เกษตร » ธาตุอาหารพืชทางใบ (ตอน1)

ธาตุอาหารพืชทางใบ (ตอน1)

27 มีนาคม 2019
1846   0


—————

 

หลักการให้ธาตุอาหารพืชทางใบ(ตอน1)

ใบไม้ทุกชนิดส่วนใหญ่จะมีรูเปิดเล็กๆใต้ใบ หรือทั้งสองด้านซึ่งมีไว้สำหรับแลกเปลี่ยน ก๊าชคาร์บอนไดอ๊อกไซด์และอ๊อกซิเจนในอากาศเพื่อการหายใจและการสังเคราะห์แสง รวมทั้งการระเหยไอน้ำผ่านทางรูเปิดเล็กๆ

.

ใบไม้จึงมีผิวชั้นนอกสำหรับทำหน้าที่เป็นทั้งอวัยวะดูดซึมและขับน้ำที่มีสารละลายต่างๆอยู่ได้ด้วย เพราะว่าการดูดซึมทางใบมีจำกัด เนื่องจากผิวชั้นนอก ทำหน้าที่เป็นทำนบกั้นเป็นส่วนใหญ่จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้อาหารทั้งหมดแก่พืชผ่านทางใบเพียงอย่างเดียว

วิธีให้อาหารพืชทางใบ

การให้อาหารทางใบในแต่ละครั้ง สารละลายที่ใช้เป็นปุ๋ยทางใบ ควรจะได้รับการพ่นให้เป็นฝอยละอองให้เล็กที่สุดในแต่ละครั้ง เพื่อว่าทั้งผิวใบได้เปียกทั่วกัน เวลาที่เหมาะสำหรับการพ่นในแต่ละวันก็มีความสำคัญ ควรพ่นในตอนเช้าตรู่เมื่อเริ่มสว่างและอากาศเย็น หรือดีที่สุดคือในตอนเย็นซึ่งสภาวะแวดล้อมดีพอทำให้ใบมีโอกาสแห้ง แทนที่จะต้องเปียกอยู่นานขึ้น ส่งผลให้เกิดเชื้อราได้

เวลาที่เหมาะสมคือ รอบเช้า 06.00 น.-09.00 น./ รอบเย็น 16.00 น.-19.00 น.

พืชก็เหมือนสิ่งมีชีวิตทั่วไป ไม่ควรให้อาหารพืชทางใบในระหว่างที่อากาศร้อน หรือแสงแดดจ้า และในขณะที่พืชกำลังสลบ ซบเซาแน่นิ่ง เพราะเป็นช่วงที่พืชมักจะปิดรูใบทำให้การพ่นให้อาหารในช่วงนี้ไม่เกิดประโยชน์ใดๆเลย

การให้อาหารทางใบควรคำนึงถึงช่วงกำหนดเวลาที่สม่ำเสมอเช่นอาทิตย์ละครั้ง เพิ่มช่วงเวลาให้บ่อยครั้ง ตามความต้องการที่มากขึ้นของพืช เช่น ช่วงเริ่มออกผลหรือเมื่อมี การเพิ่มน้ำหนักแก่ผล บ่อยครั้งมากที่การให้อาหารทางใบจะได้ผลดีที่สุดในช่วงเวลาที่พืชอยู่ในภาวะกำลังเจริญเติบโต ในช่วงเวลาที่ดีเช่นนี้ ใบไม้จะมีประสิทธิภาพสูงเป็นพิเศษในการดูดซึมธาตุอาหาร

หลักการให้ธาตุอาหารพืชทางใบ….ที่ทำให้พืชได้รับประโยชน์สูงที่สุด !!!

  • เมื่อสภาพดินมีปัญหา เช่น ดินเป็นกรดหรือด่างเกินไป หากใส่ปุ๋ยทางดินอาจได้ประโยชน์ไม่เต็มที่ เนื่องจากธาตุอาหารบางชนิด เช่น ฟอสฟอรัสถูกตรึงและปลดปล่อยให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้น้อย จึงต้องมีกาารปรับปรุงดินกรด โดยการใส่ปูนขาว ซึ่งต้องใช้เวลาปรับปรุงดินระยะหนึ่ง กว่าดินจะคืนสู่สภาพปกติ ในช่วงดังกล่าวเราจึงต้องช่วยเสริมธาตุอาหารให้กับพืชก่อน เพราะพืชกำลังขาดแคลนธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์อยู่ โดยการฉีดพ่นสารละลายธาตุอาหารเข้าสู่ใบพืช ซึ่งจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที ไม่ชะงักการเจริญเติบโต
  • ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม หรือที่เรียกว่า ” จุลธาตุ ” นั้น โดยส่วนใหญ่หากใส่ทางดิน พืชจะดูดซึมไปใช้ได้ช้ากว่าฉีดพ่นทางใบ และพืชมักต้องการธาตุอาหารดังกล่าวในปริมาณไม่มากในดินที่เป็นด่างการใส่ธาตุอาหารรองธาตุอาหารเสริมทางดินจะให้ประโยชน์กับพืชน้อย เนื่องจากปุ๋ยทำปฏิกิริยากับดินและอยู่ในรูปที่ไม่เป็นประโยชน์
  • บางช่วงที่พืชขาดธาตุอาหารอยู่ในขั้นวิกฤติ การฉีดพ่นธาตุอาหารเข้าทางใบจะช่วยให้พืชฟื้นตัวได้เร็วกว่าการให้ทางดิน
  • เมื่อระบบรากพืชถูกทำลาย เนื่องจากโรคและแมลงหรือสภาพความชื้นในดินมีจำกัด จะส่งผลต่อระบบรากของพืข ในภาวะเช่นนี้ การให้ปุ๋ยทางดินจะทำให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้น้อย
  • พืชบางชนิดอาจตอบสนองต่อการให้ธาตุอาหารรองแต่ละชนิดแตกต่างกัน โดยปกติพืชใบเลี้ยงคู่ พืชใบใหญ่มีพื้นที่ใบมาก จะดูดซึมธาตุอาหารเข้าไปได้มากและดีกว่าต้นพืชที่มีพื้นที่ใบน้อย ใบเล็กเรียวและใบตั้ง บางครั้งจึงต้องเติมสารเพิ่มประสิทธิภาพเข้าฉีดพ่นพร้อมกับธาตุอาหาร ได้แก่สารจับใบ เพื่อให้พืชดูดกินได้อย่างเต็มที่
  • ขนาดของฝอย ละอองของสารที่ฉีดพ่นออกไปก็มีผลต่อประสิทธิภาพของดูดซึมธาตุอาหารเหมือนกัน หากละอองของสารเล็กมากเท่าไหร่ย่อมกระจาย เกาะตามใบพืชได้มาก ทั้งผิวใบดานบน และด้านล่าง ไม่รวมตัวกันแล้วไหลไปรวมกันที่ปลายใบแล้วหยดลงสู่ดิน เรียกว่ายิ่งเล็กยิ่งดี
  • น้ำที่นำมาใช้ในการละลายธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม ต้องสะอาด มีสภาพเป็นกลาง หรือกรดอ่อน ส่วนธาตุอาหารที่นำมาใช้ต้องละลายน้ำได้ดี ควรเป็นปุ๋ยเกล็ด หรือปุ๋ยน้ำ
  • อัตราส่วนผสมของธาตุอาหาร และน้ำต้องไม่เข้มข้นจนเกินไป หากใช้กับพืชชนิดใหม่ที่ไม่มีคำแนะนำบนฉลากหรือเอกสาร ควรทดลองหาอัตราความเข้มข้นระดับต่างๆ ที่เหมาะสมก่อนนำไปใช้กับพืช

 ร่วมสนทนา ทุกเรื่องราวของพืชเกษตร ได้ที่ เฟซบุ๊ค 108เกษตร นะครับ คลิ๊กเลย!!

ที่มา https://108kaset.com/farm/2019/03/27/fertilizer/