ยูทูป » วิกฤติไฟป่าพรุควนเคร็ง ลาม 4 อำเภอ /31 ก.ค.2562

วิกฤติไฟป่าพรุควนเคร็ง ลาม 4 อำเภอ /31 ก.ค.2562

2 สิงหาคม 2019
2157   0

วิกฤติไฟป่าพรุควนเคร็ง ลาม 4 อำเภอ /31 ก.ค.2562

กรมป่าไม้-กรมอุทยานฯ ระดมทีมเหยี่ยวไฟ เสือไฟกว่า 200 คน ลงพื้นที่ดับไฟป่าพรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช หลังพบแค่ 7 เดือนเกิดไฟไหม้ 88 ครั้งป่าเสียหาย 4,968ไร่ ..

ปัญหาไฟไหม้พรุควนเคร็ง ถึง 88 ครั้งในเวลาแค่ 7 เดือน มีพื้นที่เสียหายรวม 4,968ไร่ มีการตั้งข้อสังเกตตรงกันว่าไม่ปกติ

ข้อมูลพบว่า ป่าพรุควนเคร็ง ตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดําริ มีเนื้อที่รวมกันประมาณ 165,825.50 ไร่ ประกอบด้วยเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 2 แห่ง คือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย และพื้นที่เตรียมการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ่อล้อ และป่าสงวนแห่งชาติ 4 ป่าคือ

-ป่าสงวนแห่งชาติป่าบ้านในลุ่ม-ป่าบ้านกุมแป

-ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองค๊อง

-ป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าช้างข้าม

-ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอนทรายและป่ากลอง ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดคือ สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช

.. 1 ส.ค.2562 ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ขณะนี้นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สั่งการให้เพิ่มกำลังชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟ ของกรมป่าไม้ และชุดปฏิบัติการพิเศษเสือไฟ ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กว่า 200 นายลงพื้นที่เพื่อควบคุมสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมงพร้อมทั้งตั้งศูนย์อำนวยการร่วมระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าฯนครศรีธรรมราช เป็นประธาน และจะเฝ้าระวังในพื้นที่จนกว่าจะคลี่คลาย.


รายละเอียด..

ป่าพรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช เดิมเคยเป็นทะเลมาก่อน แต่ต่อมาได้เกิดหาดสันดอนปิดกั้น (Barrier beach) จึงกลายเป็นพื้นที่ป่าพรุ (Swamp forest) หรือ ลากูน (Lagoon)

ป่าพรุควนเคร็งมีน้ำท่วมขังเกือบตลอดทั้งปี ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เชียรใหญ่ ชะอวด เฉลิมพระเกียรติ ร่อนพิบูลย์ และหัวไทร  พื้นที่ดังกล่าวได้มีประกาศเมื่อ พ.ศ. 2518 ให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ครอบคลุมพื้นที่ อ.ชะอวดและหัวไทร เนื้อที่ 150,000 ไร่ และประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ่อล้อ ในพื้นที่ อ.ชะอวด เชียรใหญ่ และเฉลิมพระเกียรติ เนื้อที่ 64,494 ไร่ มีประชากรอาศัยอยู่รอบๆ ป่าพรุ และในป่าพรุประมาณ 23,000 คน

ป่าพรุเคร็ง(ภาษาชาวบ้าน) หรือ ป่าพรุควนเคร็ง เป็นป่าพรุอีกแห่งหนึ่งของภาคใต้(รองจากพรุแดง จ.นราธิวาส)ที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด มีพื้นที่ 223,320 ไร่ อาณาบริเวณครอบคลุมเขตรอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา  ประกอบด้วยป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 4 ป่าซึ่งตั้งอยู่ในเขตโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องจากจากพระราชดำริ ประกอบด้วย

  1. ป่าสงวนแห่งชาติป่าบ้านกุมแป ป่าบ้านในลุ่ม และ ป่าพรุควนเคร็ง ต.ตูล ต.เคร็ง ต.ชะอวด อ.ชะอวด ต.สวนหลวง อ.เฉลิมพระเกียรติ เนื้อที่ประมาณ 54,221 ไร่
  2. ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอนทราย ต.ควนพัง  อ.ร่อนพิบูลย์  เนื้อที่ประมาณ 52,987 ไร่
  3. ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองค็อง ต.สวนหลวง อ.เฉลิมพระเกียรติ  ต.แม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ เนื้อที่ประมาณ 29,949 ไร่
  4. ป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าช้างข้าม ต.การะเกด ต.เขาพระบาท อ.เชียรใหญ่  เนื้อที่ประมาณ 52,987 ไร่
  5. ป่าไม้ถาวรตามมติ ครม. 14 พฤศจิกายน 2504 และ 23 มกราคม 2516 (ป่าหมายเลข 102 แปลง 1) ซึ่งอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เนื้อที่ประมาณ 57,495 ไร่

ป่าพรุควนเคร็งเป็นพื้นที่ที่มีความสัมพันธ์กับระบบนิเวศวิทยาของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำปากพนังอย่างแนบแน่น โดยพืนที่ป่าพรุควนเคร็งเป็นเสมือนจุดรับน้ำ แหล่งกรองแร่ธาตอาหารตะกอนด้วยชั้นของเศษซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกันมานานหลายสิบปี หรืออาจถึงร้อยปี ซึ่งไหลมากับน้ำจากเทือกเขาบรรทัด ที่อยู่ทางด้านตะวันตกของลุ่มน้ำปากพนัง อันเป็นแหล่งต้นน้ำของป่าพรุที่รวมเอาน้ำและความอุดมสมบูรณ์จากภูเขาในเขต อ.ร่อนพิบูลย์ ชะอวด ส่วนหนึ่งระบายออกไปสู่ทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ไหลต่อเนื่องลงไปสู่ทะเลสาบสงขลา ส่วนหนึ่งของน้ำไหลระบายออกไปสู่ทะเลอ่าวไทยผ่านแม่น้ำปากพนัง

หลังการเกิดเหตุการณ์วาตภัยจากพายุไต้ฝุ่นแฮเรียดพัดผ่านภาคใต้(แหลมตะลุมพุก) ในปี 2505 หลัง ได้ทำให้ต้นไม้ในป่าพรุควนเคร็งโค่นล้มเสียหายจำนวนมาก

ขณะเดียวกันจำนวนประชากรก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น ชุมชนมีการขยายตัวในขณะที่พื้นที่ทำกินมีอยู่จำกัด จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พื้นที่ป่าพรุควนเคร็งถูกบุกรุกทำลายเข้าจับจองถือครองกันมากขึ้น หลังจากนั้นป่าพรุควนเคร็งก็เริ่มถูกแบ่งเป็นแปลงเล็กแปลงน้อยแยกส่วนออกจากกัน  ต่อมาทางการจึงได้ประกาศให้ป่าพรุควนเคร็งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ในปี 2539

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มีนโยบายมอบที่ทำกินในพื้นที่ป่าที่เสื่อมโทรมและที่ถูกถือครองอยู่ก่อนแล้วมอบให้แก่ประชาชน เพื่อการพัฒนาให้เกิดประโยชน์และมูลค่าทางเศรษฐกิจ ป่าพรุควนเคร็งก็จึงถูกแบ่งแยกออกไปอีกหลายส่วน..

ปัจจุบันเหลือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ไม่เหมาะสมต่อการทำการเกษตรที่กันออกจากเขตที่ได้ปฏิรูปที่ดินแล้วและไม่มีภาระผูกพันใดรวมทั้งที่ได้กำหนดเป็นเขตอนุรักษ์ (Zone C)

ที่มา- https://news.thaipbs.or.th/content/282281
https://www.twipu.com/Pongsatornphoto/tweet/1110817389099139073
https://oknation.nationtv.tv/blog/nn1234/2012/09/11/entry-1