สุขภาพ-ชีวิต » อาการปากเบี้ยว 9 แชมป์โรคสมอง…วิธีป้องกันและรักษา..(ตอน1)

อาการปากเบี้ยว 9 แชมป์โรคสมอง…วิธีป้องกันและรักษา..(ตอน1)

3 ตุลาคม 2018
2490   0

เส้นประสาทสมองที่7อักเสบ..ตื่นมาปาก+หน้าเบี้ยว หลับตาไม่สนิท น้ำลายไหลออกจากมุมปาก ทำยังไงดี?

นพ.อดิศักดิ์ กิตติสาเรศ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง รหัสเอกสาร SD-HA-IMC-088-R-00

เส้นประสาทสมองที่ 7 อักเสบ คือโรคอะไร ?

เป็นภาวะที่เส้นประสาทสมอง (Cranial nerve) ที่ควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าถูกทำลายและสูญเสียการทำงาน ทำให้มีอาการใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หนังตาและมุมปากตก น้ำลายไหลจากมุมปาก สามารถพบได้ในทุกเพศและทุกเชื้อชาติ พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่ตั้งครรภ์

ใช่อัมพฤกษ์หรือไม่ ?

เป็นคนละโรคกัน ผู้ป่วยที่มีภาวะโรคหลอดเลือดสมองอาจมีอาการหน้าเบี้ยวได้ แต่จะยังคงสามารถยักคิ้วและหลับตาได้สนิทในด้านเดียวกับที่มีมุมปากตก และมักมีอาการอ่อนแรงแขนและขาครึ่งซีกร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ควรรีบพบแพทย์เพื่อแยกภาวะนี้

เกิดจากอะไร ?

โรคนี้เกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทสมอง (Cranial nerve) ที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้า ส่วนหนึ่งพบหลักฐานว่าเกิดได้จากการติดเชื้อไวรัส ที่พบบ่อย คือ เชื้อเริม (Herpes simplex virus) งูสวัด (Herpes zoster) Cytomegalovirus และ Epstein-Barr virus

มีอาการอย่างไรบ้าง ?

มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งซีก ทำให้ยักคิ้วไม่ได้ หนังตาและมุมปากตก ปิดตาไม่สนิท โดยอาการเป็นมากน้อยไม่เท่ากันในแต่ละราย นอกจากนี้ยังพบอาการเสียงดังในหูและอาการสูญเสียการรับรสชาติที่ปลายลิ้นด้านที่มีอาการ อาการจะปรากฏชัดเจนใน 1 – 2 วัน โดยส่วนใหญ่จะเริ่มดีขึ้นใน 3 สัปดาห์หลังจากเริ่มมีอาการครั้งแรก และค่อยๆ หายสนิทต้องใช้เวลา 3 – 6 เดือน

วินิจฉัยได้อย่างไร ?

การวินิจฉัยอาศัยเพียงการซักประวัติและตรวจร่างกาย ยกเว้นในรายที่มีอาการสงสัยโรคอื่นหรืออาการยังคงไม่ดีขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป 2 เดือน อาจตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม

 

รักษาอย่างไร ?

การรักษาด้วยยา: ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ใน 2 – 3 วันแรกหลังจากเริ่มมีอาการ จะได้รับ ยากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยลดการบวมของเส้นประสาท และช่วยให้อาการดีเร็วขึ้น ยาต้านไวรัส อาจนำมาใช้คู่กับยาสเตียรอยด์ในกลุ่มที่มีอาการรุนแรง หรือสงสัยว่าเกิดจากเชื้อเริมหรืองูสวัด การรักษาจะช่วยให้อาการดีขึ้นเร็วกว่าเดิม โดยเฉพาะถ้าได้รับการรักษาใน 2-3วันแรก

การดูแลตา: การหลับตาไม่สนิท เป็นเหตุให้เกิดแผลที่กระจกตา ควรใส่ที่ป้องกันตาเพื่อป้องกันตาแห้ง ใช้น้ำตาเทียมหยอดตาในช่วงกลางวัน และใช้ยาสำหรับป้ายตาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในตอนกลางคืน

รักษาหายหรือไม่ ?

โรคนี้สามารถหายได้เอง แต่การรักษาจะช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เริ่มมีการฟื้นตัวภายใน 3 สัปดาห์แรก มักมีโอกาสหายได้สูง มีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยที่มีการฟื้นตัวไม่ดี ในกรณีบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจไฟฟ้าวินิจฉัย หลังมีอาการประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อช่วยยืนยันพยาธิสภาพของเส้นประสาท ความรุนแรงของโรค และบอกโอกาสในการฟื้นตัวของเส้นประสาทได้

การติดตามอาการและภาวะแทรกซ้อน

แม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติ แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง หลังจากเริ่มมีการฟื้นตัวแล้ว อาจมีการงอกที่ผิดปกติของเส้นประสาท ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการปากกระตุกเวลาหลับตา หนังตาจะปิดเองเวลายิ้ม มีน้ำตาไหลเวลาเคี้ยวอาหาร เป็นต้น หลังเข้ารับการรักษาแล้ว ควรมาตรวจตามนัดกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามอาการและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Call Center : 0-5393-6900-1 / คลินิกอายุรกรรม : 0-5393-6909-10
Line iD : @sriphatcenter …. :www.pohchae.com รวบรวม

 


“..โรคปากเบี้ยว หรือเรียกว่า Bell’s palsy เป็นโรคที่มีความสัมพันธ์กับโรค เบาหวาน แม้ว่ามันจะเกิดขึ้นกับใครๆ ก็ได้โดยที่เราไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ก็พบได้บ่อยในคนที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหน้าเบี้ยว หรืออัมพาตใบหน้าครึ่งซีก หรือ Bell’s palsy เป็นโรคที่เกิดจากเส้นประสาทของใบหน้า ที่มีชื่อว่า facial nerve(เส้นประสาท ใบหน้า) หรือเป็นเส้นประสาทจากกระโหลกศีรษะเส้นที่ 7th ซึ่งทำหน้าที ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อใบหน้า เมื่อมันถูกทำลาย ก็จะทำให้ กล้ามเนื้อใบหน้าด้านนั้นเป็นอัมพาตไป เป็นโรคที่วินิจฉัยได้ไม่ยาก…

ปกติมันจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ด้วยการอ่อนแรง หรืออัมพาตของใบหน้า ด้านใดด้านหนึ่ง ยังผลให้เกิดปากเบี้ยว…ริมฝีปากหย่อนลงมา ไม่สามารถ ปิดเปลือกตาด้านที่มีปัญหา และมีความลำบากในการดื่ม และการกินอาหาร, ทำให้น้ำลายไหลยืด และมีปัญหาในการแสดงออกทางสีหน้า เช่น การยิ้ม เป็นต้น นอกเหนือจากนั้น ยังทำให้ตาแห้ง, ปวดศีรษะ, ไม่รู้รสอาหาร, เสียงจะ ดังกว่าปกติ, กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้ากระตุกทางด้านที่มีปัญหา …. โดยทั่วไปแล้ว ภาวะดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องรักษาแต่อย่างใด อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายในไม่กี่อาทิตย์ หรืออย่างช้าประมาณสองสามเดือน…

บางครั้งแพทย์อาจให้สาร corticosteroids เพื่อลดอาการบวมที่อยู่รอบ ๆ เส้นประสาท….แต่ในกรณีที่เป็นโรคเบาหวาน ไม่ควรใช้สารดังกล่าวนะครับ สิ่งท่านควรกระทำคือ อย่าให้ตาของท่านแห้ง ซึ่งกระทำได้ด้วยการสวมแว่น และพยายามปิดปลือกตาลงพร้อมกับคลึงเบาๆ บ่อยๆ นะครับ ….

การเกิดใบหน้าอัมพาต ถือเป็นภาวะแทรกซ้อนชนิดหนึ่ง โดยมีการทำลาย เส้นประสาทเพียงเส้นเดียว เรียก mononeurothy อันเป็นผลมาจากการที่ท่านไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในกระเลือดนั้นเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดภาวะเช่นนี้ขึ้นมา…ท่านไม่ต้องตกใจนะครับ ไม่ชา ไม่นาน ไม่กี่อาทิตย์ก็หาย โดยไม่ต้องทำการตรวจหาสาเหตุว่า อะไรทำให้ มันเกิดเช่นนั้น โดยเฉพาะในกรณีที่ท่านเป็นเบาหวาน สิ่งที่ท่านควรกระทำ คือ ควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดให้ดีในระยะยาวเท่านั้นเป็นพอ…”

สมองเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งที่ต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา การดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง ลดความเครียด ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการดูแลสมองให้ทำงานได้ดี..

1. โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน… หากรู้ทัน ป้องกันได้

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เป็นโรคทำให้มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ ปัจจุบันพบเร็วขึ้นในกลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไป มักพบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน, หัวใจ, ความดันสูง, ไขมันในเลือดสูง และผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็น Stroke มาก่อน สามารถป้องกันโรค Stroke โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยง อาการที่น่าสงสัย มักเริ่มจากแขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก หน้าหรือปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ตาข้างใดข้างหนึ่งพร่ามัวหรือมองไม่เห็น ปวดหัวเฉียบพลันแบบไม่มีสาเหตุ รวมถึงอาการเวียนหัว หรือวูบแบบเฉียบพลัน หากมีอาการดังกล่าวไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบพบแพทย์ภายใน 3 ชม.เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาทันที หากมีปัจจัยเสี่ยงควรตรวจเช็คการตีบตันของหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง Carotid Duplex เป็นประจำทุกปี.

.

2. โรคหลอดเลือดสมองโป่ง

เกิดได้ทุกเพศทุกวัย พบมากในคนอายุ 40-60 ปี โดยเฉพาะเพศหญิงพบมากกว่าเพศชายเล็กน้อย คิดเป็น 1.6:1 คน ส่วนใหญ่เกิดกับผู้ป่วยโรคความดันสูง สูบบุหรี่จัด ปวดหัวบ่อยๆ เป็นๆ หายๆ มีญาติที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองโป่ง ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองโป่งมักจะตรวจพบเมื่อหลอดเลือดเลือดแตกแล้ว (Rupture Aneurysm) โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวรุนแรงฉับพลัน ชาและอ่อนแรงตามใบหน้า แขน-ขา การทรงตัวมีปัญหาอย่างฉับพลัน ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองแตกจะมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูงถึง 50% อีก 25% อาจพิการ และ 25% สามารถหายเป็นปกติ แต่หากตรวจพบหลอดเลือดสมองโป่งก่อนที่จะแตกจะมีอัตราการเสียชีวิตแค่เพียง 2-3%, เกิดความพิการ 7% และกว่า 90% สามารถเป็นปกติได้... รู้เร็ว ลดอัตราการเสียชีวิตและพิการได้ด้วยการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRA) หรือบางกรณีที่จำเป็นจะใช้การฉีดสีทึบแสงตรวจเส้นเลือด (Angiography) ร่วมด้วย หรือการใช้เครื่อง X-ray คอมพิวเตอร์ (CTA) ช่วยในการดูหลอดเลือดในสมองแล้วแต่กรณี

.

3. ความจำถดถอย…จุดเริ่มอัลไซเมอร์

อาการหลงๆลืมๆ เพียงเล็กน้อย หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์ และกลายเป็นโรคสมองเสื่อมขั้นรุนแรงได้ จุดสังเกตว่าสมองเริ่มถดถอยลง คือ หลงลืมบ่อย จำเรื่องแต่ละวันไม่ค่อยได้ นึกชื่อไม่ออก พฤติกรรมหรืออารมณ์เปลี่ยนไป เก็บตัว นอนไม่หลับ มีปัญหาด้านการเรียนรู้ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่หากรู้แต่เนิ่นๆ สามารถชะลออาการของโรคให้เกิดช้าลงได้ ตรวจสมรรถภาพความจำถดถอย ด้วยเทคโนโลยีการตรวจหาสารเบต้าเอมีลอยด์ โดยการใช้ PET scan เพื่อวินิจฉัยแยกชนิดของโรคความจำถดถอยได้ตรงจุด ก่อนนำไปสู่แผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

.

4. โรคพาร์กินสัน กระตุ้นสมอง หยุดสั่น ป้องกันล้ม รู้ทันพาร์กินสัน

โรคความเสื่อมของสมองที่เกิดจากการขาดสารโดพามีน พบมากในอายุ 60 ปีขึ้นไป และอาจพบในวัยกลางคนที่มีสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้มาก่อน มักเริ่มต้นด้วยอาการสั่นที่แขนขา กราม หรือใบหน้า กล้ามเนื้อเกร็ง เคลื่อนไหวช้า พูดหรือกลืนลำบาก ซึมเศร้าหดหู่ หลายคนมักเข้าใจผิดว่าเป็นอาการปกติของผู้สูงอายุ แต่หากปล่อยไว้จนอาการทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างรวดเร็วจะทำให้ร่างกายฟื้นตัวยาก… ถึงแม้โรคพาร์กินสันจะเป็นโรคเรื้อรังแต่สามารถควบคุมอาการได้ การตรวจหาความผิดปกติของสมองส่วนที่สร้างสารโดปามีน ด้วย PET Brain F-DOPA ช่วยวินิจฉัยระยะความรุนแรงของโรคหรือการรักษาโรคพาร์กินสันด้วยการผ่าตัดฝังไมโครชิปกระตุ้นสมองส่วนลึก DBS Therapy เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหว ลดการใช้ยา ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น

.

5. เมื่อร่างกาย “สั่น” ไม่สู้ “ความผิดปกติของการเคลื่อนไหว”

จนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เช่น อาการสั่น หน้ากระตุก ตากระพริบหรือกระตุก ปากบิดเบี้ยว คอหรือลำตัวบิดเกร็ง เดินเซ เคลื่อนไหวซ้ำๆ ที่ไม่ตอบสนองต่อยา อาการเคี้ยวปากหรือคล้ายรำละคร... ปัจจุบันการแพทย์สมัยใหม่สามารถลดอาการปวดจากกล้ามเนื้อบิดเกร็งได้ด้วย การฉีดโบทูลินั่ม ท็อกซิน เพื่อรักษาโรคหน้ากระตุก โรคคอบิดเกร็ง กล้ามเนื้อเกร็งจากโรคอัมพฤกษ์อัมพาต ลดการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อชั่วคราว ลดการกระตุกและปวดเกร็งลงได้ หลังจากฉีดไปแล้ว 3-4 วัน ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการหกล้ม ฝึกการเดินและการเคลื่อนไหวแก่ผู้ป่วย

.

6. ลมชัก…วายร้ายทำลายสมอง โรคลมชักเกิดได้ตลอดชีวิต

ทุกเพศทุกวัย กลุ่มเสี่ยงที่พบบ่อยคือ เด็กเล็กและผู้สูงอายุ อาการชักที่แสดงไม่จำเป็นต้องชักเกร็งกระตุกเสมอไป บางรายเหม่อลอย นิ่ง ไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคลมชัก จนสมองถูกทำลาย สูญเสียความจำ ที่สำคัญ! มีผลต่อพัฒนาการทางสมองที่ช้าลงในเด็กเล็ก… ล่าสุด มีเทคโนโลยี EEG simultaneous fMRI brain สามารถตรวจหาจุดกำเนิดไฟฟ้าส่วนที่ผิดปกติได้แม่นยำขึ้น…

.

7. วูบ เบลอ…

อาจเป็นลมชักแฝง อาการวูบ เบลอ จำอะไรไม่ได้ในผู้สูงอายุ อาจไม่ใช่ความเสื่อมตามอายุ แท้จริงแล้วมีผลมาจากโรคลมชักแฝงที่เชื่อมโยงมาจากโรคหลอดเลือดสมองที่ทำให้สมองฝ่อลง และโรคทางกายอย่างตับไตเสื่อม รวมทั้งโรคติดเชื้อ กรรมพันธุ์ และปัจจัยภายนอกจากอุบัติเหตุ ที่ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร เซลล์สมองผิดปกติจนเกิดโรคลมชักแฝงที่ไม่แสดงอาการชักกระตุก หากชักครั้งแรกแล้ว ไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องหรือรักษาทันที อาจทำให้เกิดอันตรายต่อเซลล์สมองได้ ดังนั้น การเฝ้าดูพฤติกรรมที่ผิดปกติเป็นสิ่งจำเป็น และหาสาเหตุได้ด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง EEG เพื่อให้การรักษาได้ทันที อย่ารีรอจนสมองถูกทำลายจนอาจรักษาด้วยยาไม่ได้ผล

.

8. ปวดไมเกรนเรื้อรัง

อาการปวดหัวตุ๊บๆ ตื้อๆ เป็นๆ หายๆ ปวดข้างเดียวที่หน้าผาก ขมับ ท้ายทอย หรือกระบอกตา พบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย (บางรายปวดหัวขณะมีประจำเดือน)ข่าวดี!วงการแพทย์ได้ค้นพบเทคโนโลยีรักษาอาการปวดหัวเฉียบพลันได้แล้ว ด้วยการฉีดโบท็อกซ์ ลดความถี่ของอาการปวดไมเกรนเรื้อรังได้, การฉีดยาระงับอาการปวดที่เส้นประสาทหลังศีรษะ Occipital Nerve Block เพื่อระงับอาการปวดหัวขั้นรุนแรง, การใช้ค็อกเทลยารักษาโรคไมเกรน Migraine Cocktail ช่วยลดการกลับมาปวดหัวซ้ำอีกภายใน 24ชม.ได้, การกระตุ้นกระแสไฟฟ้าลดปวดด้วยเครื่อง TMS, การฝังเข็มกระตุ้นการไหลเวียนของเส้นลมปรานลดอาการปวดลงได้

.

9. เครียด…ปวดคอร้าวขึ้นศีรษะ

เป็นอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว เพราะความเครียด การนั่ง (ทำงานหรือขับรถ) ท่าเดียวนานๆ การใช้สายตานานๆ (จ้องหน้าคอมหรืออ่านหนังสือนานๆ) ทานอาหารผิดเวลา นอนน้อยหรือมากไป ขาดน้ำ เป็นต้น ส่วนใหญ่จะปวดตื้อๆ หนักๆ เหมือนถูกรัดบีบหัว มักไวต่อแสงหรือเสียงที่ดัง พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และปวดมากตอนบ่ายๆ เย็นๆ การทานยาแก้ปวดอาจช่วยได้ในรายที่ไม่รุนแรง หากปวดมากเรามีตัวช่วย… Posture Analysis โปรแกรมปรับสมดุลของกล้ามเนื้อคอบ่าหลังให้ถูกวิธี สาเหตุของอาการปวดศีรษะ, การบำบัดขจัดอาการปวดศีรษะด้วย LASER Therapy และลดเครียดด้วยการฝึกผ่อนคลายกับเครื่อง Biofeedback :www.pohchae.com รวบรวม

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 4 อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู (อาคาร R) โทร. 1719

สเตียรอยด์คืออะไร?..อันตรายหรือไม่?

เรียบเรียงจาก https://www.bangkokhospital.com/index.php/th/diseases-treatment/9-top-brain-diseases
http://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-78