน้ำ

ใบอ่อน และยอดอ่อน
– ต้าน และรักษามะเร็ง
– ช่วยย่อย และเจริญอาหาร
– ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
– ป้องกันโรคหัวใจ และหลอดเลือด
– แก้อาการอาหารเป็นพิษ แก้อาการท้องเสีย
– ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด
– รักษาแผลในช่องปาก
– ช่วยสมานแผล รักษาแผลภายนอกให้หายเร็ว

เปลือก และแก่น
• ต้มน้ำดื่ม
– แก้อาการท้องเสีย
– ช่วยบำรุงโลหิต และกระตุ้นการไหลเวียนเลือด
– ช่วยบรรเทาไข้หวัด
– ช่วยขับลม
– ช่วยขับปัสสาวะ
– แก้อาการร้อนใน
– แก้อาการฟกช้ำ
– ลดอาการไอ ช่วยขับเสมหะ
– ช่วยบรรเทาคออักเสบ
– แก้จุกเสียดแน่นท้อง
– บรรเทาอาการอาเจียร
– แก้ริดสีดวงทวาร

• ต้มน้ำอาบ
– รักษาผื่นคัน
– รักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน

• นำมาฝนหรือบดทาภายนอก
– ใช้ทาประคบแผล ทำให้แผลแห้ง ช่วยให้แผลหายเร็ว
– ใช้ทาแผลมีหนอง ลดน้ำหนอง
– ใช้ทาหรือประคบบริเวณแมลงกัดต่อย ช่วยลดอาการปวดบวม
– ใช้ทาประคบลดอาการบวม และปวดของฝี

ราก
– ช่วยลดไข้หวัด แก้ไข้มาลาเลีย
– ช่วยย่อยอาหาร และช่วยเจริญอาหาร
– ช่วยขับลม
– ช่วยขับเหงื่อ
– แก้อาการท้องเสีย
– รากนำมาฝนหรือบด ก่อนทาประคบรักษาอาการปวดบวมของฝี
– ช่วยสมานแผล รักษาแผลให้หายเร็ว

ฤทธิ์ทางเภสัชกรรม
1. ฤทธิ์ต้านการอักเสบ
การศึกษาสารสกัดจากเพกาที่มีต่อการต้านอาการอักเสบในหนูทดลอง ด้วยการให้สารสกัดจากเพกา ก่อนจะกระตุ้นให้เท้าหนูทดลองบวม หลังจากนั้น วัดขนาดอุ้งเท้าของหนู พบว่า หนูทดลองที่ได้รับสารสกัดจากเพกาอุ้งเท้าบวมลดลงภายใน 5 ชั่วโมง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มหนูทดลองที่ไม่ได้รับสารสกัดที่พบว่ามีขนาดใหญ่กว่า

2. ฤทธิ์ต้านแผลในกระเพาะอาหาร
การใช้สารสกัดจากรากเพกาสามารถลดปริมาณการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารได้ ทำให้ลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ โดยมีสาระสำคัญที่ช่วยออกฤทธิ์ คือ Baicalein

3. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
การศึกษาใช้สารสกัดจากใบเพกาในการต้านสารอนุมูลอิสระ DDPH และยับยั้งสารอนุมูลอิสระ Nitric Oxide พบว่า สารสกัดสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งในค่า IC50 = 24.22 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร และ ค่า IC10 = 129.81 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ของสารทั้ง 2 ชนิดตามลำดับ

4. ฤทธิ์ต้านมะเร็ง (Anticancer Activity)
การศึกษาทดสอบสารสกัดจากเพกาชื่อ Baicalein ในการต้านเซลล์มะเร็ง HL-60 พบว่า สาร Baicalein สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็ง HL-60 ได้มากกว่าร้อยละ 50 ภายใน 36-48 ชั่วโมง

ความเป็นพิษของเพกา
การทดลองความพิษของเพกาด้วยสารสกัดจากผล และราก ขนาดความเข้มข้น 1 โมล/กิโลกรัม กับหนู โดยการฉีดสารสกัดเข้าช่องท้อง พบว่า ขนาดความเข้มข้นที่หนูสามารถทนต่อสารสกัดจากผลได้ คือ 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และขนาดความเข้มข้นที่หนูสามารถทนต่อสารสกัดจากรากได้ คือ 1 กรัม/กิโลกรัม

การศึกษาพิษเฉียบพลันจากสารสกัดจากเปลือกเพกาที่ขนาดสูงสุดที่ 800 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ไม่พบอาการเป็นพิษเฉียบพลันแต่อย่างใด

การทดสอบความเป็นพิษของเพกาต่อการกลายพันธุ์ในจุลินทรีย์ที่ขนาด 2 มิลลิลิตร/1จานเพาะเชื้อ พบว่า สารสกัดเพกาไม่มีผลต่อการกลายพันธุ์ของจุลินทรีย์แต่อย่างใด

การปลูกเพกา
การใช้เมล็ด
เพกาเป็นไม้เนื้ออ่อน หากใช้วิธีขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศมักไม่ค่อยได้ผล แต่ที่นิยมมาก และได้ผลดีที่สุด คือ การเพาะเมล็ด โดยเลือกเมล็ดจากฝักแก่ เปลือกฝักแห้ง มีสีดำ โดยให้เก็บฝักไว้สัก 2-3 เดือน ก่อนนำมาเพาะเมล็ด เพราะหลังจากฝักแก่ เมล็ดเพกาจะเข้าสู่ระยะพักตัวอยู่ช่วงหนึ่ง หากนำเมล็ดมาเพาะในระยะหลังฝักแก่มักมีอัตราการงอกต่ำ ดังนั้น จึงทิ้งฝักไว้สักระยะหนึ่งก่อน

การเพาะเมล็ด ควรเพาะในถุงเพาะชำ เพื่อให้ย้ายต้นลงปลูกในแปลงได้สะดวก โดยนำเมล็ดออกจากฝัก และตากแดดสัก 2-3 วันก่อน หลังจากนั้นค่อยนำมาเพาะ

การเตรียมวัสดุเพาะ และการเพาะเมล็ด
สำหรับวัสดุเพาะ ควรใช้ดินผสมกับวัสดุอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และแกลบดำ แต่หากไม่สะดวกให้ใช้เพียงปุ๋ยคอกอย่างเดียวก็ได้ โดยใช้อัตราส่วนดิน:ปุ๋ยคอก:แกลบดำ ที่ 1:3:1 ก่อนบรรจุลงถุงเพาะชำ หลังจากนั้น นำเมล็ดลงกลบ และรดน้ำให้ชุ่ม พร้อมกับดูแลด้วยการรดน้ำเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง จนกว่าต้นจะงอก และแตกใบได้ 2 ข้อ ก่อนย้ายลงปลูกในแปลง

วิธีปลูกเพกา
การปลูกเพกานิยมปลูกในต้นฤดูฝน เมื่อต้นกล้าแตกยอดได้ 2 ข้อแล้ว ให้นำกล้าเพกาลงปลูกได้ สำหรับระยะปลูกให้มีระยะห่างที่ 4×4 เมตร โดยการขุดหลุมขนาดประมาณ 30 เซนติเมตร ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร ก่อนจะรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกประมาณ 3-5 กำ และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 หยิบมือ พร้อมคลุกหน้าดินผสม ก่อนจะนำกล้าเพกาลงปลูก

การดูแลเพกา
หลังจากปลูกแล้ว เกษตรกรส่วนใหญ่จะปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ หากต้นตั้งตัวได้ก็จะเติบโตจนผ่านฤดูฝนไป และอยู่รอดได้ในช่วงหน้าแล้ง แต่บางพื้นที่ที่มีการปลูกจำนวนหลายต้นหรือปลูกเพื่อจำหน่าย เกษตรกรจะมีการถางกำจัดวัชพืช ควบคู่กับการใส่ปุ๋ยคอกบริเวณโคนต้น และเพิ่มปุ๋ยเคมีในช่วงก่อนแทงช่อดอก เพื่อให้ต้นเพกาสมบูรณ์.

ที่มา – https://108kaset.com/2019/08/26/indian-trumpet-flower