เลี้ยงสัตว์ » อธิบดีกรมปศุสัตว์ สั่งเอาผิดเจ้าของวัว หลังชำแหละเนื้อวัวติดโรคพิษสุนัขบ้าไปขาย

อธิบดีกรมปศุสัตว์ สั่งเอาผิดเจ้าของวัว หลังชำแหละเนื้อวัวติดโรคพิษสุนัขบ้าไปขาย

17 กันยายน 2018
799   0

อธิบดีกรมปศุสัตว์ สั่งเอาผิดเจ้าของวัว หลังชำแหละเนื้อวัวติดโรคพิษสุนัขบ้าไปขาย

วัวถูกหมาบ้ากัดตาย เจ้าของเสียดาย ชำแหละเนื้อขาย ชาวบ้านเอาไปกินมีอาการคล้ายโดนพิษสุนัขบ้า ด้าน อธิบดีปศุสัตว์ สั่งเอาผิดเจ้าของวัว..

วันที่ 13 กันยายน 2561 ใน อ.พรหมคีรี วัวที่ถูกสุนัขกัดตาย แต่เกิดเสียดายจึงชำแหละวัวที่ตาย นำเนื้อเครื่องในขายในราคาถูก ทั้งใน อ.เมือง และ อ.พรหมคีรี โดยเจ้าของวัวไม่เชื่อฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ที่ให้ฝั่งกลบทำลายซาก


ล่าสุดวันที่ 16 กันยายน 2561 เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ได้สั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช แจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของวัวแล้ว ตามความผิด พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์ ในข้อหา จำหน่ายสัตว์ตายโดยไม่ได้ถูกฆ่า และไม่ได้ตรวจโรคโดยพนักงานตรวจโรคสัตว์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับตามรายตัวสัตว์ วัว หรือกระบือ ตัวละไม่เกิน 5 หมื่นบาท และโทษฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน มีโทษจำคุก 1-2 ปี ปรับ 1-2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้หลังจากที่ได้รับแจ้งว่าวัวป่วย มีอาการซึม น้ำลายไหลยืด และถ่ายเหลวเป็นเลือด เจ้าหน้าที่ได้รักษาจนวัวตัวดังกล่าวตายเมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา

โดยเจ้าของวัวได้ทำการผ่าซาก และปศุสัตว์อำเภอพรหมคีรีได้ทำการเข้าไปตรวจสอบ พบม้ามมีลักษณะดำคล้ำ บริเวณลำไส้มีจุดเลือดออก ร่วมกับอาการจากการซักประวัติ สงสัยว่าติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จึงได้ทำการเก็บซากหัวส่งมายังสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมให้คำแนะนำและกำชับเจ้าของว่าให้ทำการฝังซาก ห้ามนำมารับประทาน และตรวจสอบจนพบผลบวกต่อเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

นายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายแพทย์ไพศาล เกื้ออรุณ สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช และนายสัตวแพทย์ธนวัฒน์ พันธุ์สนิท ปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แถลงการณ์ติดตามเรื่องนี้หลังจากที่กลายเป็นข่าวสร้างความหวาดผวาอย่างมากและยืนยันว่าไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อพิษสุนัขบ้าในคน

นายแพทย์ไพศาล เปิดเผยว่า ได้มีการติดตามกลุ่มเสี่ยงโดยได้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในอำเภอพรหมคีรี อำเภอเมือง และอำเภอนบพิตำ จึงได้มีการติดตามคือ กลุ่มที่สัมผัสวัวก่อนที่วัวจะตายคือสัมผัสมาก่อน กลุ่มชำแหละสัมผัสโดยตรง และกลุ่มที่สัมผัสเนื้อวัวและการนำมาปรุงอาหาร ทั้ง 3 กลุ่มนี้ถูกติดตามมาฉีดวัคซีนโดยที่ไม่ได้มีอาการใด ๆ ทั้งหมด 116 คน รับวัคซีนหมดแล้วยังคงเหลืออีก 8 คนที่อยู่ในระหว่างการติดตาม และย้ำว่าไม่มีใครมีการแสดงอาการติดเชื้อ.