เกษตร » รัฐฯไฟเขียวปล่อยกู้ 6 พันล้าน ให้เกษตรกรซื้อรถตัดอ้อย เป้าปี’65 ชาวไร่ต้องไม่เผาอ้อย

รัฐฯไฟเขียวปล่อยกู้ 6 พันล้าน ให้เกษตรกรซื้อรถตัดอ้อย เป้าปี’65 ชาวไร่ต้องไม่เผาอ้อย

21 มิถุนายน 2019
1071   0


———————–

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ตั้งเป้าหมายให้การเผาอ้อยต้องหมดไปจากประเทศไทยภายใน 3 ปี หรือในปี 2565 โดยฤดูกาลผลิตปี 2562/63 จะหักราคาอ้อยไฟไหม้จากชาวไร่อ้อยตันละ 5% โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบไม่เกิน 30% ต่อวัน..

“เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในกระทบวนการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยที่เกษตรกรเคยทำ คือ จะมีการเผาอ้อยก่อนที่จะตัด จึงส่งผลให้เกิดมลพิษ รัฐบาลมีนโยบายลดฝุ่นละอองขนาดเล็กจึง ลดปริมาณการเกิดหมอกควันจากการเผาอ้อยในช่วงเดือนธ.ค.-เม.ย. ของทุกปี ให้มีการทบทวนมาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการหักเงินอ้อยไฟไหม้ และกำหนดให้โรงงานน้ำตาลจำกัดปริมาณการรับอ้อยไฟไหม้เข้าโรงหีบ เพื่อให้การเผาอ้อยหมดไปในปี 2565”

..นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนการจัดหารถตัดอ้อยใหม่ และการจัดหาแหล่งเงินทุน ตั้งเป้าหมาย จัดหารถตัดอ้อยเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 4,000 คัน ในปี 2565 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 1,802 คัน โดยทำการจัดหาจากผู้ผลิตรถตัดอ้อย และยังสนับสนุนสินเชื่อเพื่อประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปี 2562-64 โดยให้สินเชื่อกับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคลและวิสาหกิจชุมชน วงเงินกู้ปีละ 2,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562-64 รวมวงเงิน 6,000 ล้านบาท

สำหรับแหล่งเงินทุนจะใช้เงินจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แต่ละรายกู้ได้ไม่เกิน 29 ล้านบาท แยกเป็นเงินกู้เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย และปรับพื้นที่ปลูกอ้อย วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 500,000 บาท สำหรับรายละเอียดเงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร รถตัดอ้อยใหม่ขนาดใหญ่ มีวงเงินกู้ไม่เกินรายละ 15 ล้านบาท และรถตัดอ้อยใหม่ขนาดกลาง วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท ส่วนรถตัดอ้อยเก่าขนาดใหญ่ มีวงเงินกู้ไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท และรถตัดอ้อยใหม่ขนาดกลาง วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 8 ล้านบาท

ส่วนอัตราดอกเบี้ย แยกเป็น เกษตรกรรายบุคคล คิดดอกเบี้ยในอัตรา 2% ต่อปี เช่นเดียวกับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคลและวิสาหกิจชุมชน ที่คิดดอกเบี้ย 2% ต่อปี ส่วนกรณีการกู้เงินเพื่อจัดซื้อรถตัดอ้อย ประเภทรถแทรกเตอร์หรือรถบรรทุกคิดดอกเบี้ยในอัตรา 4% ต่อปี โดยรัฐบาลไม่ต้องชดเชยดอกเบี้ยในส่วนนี้ แต่ธ.ก.ส. รับภาระชดเชย 1% ต่อปี โดยมีกรอบวงเงินงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยประมาณ 599.43 ล้านบาท

ทั้งนี้ พื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศมีจำนวน 11.54 ล้านไร่ เกษตรกรจำนวน 316,241 ราย และในการผลิตปี 2561/62 มีปริมาณหีบอ้อย 130 ล้านตันเป็นอ้อยสด 50.9 ล้านตัน หรือ 38.89% เป็นอ้อยไฟไหม้ 80 ล้านตันคิดเป็น 61.11%..

ที่มา- https://108kaset.com/2019/06/21/sugar/