นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังหารือร่วมกับผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ กว่า 30 รายว่า เอกชนต้องเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสทางธุรกิจตลาดพลังงานทดแทนโดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะเติบโตมาก..
(ข้อมูลเก่า ขณะนั้นแผงโซลาร์เซลล์ ยังมีราคาสูงกว่าปัจจุบันกว่าเท่าตัว)
จากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2018) ปี พ.ศ.2561-80 ที่กำหนดซื้อไฟฟ้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย หรือโซลาร์ภาคประชาชน 10,000 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่ (โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ) 2,725 เมกะวัตต์
ปัจจุบันประเทศไทยมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปแล้วทั้งสิ้น 3,449 MW (ข้อมูล ธ.ค.2561) ประกอบด้วย solar farm, solar PV rooftop และโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งไปแล้ว 3,250 MW จากเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 6,000 MW ตามแผน PDP 2015 ทำให้ยังคงเหลืออีก 2,750 MW
ต่อมาได้จัดทำแผน PDP 2018 โดยมีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอีก 12,725 MW ในอีก 18ปี ข้างหน้า โดยแบ่งแยกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ โซลาร์ภาคประชาชน 10,000 MW และจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ 2,725 MW
ทั้งมีการมอบหมายให้ กกพ. พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ในกรณีการไฟฟ้ารับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากที่ใช้เองจากครัวเรือนต่างๆ ด้วย เพื่อให้สร้างความเข้าใจที่ตรงกันทุกฝ่าย นำมาซึ่งการบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ยังได้มีการดำเนินการส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อชุมชน เช่น โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ โดยติดตั้งแล้วเสร็จ 1,087 แห่ง กำลังจะติดตั้งเพิ่มเติมอีก 1,446 แห่งในปี 2562 นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมโครงการระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงเรียนห่างไกล 439 แห่ง, และโครงการระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ห่างไกล 239 แห่ง
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนั้นจะมีการพิจารณาศักยภาพเชื้อเพลิงรายพื้นที่นั้นๆ โดยตาม PDP 2018 ในระยะยาวมีเป้าหมายกำลังการผลิตติดตั้งรวม 18,175 MW โดยเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวมประมาณ 12,275 MW แบ่งเป็น โซลาร์ภาคประชาชน 10,000 MW และ Floating Solar อีกประมาณ 2,725 MW
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ในระยะแรก กกพ. มีโครงการทดลอง โซล่าร์ภาคประชาชน สำหรับภาคครัวเรือน ไม่เกิน 100 MW ภายในปี 2562 ด้วยราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราไม่เกิน 1.68 บาท/หน่วยในระยะเวลารับซื้อส่วนเกิน 10 ปี โดยผู้เข้าร่วมโครงการต้องมีการเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบสองทางด้วย
ทั้งนี้ กกพ.จะมีการจัดรับฟังความเห็นร่างระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าฯตั้งแต่ 16 มีนาคม 2562 – 1 เมษายน 2562 หลังจากนั้นการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะเปิดลงทะเบียนและรับข้อเสนอโครงการช่วงเดือน พฤษภาคม – กรกฎาคม 2562 และจะมีการประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณา รวมทั้งลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้แล้วเสร็จภายในตุลาคม 2562.