สุขภาพ-ชีวิต » สเตียรอยด์คืออะไร..อันตรายหรือไม่?

สเตียรอยด์คืออะไร..อันตรายหรือไม่?

18 ตุลาคม 2018
1832   0

สเตียรอยด์คืออะไร..อันตรายหรือไม่?

สเตียรอยด์  บางครั้งถูกเรียกสั้นๆ ว่า “roids” หรือ “juice” ได้มาจาก..

1.สเตียรอยด์สังเคราะห์ ที่บริษัทยาสร้างขึ้น

ด้วยคุณสมบัติในการรักษาโรคของสารสเตียรอยด์มีมากมาย.. จึงทำให้บริษัทผลิตยา ผลิตยาสเตียรอยด์ขึ้นมาโดยเลียนแบบสเตียรอยด์ที่ร่างกายสร้างขึ้น เพื่อใช้ในการรักษาทางการแพทย์ หรือแม้แต่ใช้ในวงการเสริมความงาม

เป็นยาเคมีที่ให้ผลในเรื่องการรักษาโรคได้ดีและรวดเร็วคล้ายสเตียรอยด์ธรรมชาติ แต่แตกต่างกัน ตรงที่สเตียรอยด์เป็นยาเคมีสังเคราะห์ และมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายมากกว่า มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน มีหลายชนิดแต่ชนิดที่เรามักจะได้ยินคุ้นหู คือ เดกซาเมธาโซน และเพรดนิโซโลน

 

.

2.สเตียรอยด์ธรรมชาติ ที่ร่างกายสร้างได้เอง

เป็นกลุ่มฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้น..ผลิตออกมาเองตามธรรมชาติจากต่อมหมวกไตซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อขนาดเล็กที่อยู่เหนือไตทั้ง 2 ข้าง จะทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนสำคัญ ๆ ในร่างกายอีกหลายชนิด เช่น อะดรีนาลีน เป็นต้น ในปริมาณเพียงเล็กน้อยเพื่อทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่างๆในร่างกายให้เป็นปกติอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น ต้านการอักเสบ ลดอาการปวดต่างๆ หรือปรับความเครียด ปรับความอ่อนเพลียไม่มีแรงให้เป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานเป็นปกติ ฯลฯ

ประโยชน์ของสเตียรอยด์

แม้ว่าทางการแพทย์จะใช้สเตียรอยด์ในการรักษาโรค แต่เนื่องจากสเตียรอยด์มีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์ ดังนั้นทางการแพทย์จึงมักจะเลือกใช้สเตียรอยด์เป็นลำดับท้ายๆ ในกรณีที่ไม่มียาที่รักษาอาการของโรคนั้นแล้ว หรืออาจใช้เพื่อการรักษาช่วงต้นที่เร่งด่วน เพื่อลดอาการ เช่น ใช้ต้านการอักเสบในโรคปวดข้อรูมาตอยด์ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ และนอกจากนี้สเตียรอยด์ยังมีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน จึงมีการนำมาใช้เพื่อลดภูมิคุ้มกันในโรคแพ้ภูมิตนเองเพื่อไม่ให้โรคลุกลาม เช่น โรคเอสแอลอี (โรคพุ่มพวง), โรคสะเก็ดเงิน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (โอ๋ ภัคจีรา ก็เป็นโรคนี้) ฯลฯ

การใช้ยาอะนาบอลิก-แอนโดรจีนิกสเตียรอยด์(Anabolic Androgenic Steroid: AAS) สเตียรอยด์ชนิดนี้มักนิยมใช้เมื่อต้องการสร้างกล้ามเนื้อให้มีขนาดใหญ่ ซึ่งยาชนิดนี้อาจส่งผลอันตราย และส่งผลกระทบต่อร่างกาย ดังนี้..

ผลข้างเคียงต่อผู้ชาย

  • มีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ เช่น ปริมาณอสุจิลดลง เป็นหมัน หรือมีบุตรยาก อัณฑะเล็กลง และหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
  • ศีรษะล้าน
  • เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น
  • เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • มีสิวขึ้นมากผิดปกติ
  • มีอาการปวดท้อง
    ผลข้างเคียงต่อผู้หญิง

    • ขนตามใบหน้าและร่างกายขึ้นดกผิดปกติ
    • หน้าอกเล็กลง
    • เกิดอาการบวมที่คลิตอริส (Clitoris)
    • เสียงต่ำ หรือทุ้มกว่าปกติ
    • ความต้องการทางเพศสูงขึ้น
    • ประจำเดือนผิดปกติ
    • ผมร่วง
    • มีสิวขึ้นมากผิดปกติ

โทษของสเตียรอยด์

  • กดภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง ทำให้ติดเชื้อง่าย เป็นแผลที่ผิวหนังตามร่างกาย แขน ขา นิ้วมือ ทำให้แผลหายช้า บางรายแผลลุกลามทั่วร่างกายจนเกิดการติดเชื้อเข้าในกระแสเลือด และบางทีสเตียรอยด์อาจปิดบังอาการแสดงของโรคติดเชื้อ กว่าจะตรวจพบ เชื้อโรคก็ลุกลามรุนแรงมากจนทำให้เสียชีวิต
  • ทำให้เยื่อบุในกระเพาะอาหารบางลงและยับยั้งการสร้างเนื้อเยื่อกระเพาะ อาหารใหม่ อาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุ หรือเลือดออกในกระเพาะอาหารโดยไม่มีอาการปวดท้องมาก่อน
  • ทำให้ ผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในช่วงปกติได้ จะมีระดับน้ำตาลสูง
  • ทำให้ผู้ป่วยความดันโลหิตไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิต ให้อยู่ในช่วงปกติได้ จะมีระดับความดันโลหิตสูง แต่ไม่มีอาการเตือน เป็นภัยเงียบที่อาจทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองแตก เสี่ยงเป็นอัมพฤต-อัมพาตได้
  • ทำให้กระดูกพรุน แตกหักง่าย ดังนั้น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไขกระดูก ผู้อยู่ในวัยทอง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรตรวจภาวะกระดูกพรุนหรือปรึกษาหมอก่อนใช้ยา
  • ทำให้อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อบริเวณแขน และขาไม่มีแรง จึงปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ หัวใจเต้นผิดจังหวะหรืออาจหยุดเต้นได้
  • ยาหยอดตาที่ผสมสเตียรอยด์ ใช้ต่อเนื่องนานๆอาจทำให้เป็น ต้อหิน หรือทำให้เลนส์กระจกตาขุ่นเกิดเป็นต้อกระจก หรือทำให้เกิดติดเชื้อที่ตาได้ง่าย อาจถึงขั้นตาบอด ไม่ควรซื้อยามาหยอดเอง ควรไปให้หมอตรวจและสั่งยาให้ และต้องไปตรวจซ้ำตามหมอนัดทุกครั้ง เพื่อวัดความดันภายในลูกตาซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต้อหิน
  • สเตียรอยด์ชนิดยาทาภายนอก หากใช้นานๆติดต่อกัน จะทำให้ผิวหนังบาง เส้นเลือดที่ผิวหนังแตกง่าย จะเห็นรอยแตกสีม่วงแดงตามผิวหนังที่หน้าท้องและต้นขา ผิวหนังมีลักษณะเป็นมัน อักเสบมีผื่นแดง บางรายอาจเป็นสิวเห่อขึ้นทั้งตัว
  • ทำให้ อารมณ์แปรปรวนง่าย การใช้สเตียรอยด์ในขนาดสูง จะทำให้เกิดอารมณ์เป็นสุข จึงทำให้ผู้ใช้ชอบใช้จนติดยา แต่ใช้ไปนานๆอาจพบอาการที่เป็นผลข้างเคียงจากยาตามมาได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ หงุดหงิ เกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือมีความคิดฆ่าตัวตาย ..
  • การใช้สเตียรอยด์มากเกินขนาด จะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “คุชชิ่ง ซินโดรม (Cushing Syndrome)” ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของการใช้สเตียรอยด์ในปริมาณที่มาก มีลักษณะที่สังเกตุได้ คือ
    • ใบหน้ากลมคล้ายพระจันทร์
    • มีไขมันพอกที่ต้นคอ ด้านหลังเป็นหนอก
    • ผิวหนังบาง มีรอยแตกสีม่วงแดงตามผิวหนังที่หน้าท้องและต้นขา
    • มีข้อมูลทางวิชาการยืนยัน ว่าผู้ที่มีอาการถึงขั้น คุชชิง ซินโดรม จะมีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตจากโรคไตสูงถึง 12 เท่า เสี่ยงต่อกระดูกหักจากกระดูกผุ 23 เท่า
  • เมื่อร่างกายได้รับสารสเตียรอยด์เป็นเวลานานร่างกายจะหยุดสร้างสเตียรอยด์ตามธรรมชาติ ที่เคย สร้างเอง ดังนั้นเมื่อผู้ใช้หยุดใช้ยานี้อย่างกะทันหันจะทำให้ร่างกายขาดสเตียรอยด์อย่างฉับพลัน อาจเกิดภาวะช็อก หมดสติและเสียชีวิตได้หากนำส่งโรงพยาบาลไม่ทัน ดังนั้นหากสงสัยว่ากินสเตียรอยด์จากการซื้อมาเอง ไม่ใช่การรักษาโดยหมอ อย่าหยุดยาเอง ขอให้รีบไปปรึกษาหมอให้เร็วเพื่อหาทางลดยา

อันตรายของสเตียรอยด์มีมากมาย แต่เท่าที่รวบรวมมาทั้ง 11 ข้อนี้ล้วนเป็นภัยอันตรายที่ค่อนข้างสำคัญที่ประชาชนควรรู้อย่างยิ่ง จะได้ระมัดระวังไม่ไปหลงเชื่อคำชักชวนของใครง่ายๆ ขอให้หยุดคิดซักนิด แต่ไม่ใช่ว่ายาสมุนไพรจะกินไม่ได้เลย หากแต่ต้องดูให้ดี มีวิธีดูหรือสังเกตว่ายาสมุนไพรหรือยาแผนโบราณนี้จะมีสเตียรอยด์ผสมหรือไม่ ..

วิธีใช้สเตียรอยด์ให้ปลอดภัย

สเตียรอยด์จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ โดยเฉพาะชนิดกินและฉีด ต้องอยู่ในความดูแลของหมอ ไม่ควรหยุด หรือ ปรับยาเองแม้ไม่มีอาการแล้ว เรื่องนี้สำคัญมากจำไว้ว่า ไม่ควรหยุดยาเองเด็ดขาด หากมีอาการไม่ดีให้กลับไปหาหมอพร้อมนำยาไปด้วย และเนื่องจากสเตียรอยด์ มีผลข้างเคียงมาก การจะใช้ได้อย่างปลอดภัยนั้น จึงไม่ได้ขึ้นกับการกินยาตามที่หมอสั่งเท่านั้น เพราะอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา อาจเกิดจากปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น เรื่องอาหาร หากหมอให้อธิบายอาการ ควรเล่าถึงสิ่งที่กินที่อาจจะมีผลทำให้เกิดอาการ เช่น กินเค็ม รสจัด อาหารมัน อาหารหมัดดอง อาหารไม่สุก ความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มที่อาจจะเป็นประโยชน์ ต่อการค้นหาสาเหตุและการรักษา

วิธีเลิกใช้สเตียรอยด์

ผู้ป่วยที่กำลังรักษาโรคกับหมอ โดยหมอสั่งใช้สเตียรอยด์ขนาดสูง เมื่อไม่จำเป็นต้องใช้ยาต่อ หมอจะค่อยๆลดขนาดยาลงให้ โดยหมอจะไม่ให้หยุดหรือเลิกใช้ยาในทันที เพื่อไม่ให้เกิดภาวะช็อก ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จึงจะหยุดยาได้

ผู้ป่วยโรค เอสแอลอี (SLE หรือโรคพุ่มพวง) โรคไตรั่ว โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคอื่นๆที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องกินสเตียรอยด์เพื่อกดภูมิคุ้มกันไว้ แต่หากผู้ป่วยอยากจะเลิกใช้สเตียรอยด์ เนื่องจากกลัวผลเสียจากการใช้ยาหรือทนผลข้างเคียงจากการใช้ยาไม่ไหว จะต้องปรึกษาหมอและเภสัชกรก่อน เพื่อพิจารณาผลดีผลเสีย ที่จะเกิดขึ้นหลังจากหยุดใช้ยา และขอให้ระลึกไว้เสมอว่า แม้ในปัจจุบันจะมีวิธีการรักษาแบบแพทย์ทางเลือกมากมายที่มาทดแทนการใช้สเตียรอยด์ได้ เช่น การใช้ยาสมุนไพร การฝังเข็ม การรักษาด้วยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็ก แต่ผลการรักษาก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน การรักษาโดยใช้แพทย์ทางเลือกจึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ด้วยเช่นกัน มิฉะนั้นในบางกรณีอาจเกิดผลเสียมากกว่าการใช้สเตียรอยด์เสียอีก

ผู้ที่ซื้อยาสมุนไพร ยาแผนโบราณหรืออาหารเสริมมากินเองเป็นเวลานานแล้ว หากสงสัยว่ายาที่กินจะมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ขอให้รีบไปให้หมอตรวจ เพื่อปรึกษาวิธีลดการใช้ยา ห้ามหยุดยาเองโดยทันทีเด็ดขาดอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และไม่ควรกินยาที่สงสัยนั้นต่อ เพราะจะส่งผลเสียต่อระบบต่างๆของร่างกายซึ่งเป็นอันตรายมาก..

“การได้รับยาสเตียรอยด์โดยไม่รู้ตัว” ไม่ว่าจะเป็นจากยาชุด ยาลูกกลอน ยาสูตรสมุนไพร ยาต้ม ยาหม้อ ยาพระ รวมทั้งยาที่อวดอ้างสรรพคุณในการรักษาได้สารพัดโรค เนื่องจากยาเหล่านี้มักจะมีส่วนผสมของยาในกลุ่มสเตียรอยด์อยู่ ทำให้เห็นผลในการบรรเทาทุกอาการได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ใดๆ ผู้ใช้ยาจึงมักรู้สึกพึงพอใจกับผลของยา โดยไม่ได้มุ่งรักษาที่สาเหตุของโรคโดยตรง แต่ยิ่งใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานานมากขึ้นเท่าใด อาการไม่พึงประสงค์ของ steroid ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับความรุนแรงของโรคที่มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาที่ตรงสาเหตุอย่างทันท่วงที จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้โดยเด็ดขาด.

△ตัวอย่าง ยา อาหาร เครื่องสำอาง ที่มีสเตียรอยด์

.

△ยาสเตียรอยด์ที่อยู่ในยาชุด

ในบรรดายาชุดที่มาจากร้านขายยา ร้านชำ ในชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ยาชุดเเก้ปวด แก้ไข้ แก้ประดง แก้กินผิด ล้วน แล้วแต่พบยาสเตียรอยด์ผสมอยู่ในชุดนั้น บางชุดมีเพรดนิโซโลน บางชุดมีเด็กซ่าเมทาโซน บางชุดมีเบต้าเมทาโซน หรือบางชุดอาจจะมียาสเตียรอยด์รวมถึง 2 ชนิด

.

.

.

รู้ได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์ใดมีสเตียรอยด์?
1. การตรวจโดยใช้เครื่องมือตรวจด้วยตนเอง

หากเราสงสัยว่า ยาหรืออาหารเสริมบำรุงสุขภาพที่ใช้อยู่นั้นมีส่วนผสมของสเตียรอยด์หรือไม่ เราสามารถทดสอบได้ด้วยชุดตรวจสอบสเตียรอยด์เบื้องต้น (Steroid test kit อ่านว่า สเตียรอยด์-เทส-คิท หรือเรียกสั้นๆ ว่า เทสคิท) ที่มีใช้แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันคือ ชุดตรวจสอบสเตียรอยด์เบื้องต้นของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเราสามารถใช้ทดสอบได้ว่ายาหรืออาหารเสริมบำรุงสุขภาพที่สงสัยนั้น มีส่วนผสมของสารสเตรียรอยด์หรือไม่ หรือหากพบอาการผิดปกติใกล้เคียงกับการได้รับยาสเตียรอยด์นานๆ ให้ส่งตัวอย่างตรวจที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เขต หรือ โรงพยาบาลชุมชน (รพช.)

2 . การส่งตรวจ

ชุดตรวจสอบ สเตียรอยด์เบื้องต้น (เทสคิท) เป็นชุดตรวจสอบที่ทำให้เราทราบว่าตัวอย่างที่นำมาตรวจสอบมีสเตียรอยด์หรือไม่ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าสเตียรอยด์ที่ปลอมปนนั้น เป็นสเตียรอยด์ชนิดเดกซาเมธาโซนหรือเพรดนิโซโลน และไม่สามารถบอกได้ว่าสเตียรอยด์ที่ปลอมปนนั้นมีปริมาณเท่าไร..

หากเราต้องการทราบชนิดของสเตียรอยด์หรือปริมาณสเตียรอยด์ที่ปลอมปนอยู่ เราจำเป็นจะต้องส่งตัวอย่างยาหรืออาหารเสริมบำรุงสุขภาพที่สงสัยไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียด โดยทั่วไปสามารถส่งตัวอย่างไปตรวจวิเคราะห์ได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 14 แห่งกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ในการส่งตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการนั้น ผู้ประสงค์ที่จะส่งตรวจวิเคราะห์ ตัวอย่างยาหรืออาหารเสริมบำรุงสุขภาพที่สงสัย ต้องเตรียมตัวอย่างให้ได้จำนวนหรือปริมาณตามที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนด เช่น การส่งตรวจวิเคราะห์เพื่อหาชนิดของสเตียรอยด์ที่ปนเปื้อนในยาแผนโบราณ หากเป็นชนิดเม็ดหรือแคปซูลต้องเตรียมตัวอย่างไม่น้อยกว่า 5 เม็ดหรือแคปซูล หากเป็นชนิดผงต้องไม่น้อยกว่า 20 กรัม หากเป็นชนิดน้ำต้องไม่น้อยกว่า 120 มิลลิลิตร โดยในการส่งตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์ สามารถส่งได้ด้วยตนเองหรือส่งทางไปรษณีย์ก็ได้ อย่างไรก็ตามก่อนส่งตรวจตัวอย่างยาวิเคราะห์ ควรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น การเตรียมตัวอย่าง การนำส่งตัวอย่าง ค่าบริการในการตรวจวิเคราะห์ การรับฟังผลวิเคราะห์… :www.pohchae.com เรียบเรียง

 

อาการปากเบี้ยว 9 แชมป์โรคสมอง…วิธีป้องกันและรักษา..(ตอน1)


ขอขอบคุณ http://www.steroidsocial.org/steroid..
https://www.pobpad.com/%E0%B8%AA%E0%..
https://www.google.com/search?q=steroid&newwindow..
https://www.honestdocs.co/what-is-nsaids/is-it-safe-to-take-steroids
http://kidshealth.org/en/teens/..
https://www.webmd.com/a-to-z-guides/ss/..
https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/142/..