เงินๆงานๆ-อาชีพ » วิบากกรรมปาล์ม“อินโดฯ-มาเลย์” พิษจากมาตรการเลิกใช้น้ำมันปาล์มของทวีปยุโรป

วิบากกรรมปาล์ม“อินโดฯ-มาเลย์” พิษจากมาตรการเลิกใช้น้ำมันปาล์มของทวีปยุโรป

1 ตุลาคม 2018
1114   0

วิบากกรรมปาล์ม“อินโดฯ-มาเลย์” พิษมาตรการเลิกใช้น้ำมันปาล์มของทวีปยุโรป..

เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันใน “อินโดนีเซียและมาเลเซีย” ผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลกยังเผชิญปัญหาต่อเนื่อง หลัง “สหภาพยุโรป” (อียู) หนึ่งในผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุด ประกาศจะใช้มาตรการ “zero palm oil” เลิกใช้น้ำมันปาล์มภายในปี 2020-2021 และได้จำกัดการใช้น้ำมันปาล์มเพิ่มในการผลิต “เชื้อเพลิงชีวภาพ”

กระแสแบนการใช้น้ำมันปาล์มเกิดขึ้นตั้งแต่สภาที่ปรึกษาด้านสุขภาพของรัฐบาลเบลเยียม เปิดรายงานเมื่อ 3 ปีก่อน โดยระบุว่า น้ำมันปาล์มมีกรดไขมันอิ่มตัว (saturated fat) เป็นสาเหตุให้เกิด “โรคหัวใจ” จนเป็นปรากฏการณ์ให้สินค้าทุกประเภทในยุโรป ต้องติดฉลาก “no palm oil”

ล่าสุดรัฐสภายุโรปของสหภาพยุโรป (อียู) เตรียมเสนอร่างกฎหมายห้ามใช้น้ำมันปาล์มในการผลิต “เชื้อเพลิงชีวภาพ” โดยเฉพาะที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงรถยนต์ สร้างแรงกดดันต่อเนื่องจากที่ได้ประกาศต่อต้านการใช้น้ำมันปาล์มในผลิตภัณฑ์อื่น เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง และสินค้าอุปโภคบริโภค

เดอะ การ์เดียน รายงานว่า กรณีดังกล่าวผู้แทนของสภาปาล์มน้ำมันมาเลเซียออกมาตอบโต้ทันทีว่า เกษตรกรชาวมาเลเซียกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากมาตรการของอียู ซึ่งตั้งเป้าจะลดการใช้น้ำมันปาล์มให้เป็นศูนย์ (zero palm oil) ภายในปี 2020 หรือที่บางสื่อระบุว่าภายในปี 2021..

ทั้งนี้ มาเลเซียเป็นผู้ส่งออกปาล์มน้ำมันอันดับสองของโลก มูลค่าการส่งออกแต่ละปีสูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากคณะกรรมาธิการของอียูอนุมัติคาดว่า จะส่งผลกระทบต่อชาวสวนรายเล็กกว่า 650,000 คน ยังไม่นับชาวสวนขนาดกลางและขนาดใหญ่ในประเทศอีกจำนวนหนึ่ง..

ขณะที่“อินโดนีเซีย” ผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก เคยโดนโจมตีจากกลุ่มกรีนพีซอ้างว่า เฉพาะในอินโดนีเซียประเทศเดียวแผ้วถางพื้นที่ป่าเพื่อปลูกปาล์มขนาดเท่ากับสนามฟุตบอล 145 สนาม ในทุก ๆ 1 ชั่วโมง เกษตรกรอินโดนีเซียจึงตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ต่างกัน

“กาวัล ซูร์บักตี” เจ้าของสวนปาล์มน้ำมัน 12.6 ไร่ บนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย เปิดใจกับจาการ์ตาโพสต์ว่า รัฐบาลอินโดนีเซียพยายามออกนโยบายผลักดันอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น บูมการท่องเที่ยว เพื่อชดเชยรายได้ที่มาจากการส่งออกปาล์มน้ำมัน แต่แทบจะทดแทนกันไม่ได้

ทั้งนี้ สมาคมน้ำมันปาล์มอินโดนีเซียระบุว่า มีชาวอินโดนีเซียทำงานในอุตสาหกรรมกว่า 3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวสวนที่ปลูกปาล์มน้ำมันมานานเกินชั่วชีวิต ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยากที่จะเปลี่ยนงานไปทำอุตสาหกรรมอื่น ขณะที่ตลาดส่งออกอื่น ๆ เช่น จีน และอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าเบอร์ 2 และ 3 ของโลกก็ชะลอการนำเข้า ตามกระแสต่อต้านปาล์มน้ำมันเช่นกัน

นักวิเคราะห์มองว่า ทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซียพยายามชดเชยรายได้ด้วยการผลักดันการท่องเที่ยว แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านภูมิประเทศที่เกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง รวมถึงสภาพความเป็นเกาะแก่งมากกว่าในอินโดนีเซีย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐจึงต้องใช้งบฯลงทุนค่อนข้างสูง

ล่าสุดรัฐบาลโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย สั่งระงับการพัฒนาสวนปาล์มน้ำมันใหม่เป็นเวลา 3 ปี แม้จะได้รับเสียงชื่นชมจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และอียูไม่น้อย ทว่าความกังขาจากชาวสวนปาล์มกลับดังกระหึ่ม เพราะไม่มีนโยบายอื่นที่ชัดเจนความกังวลมากขึ้น หลังจากที่องค์กร Statista เปิดเผยข้อมูลว่า อียูกลายเป็นกลุ่มประเทศที่ใช้น้ำมันปาล์มมากที่สุดของโลก โดยเฉลี่ยใช้น้ำมันปาล์มปีละ 6.3 ล้านตัน ในจำนวนนี้ราว 46% ใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ

ส่วนอีก 45% นำไปใช้กับส่วนประกอบของอาหารคนและสัตว์ และอีก 9% สำหรับการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อน

สำหรับประเทศหลักที่ใช้น้ำมันปาล์มมากที่สุดในกลุ่มสมาชิกอียู ได้แก่ อิตาลี สเปน ไอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ รวมกันแล้วเท่ากับ 38% ของการใช้น้ำมันปาล์มทั้งหมดภายในอียู

อย่างไรก็ตาม เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา “ไอซ์แลนด์” ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น “ร้านขายของชำ” ของอียู เป็นประเทศแรกที่ประกาศมาตรการแบนน้ำมันปาล์มในผลิตภัณฑ์อาหาร โดย “ไอซ์แลนด์ซูเปอร์มาร์เก็ต” ในสหราชอาณาจักร ให้คำมั่นจะไม่ใช้น้ำมันปาล์มในผลิตภัณฑ์อาหารยี่ห้อของตนเอง ทั้งหมด 130 ชนิด

ปัจจุบันสินค้าอาหารของซูเปอร์มาร์เก็ตไอซ์แลนด์ปลอดน้ำมันปาล์มแล้ว 50%พร้อมระบุว่า จะหันไปใช้น้ำมันอื่นทดแทน เช่น เรปซี้ด คาดว่าหากลดการใช้น้ำมันปาล์มได้ 100% ในปีนี้จะช่วยลดปริมาณความต้องการน้ำมันปาล์มของโลกได้ 500 ตันต่อปี

น่าสนใจว่าประเทศที่กระทบจากมาตรการดังกล่าว อาจไม่ใช่แค่อินโดนีเซีย หรือมาเลเซียเท่านั้น ในส่วนของไทยเองแม้ไม่ได้ส่งออกเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากน้ำมันปาล์ม และผลผลิตทางการเกษตรอื่นไปยังตลาดอียู แต่ไทยก็ส่งออกอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำมันปาล์มไปทั่วโลก จึงต้องจับตามองกระแสการต่อต้านน้ำมันปาล์มว่าจะได้รับผลกระทบทางตรง หรือทางอ้อมมากน้อยแค่ไหน..

..ต่อไปเมื่อน้ำมันปาล์มจากอินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย ขายให้กลุ่มยุโรปไม่ได้ ก็จะกลับมาล้นทะลักส่งขายกันเองในกลุ่มAEC ในราคาติดดิน ..ฤา ว่า ถึงคราวล้มละลายของชาวสวนปาล์มน้ำมัน?

เรียบเรียงจาก https://www.prachachat.net/aseanaec/news-227174
https://www.google.com/search?q=%E0%B8%A7%E0%B8%B4%..
https://www.google.com/search?q=%E0%B8%AD%E0%B8%B4%..
ขอขอบคุณ คุณลาวัณย์ กลุ่มไลน์อนุบาลป.ว. ผู้แนะนำเรื่องฯ