ยูทูป » รู้จักกับวันฮารีรายอ วันสำคัญยิ่ง ของศาสนาอิสลาม

รู้จักกับวันฮารีรายอ วันสำคัญยิ่ง ของศาสนาอิสลาม

5 มิถุนายน 2019
2333   0

สำนักจุฬาราชมนตรีประกาศให้5มิ.ย.62เป็น “วันตรุษอีฎิ้ลฟิตรี”

สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ออกประกาศเรื่อง กำหนด วันที่ 1 ของเดือนเซาวาล (วันอีฏิ้ลฟิตริ) ฮิจเราะห์ศักราช 1440 ตรงกับวันพุธที่ 5 มิถุนายน 2562

ตามที่ได้ประกาศให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศ ดูดวงจันทร์ กำหนดให้วันที่ 1 ของเดือนเซาวาล (วันอีฎิ้ลฟิตริ) ฮิจเราะห์ศักราช 1440 ในวันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน 2562 เวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้านั้น ปรากฏว่า “ไม่มีผู้ใดมองเห็นดวงจันทร์”

จึงประกาศว่า วันอีฎิ้ลฟิตริ ฮิจเราะห์ศักราช 1440 ตรงกับวันที่ 5 มิถุนายน 2562

สำหรับวันอีฎิ้ลฟิตริ หรือ วันฮารีรายอ เป็นวันเฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดเดือนแห่งการถือศีลอด หรือ เดือนรอมฎอน

—————

“ฮารีรายอ” (Hari Raya) เป็นภาษามลายูปัตตานี ส่วนในภาษามลายูกลาง แปลว่า วันใหญ่ หรือ วันอีด เป็นวันเฉลิมฉลองเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ของชาวมุสลิม โดยก่อนวันงาน ชาวมุสลิมจะออกมาจับจ่ายซื้อของ เสื้อผ้า และหมวกกะปิเยาะ เพื่อเตรียมต้อนรับเทศกาลฮารีรายอกันอย่างคึกคัก..

และในวันดังกล่าวชาวมุสลิมจะไปเยี่ยมเยียนพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน เพื่ออภัยต่อกันในสิ่งที่ผ่านมา มีการแสดงออกด้วยการสวมกอด การจูบมือ การหอมแก้มทั้งสองของพ่อแม่ เป็นการแสดงความรัก ลูกหลานที่อยู่ต่างภูมิลำเนาต่างกลับบ้าน เมื่อมาขออภัยและอำนวยพรให้พ่อแม่ ทุกครัวเรือนจะมีความอบอุ่นไปด้วยบรรดาลูก ๆ หลาน ๆ กลับบ้านโดยพร้อมเพรียงกัน..

จึงนับว่าเป็นวันสำคัญสำหรับประชาชาติอิสลามทุกคนไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใดหากไม่มีความจำเป็นใดๆทุกคนจะเดินทางกลับภูมิลำเนาบ้านเกิด เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง พบปะเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง และเป็นวันที่กำหนดให้ทุกคนขออภัยและให้อภัยต่อกัน คล้ายกันกับวันสงกรานต์ของไทย

ช่วงเวลา ในรอบปีหนึ่ง ชาวมุสลิม มีวันฮารีรายอ 2 ครั้ง คือ..

1) อีดิลฟิตรี ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนเชาวาล ซึ่งเป็นเดือน 10 ตามปฏิทินอิสลาม ซึ่งเป็นวันออกบวช
..โดยการยึดถือการมองเห็นดวงจันทร์ สำหรับประเทศไทยจะยึดประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งประกาศให้เป็นวันละศิลอด (ออกบวช) ตามคำรับรองของผู้ที่ได้รับมอบอำนาจให้เป็นคณะเฝ้ามองดวงจันทร์ (อิสลามจะนับเดือนตามจันทรคติ : ข้างขึ้นข้างแรม) เมื่อมองเห็นดวงจันทร์ ขึ้นทางทิศตะวันตกในช่วงค่ำของวันถือศิลอด หมายถึง เดือนรอมฎอนได้ผ่านพ้นไป และในวันรุ่งขึ้นจะเป็นวันที่ 1 เดือนเซาวาล คณะเฝ้ามองดวงจันทร์ที่มองเห็นดวงจันทร์ก็จะแจ้งไปยังสำนักงานจุฬาราชมนตรี เมื่อสำนักจุฬาราชมนตรีได้รับแจ้งก็จะประกาศอย่างเป็นทางการ โดยจุฬาราชมนตรี ผู้ซึ่งเป็นประมุขของผู้นับถือศาสนาอิสลามในประเทศไทย…และหากไม่สามารถมองเห็นดวงจันทร์ในวันที่จุฬาราชมนตรีมีคำสั่งมอบหมายให้มองดวงจันทร์ ก็ให้ถือศิลอดต่อไปอีกจนกว่าจะมองเห็นดวงจันทร์

2) อีดิลอัฏฮา ตรงกับวันที่ 10 เดือน ซุลฮิจญะ หรือตรงกับเดือน 12 ของปฏิทินอิสลาม ซึ่งเป็นการฉลอง วันออกฮัจญ์ หรือ ถือเป็นวันครบรอบการถือศีลอดของเดือนรอมฎอน

ความสำคัญ

วันฮารีรายอ เป็นวันรื่นเริงประจำปี ชาวมุสลิมจะไปเยี่ยมเยียนพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน เพื่ออภัยต่อกันในสิ่งที่ผ่านมา เป็นวันที่ทุกคนมีความสุขมาก มุสลิมจะมีการประกอบพิธีกรรมพร้อมเพรียงกันทั่วโลก

ในวันอีดีลฟิตรี มุสลิมทุกคนจะต้องจ่ายซะกาตฟิตเราะห์ บริจาคทานแก่คนยากจนอนาถา

ในวันอีดิลอัฏฮา จะมีการเชือดสัตว์พลี แล้วจะทำ กุรบัน แจกจ่ายเนื้อเพื่อเป็นทานแก่ญาติมิตร สัตว์ที่ใช้ในการเชือดพลี ได้แก่ อูฐ วัว แพะ เป็นการขัดเกลาจิตใจของมนุษย์ให้เป็นผู้บริจาค เป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์

ในวันฮารีรายอชาวมุสลิม จะเดินทางกลับภูมิสำเนาของตน มาร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนาโดยพร้อมเพรียงกัน ได้พบปะ สังสรรค์กับเพื่อน ญาติพี่น้อง เพื่อจะได้ขออภัยต่อกัน

ขนมเตรียมต้อนรับแขก

พิธีกรรม

1. การปฏิบัติตนในตอนเช้าของวันฮารีรายอ โดยชาวมุสลิมจะตื่นนอนแต่เช้าตรู่ โดยเฉพาะผู้หญิงจะเป็นผู้ตกแต่งบ้านเรือนให้สะอาดสวยงามเป็นพิเศษ จัดเตรียมอาหาร ขนมต่าง ๆ ไว้ต้อนรับเพื่อน ญาติพี่น้อง และแขกที่มาเยี่ยมเยียน ทุกคนต้องปฏิบัติบริจาคซากาตฟิตเราะห์ก่อนที่จะไปละหมาดในวันอีดิลฟิตรี สิ่งของที่ใช้ในการบริจาคจะใช้สิ่งของที่บริโภคเป็นอาหารหลัก

การตระเตรียมขนมและอาหารไว้รับแขก ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่พ่อบ้าน แม่บ้านจะต้องมีการวางแผนกันตั้งแน่เนิ่นๆ บางครัวเรือนก็จะต้องออกจากบ้าน เข้าป่าไปหาไม้ไผ่สำหรับทำข้าวหลาม บางครัวเรือนก็จะทำข้าวต้มจากใบกะพ้อ บางก็ทำจากยอดมะพร้าว ส่วนขนมแห้งจะมีกันทุกบ้าน บ้างก็ทำเอง บางบ้านที่ไม่ค่อยมีเวลาประดิษฐ์ประดอยก็หาซื้อมาจากตลาดนัดเตรียมไว้

2. การอาบน้ำในวันฮารีรายอ เมื่อปฏิบัติภารกิจเสร็จ จะอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด เรียกว่าอาบน้ำสุนัต กำหนดเวลาอาบตั้งแต่เที่ยงคืนเริ่มต้นวันฮารีรายอ จนถึงพระอาทิตย์ตก แต่เวลาที่ดีที่สุดและเป็นที่นิยมอาบน้ำสุนัต คือเมื่อแสงอรุณขึ้นขอบฟ้าในวันฮารีรายอ ในขณะอาบน้ำสุนัตทุกคนจะต้องกล่าวดุอารีเป็นการขอพร

3. การประกอบพิธีกรรม ชาวมุสลิมจะเดินทางไปประกอบพิธีกรรมที่มัสยิด ในวันอีดิลฟิตรีจะไปมัสยิดเวลา 08.30 น. วันอีดิลอัฏฮา จะไปมัสยิดเวลา 07.30 น. การปฏิบัติตนเมื่อเดินทางถึงมัสยิด ทุกคนจะอาบน้ำละหมาด จากนั้นจึงเข้าไปในมัสยิด ทำการละหมาด ตะฮีญะดุลมัสยิด 2 รอกาอัต มีการแบ่งแยกผญิงชาย โดยใช้ม่านกั้นกลาง เสร็จแล้วจัดแถวนั่งรอฟังโต๊ะอิหม่าม ซึ่งเป็นผู้นำในการทำพิธีละหมาด

4. การละหมาด จะมีโต๊ะอีหม่ามเป็นผู้นำละหมาดจำนวน 2 รอกาอัต

5. การปฏิบัติตนเมื่อละหมาดเสร็จ หลังจากละหมาดเสร็จแล้ว มุสลิมทุกคนจะนั่งฟังอีหม่ามกล่าวคุฏบะ (คำอบรม) เพื่อแนะแนวทางชีวิตด้านความศรัทธาที่กระตุ้นเตือนให้ปฏิบัติแต่ความดีละเว้นความชั่ว และปฏิบัติตามแนวทางของอิสลาม เพื่อให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ขณะนั่งฟังนั้นทุกคนจะอยู่ในความสำรวม สงบนิ่ง ตั้งใจฟัง ไม่พูดจาใด ๆ ทั้งสิ้น และเมื่ออีหม่ามอ่านคุฏบะฮจบแล้ว อีหม่ามจะขอพรจากพระอัลลอฮ์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และบรรดามุสลิมที่มาร่วมประกอบพิธีกรรม จะมีการขออภัยต่อกันโดยผู้น้อยจะเข้าไปขออภัยผู้อาวุโสกว่า.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
วิกิพีเดีย , prapayneethai.com
https://hilight.kapook.com/view/75183
https://www.google.com/search?client=firefox-b-d&q=..
https://sites.google.com/site/prapheniwanharirayx/ray-xx-xk-bwch-xidil-fit-ri

 

>รู้จักกับพิธีศักดิ์สิทธิ์ของอิสลาม..การถือศีลอดเดือนรอมฎอน Ramadan