ยูทูป » มหากาพย์ GT200..สูญพันล้าน//คราวหน้าควรปรึกษาผู้รู้ด้านเทคโนโลยี่ก่อนซื้อจะดีกว่ามั๊ย?

มหากาพย์ GT200..สูญพันล้าน//คราวหน้าควรปรึกษาผู้รู้ด้านเทคโนโลยี่ก่อนซื้อจะดีกว่ามั๊ย?

30 สิงหาคม 2018
2224   0

http://bit.ly/2BZKn80

“เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม” (ที่คนไทยจะคุ้ยเคยกันในชื่อ GT200) กลับมาเป็นประเด็นตามหน้าสื่ออีกครั้ง ช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2559 หลังเงียบหายไปหลายปี เมื่อศาลอาญากลางของอังกฤษและเวลส์ ได้ตัดสินให้ยึดทรัพย์ “นายเจมส์ แม็คคอร์มิค” นักธุรกิจชาวอังกฤษ เป็นเงิน 7.94 ล้านปอนด์ (ราว 397 ล้านบาท) เพื่อให้นำมาใช้คืนลูกค้าที่ตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกง ซึ่งศาลเดียวกันเคยตัดสินให้จำคุกนายแม็คคอร์มิค ในข้อหาฉ้อโกง (fraud) เป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2556

โดยทรัพย์สินของนายแม็คคอร์มิคที่จะถูกยึด ประกอบด้วยบ้านมูลค่า 4 ล้านปอนด์ในเมืองบาร์ธของอังกฤษ, ที่จอดรถยนต์มูลค่า 8.8 หมื่นปอนด์, วิลล่าหรูบนเกาะไซปรัส, เรือสำราญ มูลค่า 3.45 แสนปอนด์ และบ้านของครอบครัวนายแม็คคอร์มิคในเมืองซอเมอร์เซ็ตของอังกฤษ ซึ่งทั้งหมดจะถูกนำมาขายทอดตลาดเพื่อนำ “เงินชดเชย” แก่ผู้เสียหายต่อไป โดยปรากฎรายชื่อลูกค้า 5 ราย ที่จะได้รับเงินชดเชย ประกอบด้วยอิรัก, บาห์เรน, ไนเจอร์, จอร์เจีย และกองกำลังสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในเลบานอน

ในจำนวนนั้นมีเพียงอิรักที่ศาลระบุจำนวนเงินชดเชยที่ชัดเจน คือ 2.3 ล้านปอนด์ (ราว 115 ล้านบาท) จากที่ยื่นคำร้องขอมาทั้งหมด 97 ล้านปอนด์ (ราว 4.85 พันล้านบาท) ส่วนลูกค้ารายอื่นๆ ศาลไม่ระบุจำนวนเงินชดเชย

แม้ว่านายแม็คคอร์มิค จะไม่ใช้ผู้ผลิตและจำหน่าย GT200 โดยตรง แต่ทำและขายเครื่งมือที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน อย่าง ADE-651 แต่คดีของนายแม็คคอร์มิค ในกระบวนการยุติธรรมของอังกฤษ มักจะเดินคู่ขนานกับผู้ผลิตและจำหน่าย GT200 ตัวจริง นั่นคือ “นายแกรี่ โบลตัน” ที่ถูกศาลอังกฤษตัดสินจำคุกในข้อหาฉ้อโกง เป็นเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2556 เช่นเดียวกัน (ทำให้บางครั้งสื่อไทยและสื่อต่างชาติจะเข้าใจผิด และรวมทั้ง 2 คดี เป็นคดีเดียวกัน)

แต่คดีของนายแม็คคอร์มิค ก็ช่วยจุดกระแสการตรวจสอบการจัดซื้อ GT200 ที่เคยเป็นข่าวโด่งดังมา 5-6 ปีก่อน ให้กลับอีกครั้ง ว่าการตรวจสอบการทุจริตใช้เงินจัดซื้ออุปกรณ์ปลอมนับพันล้านบาทของหน่วยงานรัฐของไทย โดยเฉพาะกองทัพบก มีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว..

ทว่า เมื่อนำเรื่องนี้ไปถามกับผู้นำรัฐบาล ซึ่งชูนโยบายปราบปรามการทุจริต สิ่งที่ได้กลับเป็นอาการฉุนเฉียว และโยนให้ไปถามกับฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลแทน..

การพิสูจน์ GT200 ไม้ล้างป่าช้า “พันล้าน” และแรงต้านจากกองทัพ

เดิม GT200 หรือชื่อเรียกเต็มๆ ว่า “เครื่องตรวจจับสะสารระยะไกล” (remote substance detector) ทางผู้ผลิตอ้างว่า หลักการทำงานของเครื่องมือนี้คือใช้ไฟฟ้าสถิตบนร่างกายในการตรวจหาสะสารตามประเภทของ “เซ็นเซอร์การ์ด” ที่ใส่เข้าไปในเครื่องให้ตรวจสอบ ตั้งแต่กระสุน สารระเบิด ยาเสพติด ทองคำ งาช้าง ธนบัตร ยาสูบ ไปจนถึงร่างกายมนุษย์ ! โดยสามารถตรวจจับได้ทั้งบนบก บนน้ำ ในอากาศ ใต้น้ำ และใต้ดิน ตั้งแต่ 60-4,000 เมตร

โดยส่วนประกอบของเครื่องจะมี 3 ส่วน คือ “เสาอากาศ” ที่ติดกับตัว “ที่จับ” ซึ่งทำจากพลาสติก และ “ช่องใส่การ์ด” เพื่อเลือกชนิดสะสารที่จะตรวจจับ ซึ่งเครื่องจะทำงานก็ต่อเมื่อผู้ใช้เริ่มต้นเดินค้นหา

GT200 เริ่มต้นวางจำหน่ายในปี 2544 โดยมีผู้ผลิตและจำหน่ายคือบริษัท โกลบอล เทคนิคัล จำกัด (Global Technical Limited) ของอังกฤษ ที่มีนายแกรี่ โบลตัน เป็นเจ้าของ เครื่องนี้ขายได้ดีในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งไทย เม็กซิโก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

ก่อนที่ในเวลาต่อมา จะมีบริษัทอังกฤษอีก 2 แห่ง ขายเครื่องมือที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ทั้ง ADE-651 ของบริษัท เอทีเอสซี จำกัด (ATSC Limited) ที่มีนายเจมส์ แม็คคอร์มิค เป็นเจ้าของ และ Alpha 6 ของบริษัท คอมสแตร็กซ์ จำกัด (Comstrac Limited) ที่มีสามีภรรยา นายซามูเอล ทรี และนางโจน ทรี เป็นเจ้าของ (ซึ่งทั้งสองคนก็ถูกศาลอังกฤษตัดสินให้จำคุกในข้อหาฉ้อโกงเช่นกัน เมื่อปี 2557 โดยนายซามูเอลถูกจำคุก 3 ปีครึ่ง ส่วนนางโจนถูกรอลงอาญา 2 ปี และทำงานรับใช้สาธารณะประโยชน์โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน 300 ชั่วโมง)

ในรายงานสรุปผลการตรวจสอบการจัดซื้อ GT200 ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า หน่วยงานแรกของไทยที่จัดซื้อเครื่อง GT200 มาใช้คือกองทัพอากาศ (ทอ.) เมื่อปี 2548 โดยจัดซื้อเครื่องละ 9.66 แสนบาท

ต่อมาในปี 2550-2552 หน่วยงานรัฐต่างๆ ได้จัดซื้อมาใช้งาน เนื่องจาก ทอ. นำมาใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถตรวจพบอาวุธ กระสุน และวัตถุระเบิดหลายครั้ง จนเป็นที่เชื่อมั่นของผู้ใช้งาน

โดยหน่วยงานรัฐที่จัดซื้อ GT200 ทุกหน่วยจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษจาก บริษัทโกลบอลฯ โดยตรง หรือผ่านบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ที่เป็นนายหน้าให้กับบริษัทโกลบอลฯ ในประเทศไทย (สำหรับบริษัท เอวิเอฯ เป็นบริษัทเอกชนที่นำเข้าเครื่องมือทางทหารและยุทธภัณฑ์มาขายให้กับกองทัพ โดยเฉพาะ ทอ. อยู่บ่อยครั้ง โดย “สำนักข่าวอิศรา” ได้โยงใยคอนเน็กชั่นบริษัทนี้กับข้าราชการระดับสูงในกองทัพหลายคน)

ผลก็คือระหว่างปี 2548-2553 หน่วยงานของรัฐไทย 15 หน่วยงาน ซื้อ GT200 หรือ Alpha 6 มาใช้รวมกันถึง 1,398 เครื่อง รวมเป็นเงินกว่า 1,134 ล้านบาท ในราคาตั้งแต่เครื่องละ 4.26 แสนบาท – 1.38 ล้านบาท

โดยส่วนใหญ่หากไม่ถูกนำไปใช้ในภารกิจตรวจวัตถุต้องสงสัยในพื้นที่ภาคใต้ ไม่ก็ตรวจสอบสารยาเสพติดบริเวณชายแดน..

ก่อนที่ช่วงปลายปี 2552 GT200 จะถูกตั้งคำถามจากสังคม โดยเฉพาะผู้สนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ในห้องหว้ากอของเว็บไซต์พันทิป และสื่อมวลชน โดยเฉพาะ “หนังสือพิมพ์คมชัดลึก” ที่เริ่มสงสัยในประสิทธิภาพ เมื่อทำงานผิดพลาดจนทำให้เกิดเหตุระเบิดข้างโรงแรมเมอร์ลิน จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 และตลาดสด จ.ยะลา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552 นำไปสู่การเรียกร้องให้พิสูจน์การทำงาน GT200 “ด้วยวิทยาศาสตร์”

การเดินหน้าตรวจสอบของสื่อคู่ขนานกับนักวิทยาศาสตร์อย่าง “นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” อาจารย์คณะวิทยาศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เชื่อว่าเครื่องมือนี้ไม่ต่างอะไรกับ “ไม้ล้างป่าช้า” เพราะไม่มีหลักการวิทยาศาสตร์อะไรรองรับในการทำงาน ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นสั่งให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งานของ GT200 ท่ามกลางแรงต้านจากกองทัพ ที่ออกมายืนยันครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เครื่องมือนี้ใช้งานได้จริง

ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ออกมาแถลงว่า ผลการทดสอบ GT200 จำนวน 20 ครั้ง ปรากฏว่าหาวัตถุระเบิดได้ถูกต้องเพียง 4 ครั้ง ซึ่งมีนัยทางสถิติไม่ต่างอะไรจากการ “เดาสุ่ม”  และสั่งให้ทุกหน่วยงานยกเลิกการจัดซื้อโดยทันที

แม้วันถัดมา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ขณะนั้น นำผู้เกี่ยวข้องมาตั้งโต๊ะแถลงข่าว โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ยืนยันในความเชื่อมั่นต่อ GT200 โดยอ้าง “ประสบการณ์” จากการใช้งานของเจ้าหน้าที่

แต่ภายหลัง พล.อ.อนุพงษ์ ได้ยอมรับในความไร้ประสิทธิภาพของ GT200 และออกปากเตือนกำลังพลที่ใช้ GT200 ด้วยตัวเอง ทำให้เครื่องมือนี้ถูก “ปลดประจำการ” จากกองทัพ ไปในที่สุด และหันมาใช้ “เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์” และ “สุนัขทหาร” แทน

แม้หน่วยงานของรัฐไทยจะยุติการจัดซื้อ GT200 และเครื่องมืออื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2553 แต่คำถามสำคัญก็คือ แล้วใครจะต้องเป็น “ผู้รับผิดชอบ” ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งในเรื่องของงบประมาณที่เสียให้กับเครื่องมือที่ไร้ประสิทธิภาพนี้ ไม่รวมถึงการที่ผู้บริสุทธิ์ต้องตกระกำลำบากกลายเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง เพียงเพราะถูก “ไม้ล้างป่าช้า” ซึ่งมีความแม่นยำไม่ต่างจากเดาสุ่มชี้มาที่ตัว …ใครจะเยียวยาพวกเขาเหล่านั้น.

 

 

 

ที่มา http://oknation.nationtv.tv/blog/gypsysee/2010/01/29/entry-1
https://www.google.com/search?q=%E0%B9%80%E0%B8%84%E0..