เตือนภัย » สั่งเก็บแซนด์วิชไส้ปริศนาทุกร้านค้าห้ามขาย..เป็นอาหารปลอมที่จ.อุบลฯ

สั่งเก็บแซนด์วิชไส้ปริศนาทุกร้านค้าห้ามขาย..เป็นอาหารปลอมที่จ.อุบลฯ

25 สิงหาคม 2018
1352   0

25 ส.ค.- สสจ.อุบลฯ ยันแซนด์วิชไส้ปริศนาเป็นอาหารปลอม สืบค้นแหล่งผลิตแล้วปัจจุบันเป็นบ้านเช่า

เร่งขยายผลเอาผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร มีโทษทั้งจำทั้งปรับ พร้อมกำชับทุกอำเภอสั่งเก็บ รอผลพิสูจน์ไส้มีใยผ้าหรือไม่..

กรณีชาวบ้านบัวงาม ต.บัวงาม อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี สงสัยขนมปังแซนด์วิชไส้หมูหยองที่มีพ่อค้าเร่นำมาฝากขายไว้กับร้านค้าในหมู่บ้าน อาจมีการปนเปื้อนของสิ่งปลอมปน เนื่องจากนำมารับประทานพบว่าไส้หมูหยองมีความหนืดเหนียวผิดปกติ คล้ายใยผ้า และสามารถจุดไฟติดได้ ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช อ.เดชอุดม และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บัวงาม เข้าตรวจเก็บขนมปังแซนด์วิชที่ยังเหลืออยู่ 8 ชิ้น ส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ ขณะที่เทศบาลตำบลบัวงามและพื้นที่ใกล้เคียงสั่งเก็บขนมปังแซนวิชที่เหลือรอการพิสูจน์นั้น

นพ.สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอาหาร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปทุม เข้าตรวจสอบสถานที่ผลิตแซนด์วิชไส้หมูหยอง ยี่ห้อมอสดี้ แซนวิช M.D ตามเลขในสาระบบ อย.เลขที่ 34-2-00149-2-0001 ที่แสดงอยู่ในสลากกำกับผลิตภัณฑ์ ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 10 บ้านร่วมใจ ต.ปทุม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี พบว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นบ้านเช่าไม่มีการผลิตอาหาร ดังนั้น จึงเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีลักษณะตามมาตรา 27 (4) อาหารที่มีฉลากเพื่อลวง หรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องสถานที่ผลิต เข้าข่ายเป็นอาหารปลอมตามมาตรา 25 (2) พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ส่วนสถานที่ใช้ในการลักลอบผลิต อยู่ระหว่างการติดตามค้นหา เพื่อนำผู้ผลิตที่ไม่ไดรับอนุญาตมาดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (2) ผู้ใดผลิต หรือจำหน่ายอาหารปลอม มีบทลงโทษตามมาตรา 59 ต้องระวางโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท..

นพ.สุวิทย์ กล่าวด้วยว่า ข้อสงสัยที่เป็นไส้สำลีแทนหมูหยองนั้น ได้ส่งตัวอย่างไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจหาสิ่งปลอมปนประเภทเส้นใยว่ามีการนำสำลีมาใช้ทำไส้หมูหยองหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการตรวจวิเคราะห์ อย่างไรก็ตาม ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอาหารทุกอำเภอเก็บสินค้ายี่ห้อมอสดี้ แซนด์วิช M.D. ออกจากชั้นวาง นำมาส่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งให้เจ้าของร้านค้าไม่ให้นำมาจำหน่ายอีก

“จังหวัดอุบลราชธานีมีสถานที่ผลิตหมูหยองที่ถูกสุขลักษณะและได้รับการตรวจประเมินได้มาตรฐานตามเกณฑ์ GMP รวม 4 แห่ง คือ ..

ร้านสามชัย กรุ๊ป

ร้านชมดี

ร้าน ก.เจริญ

และร้านร้อยใจอุบลฯ

ซึ่งทุกแห่งได้รับอนุญาตผลิตถูกต้อง ใช้เนื้อหมูจากฟาร์มที่ได้มาตรฐานจากกรมปศุสัตว์”

ที่มา.-สำนักข่าวไทย